บนถนนเส้นพระราม 9 ใครก็รู้ดีว่าเป็นถนนเส้นที่คับคั่งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ตลอดจนรถบรรทุกวิ่งสัญจรไปมาตลอดทั้งวันคืน สำหรับคนปกติเสียงเครื่องยนต์และแรงสั่นสะเทือนจากพาหนะเหล่านี้ คงน่ารำคาญจนชวนให้เวียนหัว แต่สำหรับ ‘ชาวชุมชนไร้เสียง’ ใต้สะพานข้ามแยกพระราม 9 แล้ว มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่
ชุมชนไร้เสียงคือแหล่งรวมตัวของผู้บกพร่องทางการได้ยิน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในบริเวณนั้น พวกเขาเริ่มมาอยู่อาศัยบริเวณใต้สะพานริมถนนพระราม 9 ตั้งแต่หลังปี 2550 เป็นต้นมา โดยขณะนี้ทั้งชุมชนมีผู้อยู่อาศัยราว 65 ครัวเรือน ที่มีทั้งคนที่มีร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์ และผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน
ในวิกฤตโรคระบาด COVID-19 สำหรับคนปกติร่างกายครบสามสิบสองยังต้องกัดก้อนเกลือกินกันแล้ว แล้วสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน ชีวิตน่าจะยิ่งยากกว่าชนิดเทียบไม่ติด โดยเฉพาะเมื่อคนกลุ่มนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจอยู่ล่างสุดของพีระมิดทางสังคม หรือให้พูดอย่างบ้านๆ คือพวกเขาทั้งบกพร่อง ทั้งจน
ตลอดช่วงเวลาการระบาดที่ผ่านมา ชาวชุมชนไร้เสียงเผชิญปัญหาอะไรบ้าง ต่อสู้ดิ้นรนอย่างไร และมีความช่วยเหลือเข้ามาบ้างไหม โดยเฉพาะจากภาครัฐ ในห้วงยามมืดมนเช่นนี้
(1)
ชุมชนไร้เสียง
“ตอนแรกพี่ก็พูดไม่ได้หรอก แต่พอคนมาอยู่เยอะๆ มันก็ต้องเรียนรู้เอา คนเรามันต้องเรียนรู้” ตี๋ – สิทธิชัย วิจิตรหนึ่งในชาวชุมชนที่ไม่ได้บกพร่องทางการได้ยินเล่าให้เราฟัง เขาเป็นชายวัยกลางคนวัย 52 ปี อดีตการ์ดไนท์คลับแถว RCA อดีตพ่อค้าขายเต้าหูทอดที่มาเลิกกิจการเพราะโรคระบาด แล้วหันไปรับจ็อบเข็นผักในตลาด คู่ไปกับอีกหน้าที่หลักที่ทำมาตลอด ผู้ช่วยประสานงานของชุมชนไร้เสียง
ตี๋มาอาศัยอยู่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 9 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2540 หรือก่อนที่ชุมชนไร้เสียงจะเริ่มมีคนหูหนวกย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น เขาเล่าว่าคนกลุ่มนี้มักจะเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น และหากจะย้ายไปอยู่ไหน ก็มักชักชวนกันภายในกลุ่มให้ย้ายตามกันไป
“คนใบ้มักจะไม่ค่อยวางใจคนพูดได้ เขาจะเชื่อใจกันเอง ผู้ชายใบ้ก็ไม่หาเมียพูดได้ ผู้หญิงใบ้ก็ไม่เอา เขาคิดว่าคนพูดได้เป็นพวกชอบโกหก”
เขาเล่าต่อว่า ในชุมชนนี้มีคนหูหนวกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกลุ่มคนหูหนวก หากคนหูหนวกหน้าใหม่อยากย้ายเข้ามาอยู่ ต้องติดต่อขอคำอนุญาตจากเขาก่อนถึงจะเก็บข้าวของมาอาศัยอยู่ได้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะพื้นที่ตรงนี้ เขาเป็นคนถือโฉนดที่ดินบางส่วนเอาไว้ และน้ำท่า ไฟฟ้าต่างก็ต้องต่อมาจากบ้านของชายผู้นี้ ซึ่งเขาก็จะเก็บส่วนต่างค่าน้ำหรือไฟฟ้าเพิ่มเอา เช่น บิลค่าไฟแจ้งมา 10 บาท เขาอาจจะเก็บจากกลุ่มคนหูหนวกที่อยู่อาศัยเพิ่มเป็น 13 บาท
