“ผมรู้สึกเสียใจมากจริงๆ แต่ความเจ็บปวดมันกลืนกินความสุขทั้งหมดของผมไปแล้ว มันถึงจุดที่ผมไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง ค่าเลี้ยงลูก หนี้ เงิน!!! ความตาย ซากศพ โทสะ และความเจ็บปวดยังแจ่มชัดในความจำของผมจากความหิวโหย เด็กที่บาดเจ็บ ชายที่ลั่นไกด้วยรอยยิ้ม ตำรวจ และนักฆ่าพวกนั้น”
ในปี 1994 เควิน คาเตอร์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากภาพเด็กหญิงชาวซูดานที่ทรุดลงบนพื้นทราย ขณะที่ด้านหลังมีอีแร้งตัวเขื่องรอคอยความตายของเธออยู่ หลังภาพนั้นถูกเผยแพร่ออกไป คาเตอร์ถูกสังคมตั้งคำถามว่า เหตุใดเขาถึงเลือกถ่ายภาพแทนที่จะเข้าไปช่วยเด็กหญิง? แม้คาเตอร์จะพยายามอธิบายว่าหลังจากกดชัตเตอร์เขาก็รีบปรี่เข้าไปช่วยเด็กหญิง แต่ท้ายสุดผลจากความกดดันและฝังตัวอยู่ในความขัดแย้งมายาวนาน คาเตอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง พร้อมทิ้งจดหมายในบรรทัดแรกสุดไว้..
คาเตอร์ เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่เผชิญกับภาวะทางจิตใจหลังจากทำงานอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งมานาน ขณะที่วงการสื่อมวลชนไทยก็เพิ่งเผชิญความสูญเสียนักข่าวหนุ่ม ซึ่งข้อมูลหลายตัวบ่งชี้ว่าเขาเผชิญกับปัญหาทางจิตใจเช่นกัน
คำถามตามมาคือ สังคมและวงการสื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพจิตใจของคนทำงานมากน้อยแค่ไหน? คำตอบนั้นผมพบเมื่อลองเสิร์ชคีเวิร์ด อาทิ โรคซึมเศร้ากับสื่อมวลชน หรือปัญหาสุขภาพจิตของนักข่าว ลงในช่องค้นหาของกูเกิล และพบว่าไม่มีงานวิจัยหรือบทความใดๆ ในไทยที่พูดถึงเรื่องนี้เลย
เมื่อไม่ตระหนักปัญหาอาจเกิดได้อีก ยิ่งในสังคมที่สภาพคล้ายสงครามย่อมๆ เศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองผันผวน ชีวิตไร้ความมั่นคง สื่อมวลชนที่เป็นด่านหน้าต้องใกล้ชิดกับปัญหาอยู่ทุกวันน่าจะมีแนวโน้มของปัญหาสภาพจิตใจในระดับที่สูง The MATTER พูดคุยกับ 2 นักข่าวที่ต้องดีลกับปัญหาสุขภาพจิต หนึ่งในนั้นเริ่มมีปัญหาหลังทำงานในพื้นที่ขัดแย้งเป็นระยะเวลานาน ขณะที่อีกรายมีปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังตั้งแต่เริ่มมาทำงานในสนามข่าว พวกเขาเผชิญปัญหาอะไรบ้าง มีอะไรในภูมิทัศน์สื่อไทยที่กดดันพวกเขาบ้าง พวกเขารับมือกับมันอย่างไร และมีข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องที่อยากให้องค์กรสื่อต่างๆ ได้ยินอย่างไร
จุดเริ่มต้นของภาวะซึมเศร้า
“คิดว่าน่าจะก่อนปี 60 ตอนนั้นเริ่มรู้สึกไม่อยากทำอะไร แล้วอยู่ๆ มันก็ร่วงหล่นหมดแรง รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันไม่มีคุณค่าความหมาย เริ่มตั้งคำถามว่าเราทำอะไรอยู่?” ปลา (นามสมมติ) สื่อมวลชนอาวุโสที่ผ่านสนามข่าวมาเกือบ 30 ปี เคยประจำทั้งกระทรวงสำคัญและเคยลงฝังตัวลงไปอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ร่วม 15 ปี เริ่มเล่า
