เงินเดือนออกก็ดีใจน้ำตาจะไหล ตอนอกหักแค่วางมือบนบ่าน้ำตาก็ไหล เวลาแถลงข่าวก็มีน้ำตาไหลกันท่วมจอ มนุษย์เรานี่ยังไง ดีใจก็ร้องไห้ เสียใจก็ร้องไห้ ฝุ่นเข้าตา ซอยหอมน้ำตาก็ไหลอีก
นั่นสินะ ทำไมแค่นี้ต้องมีน้ำตา น้ำตาคืออะไร เราร้องไห้กันทำไม แล้วในบรรดาสารพันสายพันธุ์ หมูหมากาไก่ที่เขาว่าพอจะเข้าโรงเชือดแล้วร้องไห้โฮกันจนผู้คนสงสาร แห่แหนกันไปไถ่ชีวิตแทบไม่ทันนี่มันจริงมั้ย
น้ำตาที่เราเหมือนจะรู้จักมันดี เพราะอย่างตอนนี้เราก็อ่านข้อความทั้งหลายผ่านม่านน้ำตาบางๆ ที่เคลือบดวงตาเราอยู่ น้ำตาจริงๆ แล้วออกจะซับซ้อน เป็นของเหลวที่ร่างกายผลิตขึ้นมาด้วยฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ในเชิงกายภาพ ผลิตขึ้นเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและป้องกันดวงตา ในแง่ของจิตใจ น้ำตาก็เกี่ยวข้องกับการแสดงและบำบัดอารมณ์ของมนุษย์แน่ๆ แถมในเชิงสังคมก็มีฟังก์ชั่นเนอะ เพราะการร้องไห้มันเกี่ยวข้องกับคนอื่นด้วย เป็นการสื่อสารส่งสัญญาณระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าน้ำตาของเรามี 3 ประเภท
Basal tears : จมอยู่กับน้ำตา
น้ำตาชนิดแรก เป็นน้ำตาที่ร่างกายผลิตสม่ำเสมอประมาณ 1.2 มิลลิลิตรต่อปี เรียกว่า basal tears ประมาณว่าเป็นน้ำตาพื้นฐานที่ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นและความสะอาดให้ดวงตาอยู่เสมอ ร่างกายจะผลิตออกมาตลอดเวลาผ่านต่อมชื่อ lacrimal glands และเมื่อมันทำหน้าที่จนเสร็จแล้วก็จะถูกกำจัดผ่านท่อที่เรียกว่า lacrimal puncta น้ำตาพวกนี้ก็ไม่ได้ว่าเป็นน้ำใสๆ เบๆ นะ แต่มันทำงานร่วมกันถึงสามชั้นเพื่อปกป้องดวงตาคู่สวยของเรายิ่งว่าวีต้าเบอร์รี่ คือจะเป็นชั้นที่มีลักษะเป็นเมือก(the mucus layer) ชั้นที่เป็นน้ำ(the aqueous layer) และเป็นชั้นลิพิด (the lipid layer – เป็นชั้นที่เคลือบทั้งหมดไว้อีกทีนึง เป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ มีไขมันเป็นส่วนประกอบ) แปลว่าสรุปแล้วเราก็ต่างจมอยู่ในน้ำตากันตลอดเวลา
Reflex tears : ที่เธอเห็นแค่ฝุ่นมันเข้าตา
ฉันไม่ได้ล้องห้ายยย อะนี่ไง น้ำตาอีกประเภทเรียกว่า reflex tears ซึ่งก็คือน้ำตาที่ร่างกายผลิตขึ้นจากการถูกกระตุ้นทางกายภาพต่างๆ โดยทั่วไปแล้วเหมือนเป็นน้ำตาหน่วยพิเศษที่ออกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องดวงตาเราจากอันตรายและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น สารเคมีที่ฟุ้งออกมาเวลาที่เราหั่นหัวหอม หรือเวลาที่ฝุ่นมันเข้าตาจริงๆ น้ำตานี่ก็จะถูกหลั่งออกมา น้ำตาพวกนี้มีลักษณะเป็นน้ำ เหลวๆ หน่อย มีหน้าที่ชำระล้าง และในน้ำตาประเภทนี้ก็มีสารแอนตี้บอดี้ที่เอาไว้ต่อสู้กับจุลชีพต่างๆ ด้วย ทำงานกันเป็นทีมดีเนอะ
Emotional tears : วางมือบนบ่าน้ำตาก็ไหล
มาแล้วกับน้ำตาของหนุ่มสาวชาวสวนนกชัยนาท ขาอกหักประจำวันศุกร์แห่งชาติทั้งหลาย กับน้ำตาที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เข้าใจมัน 100% ว่ากระบวนการทางอารมณ์ของคนเราที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำตานี่มันยังไงกันแน่ ไอ้การหลั่งน้ำตาจากความรู้สึกที่รุนแรงไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นกระบวนการที่มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น ชาร์ล ดาร์วิน บอกว่าช้างร้องไห้ได้ แต่นักชีววิทยาในรุ่นหลังเช่น Marc Bekoff บอกไว้ในหนังสือ The Emotional Lives of Animals ว่า “น้ำตาจากสรรพสัตว์ที่เขาศึกษามีแต่น้ำตาตัวเองนี่แหละที่เขาแน่ใจว่ามีจริง” (จะดราม่าโพเอติกไปไหนครับพี่ ไม่เจอก็บอกไม่เจอสิ) หรือ Jeffrey Moussaieff Masson และ Susna McCarthy ที่เขียนหนังสือ ‘เมื่อช้างร้องไห้’ บอกว่าคนเลี้ยงช้างไม่เคยพบว่าช้างร้องไห้ซะหน่อย
ตรงนี้ไม่ได้บอกว่าสัตว์ไม่มีอารมณ์เศร้า ดีใจ หรือเสียใจเหมือนมนุษย์นะ แค่บอกว่าการร้องไห้เป็นอาการทางอารมณ์ที่พบแต่ในมนุษย์
William H. Frey II นักชีวเคมีแห่ง University of Minnesota บอกว่าการที่เรารู้สึกดีขึ้นเวลาที่ร้องไห้ก็เป็นเพราะว่าการร้องไห้เป็นกระบวนการที่ร่างกายใช้กำจัดฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมองที่เกี่ยวกับความเครียดออกไป โดยทางกายภาพเวลาที่เราร้องไห้ อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจของเราจะช้าลง ตรงนี้เองที่ทำให้อารมณ์ของเรานิ่งขึ้น เป็นวิธีการจัดการอารมณ์ของร่างกายเราอย่างหนึ่ง ผ่านการร้องไห้
การร้องไห้มันไม่ใช่แค่เรื่องของเรา หรือของร่างกาย แต่เป็นมิติที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันด้วย เวลามีใครสักคนร้องไห้ ไม่ได้เกี่ยวแค่ฮอร์โมนหรืออัตราการเต้นของหัวใจ แต่มันยังเป็นการส่งสัญญาณไปที่คนรอบข้าง เป็นการสื่อสารว่า เฮ้ย มึงกูอ่อนแอว่ะ มาโอ๋กูหน่อย