ทำไมไลฟ์โค้ชถึงได้รับความนิยม?
ในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสน วุ่นวาย และคาดเดาไม่ได้ การจะมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
อาชีพ ไลฟ์โค้ช (Life Coach) เอง ก็เกิดขึ้นจากความสับสนวุ่นวายนี้ เพราะพวกเขามักตั้งคำถามกับปัญหาชีวิตที่กระทบใจผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความก้าวหน้าในชีวิต ปัญหาการเงิน และเรื่องต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้อาชีพไลฟ์โค้ช ได้รับความนิยมอย่างมากนั่นเอง
อย่างไรก็ดี กระแสของไลฟ์โค้ชเอง ก็มีทั้งทางลบและทางบวก เพราะหลายคนมองว่า คำพูด คำสอนของคนเหล่านี้ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากผลักปัญหาสังคมให้กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่บางคนก็ชื่นชอบ เพราะมองว่า อย่างน้อย ในวันที่สภาพจิตใจย่ำแย่ คำพูดเหล่านี้ก็เป็นแรงใจให้สู้ต่อไปได้
แต่ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และราคาค่าเรียนของเหล่าไลฟ์โค้ชจะแพงแค่ไหนก็ตาม ความนิยมของพวกเขาก็ไม่ได้สั่นคลอนเลย จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมวงการไลฟ์โค้ชถึงได้รับความนิยม ปัญหาที่พวกเขามักพูดถึงคืออะไร แล้ววิธีการนำเสนอเป็นแบบไหนกันนะ?
The MATTER เลยลองไปฟังและเก็บข้อมูลของไลฟ์โค้ช ที่มียอดผู้ติดตามสูงสุด 5 อันดับแรก (ตัวเลขเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม) และเก็บข้อมูลจากคลิปสอนออนไลน์ที่มียอดผู้กดไลก์สูงสุด 5 คลิป ของไลฟ์โค้ชแต่ละคน ซึ่งรวมเป็นเวลาทั้งหมด 5.57 ชม. (หรือ 334 นาที) เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้กัน
ไลฟ์โค้ช 5 คนที่เราคัดเลือกกันมา ได้แก่
– ฌอน บูรณะหิรัญ
– ผู้กองเบนซ์
– มาสเตอร์ป๊อป
– เข็มทิศชีวิต
– ขุนเขาเกาสมอง
ปัญหาที่หยิบมาขยี้ใจคน
ปัญหาหลักๆ ที่ไลฟ์โค้ชมักหยิบมาเป็นประเด็นในการพูดต่อ ก็คือสิ่งที่เราเผชิญกันอยู่ในทุกๆ วัน โดยเราลองแบ่งหัวข้อออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ความก้าวหน้าในชีวิต ปัญหาชีวิตคู่ การเงิน การค้นหาตัวเองหรือเป้าหมายในชีวิต และสภาพจิตใจ
ผลปรากฏว่า ปัญหาที่ถูกหยิบมาพูดถึงมากที่สุด คือ ความก้าวหน้าในชีวิต และการค้นหาตัวเองหรือเป้าหมายในชีวิต ขณะที่ปัญหาชีวิตคู่ การเงิน และสภาพจิตใจเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงรองลงมา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอะไร แต่ประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกหยิบมาพูดถึงนั้น มักเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มีความรู้สึกร่วมกัน หรือต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้มาเหมือนกัน ทำให้บางคนชื่นชอบเรื่องราวที่ไลฟ์โค้ชพูด เพราะเหมือนกับเล่าปัญหาแทนใจพวกเขาเหล่านั้นได้นั่นเอง
ลักษณะการสอนในคลิป
แม้ว่าคลิปของแต่ละไลฟ์โค้ชจะมีความยาวไม่เท่ากัน แต่เราก็สามารถจำแนกท่อนการพูดออกเป็น 3 ช่วงได้ โดยแบ่งเป็น ตอนเปิดคลิป ตอนกลางคลิป และปิดท้ายคลิป