นอกจากโรคซึมเศร้าและแพนิค ปลามีอาการของโรค PTSD กล่าวคือมักตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงดังกว่าปกติ ซึ่งเธอเล่าว่าประสบการณ์ในพื้นที่ความขัดแย้งทำให้เธอแยกออกว่าเสียงไหน “ที่มันจับขั้วหัวใจได้” เสียงไหนคือเสียงประทัด, กระสุน และระเบิด
“ตอนนั้นพี่ทำงานเก็บข้อมูล หลังจากเสียงระเบิดก็ตามมาด้วยเสียงโทรศัพท์ จะมีคนโทรมาถามว่ามีผู้บาดเจ็บกี่คน ระเบิดกี่ลูก พี่ก็จะตอบเมื่อพี่มีข้อมูล แต่น้องๆ ที่ทำงานกับพี่เขาจะเดินไปบริจาคเลือดก่อนแล้ว” เธอเล่าให้เราฟังว่านั่นคือลูปในช่วงชีวิตสมัยประจำอยู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของเธอ
อีกโรคหนึ่งที่เธอติดมาจากการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งคือ โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุจากความหวาดผวาต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์ เธอเล่าย้อนไปว่าตอนนั้นเธอต้องเตรียมพร้อมตลอดทั้งวัน แม้ยามค่ำคืนก็ต้องนอนในห้องวอร์รูมพร้อมสวมกางเกงยีนส์นอน
ขณะที่ โอ (นามสมมติ) ต่างออกไป เขาเผชิญโรคซึมเศร้าตั้งแต่อยู่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย และเมื่อเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ ก็โดดเข้ามาสู่สนามข่าวแทบในทันที เริ่มจากงานในแวดวงข่าวบันเทิง ก่อนกลายเป็นผู้ประกาศข่าวทางทีวี กระโดดมาทำปริ๊นท์ และเปลี่ยนตัวเองสู่โลกออนไลน์ในที่สุด
“เราค่อนข้างจะรู้ทันเพราะเราเป็นตั้งแต่ช่วงสังคมไม่เข้าใจ เพราะเรากินยาและอยู่กับมันมานานกว่า 13-14 ปี มันเลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไรในช่วงหลัง” อย่างไรก็ตาม โอยอมรับว่าตัวเขายังคงต้องรับยาอยู่อย่างต่อเนื่อง และต้องมีช่วงพักเพื่อบาลานซ์จิตใจจากความเครียดของงานอยู่บ่อยครั้ง
“สำหรับเรา ไปมาๆ เราคิดว่ารับมือได้ดีกว่าคนที่ไม่มีปัญหาสภาพจิตใจด้วยซ้ำ เรารู้ว่าจุดไหนควรพัก ควรกลับไปนั่งกินกาแฟ นอนเล่นโง่ๆ”
ดาบคมในสนาม
ปลามองว่าสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีหลายประการ ข้อแรกคือ การงานที่ต่อเนื่องและแห้งแล้ง เธอขยายความว่างานข่าวมีลักษณะทำดีเสมอตัวเท่านั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับคำชมจากหัวหน้าหรือสาธารณะ
“มันเป็นการงานที่แห้งแล้งไม่มีชีวิตชีวา เพราะวิชาชีพข่าวมันเป็นงานไม่รู้จบ เราไม่รู้ว่าจะวัดความสำเร็จจากอะไร จนบางครั้งเราถามตัวเองเหมือนกันว่าเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม?”