ตัวของตี๋เองก็อาศัยอยู่ในห้องหนึ่งใต้สะพานพระราม 9 โดยเขาอาศัยอยู่กับลูกชายและลูกสาวอีก 4 คน ส่วนภรรยาของเขาจากไปนานแล้ว ตั้งแต่คลอดลูกสาวคนสุดท้องของเขา
นอกจากตี๋จะรับหน้าที่ผู้ช่วยประสานงานในชุมชนไร้เสียงแล้ว เขายังเป็นเจ้าของและมีหน้าที่ดูแลห้องน้ำฟรีให้แก่ชาวชุมชนไร้เสียงใต้ทางด่วนด้วย โดยภายในห้องน้ำประกอบด้วยโถแบบนั่งหยองหนึ่งโถ ถังใส่น้ำ ขันตักน้ำ และเจลแอลกอฮอล์หนึ่งขวดแขวนอยู่ทางเข้า ซึ่งตัวเขาเป็นคนเอามาแขวนเอาไว้เพื่อให้เพื่อนบ้านที่ต้องใช้ห้องน้ำเขาเป็นประจำรักษาความสะอาดในช่วง COVID-19
“ก็งี้แหละ พวกมันไม่ค่อยมีตัง ไม่อยากให้สกปรกเดี๋ยวติดโรคกันก็เลยต้องเอามาแขวนไว้”
(2)
โลกใต้สะพาน
ตี๋พาเรามุดลงไปในช่องแคบใต้สะพานทางด้านขวา (ห้องของตี๋อยู่ด้านซ้าย มีผนังปูนกั้น) ผ่านผนังที่มีข้อความเขียนว่า “ห้ามทิ้งขยะตรงที่นี้! ระวังตบแน่” ภายในรูหนูเล็กแคบใต้สะพานมีคนอาศัยอยู่ราว 15-20 คน มีห้องซอยแยกย่อยออกไปอีก 4 ห้อง และมีโซฟาอยู่ 2 ตัว ตั้งอยู่มุมห้องตัวหนึ่ง และด้านหลังอีกหนึ่งตัว
ตี๋พาเราไปที่ห้องซ้ายมือ ภายในมีชายคนหนึ่งกำลังนอนหลับ เขาไม่มีท่าสะดุ้งตื่นเมื่อเราเปิดประตูเข้าไป ขณะที่ชายอีกสองคนเดินมารับหน้าบริเวณหน้าห้อง ทั้งสองคนนิ่งเงียบไม่พูดอะไร
“คนพวกนี้ไม่ได้ยินเสียง เวลาจะเรียกพวกเขาเลยต้องกดออดตรงนี้ มันเป็นสวิตซ์เปิด-ปิดไฟ” ตี๋ชี้ไปที่สวิตซ์ไฟที่ติดอยู่ตรงหน้าห้อง พยักหน้าให้ชายหนุ่มสองคนภายในห้อง แล้วเดินไปทางห้องฝั่งตรงข้าม
ภายในห้องฝั่งตรงข้าม ชายชรากะเกณฑ์ด้วยสายตาน่าจะอายุราว 70 ปี เดินออกมาด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง เขาโค้งให้เราน้อยๆ เราโค้งตอบ ก่อนที่เขาจะเห็นกล้องในมือเราและเหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ เดินเข้าไปภายในห้อง กลับมาพร้อมกระดาษแผ่นหนึ่ง และพวงกุญแจรูปการ์ตูนจากเรื่อง Seaseme Street นับสิบตัว
ข้อความภายในแผ่นกระดาษของชายชราติดยาวพืด “สวัสดีครับ.. ผมเป็นพิการหูหนวกพูดไม่ได้ไม่ได้มาเพื่อรบกวนคุณพี่ช่วยน้ำใจซื้อให้ผมหน่อยครับ” อีกบรรทัดถูกแปะด้วยกระดาษสีขาวและเขียนทับด้วยหมึกสีดำว่า “ตุ๊กตาพวงกุญแจ 29 บ. ขอขอบพระคุณด้วยใจจริงครับ”
ชายคนนี้ก็เช่นเดียวกับผู้พิการส่วนใหญ่ที่มักนำของไปขายตามสี่แยก หรือปูพรมขายในย่านที่มีนักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ เช่น สีลมหรือสยาม อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปิดประเทศจากปัญหาระบาดของไวรัส คนกลุ่มนี้ก็ขาดรายได้ และหยุดการนำของออกไปวางขายในที่สุด
เราฝากตี๋ถามต่อว่าเขาได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐไหม เขาพยักหน้างึกงักเป็นเชิงได้รับ แต่ก่อนที่จะทันถามคำถามต่อไป หญิงสาวอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกของผู้บกพร่องทางการได้ยินคนหนึ่งในชุมชน ที่เดินตามเรามาก็ตอบแทน
