‘ความยั่งยืน หรือ Sustainability’ คือหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสำคัญอยู่ ณ ตอนนี้
ภาคธุรกิจกำลังให้ความสนใจและพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้บริโภคเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจและเชื่อมั่นกับธุรกิจที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม ใส่ใจเรื่องการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะมองว่าการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือเป้าหมายสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน
โดยหนึ่งในสินค้าที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของกลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก คงต้องยกให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย หรือ ‘งานคราฟต์ทางเลือกของความยั่งยืน’ ซึ่งได้ชื่อว่าส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อย เพราะนอกจากจะเป็นงานทำมือ ที่ไม่ได้ผลิตในปริมาณมากแล้ว ผลงานส่วนใหญ่ยังมาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่มีกระบวนการผลิตรบกวนวงจรตามธรรมชาติน้อย อีกทั้ง ยังเป็นงานที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของคำว่า กระแส ไม่ว่าจะหยิบมาใส่ตอนไหนก็ไม่มีตกเทรนด์แน่นอน
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. หน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงพาณิชย์ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในด้านการผลักดันสร้างความยั่งยืนให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งไม่ได้มองเพียงแค่ในแง่มุของการส่งเสริมงานหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับมิติของความยั่งยืนตามเป้าหมายของ SDGs หรือ Sustainable Development Goals ที่ทางสหประชาชาติประกาศออกมา ได้ครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และมนุษยชนอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ‘งานศิลปหัตถกรรมไทย’ จึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไทยในภาพรวมก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ
จากเป้าหมายของ SDGs หรือ Sustainable Development Goals ที่ทางสหประชาชาติประกาศออกมา สศท. ได้พยายามผลักดันให้ศิลปหัตถกรรมไทยก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้
ความยั่งยืนในอาชีพ
เพราะเบื้องหลังของงานศิลปหัตถกรรม คือกลุ่มผู้สร้างสรรค์ กลุ่มช่างฝีมือ ที่สืบทอดมรดกทางภูมิปัญญา ต่อยอด และพัฒนาองค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น รังสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ดังนั้น การผลิตและจำหน่ายได้ จึงเป็นโอกาสให้กับกลุ่มช่างฝีมือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานให้สามารถมีรายได้ ประกอบอาชีพที่มั่นคงและเป็นธรรมจากงานศิลปหัตถกรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น สู่ความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้
ความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรม
คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากวันหนึ่งมรดกทางภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า สูญสลายหายไปตามกาลเวลา เพราะใต้คำว่า ศิลปหัตถกรรม เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ควรค่าแก่การสืบสานและรักษาไว้ ทั้งในแง่ของมรดกทางภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่สะท้อนผ่านงานศิลปหัตถกรรมไทย จึงจำเป็นต้องการส่งเสริมให้งานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ ผ่านการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสถาบันฯ ทั้งการเชิดชูกลุ่มผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย การเก็บรวบรวมองค์ความรู้ ตลอดจนการส่งเสริมสร้างรายได้ และส่งต่องานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานหัตถกรรมยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และเกิดเป็นความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมได้ในที่สุด
ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เพราะงานศิลปหัตถกรรมส่วนใหญ่มาจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อโลก และมีกระบวนการปล่อยของเสียที่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติน้อย จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ปัจจุบันผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมหลายราย ยังได้หันมาใส่ใจให้ความสำคัญในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยได้ปรับกระบวนการผลิต หันเข้าสู่ธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ เรียกได้ว่า “คนทำก็สุขใจ คนใส่ก็ยิ้มได้ ไม่ทำลายโลก”
ต้นแบบผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ แห่งหนองบัวแดง ชัยภูมิ
ผสานเทคนิคการย้อมสีตามหลักวิทยาศาสตร์ ให้เข้ากับภูมิปัญญาของชุมชน
อนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เจ้าของผลงานผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้าน 11 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ที่ปลูกฝ้ายใช้เอง โดยไม่ใส่สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ทำให้มีฝ้ายออแกนิค ที่ปลูกในเฉพาะพื้นที่ชุมชนประมาณ 40 ไร่ และใช้วัตถุดิบในการย้อมสีจากธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น ลูกมะเกลือ สบู่เลือด เปลือกไม้ ครั่ง คราม รวมถึงมีกระบวนการวิเคราะห์ ทดลอง ปรับประยุกต์เทคนิคการย้อมสีตามหลักวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับภูมิปัญญาของชุมชน โดยใช้เทคนิคการเป็นกรดด่าง ทำให้เส้นฝ้ายที่นำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีความสวยงาม สีติดคงทนยาวนานมากขึ้น
ด้านการพัฒนาผลงาน ครูอนัญญายังคงสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการพัฒนาสีให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การนำสีเอิร์ธโทนมาย้อมสีลงบนเส้นฝ้าย ทำให้เมื่อนำไปทอเป็นผืนผ้าผลงานจะมีความแปลกใหม่ งดงาม โดดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากทักษะในการย้อมสีธรรมชาติแล้ว เทคนิคการทอที่แสนประณีต ก็เป็นเสน่ห์ให้ใครที่ชื่นชอบผ้าทอต้องหยุดละสายตาในผลงานของครูไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติลวดลายไข่มดแดง รวมถึงลวดลายอื่นๆ เช่น ลายนาค ลายขอนารี ลายมัดหมี่ ที่เป็นลวดลายที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างสรรค์ ดีไซน์ผลงานให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้าที่มีความร่วมสมัย เป็นต้น
และไม่เพียงสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ครูอนัญญาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การเป็นผู้มอบโอกาสให้แก่คนในชุมชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนในชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้จากงานศิลปหัตถกรรมให้แก่ตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภูมิปัญญาย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ แห่งคีรีวง นครศรีธรรมราช
เสน่ห์หนึ่งเดียว ที่สร้างสมดุลทางธรรมชาติให้สอดคล้องกับวิถีเกษตรชุมชน
อารีย์ ขุนทน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ผู้สร้างสรรค์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ แม้วันนี้ชื่อของครูจะกลายเป็นตำนาน แต่มรดกทางภูมิปัญญาและเรื่องเล่าของการเป็นครูผู้พลิกฟื้นภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ยังคงได้รับการสานต่อ จนทุกวันนี้ แบรนด์ Kiree แห่งวิถีคีรีวง ได้กลายเป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกสีพาสเทลหนึ่งเดียวในหุบเขาหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ที่ใช้วิธีการเขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ ไม่มีแพตเทิร์นในการเขียนลาย ใช้สีธรรมชาติจากพืชผลทางการเกษตร โดยนำมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งได้เลือนหายไปให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง และครูยังเป็นคนสำคัญที่เชื่อมโยงสายใยของคนในชุมชนไว้ด้วยงานศิลปหัตถกรรม และยังผูกสัมพันธ์ของผู้คนด้วยความรักในธรรมชาติของถิ่นฐานบ้านเกิด ที่โอบล้อมด้วยภูเขา ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่นานาสายพันธุ์ และนี่จึงเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างสรรค์ผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี อาศัยพืชวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น มาสร้างสีสันบนผืนผ้า ให้ผู้คน และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ครูยังได้ค้นคว้า ทดลองนำพืชหลากหลายชนิดที่พบได้ในท้องถิ่นมาสกัดให้สีเพิ่มเติม เช่น ใบหูกวาง ใบมังคุด ใบเพกา เปลือกลูกเหนียง ฝักสะตอ แก่นขนุน ฯลฯ มาต้มให้เกิดเป็นสีสันที่แตกต่างกัน ได้เฉดสีโทนเย็น ไม่ฉูดฉาด และมีความคงทนของสี อีกทั้ง ยังนำเทคนิคการล้างผ้าด้วยด่างขี้เถ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้สีตกตลอดอายุการใช้งาน กรรมวิธีที่พิถีพิถันเหล่านี้ ส่งผลให้ Kiree ย้อมผ้าได้ไม่เกิน 10 ผืนในหนึ่งวัน ใครได้ไปครองก็คงรับรู้ถึงความใส่ใจ และที่สำคัญลวดลายบนงานแต่ละชิ้นมีเพียงหนึ่งเดียว เพราะนี่คือเสน่ห์ของการทำมือ นับเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ และสอดคล้องกับวิถีเกษตรชุมชน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้ส่งต่อคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน
สุดยอดผ้าทอกะเหรี่ยง แห่งบ้านหล่ายแก้ว เชียงใหม่
ความงดงามของผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ผสานภูมิปัญญาและความผูกพันกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน
ชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านหล่ายแก้ว สมาชิกสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) จากจังหวัดเชียงใหม่ เสน่ห์ของความงดงามของผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการปรับประยุกต์รูปแบบ ดีไซน์ ได้อย่างโดดเด่น สะดุดตา แม้จะสวยงามและร่วมสมัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งรากของวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทั้งยังมีกรรมวิธีทำมือตามเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกฝ้าย อีดฝ้าย เอาเมล็ดออก ตีให้ฟู ปั่นเป็นเส้นด้าย ตลอดจนกรรมวิธีการทอที่ยังคงสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยการใช้กี่เอว ทั้งยังนำเอาภูมิปัญญาและความผูกพันกับธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการย้อมสีจากธรรมชาติ ด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอดอยเต่า สามารถแปลงโฉมผืนผ้าฝ้ายให้กลายเป็นผ้าสีสันพาสเทล ที่แลดูอ่อนหวาน เช่น สีเหลืองได้จากใบมะม่วง สีน้ำตาลจากเปลือกไม้ประดู่ สีเทาจากมะเกลือ สีฟ้าจากครามหรือฮ่อม สีชมพูมาจาก รากไม้สล้าง รากไม้ที่เป็นสีเหลือง แต่ย้อมออกมาได้สีชมพู มีเฉพาะที่ดอยเต่าเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า โดยใช้วิธีการ จกลาย ซึ่งลายจกของการทอผ้าตามแบบฉบับของบ้านหล่ายแก้ว จะไม่ใช้การปัก แต่ใช้นิ้วจกไปทีละเส้น ดังนั้น กว่าจะออกมาเป็นลวดลายน่ารักๆ ที่แต่งแต้มบนเสื้อผ้านั้น ต้องผ่านกรรมวิธีที่อาศัยความประณีต อดทน รวมทั้งการมีทักษะเชิงช่างที่ชำนาญ จนออกมาเป็นผ้าทอชาติพันธุ์ที่ร่วมสมัย ใครใส่ก็ดูน่ารักสดใส อีกทั้งยังเป็นงานที่ดีต่อใจ เพราะเป็นกรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คนใส่สวย คนทำมีความสุข ธรรมชาติก็ไม่โดนรบกวนอีกด้วย