ขณะที่พร้อมกันนั้น งานที่ปลาจับก็ต้องลงไปคลุกคลีกับปัญหาของคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เผชิญความอยุติธรรม ทำให้หลายครั้งเธอค่อยๆ เก็บความทุกข์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง คล้ายฟองน้ำที่ค่อยๆ เก็บสะสมเศษไคล
“มันเรียลต่อชีวิตของผู้คนมาก ระหว่างทางไม่ค่อยมีโอกาสได้เติมน้ำเติมชีวิตจิตใจ ยิ่งพอเราทำข่าวสังคมที่อยู่กับคนชายขอบ มันเห็นแต่การกดขี่ การถูกกระทำ แล้วบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเราเอาตัวเราเข้าไปแบกสิ่งเหล่านั้นไว้”
ด้วยความที่เราทราบมาว่าเธอเพิ่งเดินทางไปอบรมที่เยอรมนี เราจึงถามเธอถึงความแตกต่างระหว่างอาชีพสื่อมวลชนในสองประเทศ ปลามองว่าสิ่งที่สื่อมวลชนทั้งสองประเทศมีความต่างกันมากคือ รายได้และความมั่นคง
“ในสังคมไทย นักข่าวไส้แห้งมาก ขณะที่เทคโนโลยีทำให้ภูมิทัศน์สื่อไทยเปลี่ยนมากกว่าเยอรมนี ร่วมกับวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจที่พร้อมบีบให้เราออกจากงานได้ตลอดเวลา นักข่าวรุ่นเดียวกับพี่ที่อยากมีครอบครัวและความมั่นคงในชีวิตออกไปทำองค์กรเอกชน ไปเป็นประชาสัมพันธ์กันหมดแล้ว”
ปลาเสริมต่อว่ายิ่งในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนและสำนักข่าวพากันกระโดดเข้าสู่โลกออนไลน์ ยิ่งทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นอาชีพที่มีความกดดันมากขึ้น เพราะมันทำให้ “ต้องเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ต้องทำงานตลอดเวลา มันทำให้พื้นที่ชีวิตกับพื้นที่สังคมเป็นเรื่องเดียวกัน” หรือเรียกได้ว่าชีวิตและการงานไม่บาลานซ์ ทำให้สื่อมวลชนมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
อีกสาเหตุที่เธอคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่คือ COVID-19 ซึ่งเธอแชร์ในฐานะคนที่เคยผ่านการทำงานในสื่อเก่าว่า มันทำให้คนในวงการสื่อยุคก่อนต้องปรับตัว จากที่เคยพบปะเพื่อสัมภาษณ์ก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ต้องหาวิธีใหม่ในการหาข้อมูล นอกจากนี้ สำหรับเธอการ Work From Home ยังทำให้ “พื้นที่งาน พื้นที่ชีวิต พื้นที่ส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน” ซึ่งเธอระบายว่าทำให้ตัวเอง “โคตรเครียดเลย”
อีกข้อหนึ่งที่ปลาสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อคือ ขนาดของสำนักข่าวมีขนาดเล็กลงและจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผลตามมาสองข้อคือ หนึ่งงานมีพลังขับเคลื่อนสังคมน้อยลง สองคนทำงานต้องบาลานซ์ระหว่างงานข่าวและหาเงิน ซึ่งเธอมองว่ามันอาจทำให้สื่อมวลชนเกิดคำถามในใจตัวเองถึง “คุณค่า” ของการงานที่ทำอยู่
ความเห็นข้อหนึ่งที่ทั้งปลาและโอมองเหมือนกันคือ การเรียกร้องทักษะหลากหลาย (Multiskills) จากคนทำงาน ทั้งคู่มองตรงกันว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงวงการสื่อมวลชน แต่ทุกสาขาอาชีพเรียกร้องให้คนทำงานทำได้ทุกอย่างชนิดครบจบในคนเดียว ซึ่งมันผลักให้คนทำงานต้องแบกรับและกดดันให้ตัวเองพัฒนาอยู่เสมอ
