อีกครั้งกับเรื่องรักแนวข้ามกาลเวลา เรื่องบุพเพสันนิวาสที่กำลังฮิตกันทั่วตอนนี้ในทางวรรณกรรมเรียกว่าเป็นงานโรมานซ์แนวข้ามภพชาติ (Time travel romance) คือแกนเรื่องหลักๆ ก็เป็นเรื่องความรักของพระเอกนางเอกที่ไม่สมหวัง แต่กิมมิกหลักๆ คือการทะลุมิติ ข้ามเวลา ไปสร้างเรื่องสร้างราวต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางย้อนอดีตไป แนวเรื่องประเภทนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมทั้งในนิยายไทยและในต่างประเทศ ในโลกจินตนาการเราย้อนเวลา ทั้งกลับไปหารัก กลับไปกู้ชาติบ้านเมือง บางเรื่องก็เป็นหมอกลับไปรักษาคน หรือโดราเอมอนก็มีคอนเซ็ปต์เรื่องการข้ามเวลาด้วย
สำหรับบ้านเรา นอกจากบุพเพสันนิวาส ก่อนหน้านี้เราก็ข้ามภพกันมานักต่อนักแล้ว เราทะลุกระจกโบราณในทวิภพ นอนหลับกลับไปสู่เชียงตุงในบ่วงบรรจถรณ์ นอกจากนี้ยังมีนิยายอีกสารพัดที่ข้ามภพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แต่ปางก่อน อตีตา หรือหนึ่งในชุดผีผ้าที่ฮิตเมื่อกี่ปีมานี้เช่น รอยไหม ก็รักข้ามภพข้ามเวลาเช่นกัน เรียกได้ว่านักเขียนชั้นนำบ้านเราแทบทุกคนต่างมีเรื่องแนวข้ามภพทะลุมิติของตัวเอง
นอกจากความสนุกแล้ว ทำไมเราถึงสร้างเรื่องความรักข้ามเวลา ทำไมถึงจินตนาการถึงอดีต จินตนาการถึงความสัมพันธ์ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ เรา ‘นึกถึงอดีต’ อย่างไร และทำไมถึงแบบนั้น ในวงวิชาการบ้านเรามีการศึกษาแนวเรื่องข้ามภพในนิยายด้วย และในบางช่วงเช่น ปี 40 ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเคว้ง การกลับมาของหนังข้ามภพเช่น ทวิภพจินตนาการเพื่อกลับไปแก้ไขบางอย่างในอดีต ก็อาจจะสัมพันธ์หรือตอบสนองกับภาวะร่วมสมัยบางประการ
นิยายรักแนวข้ามภพ ทำไมต้องข้ามเวลา
ถ้ามองในแง่ของตลาด นิยายรัก – โรแมนซ์ ถือเป็นประเภทงานที่ครองตลาด พูดง่ายๆ คือใครๆ ก็ชอบอ่านนิยายโรแมนซ์ – เรียกภาษาวิชาการว่างานแนวพาฝัน แกนสำคัญของนิยายแนวนี้คือ มีพระเอกนางเอกแหละ และตอนจบคือความรักนี้จะสมหวังจบบริบูรณ์อย่างไร ซึ่งความสมปรารถนาของทั้งสองก็ถูกหน่วงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงตอนจบของเรื่อง ทีนี้ด้วยความนิยม นิยายรักก็เขียนกันออกมามากมาย นักเขียนก็ต้องหากลเม็ดในการสร้างเรื่องในหลายๆ รูปแบบ เพื่อสร้างรูปแบบความรักแบบใหม่ๆ ขึ้นมา
แกนหนึ่งของเรื่องรักแนวข้ามภพคือการผสมกันระหว่างเรื่องแนวเหนือธรรมชาติเข้ากับความสัมพันธ์ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ของตัวละครเอก หลักๆ แล้วมักจะมีพวกเหตุการณ์ประหลาดทั้งหลาย เช่น วิญญาณหลุดออกจากร่าง ไปจนถึงการมีวัตถุพิเศษที่เชื่อมโยงระหว่างสองช่วงเวลา หรือการมีเวทย์มนต์คาถาที่ทำให้มิติเวลาบิดผัน แกนที่น่าสนใจของเรื่องคือ แน่ล่ะว่าคนจากสองยุคย่อมรักหรือมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนไม่ได้ แต่การกลับไปสู่อดีตหรือมิติอื่นมักเป็นการแก้ไขความเข้าใจหรือปมปัญหาในปัจจุบัน เป็นการกลับไปเรียนรู้หรือเข้าใจอะไรบางอย่าง ก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ในงานศึกษา ‘อัตลักษณ์กับบริบททางสังคมในนิยายโรมานซ์แนวข้ามภพชาติของไทย’ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำการศึกษานวนิยายแนวข้ามภพของไทย 6 เรื่อง จากการศึกษาพบว่าผู้เขียนมักใช้ความเปลี่ยนแปลงบริบทสังคม (จากยุคปัจจุบันเป็นอดีต หรือจากอดีตมาปัจจุบัน) เพื่อสร้างอุปสรรค หรือทำให้ความรักระหว่างตัวละครในเรื่องผิดหวังหรือสมหวัง เช่นพอย้อนกลับไปที่อดีตแล้วอาจจะไปเจอกำแพงทางชนชั้น การไปเผชิญอุปสรรคต่างๆ อาจนำไปสู่ความเข้าใจ หรือการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ส่งผลกับความรักในตอนท้ายเรื่อง
เมื่อสังคมฝันและอยากกลับไปสู่อดีตเพื่อสนองกับปัจจุบัน
นอกจากประเด็นเรื่องความสนุกในการได้จินตนาการถึงอดีต และเป็นการใช้องค์ประกอบและเรื่องราวที่แปลกใหม่เพื่อสร้างอุปสรรคหรือสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ ในเรื่องแล้ว การที่เราชอบและอยากจินตนาการถึงอดีต – การกลับไปสู่อดีต – ก็มีนัยอื่นๆ แฝงอยู่ด้วย
นักวิชาการทางวัฒนธรรมกระทั่งนักคิดจิตวิเคราะห์ต่างมองว่าอดีตมีมิติของความปรารถนาที่สัมพันธ์กับปัจจุบัน เรามักนึกถึงหรือโหยหาอดีตที่เราคิดว่าเรา ‘ขาด’ เช่นว่า ถ้าในภาวะปัจจุบันเราขาด – และปรารถนาอะไร เราก็มีแนวโน้มที่จะบอกว่าในอดีตเราเคยมีสิ่งนั้นๆ แค่ทุกวันนี้เราไม่มีแล้ว เช่นทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่วุ่นวายและรวดเร็ว เราก็มีแนวโน้มที่จะจินตนาการอดีตที่เนิบช้า สงบร่มเย็น เป็นระเบียบ ซึ่งในอดีตโดยรวมก็อาจจะมีทั้งความยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่เรากลับเลือกที่จะวาดภาพอดีต เลือกที่จะนึกถึงอดีต เพื่อตอบสนองความไม่น่าพึงพอใจในปัจจุบัน
ปี 2540 ช่วงที่ไทยเราเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ Maurizio Peleggi เสนอไว้ใน The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia ว่าช่วงปี 40 ไทยเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในช่วงนั้นจึงได้เกิดกระแสโหยหาอดีต เราเกิดตลาดน้ำโบราณ กาแฟโบราณ ต่างๆ ขึ้น – เพราะว่าปัจจุบันไม่น่าพึงพอใจอีกต่อไป
งานแนวย้อนอดีตเองก็ดูจะสนองกับความปรารถนาของเราเช่นกัน รศ.นัทธนัย ประสานนาม นักวิชาการทางภาพยนตร์พูดถึงข้อสังเกตในการสร้างทวิภพฉบับหนังที่สัมพันธ์กับผลของปี 40 (ที่เราเพิ่งใช้หนี้ IMF หมด ในปี 2546 – ทวิภพฉบับหนังฉายในปี 2547) ว่า ถ้าเรามองว่าเราตกเป็นอาณานิคมทางการเงินในช่วงปี 2540 ช่วงที่เรารู้สึกตกเป็นเบี้ยล่างของโลกตะวันตก การสร้างหนังที่คนไทยได้ย้อนกลับไปแก้ไข ต่อสู้กับโลกตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 4 และสำเร็จ ก็ดูจะเป็นการตอบสนองกับการปลดแอกทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ไปพร้อมกัน
เรื่องรัก นิยายที่เราอาจเรียกว่าน้ำเน่าเอาไว้ดูเพื่อความบันเทิง แต่โดยรวมว่าด้วยจินตนาการร่วมบางอย่าง การที่เรานึกถึงอดีต สร้างเรื่องที่อดีตและปัจจุบันบิดเข้าหากัน ภายในนั้นย่อมมีรายละเอียดบางอย่าง ว่าเออ ทำไมอยู่ๆ เราถึงอยากย้อนอดีตนะ ปัจจุบันเป็นยังไง แล้วผลของภาวะเหนือธรรมชาตินั้นจะคลี่คลายและส่งผลกับผู้คนอย่างไร หรือมากไปกว่านั้นคือในเรื่องกำลังตอบสนองความต้องการอะไรของสังคมอยู่รึเปล่า เราถึงยังชื่นชอบเรื่องย้อนอดีตกันอยู่เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Maurizio Peleggi, The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia, Bangkok, White Lotus Press