คุณจะกังวลน้อยลงมากว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา เมื่อคุณตระหนักได้ว่าเขาคิดถึงคุณไม่บ่อยนักหรอก – David Foster Wallace
ใครรู้จักตัวเราดีกว่ากัน–ตัวเราหรือคนอื่น?
คนจำนวนมากรู้สึกว่าคนรอบตัวเข้าใจตัวเขาได้ถ่องแท้มากพอ แต่เราไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดเลยว่าคนอื่นเห็นเราเป็นอย่างไร นอกจากจะเดาหรือลองสอบถามดู และแม้เราคิดว่าเราอาจรู้จักตัวเองมากกว่าใครก็ตามบนโลก แต่การเห็นภาพได้ชัดเจนต้องอาศัยทั้งมุมมองที่เราเห็นตัวเอง และมุมมองที่คนอื่นรับรู้ถึงลักษณะนิสัยของเรามาประกอบกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในบางลักษณะนิสัยคนอื่นก็อาจเห็นชัดเจนกว่าที่เราเห็นตัวเอง
งานศึกษาประเภทมุมมองที่มนุษย์คนอื่นมีต่อเรานั้นมีชื่อเรียกเฉพาะว่า meta-perception ถึงเรากับคนอื่นจะไม่ได้เห็นตัวเราเองในแบบเดียวกันเป๊ะๆ และคนเราจะไม่เก่งในการระบุอย่างละเอียดว่าคนอื่นคิดอย่างไรกันแน่ แต่โดยพื้นฐานนั้นพบว่าคนเราพอจะรู้คร่าวๆ กว้างๆ ว่าคนอื่นเห็นเราเป็นคนอย่างไร ซึ่งงานศึกษาในประเด็นนี้มีผลต่อความสัมพันธ์และการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
เมื่อคนอื่นอาจรู้จักและเข้าใจเรามากกว่าที่เราคิด
Simine Vazire นักจิตวิทยาจาก University of Washington ผู้สนใจเรื่อง meta perception นี้อย่างเข้มข้น เธอได้พัฒนาโมเดล Self-other Knowledge Asymmetry (SOKA) ขึ้นมาเพื่อทดสอบความไม่สมมาตรระหว่างตัวตนที่เราเห็นเปรียบเทียบกับตัวตนเราที่คนอื่นเห็น
งานวิจัย Others Sometimes Know Us Better Than We Know Ourselves ของเธอและ Erika N. Carlson พบว่าเราอาจไม่ได้รู้จักตัวเราอย่างที่เราคิด ลักษณะนิสัยบางประเภท คนสนิทเราอาจประเมินเราได้แม่นยำกว่า เรามักรู้จักตัวเองดีกว่าหากเป็นลักษณะนิสัยที่มาจากภายใน เช่น ระดับความกังวล แต่เมื่อเป็นลักษณะนิสัยจากข้างนอก เช่น ความฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ หรือการกล้าแสดงออก เช่น เพื่อนอาจประเมินสติปัญญาของเราได้แม่นยำกว่า โดยเธออธิบายไว่ว่า เพื่อนอาจยอมรับได้ง่ายๆ ว่า ตัวเราไม่ได้ฉลาดนัก ในขณะที่เราอาจทำใจได้ยากในการประเมินว่าตัวเองไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันคนบางคนอาจเป็นที่พึ่งพาทางใจของเพื่อน โดยที่เพื่อนไม่รู้เลยว่าเขาเองก็มีความกังวลที่ไม่ได้แสดงออกมาอยู่มาก บางคนที่ทำสิ่งผิดอาจไม่ได้เห็นว่าตัวเองทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพราะความคิดของเขาได้บดบังสิ่งที่กระทำไป
ดังที่ Chuck Klosterman ได้เขียนไว่ว่า “ชีวิตนั้น ไม่ค่อยจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ หรอก ส่วนมากนั้นชีวิตมักจะมาจากเหตุการณ์ที่เรา ’คิด’ ว่าได้เกิดขึ้นมากกว่า
คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ ‘ยาก’ ไหม? งานวิจัย Do we know when others think that we are difficult? ศึกษาคำถามที่ว่า “ผู้คนรู้ไหมเมื่อคนอื่นมองเห็นภาพเขาไม่ตรงกับที่เขามองตัวเอง” คนเรารู้ไหมเวลาตัวเองเป็นคนที่คนอื่นอยู่ด้วยยาก พบว่าโดยทั่วไป คนพอจะรู้ว่าคนอื่นมองเห็นเขาอย่างไร แต่มักไม่พูดออกมายกเว้นว่าถูกถามตรงๆ แต่บางนิสัยก็มีผลที่น่าสนใจ เช่นคนที่มองว่าตัวเองเป็นคนหลงตัวเอง มักถูกประเมินจากคนอื่นว่าเป็นคนหลงตัวเองน้อยกว่าคนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนหลงตัวเอง เพราะเมื่อคุณหลงตัวเองคุณมักไม่รู้ตัว
David A. Kenny นักจิตวิทยาจาก University of Connecticut ผู้ศึกษา Meta-Accuracy ความถูกต้องในการประเมินตัวเอง พบว่าเมื่อคนคิดว่าตัวเองสร้างความประทับใจแรกไม่ดี มันมักจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในขณะที่เมื่อเขาสร้างความประทับใจแรกได้ดี มันก็มักจะเป็นเช่นนั้น เราไม่ได้ตาบอดกับการประเมินคนอื่นขนาดนั้น
เรารู้จักตัวเองได้อย่างไร? ในเมื่อตัวตนเปลี่ยนแปลง ขยับ เคลื่อนไหวตลอดเวลา
แม้โสเครตีสจะชวนให้เรามา Know Thyself กันเถอะ หรือให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองให้ถ่องแท้ แต่ Bence Nanay ศาสตราจารย์ปรัชญาจาก University of Antwerp กลับเห็นว่าการพยายามค้นหาตัวตนที่แท้จริงอาจเป็นอุปสรรคในการยอมรับว่าตัวตนของเรามักเปลี่ยนแปลงและไหลไปเรื่อยๆ ขึ้นกับเวลา สถานการณ์และบุคคล ซึ่งเมื่อเราลองมองดูว่าตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่ตรงไหน ตอนที่เราอยู่กับตัวเอง ตอนที่เราอยู่กับคนสนิท คนที่ทำงาน หรือคนแปลกหน้า หรือทั้งหมดได้ถูกประกอบขึ้นเป็นตัวเรา การเข้าใจและรู้จักตัวเองให้ครบถ้วนอาจต้องอาศัยคนอื่นด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางครั้งความเป็นตัวเราก็สะท้อนออกมาจากการที่คนอื่นเห็น และการที่เราปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกลักษณะที่คนอื่นเห็นว่าเราเป็นนั้นจริงเสมอไป เราไม่มีอำนาจเหนือความเป็นเราเลยนอกจากสิ่งที่คนอื่นมอง คนอื่นไม่มีทางเข้ามาสำรวจภายในสมองและความรู้สึกนึกคิดของเราได้ และไม่ได้มีชีวิตอยู่กับเราตลอดเวลาจนเห็นเราทุกด้านทุกมุม ว่าเราผ่านอะไรมา แต่การที่เราได้รู้ว่าคนอื่นอาจเห็นเราไม่เหมือนที่เราเห็นตัวเอง อาจทำให้เราสังเกตและรับฟังมากขึ้น ซึ่งการลองกลับมาพิจารณาสิ่งที่คนอื่นมองว่าเราเป็นบ้าง ก็อาจทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น
รูปลักษณ์ของเราที่คนอื่นเห็นอาจผิดเพี้ยนไปจากที่เรารับรู้
นอกจากตัวตนภายในที่คนมองไม่เห็น สิ่งที่คนอื่นมองเห็นได้คือลักษณะภายนอก ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถประเมินความน่าดึงดูดของเราได้ โดยงานวิจัยก็พบว่าเรามักประเมินหน้าตาของตัวเองไม่ตรงกับที่คนอื่นเห็น