สำหรับโอ เขาเคยมีความกังวลสูงในช่วงที่เข้ามาทำงานยุคทีวีดิจิทัลใหม่ๆ เพราะนอกจากต้องเขียนข่าวส่งแล้ว ทางช่องยังต้องการให้เขาเปิดหน้าเพื่อรายงานออกทีวีด้วย
“ตอนทำทีวี นอกจากเนื้อหาที่ดีมันต้องมีทักษะการพูดด้วย ช่วงนั้นเราซ้อมพูดหน้ากระจกไม่ให้ติดขัดประมาณวันละ 2-3 ชั่วโมง เพราะถ้ามีหลุดพูด ‘อืม’ หรือ ‘อือ’ นิดเดียวจะโดนตำหนิแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเขียนข่าวส่ง ต้องทำอย่างอื่นด้วย”
ขณะที่เมื่อสื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ โอเริ่มวางไมค์และหันมาจับกล้องมากขึ้น ซึ่งตัวเขาเองยอมรับว่ามันทำให้เขาเข้าใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น อาทิ ภาพของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด COVID-19 อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในหน้างานไม่ใช่สิ่งที่บั่นทอนเขาเท่ากับการให้คุณค่าและราคาของเนื้องาน
“ในแง่ของไทย รายได้สื่อไทยมันถูกหยุดอยู่แบบนี้มา 10 ปีแล้ว เราเขียนชิ้นนึงมันก็ได้ประมาณ 2,000 – 4,000 บาท เพราะสังคมไทยยังมองว่าข่าวมันถูก ออนไลน์มันฟรี” เขาระบายถึงการให้ราคากับงานเขียนเชิงข่าวที่ถูกสตาฟท์แช่แข็งมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นเรทที่ใกล้เคียงกับยุคที่นิตยสารเฟื่องฟู
“อีกปัญหานึงที่ทำให้สื่อรายได้ไม่ดีคือ คนที่ไปอยู่ในระดับบริหารไม่เข้าใจคุณค่าของงาน ถ้าพูดในเชิงภาพ ช่างภาพไม่มีทางโตถ้าอยู่ในสื่อไทย ไปได้ไกลที่สุดคือหัวหน้าช่างภาพ แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ภาพอะไรลงสื่อ แต่กล้าพูดไหมว่าสายเขียนกี่คนที่รู้เรื่องรูป กี่คนที่มองศิลปะออก น้อยมากกล้าพูดเลยโดยเฉพาะสื่อเก่า” เขาระบายในฐานะช่างภาพ
“สุดท้ายไม่ใช่แค่เนื้องานที่ต้องทำ คนที่อยู่ในวงภาพสื่อมวลชนแบกรับอะไรหลายๆ อย่าง คนที่ถ่ายภาพดีบางคนถ้าไปอยู่ผิดที่ เขาโดนตั้งคำถามเลยว่าภาพนี้ถ่ายมาทำไม ซึ่งมันเป็นวิธีการมองแบบคนที่ไม่รู้จักภาพมอง”
ค่านิยมและวัฒนธรรมอันทิ่มแทง
ในวงการสื่อมวลชนมักมีความเชื่อว่า คนข่าวต้องกระดูกเหล็ก ต้องอึดต้องทนต่อสภาพการทำงานทุกรูปแบบ ที่สำคัญต้องแยกให้ห่างระหว่างความรู้สึก ความคิดส่วนตัว กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า
“เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของนักข่าวเท่าไหร่นัก เพราะวิชาชีพมันให้เรารายงานแต่ความจริงแล้วเอาอารมณ์ความรู้สึกออกมา”
เธอตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะวิชาชีพที่ตัวเองทำมานานเกือบ 30 ปี ซึ่งเธอเสริมต่อว่า แนวทางของอาชีพแบบนี้ทำให้คนในสนามข่าวไม่ตระหนักถึงผลกระทบของงานต่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
ปลายังเสริมถึงค่านิยมเรื่อง “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอปฏิเสธไม่รับการแอดมิทในโรงพยาบาล และเลือกเก็บงำปัญหาทางจิตใจ ไม่ยอมบอกที่บ้าน
“พี่โตมาในวาทกรรม ‘ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน’ เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ถ้าไม่ทำงานจะกลายเป็นคนไม่มีคุณค่า แล้วเราจะหาทางพิสูจน์ตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นความกดดันทั้งหมดเลย” ดังนั้น เวลาเราป่วยเราก็ไม่กล้าคุยกับคนที่บ้านว่าเราป่วย และพยายามไม่ทำให้คนรอบข้างลำบาก
ข้อเรียกร้องถึงแวดวงและองค์กรสื่อ
ด้วยความที่วงการสื่อมวลชนไทยมีโครงสร้างแตกต่างกับสายอาชีพอื่นๆ เราไม่ขึ้นต่อรัฐ ไม่รับใช้ทุนจากเอกชน (ถึงแม้ได้เงินเดือนจากบริษัทก็ตาม) แต่ยืนอยู่ด้วยความเชื่อใจจากสาธารณชน ทำให้หนึ่งเดียวที่เสียงเรียกร้องจากคนในวงการสื่อจะไปถึงคือ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
สำหรับปลา มุมหนึ่งเธอเรียกร้องให้คนทำงานในระดับผู้บริหารและ บ.ก. ทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตให้มากขึ้น เมื่อสภาพจิตใจไม่พร้อม การงานที่ออกมาย่อมมีคุณภาพด้อยลงไป และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาแค่ตัวคนทำงานเอง แต่มันยังสั่นสะเทือนไปถึงสังคมในภาพรวมด้วย
“ต้องยอมรับว่าปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงานสื่อมีผลต่อคุณภาพของข่าวสาร และถ้าเราเชื่อว่าสื่อเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน การที่สื่อคนหนึ่งมีความวิตกกังวลหรือภาวะความเครียด ผลกระทบมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นระดับโครงสร้าง ดังนั้น ข้อเสนอเราคือต้องมองว่าเรื่องปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของคนทำงาน” เธอกล่าว
อีกมุมหนึ่ง ปลาเรียกร้องไปถึงองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลายเริ่มสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของคนในวงการสื่อ มีการเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอยากให้เป็นสื่อกลางที่นำระดับผู้บริหารขององค์กรสื่อมาตั้งวงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงาน
“เราเรียกร้องให้สมาคมวิชาชีพสื่อเริ่มสำรวจขนาดของปัญหาด้านกายภาพ ความมั่นคง และด้านจิตใจของคนทำงานสื่อ เพราะวงการสื่อเราไม่มีสหภาพมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันเลยไม่มีใครเรียกร้องเรื่องสวัสดิการให้คนในอาชีพนี้ จากนั้นควรมีวงแลกเปลี่ยนของผู้บริหารสื่อ เพราะทุกองค์กรต้องมีคนมีปัญหาด้านจิตใจแน่นอน ดังนั้น ปัญหาแบบนี้แต่ละองค์กรมีวิธีจัดการอย่างไร มันน่าจะต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน”
อีกประเด็นที่เธอทิ้งท้ายคือ อยากให้มองคนทำงานสื่อเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความอ่อนแอ ล้มเหลวเป็น เครียดเป็น “ทำอย่างไรให้คนเป็นมืออาชีพอ่อนแอได้ ล้มเหลวได้ พักผ่อนได้ ให้พื้นที่ชีวิตและพื้นที่ทางสังคมมีสัดส่วนที่ไม่ทำให้เครียดมากนัก”
ขณะที่ทางด้านโอเสนอว่า สื่อทุกสำนักควรที่จะมีนักบำบัด (Therapist) ประจำกองบรรณาธิการ เขายกตัวอย่างโมเดลของสำนักข่าว Reuters ซึ่งจัดให้การปรึกษาจิตแพทย์แบบ 24 ชั่วโมงสำหรับนักข่าวที่ต้องการระบาย
“สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuter) มีศูนย์บำบัด ถ้ามีปัญหาสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง เพราะเขารู้ว่าปัญหาหน้างานเป็นอย่างไร ซึ่งเพื่อนที่ทำอยู่รอยเตอร์ก็บอกว่าทุกคนที่ทำงานสื่อควรไปพบนักบำบัดบ่อยๆ เพราะมันช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกที่โหดร้ายได้ดีขึ้นเยอะ”
“มันสำคัญนะ เพราะถ้าคุณทำงานสื่อแล้วต้องเจอภาพคนเสียชีวิตติดต่อกันหลายวัน คุณจะซัฟเฟอร์และต้องไปพบจิตแพทย์ แล้วถ้ายังต้องจ่ายเงินเองอีกทั้งที่มันเกิดจากงาน มันยิ่งแย่” โอทิ้งท้าย
องค์กรวิชาชีพสื่อคิดอย่างไร
The MATTER ได้ลองติดต่อหา เอก – มงคล บางประภา นายกฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยลองถามถึงความเห็นของเขาว่า คิดอย่างไรต่อปัญหาสภาพจิตใจของคนทำงานสื่อสารมวลชน
“ในโดยรวม คนทำอาชีพนักข่าวรับรู้กันแต่แรกแล้วว่าไม่ใช่อาชีพที่ตอกบัตรเช้า-เย็น ดังนั้น มักจะมีภาวะความเครียดจากงานเป็นปกติ แต่ในยุคหลังๆ เป็นไปได้ว่าความเครียดจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะโลกโซเชียลมีเดีย มันเห็นผลกันวันต่อวัน วัดเรตติ้งกันได้นาทีต่อนาที ซึ่งเรื่องนี้มันจะหนักกับนักข่าวมากขึ้นๆ”
เมื่อเราลองถามถึงข้อเสนอจากปลาที่ว่าให้องค์กรเริ่มเก็บข้อมูลและเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้บริหารสำนักข่าวต่างๆ ให้ลองมาแชร์ไอเดียในเรื่องนี้กัน นายกฯ สมาคมตอบกลับมาว่า
“บทบาทนี้มันควรเริ่มจากต้นสังกัด เพราะมันคือด่านแรก ต้นสังกัดควรบริหารสภาพจิตใจของผู้ร่วมงานอยู่ตลอด และนักข่าวก็อยู่กับต้นสังกัดมากกว่าสังคมภายนอกด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าคนที่ทำข่าวจริงๆ มันไม่ใช่ทำข่าวแค่ 8 ชั่วโมง/ วัน มันอยู่กับข่าวมากกว่าครอบครัว” เขาระบุ
“ถามว่าสมาคมทำอะไรได้ มันคงลำบาก เพราะคนมาเป็นผู้สื่อข่าวควรรู้แต่แรกแล้วว่าต้องมีความเข้มแข็งในการรับสถานการณ์บีบคั้นได้มากกว่าคนอื่น”
เขาทิ้งท้ายว่าถ้ามีสื่อมวลชนเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือในเรื่องสภาพจิตใจก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเช่นกัน “ถ้าถึงจุดนึง ผมคิดว่าควรสื่อสารในองค์กรเป็นลำดับแรก แต่ถ้ามีปัญหามาบอกกล่าวกับสมาคม หรือนักข่าวรุ่นพี่หรือเพื่อน่าจะช่วยในการระบายได้ดีขึ้น”
.
.
ก่อนปิดเครื่องอัดเสียงผมถามปลาทั้งในฐานะแหล่งข่าวและรุ่นพี่ในวงการว่า ในเมื่อการงานมันทั้งตึงเครียด บั่นทอน และไม่มั่นคง ทำไมถึงยังเลือกเป็นนักข่าวอยู่? เธอหัวเราะแล้วพูดแกมขบขันว่า “ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว” ก่อนให้เหตุผลที่แท้จริงว่า
สิ่งที่มันหล่อเลี้ยงเราคือ เรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เราเขียนออกไป อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้แหละที่ปลอบประโลมเรา มันทำให้การงานของเรามีคุณค่า
อ่านบทความเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของสื่อมวลชนเพิ่มเติม:
Kevin Carter, a Pulitzer Winner For Sudan Photo, Is Dead at 33
How journalists’ jobs affect their mental health: A research roundup
When Being a Journalist Is Terrible for Your Mental Health
Covering Trauma: Impact on Journalists
Journalists’ mental health during the pandemic: We need to talk