ว่ากันด้วยเรื่อง ‘โอกาสที่ดีกว่า’ เป็นประเด็นที่สร้างความฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งบนโซเชียลมีเดียที่เหล่าคนรุ่นใหม่หลายๆ คนมาแชร์ประสบการณ์การย้ายออกนอกประเทศและได้สัมผัสกับโอกาสใหม่ๆ ในต่างแดน จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ชวนกันย้ายประเทศขึ้นมา
แม้เวลาจะผ่านไป แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงปะทุขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าไทม์ไลน์ หรือในวงสนทนา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีอีกหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกที่กำลังประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพในปัจจุบัน ทำให้เราเกิดคำถามตามมาว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่มองเห็น ‘โอกาสและอนาคต’ ตัวเองยังไงบ้าง?
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ซาราห์’ สาวใต้วัย 24 ปีที่ตัดสินใจห่างบ้านกว่า 1,000 กิโลเมตร จากอำเภอเล็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้สู่ใจกลางเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และ ‘เบส’ วัย 25 ปีผู้ที่ได้รับมรดกจากครอบครัวเป็นหนี้สินก้อนหนึ่ง ทั้ง 2 คนมีจุดร่วมเหมือนกันเกี่ยวกับมุมมองของ ‘โอกาสและอนาคต’ ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ซาราห์เล่าให้เราฟังว่า เธอรู้สึกว่าตัวเองโดนกดทับลงไปอีก เพราะเป็นคนต่างจังหวัด และโตมาในพื้นที่ชายขอบ ซึ่งในจังหวัดบ้านเกิดของเธอไม่มีอะไรให้ทำ เธอเลยต้องขึ้นมาเรียนมหาวิทยาลัยที่ภาคกลาง พอเรียนจบก็ต้องอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อ
“ความ Suffer ที่สุดคือการไม่มีเงินเก็บ การไม่รู้จะสร้างตัวยังไง
เพราะค่าที่อยู่อาศัยมันสูงมากและไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย”
สิ่งที่ซาราห์พูด ทำให้เราเข้าใจภาพกว้างมากขึ้นถึงสิ่งที่คนวัยหนุ่มสาวกำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้
ตามข้อมูลราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์ (รอบบัญชี 2566-2569) ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่โซนออฟฟิศอย่างเพลินจิต กลายเป็นพื้นที่ที่ราคาสูงที่สุดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ราว 1,000,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งถ้าทำงานในระแวกนี้การหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือหอพักหากตั้งอยู่บนที่ดินบริเวณนี้ค่าเช่าหรือราคาขายก็สูงตามกันไปด้วย
“แต่ทีนี้มันก็จะมีคนที่พูดว่า ‘เธอก็อยู่แบบประหยัดสิ ไปอยู่หอ ไปอยู่อพาร์ทเมนท์ กินอาหารถูกๆ’ ซึ่งนั่นคือคุณภาพชีวิตที่เราสมควรได้รับเหรอ? ทุกวันนี้กับแค่ความปลอดภัยหรือความสะดวกสบายทุกอย่างมันต้องใช้เงินซื้อ” ซาราห์เล่า
ซาราห์รู้ตัวเองมาเสมอว่าอยากทำงานในวงการสื่อ และรู้ดีว่าถ้าเธอยังอยู่ในพื้นที่บ้านเกิด 3 จังหวัด มันไม่มีโอกาสแม้แต่จะให้หวังด้วยซ้ำ เธอเชื่อว่าโลกทัศน์ในพื้นที่นั้นมันแคบเกินกว่าจะเปล่งประกายออกมา เลยเป็นเหตุผลที่เธอใช้คำว่า ‘กระเสือกกระสน’ เข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อรับโอกาสใหม่ๆ
“สำหรับเราโอกาสมันอยู่รอบตัวเต็มไปหมด
สิ่งที่น่ากลัวของประเทศนี้คือโอกาสลอยอยู่รอบตัวเต็มไปหมด
แต่สิ่งที่คนหนุ่มสาวยังขาดก็คือสปริงที่มันจะดีดเราไปคว้าโอกาสนั้น”
ซาราห์ให้คำจำกัดความของ ‘สปริง’ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และเชื่อว่าการกินอิ่มนอนหลับอย่างสบายใจ จะช่วยทำให้เรามีแรงออกไปทะเยอทะยานหาโอกาสพวกนั้น เธอมองว่าสิ่งที่รัฐจะทำได้คือมองให้เห็นความสำคัญของสังคม กล้าลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ที่จะมาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศ “อย่างแรกแค่น้ำสะอาดในทุกๆ ที่กับอากาศสะอาดนี่ก็น่าจะทำได้นะ?”
“เมืองหลวงให้โอกาสก็จริง แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ในตอนนี้ไม่ใช่ที่ที่จะซัพพอร์ตความฝันระยะยาวของเด็กหรือคนหนุ่มสาวที่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยพร้อมๆ กันได้” ซาราห์เล่า
เมื่อพูดถึงการสร้างเนื้อสร้างตัว ตลาดแรงงานของเด็กรุ่นใหม่ขณะนี้ก็กำลังเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน ทั้งการว่างงาน ค่าแรงไม่สัมพันธ์ เรียนไม่ตรงสาย ไม่มีงานรองรับ ปัญหาเหล่านี้สะท้อนออกมาจากโครงสร้างประเทศที่ก่อนหน้านี้ก็โดนโรคระบาดใหญ่อย่าง COVID-19 มากดทับเข้าไปอีก
เราได้พูดคุยกับ ‘เบส’ เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ เบสเริ่มเล่าให้เราฟังว่า “เรียนจบในยุค COVID-19 คือตอนนั้นเอาจริงๆ ถ้าไม่เก่งมันหางานยากมาก เราสัมฯ ไป 12 – 13 ที่จนมาได้ที่นึงที่ถูกใจ แต่สุดท้ายมาเจอ Culture Shock เพราะวัฒนธรรมการทำงานมันหนักมาก หนักเกินไป เราไม่เหลือเวลาไปใช้ชีวิต พอถึงวันหยุดเราไม่มีแรงไปทำอะไรนอกจากนอนให้ได้มากที่สุด เพราะมันเหนื่อยมากจริงๆ”
เบสเล่าแบบติดตลกว่าเขาได้รับมรดกจากครอบครัวเป็นหนี้ก้อนหนึ่ง ทำให้เขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำยังไงถึงจะใช้หนี้ก้อนนี้หมด ในเมื่อเงินที่ได้จากการทำงานประจำตอนนี้มันแทบไม่พอ “เราต้องคิดตลอดว่า ‘เงินไม่พอ’ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราสตาร์ทต่ำนะ เราก็สตาร์ทตามมาตรฐานเงินเดือนที่ควรจะได้แหละ แต่มันไม่พอ”
เรื่องราวของเบสสะท้อนให้ปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ของไทยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทยระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลกำลังเติบโตเร็วที่สุดในรอบทศวรรษ
“ตอนนั้นไม่ต้องพูดถึงบาลานซ์หรอก
เพราะไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ทำแต่งานเลิกดึก ตื่นเช้าทำงาน วนอยู่อย่างนั้น”
ด้วยภาระหนี้ที่มีทำให้เบสไม่สามารถเอาใจ เอาสมองไปโฟกัสกับงานที่ทำได้ เขาเริ่มเครียดและเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ เบสเรียกตัวเองเป็นคนโชคดีเพราะสุ่มได้โควต้า Work and Holiday ที่ออสเตรเลีย และนั่นเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการใช้หนี้ให้ครอบครัวและโอกาสในการใช้ชีวิต “ชีวิตนี้ใช้คำว่าโชคดีได้เลยและต่อให้วันนี้ปลดหนี้ได้ หรือประสบความสำเร็จเร็ว ก็ไม่กล้าแนะนำคนอื่นว่าทำอย่างนี้สิ เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี”
ย้อนกลับมาที่ประเทศบ้านเกิดของเบส เบสมองว่าอนาคตหากเขายังต้องก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป เขาอาจจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ แต่จะไม่มีโอกาสมีบ้าน หรือรถเป็นของตัวเองได้เลย “มันก็อยู่ได้ แต่จะไม่มีแทบไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด ที่ดิน รถยนต์ เพราะมันแทบไม่พอจริงๆ และยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่อยากเป็นหนี้อย่างเรา ไม่อยากสร้างหนี้หรือไม่มีเงินก็ไม่ซื้อ ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย”
เบสเล่าชีวิตในเมลเบิร์นคร่าวๆ ให้ฟังว่าเขาเข้าใจคำว่า ‘Walkable’ กับเมืองที่มีพื้นที่สำหรับทุกคนแล้วว่ามันเป็นยังไง ถึงอย่างนั้นก็ยังคิดถึงบ้าน และอยากกลับบ้านตลอด “แต่ตอนนี้ต้องใช้คำว่าไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป ในอนาคตเราอยากมีอะไรรองรับเราก่อนที่จะกลับ ซึ่งถ้ายังสร้างตัวไม่ได้ก็ไม่กลับ”
“คนไทยมันกำลังอยู่ในท่าที่เตรียมจะกระโดดแล้ว เพราะมันพร้อมทุกด้าน ทั้งคนเก่งๆ ทรัพยากรดีๆ เหมือนรอแค่สปิงบอร์ดดีๆ ก็เท่านั้น เราได้เห็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โลกมันเปิดกว้างจนทำให้หลายคนได้เห็นประเทศอื่นๆ ที่แข็งแรง โครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงเท่าเทียมมากขึ้น ทำให้เรากลับมาย้อนดูประเทศตัวเอง ก็ไม่แปลกถ้ามันทำให้หลายๆ คนอยากให้อะไรแบบนั้นเกิดขึ้นในบ้านของตัวเองบ้าง” เบสทิ้งท้าย
เบสให้คำจัดความคำว่า ‘สปิงบอร์ด’ ว่าเป็นรัฐบาล เช่นเดียวกันกับซาราห์ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าคนวัยหนุ่มสาวต่างมองเห็นโอกาสกับอนาคตในบ้านเกิดตัวเอง เพียงแต่รอสปริงดีๆ ของรัฐบาลที่อาจจะแค่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของพวกเขาได้อย่างเท่าเทียม พวกเขาก็พร้อมจะดีดตัวเองทุกเมื่อเพื่อไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้น
อ้างอิงจาก