Nicholas Epley นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมจาก University of Chicago ทำการทดลองโดยให้นักศึกษานั่งมองรูปภาพที่เพิ่งถูกถ่ายของพวกเขา และให้คะแนนความน่าพึงพอใจของรูปลักษณ์ตัวเองด้วยสเกล 1-100 หากเพศตรงข้ามได้มองดู จากนั้นก็ให้คนอื่นประเมิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างนั้นไม่สามารถประเมินได้เลยว่าตัวเองนั้นน่าดึงดูดแค่ไหน Epley อธิบายว่าเราอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของตัวเอง ในขณะคนอื่นนั้นมักเป็น novice ในเรื่องของเรา พวกเขาไม่สนใจในรายละเอียดของเราขนาดนั้น เขาประเมินสิ่งที่เขาเห็นโดยเทียบกับคนอื่น ซึ่งเราอาจตัดสินตัวเองโดยเทียบกับตัวเองในอดีตหรือเมื่อวาน แต่คนอื่นจะตัดสินเราโดยเปรียบเทียบกับมนุษย์คนอื่นเสมอ
งานวิจัยจาก University of New South Wales เกี่ยวกับการเลือกรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึง Linkedin, Facebook และ Match.com พบว่าคนเรามักไม่ได้เลือกรูปที่ดีที่สุดของตัวเองเพื่อดึงดูด โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกรูปที่พอใจ และให้คนอื่นเลือก จากนั้นให้คนแปลกหน้าให้คะแนนตามหัวข้อ ความน่าดึงดูด, ความน่าเชื่อถือ, ความเป็นผู้นำ, ความมั่นใจ, ความสามารถ พบว่ารูปที่คนอื่นเลือกให้มักได้คะแนนดีกว่า แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เราว่าจะพอใจให้คนอื่นเลือกรูปที่แสดงตัวตนของเราไหม
แม้เราอาจไม่ชอบหน้าของตัวเองที่ปรากฏอยู่บนรูปถ่ายออกมา รู้สึกว่าทรงผมวันนี้ยังดีไม่พอ เสื้อเราที่ยังไม่ได้รีด ทรงผมที่ทำมาใหม่ หรืออะไรก็ตาม ความเป็นไปได้ก็คือคนอื่นไม่ได้เห็นเราทุกวันเป็นเวลาต่อเนื่อง เขาไม่รู้ว่าเราผ่านอะไรมา เมื่อวานเราสวยกว่านี้ หรือน่าเกลียดกว่านี้ เขามีตัวเปรียบเทียบคือเรากับคนอื่นเท่านั้น หรือรูปถ่ายที่เรารู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด แต่คนอื่นกลับมองว่ามันตรงกับเรามากที่สุด บางทีมันยากมากที่จะยอมรับว่าคนอื่นอาจเห็นเราเดินไปเดินมาด้วยเวอร์ชั่นที่เรารู้สึกว่าไม่เห็นจะเหมือนตัวเองนั่นแหละ
Spotlight Effect เมื่อเราเป็นตัวละครหลักแต่คนอื่นไม่ได้สังเกตเราแบบที่เราสังเกตตัวเองตลอดเวลา
Spotlight Effect คืออาการที่เรามักประเมินว่าคนอื่นสังเกตเกี่ยวกับเราสูงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะหน้าตา สิ่งที่เราทำ ความเด๋อด๋าน่าอาย หรือความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดในชีวิตประจำวัน ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจไม่ได้มีใครสังเกตเห็นเลย spotlight จึงเปรียบเหมือนไฟบนละครเวทีที่สาดส่องลงมาที่เราที่เป็นตัวเอกในละครชีวิตของเราเสมอ
