งานหนักไม่เคยฆ่าใคร…
หลังกรณีของ ‘เบิร์ด’ นักจัดผังรายการช่อง TNN เสียชีวิตในที่ทำงานด้วยภาวะหัวใจตาย บางเสียงในสังคมพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความสลด และพับเก็บมันเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ แต่ในแวดวงสื่อมวลชน เหตุการณ์ดังกล่าวชวนให้สื่อทั้งองคาพยพหันกลับมาส่องกระจกมองตัวเอง ทบทวนถึงความเปราะบางของชีวิต และความหนักหนาสาหัสของงานที่เผชิญในทุกวัน ไม่ใช่เพียงปริมาณหรือเนื้องานที่กว่าครึ่งคือเรื่องเลวร้าย แต่รวมถึงความอ่อนแอไร้พลังในการส่งเสียงต่อรองถึงผู้มีอำนาจในองค์กร
เข้าใจดี อาชีพสื่อมวลชนไม่เหมือนอาชีพอื่น มันเรียกร้องความยืดหยุ่นในเรื่องเวลา แพสชั่นต่อปัญหาสังคม จิตนึกคิดถึงเรื่องสาธารณะ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนให้คนสื่อทำงานต่อไป แต่ปฏิเสธได้ยากไปพร้อมกัน ภาวะที่งานผสานเป็นหนึ่งกับชีวิต สมดุลชีวิตการงานพังไม่เป็นท่า เวลาถูกทุ่มให้งานมากกว่าคนรัก แถมรายได้ยังต่ำ มันก็แผดเผาชีวิตของคนทำงานสื่อไปพร้อมกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบิร์ดไม่ใช่ปัญหาของสื่อมวลชนองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่มันคือปัญหาเชิงระบบที่สื่อมวลชนไทยมีร่วมกัน และถ้าเราไม่จริงจังและมุ่งแก้ไขตั้งวันนี้ตอนนี้ ความสูญเสียอาจเกิดขึ้นในแวดวงสื่อมวลชนอีกครั้ง อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง
อาลัยเบิร์ด นักจัดผังรายการ
เบิร์ด หรือที่ต่อมามีการเปิดเผยว่าชื่อ ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ เป็นนักจัดผังรายการของสถานีโทรทัศน์ TNN ภายใต้เครือของทรู ซึ่งล่าสุด ทางต้นสังกัดและบริษัทในเครือทรูได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรับปากจะช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวแบ่งเป็น
-
เงินช่วยเหลือกรณีพิเศษ 24 เดือน
-
เงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
-
เงินประกันสังคม
-
รับเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรมและฌาปนกิจ
เฟซบุ๊กเพจ ‘จอดับ’ ซึ่งเป็นผู้เริ่มกระจายข่าวการเสียชีวิตของเบิร์ดเป็นเพจแรก โดยในโพสต์ดังกล่าวขึ้นต้นว่า “ใครว่าทำงานหนักจนตายไม่มีจริง” ก่อนขยายความถึงผู้เสียชีวิตซึ่งตอนนั้นรู้จักเพียงนาม ‘เบิร์ด’ ว่า ในแต่ละวันเบิร์ดต้องทำงานเกินเวลา บางสัปดาห์ต้องทำงานทุกวัน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายให้มีอาการป่วย
ก่อนที่ต่อมาจะมีการเปิดเผยข้อมูลของเบิร์ดเพิ่มเติม เช่น แพร (นามสมมติ) ซึ่งเล่าว่าเธอรู้จักกับเบิร์ดมากว่า 10 ปีแล้ว เบิร์ดเป็นคนทำงานหนัก นั่งเฝ้าหน้าคอมทำผังรายการมาตลอด ทั้งที่มีโรคประจำตัว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พักผ่อนเพราะไม่มีใครมาหมุนเวียนเปลี่ยนเวร
