ไม่ว่าจะชอบหรือชัง จะเคยกาเลือกหรือไม่ แต่แทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดผลการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล? ใครจะมาเป็นนายกฯ? จะใช่ทหารที่ออกทีวีทุกวันศุกร์หรือไม่ หรือจะเป็นคนอื่น ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร?
แม้จะผูกปีแพ้เลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 – ปัจจุบัน หรือเป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว และเคยชนะเลือกตั้งเพียง 5 ครั้ง จากทั้งหมด 21 ครั้งที่มีส่วนร่วม (แพ้ 13 ครั้ง บอยคอต 3 ครั้ง)
แต่พรรคเก่าแก่นี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง แทบจะตลอดระยะเวลา 72 ปีที่ได้ก่อตั้งมา
..เพราะนี่คือพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย
..เพราะนี่คือพรรคที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย
..เพราะนี่คือพรรคที่การเลือกตั้ง 6-7 ครั้งหลังสุด แทบจะการันตี ส.ส.ในจำนวน ‘หลักร้อย’
การเลือกตัวหัวหน้าพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินการของพรรค จึงมีความสำคัญ
สมมุติว่า ได้หัวหน้าพรรคที่ไม่เอาทหาร – ผลก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง
สมมุติว่า ได้หัวหน้าพรรคที่เอาทหาร – ผลก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง
หรือสมมุติว่า ได้หัวหน้าพรรคที่จุดยืนไม่แน่ชัด – ผลก็น่าจะออกมาอีกแบบหนึ่ง
เริ่มเห็นหรือยังว่า ทำไมการเลือกตัวหัวหน้า ปชป.จึงมีความสำคัญ จนสื่อมวลชน นักวิชาการ และคอการเมืองหลายคน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
หรือถ้ายังไม่เห็นภาพ เราจะฉายเรื่องราวในอดีตให้ได้อ่านกัน เพื่อจะเข้าใจมากขึ้นว่า การเลือกใครมาเป็นหัวหน้า ปชป. หรือศึกภายในพรรคสีฟ้าเพื่อชิงเก้าอี้ตัวนี้ มันไปสร้างแรงสะเทือนต่อการเมืองในภาพใหญ่ หรือต่อชะตากรรมของประเทศได้อย่างไร
ปี 2489 – ควง อภัยวงศ์ vs ปรีดี พนมยงค์
- ปชป.ก่อตั้งในวันที่ 5 เม.ย.ของปี 2489 เพื่อมาเป็นฝ่ายค้านของฝ่ายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน และอดีตเสรีไทย ในสภาผู้แทนราษฎร
- ถ้าไปดูเอกสารเก่าๆ จะเขียนตรงกันว่า ปชป. ก่อตั้งในวัน ‘เสาร์ห้า’ ที่ทางโหราศาสตร์ถือเป็นวันดี แต่ภายหลังเปลี่ยนมาฉลองวันเกิดในวันที่ 6 เม.ย. ให้ตรงกับวันจักรี (อีกพรรคที่เกิดวันนี้ คือพรรคภูมิใจไทย)
- ควง อภัยวงศ์ อดีตคณะราษฎรสายพลเรือน ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้า ปชป.คนแรก เนื่องจากเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
- ปชป.ขณะนั้น ตรวจสอบรัฐบาล พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (สายปรีดี) อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการอภิปราย 7 วัน 7 คืน จนท้ายที่สุดทหารเข้ายึดอำนาจ
- ควงในฐานะหัวหน้า ปชป.คนแรก ได้เป็นนายกฯ หลังจอมพลผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- แต่ต่อมา ควงก็ถูกทหารจี้ให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังเป็นนายกฯ ได้เพียง 1 ปี และคนที่มาเป็นแทนคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ปี 2517 – ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช vs คุณหญิง เลขา อภัยวงศ์ (ชิงชื่อพรรค)
- หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. ก็สั่งยุบทุกพรรคการเมือง ทำให้ระหว่างปี 2501 – 2511 ไม่มี ปชป.
- ควงถึงแก่อสัญกรรม ปชป. จึงต้องไปทาบทาม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกฯ ที่วางมือทางการเมืองตั้งแต่ปี 2494 มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค
- ปชป.ยุคสองกลับมาในปี 2511 แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาในปี 2517 เมื่อมีการจัดทำ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ และให้แต่ละพรรคไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอีกครั้ง จึงเกิดเหตุการณ์ ‘แย่งชื่อพรรค’ โดย ม.ร.ว.เสนีย์แย่งจดทะเบียนชื่อ ปชป. กับคุณหญิงเลขา ถึงขั้นมีการฟ้องร้องกัน แต่ท้ายที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์ก็ชนะ
- ความจริงแล้ว ยุคของ ม.ร.ว.เสนีย์ น่าจะเป็นยุคทองของ ปชป.ด้วยซ้ำ เพราะชนะเลือกตั้ง 2 ครั้งซ้อน คือในปี 2518 และปี 2519 แต่ในปี 2518 ก็ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หลังพ่ายโหวตตอนแถลงนโยบาย ส่วนในปี 2519 ก็ได้เป็นรัฐบาลอยู่ไม่นาน ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทหารยึดอำนาจ เข้าสู่ยุครัฐบาลหอยและประชาธิปไตยครึ่งใบ
- ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกพรรค ที่ ม.ร.ว.เสนีย์คุมสถานการณ์แทบไม่ได้เลย ทำให้เจ้าตัวได้รับฉายา ‘ฤาษีเลี้ยงลิง’
- ม.ร.ว.เสนีย์ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง หลังแพ้เลือกตั้งในปี 2522
ปี 2530 – พิชัย รัตตกุล vs เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์
- ปชป.หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เข้าสู่ยุคตกต่ำ สมาชิกบางส่วนถูกมองว่าเป็น ‘ซ้าย’ ทำให้ต้องนำคนที่ถูกมองว่า ‘ขวา’ จัดๆ อย่าง พ.อ.ถนัด คอมันตร์ อดีต รมว.ต่างประเทศยุครัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม มาเป็นหัวหน้าพรรคในปี 2522 โดยเอาชนะทั้งชวน หลีกภัย และอุทัย พิมพ์ใจชน 2 นักการเมืองดาวรุ่งในเวลานั้น (ภายหลังอุทัยลาออกไปตั้งพรรคก้าวหน้า)
- แต่ พ.อ.ถนัดก็เป็นหัวหน้า ปชป.ได้ไม่นาน พิชัย รัตตกุล สมาชิกเก่าแก่ของพรรค ก็เข้ามาแทน
- สมัยพิชัยเป็นหัวหน้า ปชป. เคยชนะเลือกตั้งในปี 2529 แต่ก็ยอมให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกฯต่อ ส่วนพิชัยเป็นแค่รองนายกฯ
- พอถึงปี 2530 ถึงวาระต้องเลือกหัวหน้า ปชป.อีกครั้ง มีผู้สนับสนุนให้เฉลิมพันธุ์ ศรีวิกรม์เป็นหัวหน้า แต่พ่ายแพ้ให้กับพิชัย จึงเกิดกลุ่ม ‘กบฎ 10 มกรา’ ขึ้น โดย ส.ส.ปชป. กว่า 40 คน ซึ่งขณะนั้นอยู่ร่วมรัฐบาลอยู่ คอยก่อกวนและโหวตค้านสิ่งที่รัฐบาลเสนอ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ จนที่สุด ปชป.ต้องถอนตัวจากรัฐบาล และ พล.อ.เปรมยุบสภา ในปี 2531
- เมื่อประกอบกับคนเริ่มเบื่อหน่ายที่บริหารประเทศมา 8 ปี และมีนักวิชาการ 99 คนเข้าชื่อถวายฎีกา ที่สุด พล.อ.เปรมจึงประกาศ ไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก พร้อมเอ่ยวาทะอมตะ “ผมพอแล้ว”
ปี 2546 – บัญญัติ บรรทัดฐาน vs อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างใหญ่หลวง จากเดิมที่มีแต่รัฐบาลผสม อ่อนแอ รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกเข้ามานี้ กลับออกแบบให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง
- ท้ายสุด ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายสูงสุดนี้เต็มๆ ก็คือ พรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจระดับแสนล้านที่เข้ามากวาดต้อนนักการเมืองก๊วน-มุ้งต่างๆ จนเกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ฝ่ายค้านตรวจสอบได้ยาก และอยู่ครบวาระสี่ปีเป็นคนแรก
- ปชป.ขณะนั้นนำโดยชวน หลีกภัย ที่แม้จะได้เป็นนายกฯ ถึง 2 สมัย แต่คนไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
- ในปี 2546 หลังชวนควบวาระเป็นหัวหน้า ปชป. กลุ่มคนหนุ่มในพรรคสีฟ้าก็ตั้งกลุ่ม ‘ผลัดใบ’ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาท้าชิงกับกลุ่ม ‘ทศวรรรษใหม่’ นำโดยผู้อาวุโส บัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งผลปรากฎว่าอภิสิทธิ์พ่ายแพ้
- แต่บัญญัติก็เป็นหัวหน้า ปชป.อยู่ได้แค่สองปี ก่อนพ่ายเลือกตั้งชนิดถล่มทลายให้แก่ทักษิณ จึงยอมลาออก และอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นหัวหน้า ปชป.แทน ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองที่ตามมาหลังจากนั้น นานนับสิบปี
ปี 2561 – อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ vs นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม vs อลงกรณ์ พลบุตร
- ปชป.ตลอด 13 ปี ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้า ผ่านการเลือกตั้ง 4 ครั้ง โดยไม่ชนะเลย (แพ้ 2 ครั้ง และบอยคอต 2 ครั้ง) จนสมาชิกพรรคหลายคนมองว่าเป็น ‘มวยช้ำ’ และติดภาพผู้พ่ายแพ้
- แม้อภิสิทธิ์จะได้เป็นนายกฯ 1 ครั้ง แต่ก็ถูกครหาว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
- นอกจากนี้ ปชป.ยุคอภิสิทธิ์ ยังผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 และสมาชิกบางส่วนไปร่วมก่อตั้งกลุ่ม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 จนเกิดการยึดอำนาจครั้งล่าสุด
- เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้มีการเลือกหัวหน้า ปชป.คนใหม่ จึงมีผู้ท้าชิงปรากฎตัว 2 คน คือ นพ.วรงค์ และอลงกรณ์
- ภาพเงาของสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังผู้สมัครบางคน
- การหยั่งเสียงจากอดีตสมาชิก ปชป.กว่า 2.8 ล้านคน จะมีขึ้นระหว่าง 1-5 พ.ย.นี้ ก่อนจะได้เลือกหัวหน้า ปชป.จริงๆ ในวันที่ 11 พ.ย. โดยผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 300 คน
ไม่ว่าจะชอบหรือชัง ศึกภายใน ปชป. ก็มีความสำคัญ ต่อการกำหนดผลเลือกตั้งครั้งต่อไป