งานศึกษาจาก Cornell โดยศาสตราจารย์ Thomas Gilovich ต้องการศึกษาเรื่อง Spotlight Effect โดยให้นักศึกษาใส่เสื้อยืดที่มีหน้าของ Barry Manilow นักร้องอเมริกันเก่า (ซึ่งเสื้อนี้แปลกและเชยไปหน่อยสำหรับปีที่ทดลอง ต้องมีคนสังเกตเห็นแน่ๆ) และให้เดินเข้าไปในห้องที่มีคนแปลกหน้า จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างประเมินว่ามีคนเยอะแค่ไหนที่เห็นเสื้อยืดที่มีหน้า Manilow ของพวกเขา
สิ่งที่พบคือ กลุ่มตัวอย่างประเมินว่าคนแปลกหน้าประมาณครึ่งหนึ่งสังเกตเห็นเสื้อยืด Manilow แต่ตัวเลขที่แท้จริงคือแค่ประมาณ 20% คนอื่นสังเกตเห็นเราน้อยกว่าที่เราประเมินเสมอ
เคยไหมที่มีบางวันที่เรารู้สึกว่า ‘มีคนบางคนจงใจจะเล่นงานเรา’ หรือว่า ‘พวกเขากำลังหัวเราะเยาะเราอยู่แน่ๆ’ ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น การที่เรามักจะมองเห็นตัวเราเป็นเป้าสำคัญเสมอ คืออคติที่เรียกว่า self-as-target bias
คนที่มีอาการ Social Anxiety คือวิตกกังวลทางสังคม พวกเขามักกังวลเกินเหตุว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรกับตัวเอง หรือมีคนกำลังจ้องมองเราอยู่ แต่ในความเป็นจริงนั้น อาจมีคนน้อยมากๆ ที่สังเกตเห็นว่าเราเป็นอย่างไร ใส่ชุดอะไร หรือมีท่าทีอย่างไร
หากรู้สึกว่ากำลังอยู่ท่ามกลางความสนใจให้จำไว้ว่าจงตัดความรู้สึกกระวนกระวายให้เหลือเพียงครึ่งเดียวพอ และคนส่วนมากก็คงจำเราไม่ได้ เพราะทุกคนก็กำลังคิดถึง spotlight ของตัวเองอยู่เช่นกัน สิ่งนี้อาจช่วยเราให้หลุดพ้นจากเรื่องน่าอายในอดีตหรือตอนวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็น การแต่งตัวหรือทรงผมไม่เข้าท่าของตัวเอง หรือคำพูดน่าอายที่ได้พูดไปในวันนั้น ซึ่งจริงๆ อาจไม่มีใครจำได้และสนใจรายละเอียดเหล่านั้นของเรามากนักนอกจากตัวเราเอง เราอาจใช้เวลาลดลงในการห่วง-กังวล-นอนไม่หลับ ก่ายหน้าผากสงสัยว่าคนอื่นคิดอย่างไร สังเกตเห็นข้อผิดพลาดของเราไหม เมื่อเราพบว่าจริงๆ แล้วเขาคิดถึงเราน้อยแค่ไหน เพราะเขาก็กำลังคิดถึงว่าคนอื่นคิดกับเขาอย่างไรอยู่เหมือนกัน
พออ่านเรื่องนี้ทำให้เรานึกย้อนไปถึงวันที่รอเพื่อนเขียนอายไลเนอร์อยู่เกือบชั่วโมง เพราะอายไลเนอร์เธอยังเพอร์เฟกต์ไม่พอ หรือเมื่อเพื่อนชะนีบ่นว่า ผมของเธอวันนี้ไม่ดีเอาเสียเลย เราก็นึกสารภาพว่าเรามักมองไม่ออก แต่ก็เออออตามไป
พฤติกรรมและมุมมมองการเห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกนั้นเกิดตามธรรมชาติตั้งแต่ในวัยเยาว์ และมักค่อยๆ ผ่อนคลายลงไปเมื่อเติบโตขึ้น เมื่อเราเริ่มเข้าใจและเห็นพื้นที่ชีวิตของคนอื่นมาทับซ้อนพื้นที่ชีวิตของเรา มองเห็นว่าคนอื่นนั้นสำคัญไม่ต่างจากเรา
David Foster Wallace ได้ปลอบประโลมจิตใจไว้ในหนังสือ Infinite Jest (1996) ด้วยข้อความที่ว่า ‘คุณจะกังวลน้อยลงมากว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับเรา เมื่อคุณตระหนักได้ว่าเขาคิดถึงคุณไม่บ่อยนักหรอก’ ( “You’ll worry less about what people think about you when you realize how seldom they do.”)
ลองยอมมองตัวเองผ่านมุมมองของคนอื่น
สุดท้ายเราคงไม่อาจควบคุมสิ่งที่คนอื่นมองเห็นและรู้สึกกับเราได้เลย หรือบางทีเขาอาจไม่ได้สังเกตเราสักนิดเลยด้วยซํ้า แต่เราก็คงต้องพาตัวเองออกไปข้างนอก พบคนอื่นและยอมให้เขารู้จักเราในแบบที่เขาเห็นและเข้าใจ
แม้เราจะคิดว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่เข้าใจตัวเองดีที่สุดแน่ๆ คนอื่นไม่มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสเราในแบบที่เราเห็นตัวเอง เพราะเรามีโอกาสได้เห็นประวัติศาสตร์ของเราผ่านประสบการณ์ของเรา แต่บางครั้งความคิดเห็นที่ดูธรรมดามากๆ ออกจากปากคนใกล้ตัว ก็ทำให้เราตกใจว่าเราเป็นแบบนี้เหรอ? ย้อนไปในสมัยเรียน ผู้เขียนเคยมั่นใจมากๆ ว่าตัวเองคือคนมีเหตุมีผล ไม่ค่อยแสดงออกในอารมณ์ และยอมคนอื่น จนกระทั่งมีเพื่อนคนหนึ่งเปรยขึ้นมาว่า “แกอารมณ์เสียง่ายมากเมื่อไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วย” เป็นคำพูดสบายๆ ที่เพื่อนคิดว่าเราคงรู้อยู่แล้ว แต่คำนั้น ทำให้เราหวนมาสังเกตตัวเองใหม่และพบว่าตัวเองโกรธและรำคาญง่ายจริงๆ แต่มักไม่รู้ตัวเอง คิดว่าเก็บไว้ได้ ไม่มีใครรู้มาตลอด การฟังคนใกล้ตัวมีประโยชน์มากกับการเข้าใจตัวเองมากขึ้นและยอมรับตัวเราที่ไม่เป็นในแบบที่เราเห็นเลย ความเห็นที่ตรงไปตรงมาอาจเจ็บปวดแต่ก็ทำให้เราได้รู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น วันที่ดีที่สุดวันหนึ่งในชีวิตเราคือวันที่คนบอกกับเราตรงๆ ว่า “เขาดูออกนะว่าเราเป็นเด็กสปอยล์” นั่นคือคำพูดเจ้านายคนแรกของเรา หลังจากที่เพิ่งทำงานร่วมกันไม่กี่วัน
วันหนึ่งที่เราตายลงไป คงไม่สามารถถกเถียงเห็นแย้งกับคนอื่นได้อีกแล้วว่าจริงๆ เราเป็นคนอย่างไร ต้องยอมให้คนอื่นตีความและจดจำตัวเราตามหลักฐานต่างๆ จากความทรงจำเกี่ยวกับเราที่เขาหลงเหลือไว้ เราคงต้องยอมให้เรากลายเป็นใครก็ตามในเวอร์ชั่นแบบที่คนอื่นรู้จักและเข้าใจโดยควบคุมไม่ได้
Tim Kreider ได้พูดไว้ว่า “หากคุณอยากจะถูกรัก คุณต้องยอมถูกรู้จักเสียก่อน” 🙂
หากอยากรู้จักตัวเองมากขึ้นอาจต้องฟังคนอื่นมากขึ้น ยอมรู้จัก และเห็นตัวเราในแบบที่เราอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็น
อ้างอิงข้อมูลจาก
You’re a Bad Judge of How Good-looking You Are
Others Sometimes Know Us Better Than We Know Ourselves: Simine Vazire and Erika N. Carlson
Washington University in St. Louis
Meta-Insight: Do People Really Know How Others See Them?
The Spotlight Effect in Social Judgment: An Egocentric Bias in Estimates
of the Salience of One’s Own Actions and Appearance
Quote Investigator: You’ll Worry Less About What People Think of You When You Realize How Seldom They Do
How to Seem Telepathic: Enabling Mind Reading by Matching Construal
When it comes to your profile picture, let a stranger do the choosing
Illustration by Yanin Jomwong