ขณะที่ทางด้าน ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค อดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กตัวเองว่า ก่อนที่เบิร์ดจะเสียชีวิต เขาเคยโพล่งขึ้นมากับตัวเองว่า “ต้องให้มันตายก่อนใช่มั้ย” ก่อนที่จะเล่าต่อว่าเบิร์ดทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า กระทั่งสังขาร ‘ชัตดาวน์อัตโนมัติ’
“กรณีนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าพนักงานระดับล่าง ตะโกนดังแค่ไหนก็ไปไม่ถึงหูผู้บริหารชั้นสูง” ศักดิ์ชัยเขียนในโพสต์ต่อว่า “พนักงานระดับล่างตัวเล็กๆ อย่างเบิร์ด ต้องถูกทอดทิ้งให้ภาระงานกดทับ ซ้อนกันหลายชั้น”
ดูเหมือนทุกคนจะให้ข้อมูลตรงกันว่าอยู่ 3 เรื่องเกี่ยวกับเบิร์ด เขามีโรคประจำตัว, เขาทำงานหนัก และไม่เคยมีใครมาแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเขา
เรื่องแรกเป็นปัญหาส่วนตัว เข้าใจได้ แต่สองเรื่องหลังน่าใคร่ครวญลงไปให้ลึกว่าทำไมถึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
พีระมิดของวงการสื่อ
จอน (นามสมมติ) จากเฟซบุ๊กเพจจอดับเล่าให้ The MATTER ฟังว่า ตัวเขามองว่าวงการสื่อมวลชนโทรทัศน์มีความไม่เท่าเทียมบางประการอยู่ ตำแหน่งต่างๆ ได้รับความสำคัญไม่เท่ากัน โดยถ้าพีระมิดคนทำงานสื่อมี 3 ชั้น ชั้นบนสุดคือ กลุ่มผู้ประกาศข่าว ชั้นกลางคือ กองบรรณาธิการ และชั้นใต้สุดคือ กลุ่มผู้ทำงานหลังบ้านทั้งหลาย
“มันจะเห็นถึงความไม่เท่าเทียมโดยสิ้นเชิงในบางองค์กรสื่อมวลชน ทำไมไม่มีใครมาแบ่งเวรกับนักแบ่งผังรายการ อย่างคนทำข่าวยังมีการแบ่งเวร เช้า-บ่าย กันเลย ทำไมอันนี้ถึงทำไม่ได้” จอนกล่าว
“ถ้ามันมีการวางโครงสร้างในแง่กำลังคนที่ดีตั้งแต่แรก มันจะไม่มีงานหนักเกินไปหรอก เช่น ถ้างานนี้มันต้องใช้ 3 คนก็ต้องใช้ 3 คน ถ้าไม่ไหวอะไรยังไงค่อยบอก” จอนเสริม
สำหรับจอน องค์กรสื่อให้คุณค่ากับตำแหน่งต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม เขายกตัวอย่างผู้ประกาศข่าวที่มักได้รับเงินเดือนเพิ่ม มีคำชมจากหัวหน้า มีโบนัสให้ ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกฝ่ายต่างก็ทำงานกันเป็นทีม ผู้ประกาศก็ต้องพึ่งกองบรรณาธิการ รวมถึงยังต้องพึ่งพนักงานข้างหลังอีกจำนวนมาก
“บางคนพอออกจอได้ เงินพุ่งขึ้นๆ ตรงนี้ไม่ได้ว่าอะไรไม่มีปัญหา แต่ดูแลคนอื่นด้วย เวลาอวยแต่คนหน้าจอ มาดูคนหลังจอสิ หางานกันหัวซุกหัวซุน” จอนระบาย
เขาเสริมความไม่เท่าเทียมในเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างกรณีเลย์ออฟพนักงานสื่อโทรทัศน์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหวยมักจะมาตกที่พนักงานหลังบ้านและกอง บก. มากกว่าจะเป็นตำหน่งอื่น เช่น ผู้ประกาศข่าวที่มักได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า
“ทำไมต้องถมเงินเดือนบางตำแหน่งขนาดนั้น ทั้งที่ข้างหลังมีข่าวลดคนตลอด แล้วถ้าหัวหน้ากอง บก. แข็งหน่อยไม่ยอม สุดท้ายเขาหันไปหาฝ่ายผังรายการไงว่าลดคนอีกหน่อยได้ไหม” จอนยกตัวอย่าง
คนวงการสื่อล้วน (ยอม) ถูกเอาเปรียบ