“เขาจะไปขายของก็ทำไม่ได้ ได้แต่เงินเยียวยาคนพิการ 800 บาท เงินจากบัตรคนจน 1,000 บาท ถ้ามีบัตรคนจนอยู่แล้ว ก็ไม่ได้หรอกพวกเราชนะ ม.33 อะไรนั่น”
“ถามว่าใช้พอไหม หนึ่งเดือนนะ เอาอะไรไปพอล่ะ” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะแบบแค่นๆ
(3)
ผมไม่ได้ขโมยมา
ตี๋แปลคำถามเราเป็นภาษามือเพื่อคุยกับชายรุ่นวัยราว 20 ปีตรงหน้า เขาทำมือเป็นรูปกากบาทและส่ายหน้า หัวจิตหัวใจของคนสู้ชีวิตแฝงอยู่ในนัยตาขึงขังของเขา
“ไอนี่มันถูกคนในตลาดจับไปส่งตำรวจ หาว่ามันขโมยของ เพราะไปคุ้ยขยะหาเศษเหล็ก แต่มันบอกเขาไม่ได้ขโมย มันไปคุ้ยมาจากกองขยะ” ตี๋แปลภาษามือจากชายตรงหน้าให้ฟัง หนวดของชายหนุ่มกระเซอะกระเซิง ผิวมีรอยดำจากถ่านและของสกปรก ยืนยันว่าคนนี้มีอาชีพเก็บขยะขาย
“พี่ไป สน. มาเนี่ย ไปพามันกลับมา สงสารมัน มันจะขโมยได้ไง ก็เขาทิ้งในกองขยะไปแล้ว มันก็แปลว่าทิ้งสิ ไม่ได้ขโมย” ตี๋ยืนยัน แววตาเขาสะท้อนความเชื่อมั่นในตัวชายหนุ่มตรงหน้า
เราฝากตี๋ถามถึงรายได้ประจำวันของเขา แต่ตี๋ส่ายหน้าเป็นเชิงไม่อยากให้ถาม เราจึงเปลี่ยนคำถามว่าเขาได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไหม ตี๋พยักหน้าให้เรา แล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมากดเข้าแอพพลิเคชั่นให้ชายหนุ่มตรงหน้าดู
เขาทำท่าสงสัยชั่วครู่ ก่อนพยักหน้าหงึกงักเป็นเชิงว่าได้รับเงินอุดหนุน เรายิ้มให้เขาและโค้งขอบคุณ ชายหนุ่มโค้งตอบ และทำท่าหยิบเหล็กที่อยู่บนพื้นขึ้นมาอีกครั้ง และคล้ายพยายามบอกให้เราเป็นปากเสียงยืนยันว่าเขาไม่ได้ขโมยมันมาจริง
มติชนรายงานเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ว่า อลูมิเนียมกระป๋องโค้ก 24 บาทต่อหน่วย, อลูมิเนียมหนาทั่วไป 24 บาทต่อหน่วย, อลูมิเนียมล้อแม็กซ์ 32 บาทต่อหน่วย, อลูมิเนียมกระทะไฟฟ้า 13 บาทต่อหน่วย, อลูมิเนียมมูลี่ 11 บาท, อลูมิเนียมมุ้งลวด 7 บาท, สแตนเลส 19 บาท และอลูมิเนียมแผ่นเพจ 28 บาท
เราไม่รู้ว่าเขาขโมยมันมาหรือเปล่า แต่ถ้ามันอยู่ในกองขยะซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของคนเก็บขยะอิสระจริง และราคาเหล็กไม่ว่าประเภทไหนต่อหนึ่งหน่วยยังแทบไม่ถึง 30 บาท ให้เขาไปเถอะ เมืองเราเมืองพุทธไม่ใช่หรือ
(4)
สงเคราะห์
ทุกวันนี้คนในชุมชนไร้เสียงแทบทุกคนได้รับสิทธิบัตรคนจนจากภาครัฐเป็นเงินใช้จ่ายราว 200-300 บวกกับเงินช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ตลอดจนอุปโภคบริโภคด้านต่างๆ เล็กน้อย และถ้าเป็นผู้พิการอีกจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 800 บาท กล่าวคือทุกเดือนพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐที่เกิดขึ้นจากแนวคิด ‘สงเคราะห์’
คงไม่ยกสถิติเพื่อมาเถียงกันว่าเงินจำนวนดังกล่าวพอเพียงต่อการใช้ชีวิตในเมืองหลวงหรือไม่ แค่ลองคิดเล่นๆ ว่า อาหารตามสั่งจานหนึ่ง 45 บาท/ มื้อ น้ำเปล่าขวดละ 7 บาท คิดเล่นๆ เท่านี้ก็หมดไปแล้วมากกว่า 5,000 บาท ยังไม่ได้นับสวัสดิการสำหรับผู้ที่มีบุตร เงินค่าเล่าเรียนที่ไม่ฟรีจริง ตลอดจนระบบประกันสุขภาพบัตรทองที่สามารถดีได้กว่านี้ หากมีการรื้อแลจัดงบประมาณเสียใหม่
