ดูจะเป็นเรื่องแสนบังเอิญ ที่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เป็นทั้งวันครบรอบการจากไปของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และเป็นวันแห่งการช้อปปิ้ง คุณเสนีย์เป็นหนึ่งในนักเขียนไทยร่วมสมัยที่มักมีชื่องานสำคัญคือ ปีศาจ พ่วงมาด้วยเสมอ ปีศาจ เรียกได้ว่าแทบจะเป็นงานระดับไอคอนของวงวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยมีประเด็นเรื่อง ‘ชนชั้น’ และการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคม
คำว่า ‘ปีศาจ’ เป็นคำที่น่าพิจารณา ตามท้องเรื่อง แกนเรื่องสำคัญของ ปีศาจ ก็แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2500 ที่เริ่มมีความคิดใหม่ๆ เข้ามา โครงสร้าง อำนาจ และคุณค่าแบบเดิมๆ เช่นชนชั้นก็เริ่มเลือนรางลงไป สาย สีมา ถึงขนาดนิยามตัวเองว่า เป็น “ปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า” ในความคมคายของคุณเสนีย์ ปีศาจตนนี้จึงมีความหมายได้ทั้งความหมายแคบ คือเป็นสิ่งที่หลอกหลอนอำนาจหรือสังคมอยู่ในขณะนั้น ในอีกด้านนั้นดูจะสะท้อนความคิดเรื่องความเป็นอนิจจัง ที่ปีศาจก็คือกาลเวลา วันหนึ่งทุกสิ่งที่เคยสถาวรย่อมเสื่อมสลายไปสู่สิ่งใหม่
ไม่แน่ใจว่าคุณเสนีย์ได้แนวคิดเรื่องปีศาจมาจากไหน แต่ก็เป็นไปได้ว่า ปัญญาชนในยุคนั้นย่อมต้องเคยอ่านงานสำคัญเช่น Manifesto of the Communist Party ของมาร์กซ์ แถมงานก็เขียนมีประเด็นเรื่องชนชั้น ในคำประกาศของมาร์กซ์ ตัวมาร์กซ์ก็เปรียบเทียบแนวคิดของตนว่าเป็นผีสางที่หลอกยุโรปและหลอนโลกทุนนิยมอยู่ จนทุกวันนี้ที่เราอาจก้าวข้ามคอมมิวนิสต์ไปหลายส่วนแล้ว แต่ ‘ผีแบบมาร์กซ์’ ที่ตอนหลังนักคิดเช่นแดริดาเอง ก็ยังบอกว่า ผีมาร์กซ์ คือวิธีคิดที่ขบกับโลกอย่างถอนรากถอนโคนนั้นก็ยังคอยหลอกหลอนโลกใบนี้อยู่—อย่างดี
ปีศาจของชนชั้นสูง
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่าทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”
จริงๆ โครงเรื่องของ ปีศาจ ก็ดูจะพูดเรื่องความรักข้ามชนชั้น พระเอกหนุ่มนาม สาย สีมา กับ รัชนี ตามตำราดอกฟ้ากับหมาวัด ในเรื่องพูดถึงการเปลี่ยนชนชั้นผ่านการศึกษา การท้าทายความคิดจากโลกเก่าด้วยความคิดแบบใหม่ๆ อิสรภาพของคนหนุ่มสาว การวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น
ฉากที่พระเอกชี้หน้าท่านเจ้าคุณ และยินดีนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ปีศาจ’ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่และความคิดใหม่ๆ แถมชื่อเรื่อง ทำให้จากการเป็นนวนิยายพาฝันที่เน้นความรักของตัวละครเอก หนักลงไปสู่ประเด็นทางสังคม การใช้วรรณกรรมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ บันทึกความอยุติธรรมและให้ความหวังกับผู้อ่าน ปีศาจ จึงกลายเป็นหนังสือขึ้นหิ้ง ในยุคนั้นมีงานเขียนที่สนทนากับ ปีศาจ มากมาย เช่น บทวิจารณ์ของวิทยากร เชียงกูล ไปจนถึงบทความ ‘ใครคือปีศาจ’ ตีพิมพ์ในสยามรัฐในช่วงปี พ.ศ.2514
แน่นอนว่าในยุคนั้น นักศึกษาและปัญญาชนต่างเขียนและอ่านงานเพื่ออุดมการณ์ ดึงเอาพลังเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการ และอาจรวมถึงการปะทะกันของค่านิยมเก่าและใหม่ในสังคม เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ท้าทายและหลอกหลอนคนรุ่นเดิม
น่าแปลกใจที่แม้ว่าจะผ่านมาเกินร้อยปีแล้ว เราเองก็ยังดูจะติดกับคู่ตรงข้ามของความใหม่และเก่า เราเองก็ยังดูจะมีผีปีศาจที่หลอกหลอนสังคม ซึ่งเราทั้งกลัวและทั้งรักที่จะพูดถึงอยู่
ผีของมาร์กซ์ และการหลอกหลอนที่ไม่รู้จบ
“A spectre is haunting Europe – the spectre of communism.”
ประโยคแรกของมาร์กซ์ (และเองเงิลส์) เปิดคำประกาศที่พลิกโลกใบนี้ว่า “ผีกำลังหลอกหลอนยุโรปอยู่ และผีตัวนั้นมีชื่อว่าคอมมิวนิสต์” แน่นอนว่าแถลงการณ์ (manifesto) ของมาร์กซ์พูดถึงการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม และการกดขี่ขูดรีดรูปแบบใหม่ของนายทุนและแรงงาน คำทำนายของมาร์กซ์เรื่องการลุกฮือขึ้นของกรรมาชีพและนำไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์อาจไม่แม่นยำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อวิจารณ์เรื่องการกดขี่ และประเด็นทางชนชั้นในระบบทุนนิยมจะไร้ความหมาย
ฌาคส์ แดร์ริดา เจ้าพ่อสำนักรื้อสร้างเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Specters of Marx ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1993 หลังการพังกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปในปี ค.ศ.1989 แดร์ริดาบอกว่า การล่มสลายลงของคอมมิวนิสต์ไม่ได้หมายความว่าผีมาร์กซ์ได้หายไป แต่ในโลกสมัยใหม่นี้ เรากลับต้องการผีมาร์กซ์เพื่อคอยหลอกหลอนกันต่อไป การดำรงอยู่ของมาร์กซ์ไม่ได้อยู่ในระดับของความคิดทางการเมือง แต่เป็นระดับความคิดทางปรัชญา ปรัชญาของการรับผิดชอบต่อสังคม—ข้อวิจารณ์ของมาร์กซ์พูดถึงการกดขี่ที่เป็นรูปธรรม และการวิพากษ์อย่างถอนรากถอนโคน (radical critique)
วิธีคิดแบบมาร์กซ์กลายไปเป็นรากฐานทางการคิดแบบวิพากษ์ เป็นการมองและตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคนกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว โดยมองให้ทะลุไปสู่ประเด็นที่ ‘มีความเป็นการเมือง’ มีการกดขี่ มีผู้ได้เสียแอบแฝงอยู่ในความปกติธรรมดานั้น ในโลกที่ทุกอย่างกลบเกลื่อนตัวเองไว้ในนามของ ‘ความธรรมดา’ และยิ่งในโลกของเราที่ทั้งการคิดและการตั้งคำถามเป็นเรื่องน่ารำคาญ วิธีคิดแบบมาร์กซ์นี้จึงยิ่งดูเป็นผีสางที่แสนน่ากลัว
นับตั้งแต่ผีของมาร์กซ์ ปีศาจของเสนีย์ มาจนถึงการรื้อฟื้นผีมาร์กซ์ของแดร์ริดา ดูเหมือนคำว่า ชนชั้น ความเหลื่อมล้ำที่ผีเหล่านั้นพยายามหลอกหลอนก็ยังคงดำรงอยู่ แถมตัวความเหลื่อมล้ำเองก็อาจกลายเป็นผีด้วยซะเอง คือเรามองความเหลื่อมล้ำให้กลายเป็นคำธรรมดาในชีวิตประจำวัน ชนชั้นฟังดูไม่มีจริงแต่ก็รับรู้ได้ ทุกอย่างดูเป็นเรื่องธรรมดาในดินแดนของทุนนิยม เราจะไปทำอะไรได้
ในวันแห่งการช้อปปิ้งแบบนี้ เราเองก็ยังคงต้องการรองเท้าคู่ไหม ต้องการชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันพอพลิกข้าวของในมือดู เราอาจจะเห็นหยาดเหงื่อและแรงงานที่เกิดจากความอยุติธรรม จากการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เสมอภาคกัน ในโลกที่ทุนนิยมหล่อหลอมเราในระดับความคิด การมองเห็นและเข้าใจความไม่เป็นธรรม เท่านี้ก็โอเคแล้วเนอะ
ว่าแล้วก็ขอไปช้อปของเซลในวันแห่งการจับจ่ายซะหน่อย
อ้างอิงข้อมูลจาก