จอนเชื่อว่าคนที่มาทำงานสื่อแทบทุกคนเข้ามาพร้อมแพสชั่นมากกว่าเรื่องเงิน และบวกกับเนื้องานที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้อาชีพสื่อมวลชนมักจะไม่ลงรอยกับแนวคิดสมดุลงานและชีวิตเท่าไหร่นัก แต่ในทางกลับกันมันก็ส่งผลต่อชีวิตอยู่ไม่น้อย
“ตอนใหม่ๆ ก็ไฟแรง สนุก แต่ถึงเวลาเราถอดเรื่องแรงบันดาลใจออก แล้วเห็นว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องเวลา เงิน หรือความสัมพันธ์ มันถึงจะกลับมาถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่” จอนกล่าวต่อว่า “เจอหน้ากัน จะมีสักกี่คนที่พูดถึงองค์กรตัวเองในแง่ดี แต่สุดท้ายก็อยู่กันเพราะมันยังพอมีเงิน และความอยู่ตัวของคนๆ นั้น จนบางทีเราติดล่มเหมือนกัน”
ทางด้านตัวแทนจากเฟซบุ๊กเพจ ‘เขวี้ยงรีโมท’ ซึ่งทำงานอยู่ในวงการสื่อโทรทัศน์เช่นกันเล่าว่า ความไม่เป็นธรรมของวงการทีวี มีอยู่ทุกมิติ ทุกขั้นตอนของการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานเกินเวลาที่เป็นเรื่องปกติ จนมีคำที่พูดกันว่า ‘โอไหล’ และ ‘โอเหมา’
“ในวงการจะมีคำหนึ่งที่ใช้เรียกการทำงานนอกเวลาทำงานว่า ‘โอไหล’ หมายถึง โอทีไหล คือ ทำงานยาวๆ ไปไม่มีกำหนด อย่างช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ทีมงานเบื้องหลัง โดยเฉพาะทีมตัดต่อถูกใช้ให้ทำงานลากยาววันละ 12 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ แบบไม่มีวันหยุดเป็นเวลายาวนานกว่า 2 เดือน” เพจดังกล่าวเสริมต่อว่าถึงแม้จะได้รับโอทีตามชั่วโมงทำงานจริง แต่คุณภาพชีวิตด้านอื่นเรียกว่าผิดเพี้ยนไปหมด
ส่วนคำว่า ‘โอเหมา’ ทางเพจเขวี้ยงรีโมทอธิบายว่า เป็นการเหมาจ่ายสำหรับทำงานในวันหยุด โดยมักจะมีราคาอยู่ที่ 400-800 บาท/วัน อย่างไรก็ตาม บางครั้งมักไม่คุ้มค่าเดินทางไปทำงานด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ เพจเขวี้ยงรีโมทและจอดับยังให้ความเห็นตรงกันว่า ในวงการสื่อมักมีคนบางกลุ่มที่มีภาวะ ‘เกียร์ว่าง’ หรือไม่ทำงาน จนกลายเป็นผลักภาระให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรเข้ามาแก้ไข ไม่ใช่คนในทีม
“จำนวนคนที่เข้าทำงานต้องมีเกินกว่าจำนวนเนื้องาน เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะป่วยได้เสมอ นี่คือการวางแผนการบริหารคน เพราะถ้าเกิดการสูญเสีย มันคือเรื่องใหญ่ที่เกิดผลกระทบทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิต และงานที่ทำ” เพจเขวี้ยงรีโมทแสดงความเห็น
“ชีวิตของคนสำคัญมากกว่างานที่ทำ เลิกมองว่าพนักงานคือฟันเฟืองของบริษัท อยากให้มองด้วยความเข้าใจว่า ทุกชีวิตสำคัญพอๆ กันไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม”
คนในวงการสื่อมวลชนคลุกคลีกับปัญหาสังคม และเข้าใจดีถึงคำจำพวก อำนาจต่อรอง, ความเป็นธรรม, การกดขี่, ความเหลื่อมล้ำ เพียงแต่ทำไมพวกเขาถึงไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่ตัวเองควรมี?