การแก้ปัญหาสวัสดิการประชาชนในระยะยาวต้องถูกจัดระเบียบใหม่ ภาครัฐต้องไม่คิดว่าเพราะประชาชนยากจนจึงต้องช่วยเหลือเป็นครั้งคราว พอหายจน หมดวิกฤตก็เลิกช่วย แนวคิดดังกล่าวล้าหลังและสวนกระแสสังคมโลกที่พยายามเรียกร้องให้เพิ่มอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเพื่อกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตประชากรที่ดีในวงกว้าง ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาชนิดวันต่อวัน
หันมองรอบตัว นึกถึงบทสนทนากับผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ว่า “เราเก็บภาษีเยอะอย่างยุโรปเขาไม่ได้หรอก เก็บไปก็ถูกคอรัปชั่นหมด ถ้าอยากอยู่แบบพวกยุโรปก็ย้ายไปอยู่ยุโรปเสีย นี่เมืองไทย” นึกถึงแล้วได้แต่อุทานในใจว่า อืม..
(5)
หยิบยื่นโอกาสและโอบอุ้มผู้ร่วงหล่น
“ผมเป็นคนพูดตรงๆ นะ ใครมาแก้ปัญหาตรงนี้ก็ทำแบบผักชีโรยหน้าหมด ผู้ว่ากรุงเทพฯ จะมาทีหนึ่งคนจากเขตก็ลงมาทีหนึ่ง ผู้อำนวยการเขตจะมาครั้งหนึ่ง คนมันก็ลงมาครั้งหนึ่ง” ตี๋ระบายให้เราฟังถึงการเข้ามาแก้ปัญหาของภาครัฐในพื้นที่ที่ไม่จริงใจนัก และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว
“อย่างไฟตรงสะพานตอนแรกก็ไม่มีหรอก แต่ตอนนั้นนักข่าวเข้ามาแล้วเขาก็เลยประสานช่วย หรืออย่างพื้นปูนนี่ พวกแก๊งมอเตอร์ไซค์ Harley เขาก็มาทำให้ตั้งนานแล้ว ตอนแรกไม่มีหรอก”
“วันนี้พิมรี่พายเขาก็เพิ่งเข้ามา เขาบอกจะมาช่วยสร้างห้องน้ำให้ วันนี้เลยต้องช่วยกันย้ายเล้าไก่มาไว้ตรงนี้” เราถามเขาต่อว่าพิมรี่พายจะมาวันไหน “เห็นบอกวันที่ 18 แต่ไม่รู้มีนักข่าวมาด้วยไหม เห็นช่วงนี้เขาเงียบๆ”
“แต่ก็ไม่ได้แย่หมดนะ อย่างก่อนหน้านี้ก็มีคนหนึ่งจาก พช. (กรมพัฒนาชุมชน) มั้ง เขาประสานเข้ามาดูพื้นที่และบอกว่าเดี๋ยวจะหาคนมาช่วย ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อหรอก สักพักผ่านไปวันสองวัน นักข่าวมาเต็มเลย ทีนี้ของบริจาคเข้ามาเพียบ” เขากล่าวชื่นชมข้าราชการคนหนึ่งในกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งเขาไม่ได้ติดต่อไปหานาน และคิดได้ว่าควรติดต่อไปบ้าง
แม้ตี๋จะเล่าเพิ่มเติมว่าผู้อำนวยการเขตห้วยขวางยืนยันว่า จะไม่มีการไล่ชาวหมู่บ้านไร้เสียงออกจากพื้นที่อย่างแน่นอน แต่จากสายตาของเราเอง ปัญหาที่พวกเขาเผชิญทั้งสุขอนามัย คลองเน่าเหม็น ที่อยู่อาศัย ตลอดจนรายได้ประจำวันก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบมากกว่าการผ่อนปรนด้วยมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว
‘หยิบยื่นโอกาสและโอบอุ้มผู้ร่วงหล่น’ ควรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบพื้นฐานของรัฐต่อประชาชน
อ้อ.. และต้องไม่ลืมจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและมีคุณภาพด้วยสิ จะเปิดประเทศใน 120 วันอยู่แล้วนี่คุณประยุทธ์