โดยช่วงเปิดคลิปนั้น ไลฟ์โค้ชส่วนมากจะหยิบยกเอาปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเล่าเรื่องราวของตัวเอง ไม่ก็ประสบการณ์ที่พบเจอมา เพื่อดึงดูดให้คนรู้สึกอยากรับชมคลิปต่อ หรือบางคนก็อาจจะเปิดประเด็นมาด้วยคำด่าที่กระแทกกระทั้นใจ ก็เอาชนะใจคนดูได้เหมือนกันนะ
ส่วนท่อนกลางของคลิป วิธีของไลฟ์โค้ชหลายคนก็คือ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การยกตัวอย่างหนังเรื่อง In time เพื่อสอนให้คนรู้จักคุณค่าของเวลา จากผู้กองเบนซ์ หรือเปรียบเทียบกับอะไรสักอย่าง เช่น การเปรียบเทียบรอยจานที่แตกกับอุปสรรคในชีวิต รวมถึง ยังมีการพูดย้ำๆ หรืออธิบายแนวทางแก้ปัญหา เพื่อเป็นทางออกให้กับคนฟังด้วย
สำหรับช่วงปิดท้ายคลิปไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากไลฟ์โค้ชมักสรุปเรื่องราวทั้งหมด ให้กลับมามองที่ ‘ตัวเราเอง’ ด้วยคำพูดคมคาย หว่านล้อมใจ และให้ข้อคิดกับผู้รับชม เพื่อให้เราเชื่อมั่นว่าปัญหาทั้งหลายคลี่คลายลงได้ แบบไม่เกินกว่ากำลัง และความสามารถของเราไปหรอก
เทคนิคการเล่าเรื่องมัดใจคนดู
ด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันออกไปของไลฟ์โค้ช ก็ทำให้เทคนิคของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปด้วย โดยภาพรวมแล้ว ไลฟ์โค้ชมักหยิบเอาเรื่องเล่ามาประกอบกับการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าจากตัวของพวกเขาเอง นิทานสอนใจ หรือคำสอนทางศาสนา
แต่ถึงจะมีสไตล์แตกต่างกันอย่างไร เทคนิคการเล่าเรื่องของไลฟ์โค้ชแต่ละคนก็มีจุดร่วมกันอยู่เช่นกัน อย่างผู้กองเบนซ์ ที่มักใช้เทคนิคยกเรื่องของตัวเองขึ้นมา ประกอบกับคำสอนทางพุทธศาสนา เช่นเดียวกับเข็มทิศชีวิต หรืออย่างของ ฌอน บูรณะหิรัญ ที่ใช้การเล่าเรื่อง เล่านิทาน และเปรียบเทียบกับอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนดูเห็นภาพตาม ซึ่งก็เป็นเทคนิคที่คล้ายคลึงกับขุนเขาเกาสมองเช่นกัน
วลีเด็ดของไลฟ์โค้ช
เราลองฟังวลีเด็ดกินใจของไลฟ์โค้ช แล้วพบว่า จุดเด่นอย่างหนึ่งของไลฟ์โค้ชก็คือ คำพูดกินใจที่ช่วยชุบชูพวกเราให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยส่วนมากมักเป็นคำพูดที่สละสลวยและตรงกับใจของคนฟัง บางคนอาจมีคำพูดติดปากที่หากใครฟังไลฟ์โค้ชคนนั้นบ่อยๆ ก็คงจำได้ทันที หรือบางคนก็มีเทคนิคและวิธีการพูดที่ตรงใจคนดู จนไม่ต้องพึ่งพาความสละสลวยของคำก็ได้
ต้องออกตัวก่อนว่า คำพูดเหล่านี้อาจไม่ใช่คำพูดติดปากของไลฟ์โค้ชแต่ละคน แต่เป็นคำกล่าวที่ผู้ฟังหลายคนยังคงพูดถึง หรือจดจำได้ว่าเป็นคำพูดของไลฟ์โค้ชคนนั้นๆ เพราะสะท้อนคาแรคเตอร์ของตัวไลฟ์โค้ชแต่ละคนได้เป็นอย่างดี เช่น ประโยค “คนไม่ศรัทธาเป็นได้แค่คนที่ไม่สำคัญ” ของเข็มทิศชีวิต
หรือบางที อาจเป็นประโยคที่หลายคนจดจำได้จากการพูดย้ำๆ หลายครั้ง เช่น ประโยค “มองมากกว่าที่ตาเห็น ฟังมากกว่าที่เคยได้ยิน รู้สึกมากกว่าที่เคยรู้สึก อยู่เหนือความคิด ไปใช้ชีวิตซะ” ของมาสเตอร์ป๊อป เป็นต้น
แม้จะไม่อาจสรุปได้ว่า ‘ไลฟ์โค้ช’ ได้ช่วยให้เราเจอกับทางออกของปัญหาเหล่านี้หรือไม่ แต่ด้วยคำพูด และวิธีการสื่อสารที่ชวนให้คนฉุกคิด ตั้งคำถาม และกลับมาทบทวนตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไลฟ์โค้ช กลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมยุคปัจจุบัน