ศัพท์ที่หลายคนได้ยินกันหนาหูในระยะหลัง ไม่ว่าจะในกลุ่มเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม – ก็คือคำว่า ‘หิวแสง’
โดยทั่วไป คำนี้มีความหมายถึงคนที่โหยกระหายหาชื่อเสียง อยากดัง จนสามารถทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นไม่คาดคิดเพื่อ ‘เรียกเรตติ้ง’ ให้ตัวเอง เพื่อให้ ‘แสง’ สาดส่องมาตกกระทบและเป็นที่พูดถึง เปรียบได้กับคนที่อยู่บนเวทีละคร แล้วต้องวิ่งไปหาแสงสปอตไลต์อยู่ตลอดเวลา เพราะแสงย่อมหมายถึงความโดดเด่น ถ้าได้อยู่ในแสง ก็อาจแปลว่าคนคนนั้นเป็นที่จับตาดูมากที่สุดในโรงละคร
แต่จะเป็นแง่บวกหรือลบเป็นอีกเรื่อง
หากร่างกายหิวโหยอาหาร เราสามารถเติมเต็มได้ด้วยการกิน อันเป็นกิจกรรมที่เราทำได้ด้วยตัวเอง แต่อาการ ‘หิวแสง’ นั้นเป็นยิ่งกว่าความหิวอาหาร เพราะไม่สามารถบำบัดได้ด้วยตัวเราเพียงลำพัง แต่จะบำบัดให้รู้สึก ‘อิ่มแสง’ ขึ้นมาได้ ก็เมื่อมีคนอื่นมาจับตาดู – โดยเฉพาะจับตาดูในแง่บวก หรือด้วยความชื่นชม
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย
เคยมีบทความใน Forbes ที่พูดถึงอาการคล้ายๆ ‘หิวแสง’ แม้เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ไม่ใช่ของบุคคลเสียทีเดียว แต่คำอธิบายในบทความนี้ก็ประยุกต์ใช้กับอาการหิวแสงของตัวบุคคลได้ไม่น้อย
บทความนี้มีชื่อว่า ‘3 เหตุผล ที่ทำไมสปอตไลต์จึงไม่ฉายไปที่คุณ’ (3 Reasons The Spotlight Doesn’t Shine on You) เป็นบทความที่พยายามอธิบายว่า ทำไมการคิดสร้างสรรค์สินค้าบางอย่างออกมาแล้วผู้คนถึงไม่ถูกอกถูกใจ แสงของตลาดไม่ฉายส่องมาจับ ไม่เหมือนสินค้าของคู่แข่งที่ไปไกลและได้รับความนิยมมากกว่า
เหตุผลทั้ง 3 ข้อของฟอร์บส์ใช้การได้กับมนุษย์ทั่วๆ ไป และใช้เพื่อเตือนใจเราทุกคนด้วย เผื่อกรณีที่เราเกิดอาการ ‘หิวแสง’ ขึ้นมา ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
เหตุผลข้อแรกที่แสงไม่ยอมส่องมาที่เรา (จนทำให้เราเกิดอาการหิวแสง)
ก็คือ – เพราะเราไม่ได้สร้างความ ‘แตกต่าง’ ในแบบที่ผู้คนชอบขึ้นมา
ประเด็นแรกที่ทำให้แสงส่องมาที่เราก็คือ เราต้องสร้างความแตกต่างจากคนอื่นให้ได้เสียก่อน มีการศึกษาของ OC Tanner ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการสร้างการตระหนักรู้ด้านต่างๆ สำหรับพนักงาน การศึกษานั้นเรียกว่า The Great Work Study เขาพบว่า ความคิด ผลผลิต สินค้า หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ได้รับความชื่นชอบในตลาดหรือในหมู่ผู้คนนั้น 88% เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า – ฉันสามารถสร้างความแตกต่างอะไรเพื่อให้คนอื่นๆ ชื่นชอบได้บ้างไหม นั่นคือการคิดถึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับสาส์นก่อนหน้าที่จะคิดถึง ‘ตัวเอง’ (หรือจะเรียกว่า ‘ตัวกู’ แบบพุทธทาสก็ได้) แต่คนที่มีอาการ ‘หิวแสง’ ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามผิด นั่นคือกลับไปตั้งคำถามว่า คนอื่นๆ จะ ‘เห็น’ ถึง ‘ตัวฉัน’ ได้อย่างไรบ้าง จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่ส่งผลต่อผู้อื่น ส่วนใหญ่คนที่มีอาการแบบนี้มักสื่อสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับตัวเองเพื่อให้ตัวเองเป็นจุดเด่นเท่านั้น
เหตุผลข้อที่สองที่แสงไม่ส่องมาที่ตัวเราก็คือ – เพราะเราไม่ได้ชื่นชมผลงานของคนอื่น เรื่องนี้คล้ายๆ ละครเวทีจริงๆ นั่นแหละครับ นั่นคือถ้าเราอยากได้แสง สิ่งที่เราต้องทำก็คือการ ‘ส่งแสง’ ของเราไปให้คนอื่นด้วย บนเวทีละคร หากเราเอาแต่พยายามขโมยซีนคนอื่น แย่งความเฉิดฉายโดดเด่นมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว ละครทั้งเรื่องก็จะไม่สนุกเลย นักแสดงคนอื่นๆ ที่ร่วมเล่นอยู่บนเวทีจะรู้สึกได้ ผลที่เกิดขึ้นคืออาจมีการพยายามขโมยซีนกลับก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทีมเวิร์กก็ไม่เกิด และสุดท้าย คนดูก็จะจับได้ว่าคณะละครทั้งคณะนั้นไม่ได้ทำงานสอดประสานกัน ละครจึงไม่สนุก
ผลการศึกษาของ O.C. Tanner บอกไว้อีกเรื่องหนึ่งด้วยว่า ในบรรดาคนทำงานทั้งหลายนั้น เหตุผลที่ทำให้พวกเขายังคงรักงานและทำงานดีๆ ออกมาได้เรื่อยๆ 7% คือการมีรายได้ดีๆ แต่ 37% คือได้รับการยอมรับและชื่นชม ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องมาจากนายจ้างเท่านั้น ทว่าการยอมรับและชื่นชมในหมู่คนทำงานด้วยกันก็เป็นเรื่องจำเป็นด้วย ยิ่งเราพยายาม ‘ส่งแสง’ ไปให้คนอื่นมากเท่าไหร่ แสงนั้นก็จะยิ่งสะท้อนกลับมาที่เรามากเท่านั้น แล้วอาการ ‘หิวแสง’ ก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง
เหตุผลข้อที่สามเป็นเหตุผลที่น่าจะสำคัญที่สุด
นั่นก็คือ – เราเอาแต่โฟกัสไปกับการ ‘ได้แสง’
เสียจนลืมเรื่องอื่นๆ ไปจนหมด
แต่เรื่องที่สำคัญมาก (และอาจปฏิบัติได้ยากในโลกแห่ง ‘ตัวกรองฟองสบู่’ หรือ Filter Bubble จากโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน) ก็คือ – เราต้องไม่ประเมินตัวเองสูงส่งเกินจริงหรือให้ค่าตัวเองมากเกินกว่าคุณค่าจริงที่เราได้สร้างไว้ให้กับโลก
เรื่องนี้พูดง่าย แต่ปฏิบัติยากมาก เพราะเราทุกคนมีแนวโน้มจะเชื่อว่าตัวเรามีคุณค่าจนทำให้เราประเมินตัวเองผิดได้ง่าย ที่สำคัญ โซเชียลมีเดียยังมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เราโฟกัสไปกับ ‘ตัวตน’ ของเรามากกว่าสิ่งที่เราทำ แต่นั่นแหละคือความผิดพลาด เพราะการยอมรับที่ยั่งยืนจริงแท้ จะเกิดขึ้นจากผลลัพธ์จาก ‘การกระทำ’ ของคนคนนั้นมากกว่าใบหน้า เนื้อตัว หรือสถานะของเรา แต่หากเราทุ่มเทเวลาไปกับการไขว่คว้าแสง และละเลยการทุ่มเททำงานจริงๆ ไป แสงที่เคยส่องเราก็จะค่อยๆ คลายจางไปเรื่อยๆ แล้วอาการ ‘หิวแสง’ ก็อาจเกิดขึ้นกับเราได้
ทั้งสามข้อที่ว่ามา คือเหตุผลที่แสงไม่ส่องมาที่เรา แต่คำถามที่ยังรอคำตอบอยู่ก็คือ – ก็แล้วทำไมเราจึงรู้สึก ‘หิวแสง’ มาตั้งแต่ต้นเล่า
คำตอบในเรื่องนี้คล้ายๆ กับเหตุผลข้อสาม แต่เป็นคำอธิบายในทางจิตวิทยาที่มีศัพท์เรียกในภาษาอังกฤษพ้องพานกับคำว่า ‘หิวแสง’ มาก นั่นคือคำว่า spotlight effect
ผู้คิดคำนี้ขึ้นมาคือ โธมัส จิโลวิช (Thomas Gilovich) และเคนเนธ ซาวิตสกี (Kenneth Savitsky) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เขาศึกษาปรากฏการณ์นี้มานานแล้ว แต่เพิ่งบัญญัติคำเรียกอาการนี้เอาไว้ในปี ค.ศ.1999 เขาเคยเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาหลายชิ้น โดยคำคำนี้เป็นคำที่เขาใช้เรียก ‘อาการร่วม’ หลายๆ อย่างที่เขาสังเกตพ
spotlight effect คือปรากฏการณ์ที่คนเรา
มักจะ ‘เชื่อ’ ว่าตัวเองเป็นที่จับตา (being noticed)
จากคนอื่นๆ มากกว่าที่เป็นจริง
ดังนั้น คนที่มีอาการเช่นนี้จึงทำตัวเป็นศูนย์กลางโลกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา มีการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมหลายสิบชิ้นที่สนับสนุนว่ามีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง โดยการทดลองหนึ่งที่ยืนยันปรากฏการณ์นี้ก็คือ นักศึกษาที่เข้าร่วมทดลองใส่เสื้อทีเชิ้ตสีเหลืองสว่างจ้าเข้าไปในชั้นเรียนครั้งแรก แล้วให้ประเมินว่าคนอื่นๆ สังเกตเห็นว่าตัวเองใส่เสื้อเหลืองมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่านักศึกษาที่ใส่เสื้อเหลืองประเมินผิดพลาดสูงมาก โดยคิดว่าคนอื่นสังเกตเห็นตัวเองมากเกินจริง
มีผู้อธิบายว่า spotlight effect เกิดจากผลของการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือ Egocentrism ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะมนุษย์เราทุกคนเห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาลกันอยู่แล้ว แต่คนที่ได้รับผลของ spotlight effect คือคนที่ ‘ลืม’ ไปว่าคนอื่นๆ เขาก็เห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาลเหมือนกัน คนเหล่านี้จึงมักคิดว่า – นอกจากตัวเองจะเป็นศูนย์กลางของโลกแล้ว ตัวเองยังเป็นศูนย์กลางของคนอื่นๆ อีกด้วย นั่นทำให้พวกเขามองโลกและมองตัวเองผิดพลาด
spotlight effect มักจะเกิดร่วมกับการรับรู้ทางจิตวิทยาที่ผิดพลาดอีกสองอย่าง นั่นคือ naïve realism หรือการรับรู้ความจริงอย่างไร้เดียงสา (บางทีก็เรียกว่า สัจจนิยมสามัญ) เกิดข้ึนจากการตีความโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวแบบลุ่นๆ รับมาอย่างไรก็ตีความไปอย่างนั้น ไม่เห็นความหมายแฝง ไม่เห็นการตีความทางอ้อม ซึ่งเป็นปัญหาในทางญาณวิทยาของการรับรู้แบบหนึ่งที่ใครๆ ก็อาจเป็นได้ แต่คนที่มี spotlight effect จะมีการตีความโลกแบบนี้มากกว่าคนอื่น
อีกเรื่องหนึ่งคือ bias blind spot หรือจุดบอดที่มีต่ออคติของเราเอง บางทีก็เรียกว่า ‘จุดบอดต่อความเอนเอียง’ โดยอคติหรือความเอนเอียงที่ว่า มักจะเป็นอคติหรือความเอนเอียงต่อ ‘ภาวะรู้คิด’ (หรือ cognition) ของเรา ทำให้เรามีแรงจูงใจจะมองตัวเองในแง่ดี หรือเห็นว่าตัวเราดีที่สุด ซึ่งก็เกี่ยวพันไปถึงอาการทางจิตวิทยาอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง
อาการ ‘หิวแสง’ จึงซับซ้อนกว่าแค่อยากดัง
มันมักเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าตัวเราคู่ควรกับแสง
แต่แสงไม่ยอมส่องมาที่เราเสียที
ผลสุดท้ายเราจึงทำอะไรลงไปหลายอย่างโดยไม่รู้ตัวเพื่อพยายามเรียกแสงมาส่องที่ตัวเรา
จะว่าไป มนุษย์แทบทุกคนล้วนมีอาการ ‘หิวแสง’ กันทั้งนั้น เราต่างต้องการความสนใจจากผู้อื่น เพราะความสนใจจากผู้อื่นคือการยืนยันถึงความมั่นคงในสถานะและความเป็นอยู่ของเราในฝูง ความหิวแสงอย่างพอประมาณจึงเป็นอาการปกติ แต่จะไม่ปกติก็ต่อเมื่ออาการหิวแสงนั้นแสดงตัวออกมามากเกินควรโดยที่เราไม่รู้ตัว
ตัวตนของเราเกิดจากประสบการณ์ ต้นทุน และมุมมองที่เรามีต่อโลก เราใช้ประสบการณ์เหล่านี้เพื่อประเมินโลกรอบตัวเรา
แต่ที่ยากกว่า – ก็คือการใช้ประสบการณ์เหล่านี้มาประเมินตัวเองนี่แหละ
เมื่อประเมินพลาด อาการหิวแสงจึงไม่เคยได้รับการเติมเต็มจนอิ่มเสียที