สหภาพที่ไม่เป็นสหภาพ
“เราเรียกร้องต่อสู้ให้กับคนทุกชนชั้นได้ แต่กับชีวิตของพี่น้องเพื่อนสื่อเอง เรากลับไม่สามารถเรียกร้องหรือปกป้องได้” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยพูดขึ้นระหว่างสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
อันที่จริงวงการสื่อมวลชนไทยเคยมีสหภาพที่แข็งแรงมากอย่างเช่น สหภาพแรงงาน นสพ.บางกอกโพสต์ สหภาพแรงงานเครือเนชั่น รวมถึงยังมีองค์กรระดับใหญ่กว่านั้นอย่าง สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2555 อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสหภาพแรงงานกลางสื่อฯ กลับไม่ได้มีบทบาทมากนักในแง่การเรียกร้องความเป็นธรรมหรือคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนสื่อ
เนื่องจากไม่สามารถติดต่อใครในสหภาพแรงงานกลางสื่อฯ ได้ เราจึงติดต่อพูดคุยกับ สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ วัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยถึงสาเหตุที่สหภาพแรงงานสื่อมวลชนไทยอ่อนแอ
หลังจากพูดคุยสรุปได้ว่ามีสาเหตุทั้งหมด 3 ประการ ประการแรก ช่องว่างระหว่างสมาคมสื่อต่างๆ ในปัจจุบันมีสมาคมสื่อทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อฯ
“สมาคมนักข่าวมักจะแยกกันเป็นหลายสมาคม คนทำสื่อส่วนไหนก็แยกไปตั้งสมาคมของเขาเอง ทำให้เชื่อมไม่ถึงกัน และเกิดช่องว่างระหว่างกัน” วัฒนะชัยแสดงความเห็นในประเด็นนี้
ประการที่สอง แรงงกดดันจากกลุ่มทุนสื่อ สุปันเล่าถึงกรณีที่นักข่าวคนนึงมีโอกาสถูกเสนอชื่อรับตำแหน่งในสหภาพแรงงานกลางฯ แต่กลับถูกต้นสังกัดต่อสายเข้ามาคัดค้าน จึงต้องถอยไปในที่สุด
“ปัจจุบันนายทุนสื่อเขามีอำนาจ ทำให้ไม่มีใครอยากพูดเรื่องที่ตัวเองโดนกระทำเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง และยังมีอีกหลายปากท้องรออยู่ที่บ้าน มันเลยกลายเป็นว่ามีงานทำก็โอเค” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์กล่าว
ประการที่สาม ความตื่นตัวของคนสื่อ สุปันมองว่าประเด็นนี้ถกเถียงกันได้ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเอง คนสื่อมักพร้อมเรียกร้องให้คนตัวเล็กตัวน้อยทุกกลุ่ม แต่เมื่อถึงปัญหาของตัวเอง กลับเหนียมอายที่จะพูดถึง
“นี่คือปัญหาใหญ่ เพื่อนร่วมวิชาชีพเราไม่ค่อยสนใจปัญหาตัวเอง เพราะคนสื่อถูกปลูกฝังมาว่าไม่ควรนำเสนอเรื่องตัวเอง ซึ่งเรามองว่าถ้ามันเป็นเรื่องตัวเองที่เกี่ยวพันกับสังคม หรือสะท้อนปัญหาสังคมน่าจะนำเสนอได้ แต่คนอื่นอาจไม่คิดแบบนั้น” สุปันแสดงความเห็น
ตัวแทนจากสองสมาคมวิชาชีพสื่อฯ ยืนยันว่าพร้อมเป็นสะพานกลางเชื่อมเพื่อสร้างสหภาพแรงงานสื่อฯ ที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่สุปันอยากให้ทุกคนทบทวนหนึ่งคำถามกับตัวเองเสียก่อน
“พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสวัสดิภาพของตัวเองและเพื่อนพี่น้องหรือเปล่า” สุปันทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก