ที่นี่ มีอะไรอร่อยๆ ให้กินบ้าง ?
หลายคนที่เคยไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) จะแนะนำว่า พื้นที่นี้มี ‘วัฒนธรรมอาหาร’ ที่หลากหลาย ผสมผสานกันทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม จีน และมลายู บวกกับความ ‘อุดมสมบูรณ์’ ของวัตถุดิบทั้งที่หาได้บนบกและในทะเล
ปลายปี 2564 ทีมงาน The MATTER มีโอกาสลงไปทำข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงแวะไปลอง ‘ร้านอร่อย’ ตามที่เงื่อนไขต่างๆ จะอำนวย ที่แม้จะมีเวลาจำกัด (แถมบางร้านที่ตั้งใจจะไปก็ปิดด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น พาพนักงานไปฉีดวัคซีนหรือปรับปรุงร้านชั่วคราว ฮึ่มมม) แต่เท่าที่ได้สัมผัสรสชาติอาหารจากหลายๆ ร้านในท้องถิ่น ก็ทำให้รับรู้ถึง ‘วัฒนธรรมอาหาร’ อันหลากหลายชวนน่าประทับใจ จนสมาชิกบางคนในทีมให้สัญญากับตัวเองไว้ว่า จะกลับมาเดินสายกินอีกครั้งให้ได้!
โรตีบังหนูด (ปัตตานี)
‘โรตี’ เป็นอาหารทัองถิ่นที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กินมาอย่างยาวนาน ทั้งเป็นอาหารว่างหรือเป็นจานหลัก เราจะเห็นภาพคนในพื้นที่กินโรตี (ทั้งโรตีธรรมดา โรตีไส้ต่างๆ และโรตีน้ำแกง) คู่กับน้ำชา กาแฟ ข้าวต้มปลา ไก่ทอด นาซิดาแฆ ฯลฯ ตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมกับพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ ตั้งแต่เม้ามอยมิตรสหายไปจนถึงคุยเรื่องการเมืองเข้มข้น
‘โรตีบังหนูด’ เป็นร้านเก่าแก่ตรงวงเวียนหน้า ม.อ.ปัตตานี ที่ใครมาแถวนี้จะถูกแนะนำว่า ต้องมาลอง เป็น a must แล้วเราจะพลาดได้อย่างไร
วันที่เราไปมีลูกค้ามาอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่บังหนูด-หนูด อิศลาม เจ้าของร้านก็ออกมานั่งคุยกับพวกเราถึง ‘วัฒนกรรมร้านน้ำชา’ ใน จ.ปัตตานีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พร้อมกิมมิกเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ที่น่าสนใจ ปิดท้ายด้วยรสชาติที่ลิ้นคน 3 จังหวัดฯ ชอบจากที่บังหนูดสังเกต (เรื่อง ‘วัฒนธรรมร้านน้ำชา’ เราจะหยิบมาเขียนแยกเป็นอีกบทความ รออ่านกันได้ใน The MATTER)
ต้าเหยิน (เบตง)
เวลาพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขื่อว่าหลายคนที่ยังไม่เคยมา (แต่แนะนำให้หาโอกาสมานะ) คงจะนึกถึงวัฒนธรรมอิสลาม-มลายูเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ความจริงแล้วในพื้นที่ก็มีวัฒนธรรมจีนปรากฎอยู่ไม่น้อย รวมถึงในจานอาหารด้วย
อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ใต้สุดของเมืองไทย แม้จะอยู่ติดกับมาเลเซีย แต่ก็มีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว จีนแคะ ฯลฯ พอเปรยกันว่าจะหาอะไรอร่อยๆ กินใน อ.เบตงดี ชื่อของร้าน #ต้าเหยิน ก็โผล่มาเป็นช้อยส์แรกๆ พร้อมกับเมนูอาหารจีนผสมท้องถิ่น อย่างไก่สับเบตง เคาหยก ถั่วเจี๋ยน หมูทอดเต้าหู้ยี้ ฯลฯ
ที่แม้ว่าสุดท้าย ทริปเยือนเบตงของเราจะล้มเหลวในหลายๆ เรื่อง เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ทางการปิดไม่ให้เข้าไปในแลนด์มาร์กสำคัญ อย่างอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์หรือป้ายใต้สุดแดนสยาม TT แต่การได้กินของอร่อยๆ ก็ทำให้พอบรรเทาความผิดหวังครั้งนั้นได้ไปบ้าง (น่ะนะ)
บังแอซุป (ยะลา)
“มา 3 จังหวัดฯ จะต้องหาซุปเนื้ออร่อยๆ กินให้ได้!” คือคำประกาศกร้าวของสมาชิกคนหนึ่งในทีม ที่ทุกคนเห็นตรงกัน โดยร้านที่คนท้องถิ่นใน จ.ยะลาพาไปกินคือร้าน ‘บังแอซุป’
ซุปเนื้อเครื่องใน เป็นสิ่งที่คนไทยมุสลิมโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้นิยมกินกัน และรสชาติซุปเนื้อร้านบังแอซุปก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง โดยร้านนี้จะเสิร์ฟมาพร้อมกับไข่เจียวร้านๆ ที่ใส่ต้นหอมซอยและได้กลิ่นน้ำปลาจางๆ กินกับข้าวสวยแล้วอร่อยจนอยากแนะนำต่อ
เราสั่งซุปเนื้อไปตามจำนวนคน แต่พนักงานที่ร้านเสิร์ฟมาเกิน พอทักท้วงไป เขาก็ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงสนุกๆ ว่า ถ้าอยากกินเพิ่มจะได้ไม่ต้องเสียเวลาสั่ง แล้วเราก็กินกันเกินกว่าที่สั่งไว้ตอนแรกจริงๆ แถมไม่ต้องไปรอคิว แม้ตอนที่เราไปจะอยู่ในช่วงที่คนมากินอาหารเที่ยงจนแน่นร้านพอดี
เจ้แป้น ติ่มซำ (ปัตตานี)
‘ติ่มซำ’ (點心) เป็นเมนูอาหารว่างของจีน ที่คนไทยเรียกตามสำเนียงจีนกวางตุ้ง มักกินกันตอนเช้าๆ สายๆ ก่อนเริ่มทำงาน ส่วนมากเป็นเมนูที่ใช้วิธีปรุงด้วยการนึ่ง เช่น ขนมจีบ ซาลาเปา เกี๊ยวซ่า ฮะเก๋า เต้าหู้ หมี่หยก ผักนึ่งต่างๆ ฯลฯ โดยร้านจะเตรียมใส่ไว้ในเข่งไม้ไผ่หรือจานใบเล็ก เมื่อลูกค้าสั่งแล้วถึงจะเอาไปนึ่งแล้วนำมาเสิร์ฟ
เราอาจคุ้นเคยเมนูติ่มซำกับจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เช่น จ.ภูเก็ต จ.ตรัง แต่แท้จริงแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีร้านติ่มซำอยู่ไม่น้อย อย่างร้าน ‘เจ้แป้นติ่มซำ’ ที่อยู่ใกล้กับ ม.อ.ปัตตานี
ว่ากันว่า ติ่มซำต้นตำรับที่มาจากมณฑลกวางตุ้งของจีน มักจะกินร่วมกับน้ำชาร้อนที่เรียกกันว่า หยำฉ่า (飲茶) แต่ปัจจุบันกินร่วมกับเครื่องดื่มได้หลากหลาย วันที่เราไปร้านเจ้แป้นติ่มซำก็สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ พอกินเสร็จก็เอาเข่งไปเรียงกองไว้สูงๆ ไม่ต่างจากตอนกินก๋วยเตี๋ยวเรือใน กทม. แต่ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูนะ เดี๋ยวจะเห็นว่าพวกเรากินกันไปเยอะขนาดไหน
กะมาข้าวยำราชา (ปัตตานี)
ร้านดังแห่ง จ.ปัตตานี เปิดขายตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ เมนูเด็ดคือ ‘ข้าวยำน้ำบูดู’ ที่คนในร้านมาแนะนำว่า เครื่องเคียงมีอะไรบ้าง เป็นผักต่างๆ หั่นฝอย ที่ทั้งสีสันสดใสและเมื่อคลุกกับข้าวยำก็ยิ่งทำให้รสชาติในจานล้ำลึกไปอีกขั้น โดยน้ำบูดูที่หลายคนเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากน้ำปลาร้า (เพราะวิธีทำคล้ายกัน คือเอาปลามาหมัก แต่รายละเอียดการทำจะต่างกันอยู่) ให้รสชาติคล้ายๆ ปลาป่น ที่สำคัญคือไม่คาว นอกจากนี้ ยังสั่งปลาย่างกับหอยแครงลวกมากินกันให้จุกๆ
ระหว่างนั้น เรายังสั่งเมนูชื่อไม่คุ้นหูมาลองชิม เช่น ‘ละแซ’ อาหารท้องถิ่นของชาวมุสลิม เป็นเป็นก้อนแป้งราดน้ำกะทิ รสชาติคล้ายขนมจีน ‘ปูโละญอ’ เป็นข้าวเหนียวดำกินกับมะพร้าวซอย (ปูโละ ภาษามลายูแปลว่า ข้าวเหนียว) และ ‘ตือปงบูกุฮ’ ที่หน้าตาคล้ายขนมใส่ไส้ และรสชาติก็เหมือนขนมใส่ไส้ (ชื่อเป็นภาษามลายู แปลว่า ขนมห่อ)
โดยรวมมื้อนี้คืออร่อยสุดยอด แถมเป็นรสชาติที่เราก็นึกไม่ออกว่าจะหากินใน กทม.ได้ที่ไหน น่าจะต้องไปกินที่ จ.ปัตตานีอย่างเดียว
ก๋วยจั๊บหมูกรอบ เฮียสุย (ยะลา)
อาจมีคนสงสัยว่า อุตส่าห์ไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมถึงไปกินเมนูที่น่าจะหากินได้ทั่วไปแบบก๋วยจั๊บหมูกรอบด้วย? ความสำคัญอยู่ที่ #ก๋วยจั๊บหมูกรอบเฮียสุย เป็นร้านในความทรงจำวัยเด็กของทีมงานเราคนหนึ่งที่เป็นชาว จ.ยะลา แต่ไปเรียนและทำงานอยู่ใน กทม.อยู่นานมากๆ และอยากมารำลึกความหลัง (จนยอมวนรถไปดูหลายรอบกว่าจะได้กิน) ที่สำคัญ จู่ๆ พวกเราก็โหยหาหมูกรอบในพื้นที่ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ด้วยความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้หาเมนูที่ต้องการได้ไม่ยากเย็นนัก
‘ก๋วยจั๊บ’ เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ซุปเส้นข้าว มักแบ่งเป็น 2 ประเภท คือก๋วยจั๊บน้ำใสกับน้ำข้น ระหว่างที่เราไปกินที่ร้านเฮียสุย ปรากฎว่ามีไรเดอร์มาต่อคิวรอรับออเดอร์ไปส่งลูกค้าเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ 3 จังหวัดก็มีความน่าสนใจในแง่ของบริการ food delivery เพราะแอพฯ ที่เราคุ้นเคยอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกจังหวัดนะ
ความจริงมีคนแนะนำให้กิน #ก๋วยจั๊บปีกไก่เทพวิมาน ตรงข้ามโรงแรมเทพวิมาน ใน จ.ยะลา แต่เพราะกำหนดการต่างๆ ที่แน่นเอียด ทำให้คลาดกันไปกันมา หากมีโอกาสจะต้องกลับไปลองให้ได้
ข้าวหมกไก่กอไผ่ (ยะลา)
‘ข้าวหมกไก่’ ถือเป็นอาหารอิสลามที่หลายคนน่าจะรู้จัก และหนึ่งในร้านดังของ จ.ยะลา ก็คือ ‘ร้านข้าวหมกไก่กอไผ่’ โดยนอกจากข้าวหมกไก่ ที่มีทั้งไก่ทอดและไก่ต้ม ก็ยังมีเมนูอื่นๆ เช่น ซุปเนื้อ ซุปไก่ ฯลฯ
เหตุที่ชื่อร้านมีคำว่ากอไผ่ นักชิมเจ้าถิ่นให้แบ็กกราวน์ว่า เป็นเพราะร้านดั้งเดิมตั้งอยู่ข้างกอไผ่ จนคนเรียกว่าร้านกอไผ่ เมื่อย้ายมาตั้งในที่ใหม่ก็ยังมีกอไผ่อยู่ข้างๆ ร้าน
สำหรับความอร่อยของข้าวหมกไก่กอไผ่ ว่ากันว่าเกิดจากการใช้ไม้ฟืนทอดไก่ทั้งหมด ทำให้กรอบนอกนุ่มในมีรสชาติกำลังดี ผสมกับกลิ่นของสมุนไพรและหอมเจียว ส่วนเมนูซุปเกิดจากการใช้สูตรทำซุปแบบอินเดียมาปรับให้ถูกปากคนท้องถิ่น จนกลายเป็นหนึ่งในร้านที่ต้องแวะของ จ.ยะลา
โรงปี๊ป (ปัตตานี)
เป็นร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ที่เปิดใหม่ใจกลาง จ.ปัตตานี เหตุที่ใช้ชื่อว่า #โรงปี๊ป เพราะสถานที่ตั้งเดิมเป็นโรงงานทำปี๊ป จนแม้จะนำมารีโนเวตเป็นร้านอาหารสมัยใหม่ก็ยังเก็บเครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ทำปี๊บไว้ให้เห็นถึงความเป็นมา
ตัวร้านดัดแปลงเป็นคล้ายๆ โรงเตี๊ยมของจีน และใช้เฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจ ติดไฟและจัดแสงสวยงาม ทำให้น่าถ่ายรูปไปทุกมุมตามหลัก instagrammable ของโลกยุคโซเชียลฯ (คือน่าถ่ายรูปไปอวดในอินสตาแกรมซะแหลือเกิน) ส่วนเมนูอาหารจะเป็นเชิงฟิวชั่นผสมกันหลายๆ ชาติ เช่น ข้าวหน้าเนื้อไข่ดอง ข้าวผัดหมาล่าเนื้อย่าง ผัดไทยไก่กรอบ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ไข่ลาวา ฯลฯ แต่ที่ทางร้านภูมิใจนำเสนอ คือชาโรงปี๊ปที่มีรสชาติเฉพาะจากสูตรของร้าน
ตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีคนพูดให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ในพื้นที่หันมาเปิด ‘คาเฟ่’ มากขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันระหว่างรุ่น คนรุ่นก่อนจะชินกับการเข้าร้านน้ำชา ขณะที่คนรุ่นใหม่จะเริ่มอยากไปนั่งในคาเฟ่แบบสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ ‘วัฒนธรรมร้านน้ำชา’)
ธาราซีฟู้ด (ยะลา)
ร้านขึ้นชื่อของ จ.ยะลา ที่เปิดมากว่าสามทศวรรษ ด้วยวัตถุดิบที่สดราวกับเพิ่งขึ้นมาจากทะเล ทำให้หลายๆ คนติดใจและมาบอกต่อ สำหรับ ‘ธาราซีฟู้ด’
เมนูขึ้นชื่อคือปลาเผา (แต่วันนั้นเราไม่ได้สั่ง พลาดอีกแล้ว) แต่ซีฟู้ดอื่นๆ ก็อร่อยถูกปากไม่แพ้กัน เช่น กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย หอยแครงลวก ข้าวผัดปู ฯลฯ ที่น่าเสียดายคือสมาชิกของเราบางคนกินอาหารทะเลไม่ได้ อุตส่าห์ไปถึงร้านซีฟู้ดเจ้าดัง แถมเมนูน่ากินก็มีอยู่เต็มโต๊ะไปหมด
จากร้านทั้งหมดที่เราเลือกไปกิน แม้เป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยด้านวัฒนธรรมอาหารของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีเมนูและร้านอาหารอีกจำนวนมากที่เราลิสต์ไว้แต่ไม่มีโอกาสไปลองชิม หากมีโอกาสจะลงไปทัวร์กินซ้ำอย่างแน่นอน
Photo by Fasai Sirichanthanun
Illustration by Sutanya Phattanasitubon
– หมายเหตุ – ผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง THE MATTER กับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ภายใต้โครงการ Together เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เนื้อหาของผลงานเป็นความรับผิดชอบของ THE MATTER และไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ USAID หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด