เมื่อเร็วๆ นี้ หลายพื้นที่ในประเทศได้เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนหลายคนเรียกว่าเป็นอุทกภัยครั้งที่ ‘หนักที่สุดในรอบ 10 ปี’ หรือบางพื้นที่อาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำไป หนึ่งในบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ.เชียงราย ที่มีรายงานสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่หลายจุด มาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม
วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่าง ‘สาหัส’ ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งต้องขนของหนีน้ำ ทั้งติดอยู่ในบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ แล้วยังมีภัยอันตรายอีกนับไม่ถ้วนจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากระดับลดลงแล้ว วิกฤตน้ำท่วมที่ดูเหมือนจะ ‘ผ่านพ้นไปแล้ว’ กลับสร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับผู้ประสบภัย เสียจนเราพูดได้ไม่เติมปากว่า วิกฤตครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ
ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
“ทำความสะอาดหนึ่งอาทิตย์ แต่ได้ประมาณ 20-30% เพราะว่าทําอะไรไม่ได้ ไม่มีใคร ไม่มีน้ำ ไม่มีคนช่วย” ลิลี่ (นามสมมุติ) เล่าถึงการทำความสะอาดบ้านที่ อ.เมืองเชียงราย พร้อมกับบอกว่าบ้านของเธออยู่ริมแม่น้ำกก ซึ่งห่างจากตัวเมืองราว 15 กิโลเมตร โดยบ้านถูกน้ำท่วมถึง ‘ระดับเข่าของคนที่อยู่ชั้นสองของบ้าน’ ทั้งนี้เธอทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องกลับบ้านเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อช่วยแม่ทำความสะอาด
เมื่อถามถึงขั้นตอนการล้างบ้าน ลิลี่บอกว่าเธอต้องทิ้งข้าวของเครื่องใช้ไปจำนวนมาก เนื่องจากขณะที่น้ำท่วม แม่ของเธออยู่บ้านเพียงลำพัง จึงไม่สามารถย้ายของทั้งหมดเองได้ ทำให้เครื่องใช้หลายอย่างต้องจมโคลนไปถึง 3 วัน อีกทั้งในพื้นที่บ้านของเธอมีบ้านหลายหลัง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือเธอจำเป็นต้องตัดสินใจ ‘ทุบบ้านทิ้ง’ ไปหนึ่งหลัง โดยเธอเล่าว่า
“คือมีบ้านหนึ่งหลังที่ต้องทุบทิ้ง แต่ยังเหลืออีกสองห้องที่ยังเปิดไม่ได้ เพราะว่ามีโคลนติดอยู่ข้างใน แล้วของก็กระจัดกระจายจนมันดันประตู ทําให้ไม่สามารถเปิดเข้าไปได้ ก็มีสองทางเลือกคือ ทุบประตูกับทุบหน้าต่าง ก็เสียหายหนักอีก”
นอกจากนี้ ลิลี่เล่าว่าเธอและครอบครัว ‘จำเป็นต้องทิ้ง’ เฟอร์นิเจอร์และของใช้จำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากของเหล่านั้นแช่อยู่ในน้ำหลายวัน ทำให้โคลนเข้าไปฝังอยู่ในข้าวของ ทั้งเครื่องใช้ ทั้งเครื่องนุ่งห่มต่างๆ โดยเธอบอกว่า “อย่างตู้เย็นที่มีประมาณ 7 ตัว ก็คือพังหมดเลย เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวอะไรแบบนี้ ก็คือแบบไปหมดเลย แอร์ก็คือไม่เหลือ ที่นอนฟูก เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ผ้าห่ม หมอน ก็คือใช้ไม่ได้เลยสักอัน”
ไม่เพียงแค่ความเสียหายทางทรัพย์สิน เมื่อเล่าถึงสิ่งที่เธอเสียดายมากที่สุด ลิลี่กล่าวว่า
“สิ่งที่เสียดายที่สุดสำหรับเรา อาจจะไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แต่มันจะเป็นพวกรูปภาพความทรงจํา ของที่เราไม่สามารถเอามันกลับมาได้แล้ว”
เธอเล่าเสริมว่า แม่เก็บสะสมผลการเรียนของเธอมาตั้งแต่เรียนอนุบาลจึงถึงปัจจุบัน เพื่อบันทึกเป็นความทรงจำ แต่ดินโคลนก็พรากความทรงจำในรูปแบบสิ่งของเหล่านั้นไป และแม้ว่าเธอจะพยายามทำความสะอาด และตากบันทึกเหล่านั้นให้แห้ง แต่ “แค่หยิบขึ้นมามันก็ขาดแล้ว”
ดูเหมือนว่ากระแสน้ำจะพัดพาอะไรไปจากผู้ประสบภัย มากกว่าที่เราคิด
ขั้นตอนการล้างบ้านที่ไม่ง่าย ค่าใช้จ่ายบานปลาย (และไม่มีใครช่วย?)
“แล้วระยะเวลาที่อยู่ที่นั่น พูดได้เลยว่า ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเลย ในเรื่องการทำความสะอาด การขนของนู้นนี่” ลิลี่เล่าถึงการทำความสะอาดของที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เต็มไปด้วยโคลนที่ต้องรีบขูดล้างออก ก่อนโคลนจะแห้งและทำความสะอาดยากกว่านี้
ทั้งนี้พื้นที่บ้านของเธอจนถึงตอนนี้ยังไม่มีน้ำประปาใช้ จึงจำเป็นต้องพึ่ง ‘เครื่องสูบน้ำ’ เพื่อลำเลียงน้ำจากแม่น้ำกกขึ้นมาล้างบ้าน ลิลี่บอกว่าแม่ไปถามเพื่อขอใช้เครื่องสูบน้ำ ที่รัฐฯ สนับสนุนมา จากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งขณะนั้นถูกใช้อยู่ในพื้นที่บ้านของเขาเอง แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ
“ถ้าเจ๊รีบ เจ๊ก็ไปซื้อเองเลย” แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้แม่เธอตัดสินใจซื้อเครื่องสูบน้ำราคาครึ่งหมื่นด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ลิลี่กล่าวว่าในหมู่บ้านของเธอ มีรถตักหน้าดิน หรือรถแบ็กโฮ (backhoe loader) จากการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น กล่าวคือ อบจ.รวบรวมรถทั่ว จ.เชียงราย และกระจายไปยังอําเภอต่างๆ สู่ตําบลต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย แต่การที่รถแบ็กโฮจะเข้ามาช่วยนั้นในหมู่บ้านนั้น ลิลี่ระบุว่าอยู่ในรูปแบบ ‘first come first serve’ กล่าวคือต้องไปยืนรอหน้าบ้าน แล้วหาจังหวะโบกมือเรียกรถแบ็กโฮเข้ามา โดยไม่มีการจัดการคิวที่ชัดเจน
อีกทั้งสำหรับบ้านของเธอ ก็มีรถแบ็กโฮเข้าช่วยขุดดินรอบบริเวณบ้าน เป็นเวลาครั้งละ 30-40 นาที ซึ่งก็คงยังไม่เพียงพอต่อปริมาณโคลนที่ทับถมสูงกว่า 1 เมตร ซ้ำเธอยังถูก ‘เรียกเก็บเงิน’ เพิ่มจากคนขุด ครั้งละ 1,000 บาท โดยไม่ทราบเหตุผล
“ด้วยความที่แบบมันไม่มีตัวเลือก ไม่มีรถที่อื่นแล้ว มันมีแค่คันเดียว ก็ต้องยอมก็ต้องยอมจ่ายให้ ทั้งที่ไม่ได้อยากจ่ายนะ แต่ว่ามันไม่มีทางเลือกแล้ว ณ จุดนั้น คือจะไปหาจ้างเองก็หาไม่ได้ เพราะว่ามันก็ขาดแคลนหมด” ลิลี่ เล่า
นอกจากจะต้องสูญเสียทรัพย์สินไปกับน้ำมากมายแล้ว ดูเหมือนว่า ‘ค่าใช้จ่าย’ ที่ตามมา จะบานปลายอย่างไม่น่าเชื่อ น่าตั้งคำถามว่าต่อจากนี้ การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยจะเป็นอย่างไร
ตั้งคำถามต่อการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐฯ
“เราถามพ่อเมื่อวาน ส่วนใหญ่จะมาจากอาสา หรือมูลนิธิหรืออะไรแบบนี้ค่ะ พวกกันจอมพลัง หรือแบบว่าคุณบุ๋มอะไรแบบนี้ที่เขาลงพื้นที่ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นคนช่วยกันมากกว่า” เบลล์ (นามสมมุติ) อีกหนึ่งผู้ประสบภัยกล่าว โดยบ้านของเธออยู่ในชุมชนไม้ลุงขน-เกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ที่กระแสไหลเชี่ยว ทำให้กว่าการช่วยเหลือแรก จะสามารถเข้าถึงได้นั้น ต้องใช้เวลากว่า 2 วัน
เบลล์เล่าว่านี่เป็น ‘ครั้งแรก’ ที่น้ำท่วมบ้านของเธอ โดยช่วงที่น้ำท่วมสูงนั้น ระดับน้ำท่วมมิดชั้นหนึ่งของบ้าน และแม้ว่าเธอจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ขณะนั้น แต่ก็พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานหลายแห่ง ทั้งเพจต่างๆ ทั้งกลุ่มรายงานน้ำท่วมบนโซเชียล ทั้งมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือ
สำหรับเธอแล้วรัฐฯ ไม่ใช่แหล่งขอความช่วยเหลือแรก ที่ผู้ประสบภัยนึกถึง
หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย มีโคลนจำนวนมาก เหลืออยู่ที่ระดับครึ่งประตูชั้นหนึ่งของบ้าน ทำให้ครอบครัวเธอมีภาระต้องจัดการอีกมาก แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มล้างบ้านมาหลายวันแล้ว แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยดี โดยเบลล์กล่าวว่า “โชคดีที่พ่อมีคนรู้จักเยอะหรือเพื่อนเยอะ เขาก็มีรถตักมีอะไรแบบนี้ที่มาช่วยกัน” พร้อมทั้งมองว่าคนแก่ที่อาศัยอยู่คนเดียวหรือไม่มีคนเข้ามาช่วยเหลือ คงจะลำบากกว่านี้มาก นอกจากนี้ เบลล์เล่าว่ายังมีการ ‘ฉวยโอกาส’ ขึ้นราคาค่าน้ำ และค่าอุปกรณ์ทําความสะอาด เพื่อสร้างกำไร (บนความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย?)
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคนรู้จักมาช่วยเหลือแบบบ้านของเบลล์ นี่อาจเป็นอีกประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อการจัดการของรัฐฯ ว่าครอบคลุมบ้านผู้ประสบภัยอย่างเท่าเทียมกัน มากน้อยแค่ไหน? และป้องกันไม่ให้ผู้ประสบภัยถูกเอาเปรียบหรือไม่?
เมื่อถามเบลล์ว่าเธอคิดอย่างไรกับการจัดการหลังน้ำท่วมของรัฐฯ เธอกล่าวว่า “เรื่องการ take action การให้ความช่วยเหลือ เราก็คิดว่ามันสามารถเร็วกว่านี้ได้” พร้อมกับเสริมว่าต้องการให้การเยียวยาหรือความช่วยเหลือ เข้าถึงผู้ประสบภัยมากกว่านี้ โดยระบุว่า
“ผู้ประสบภัยเขาลําบากมาแล้ว ไม่อยากให้เขาต้องไปลําบากหาความช่วยเหลือมาเอง แต่ว่าความช่วยเหลือควรจะไปหาเขามากกว่า”
เอกชนช่วยรัฐฯ หรือรัฐฯ ช่วยประชาชน?
ที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่มีอาสาสมัครจากทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิกระจกเงา ที่ตอนนี้มีศูนย์อาสาล้างบ้านที่ จ.เชียงราย โดยมูลนิธิฯ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทํางานฟื้นฟูในพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมทั้งมีแนวทางการจัดการหลังน้ําลด จึงเข้ามาช่วยในการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด
นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.เทิง จ.เชียงราย บก.ลายจุด หรือผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่ามูลนิธิฯ ได้เข้าไปทำงานอาสาใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน และสุโขทัย เป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 1 เดือน
และเมื่อถามว่า บ้านหนึ่งหลังต้องใช้เวลาทำความสะอาดนานแค่ไหน บก.ลายจุด ระบุว่าขึ้นอยู่กับพื้นที่และกำลังคน โดยปกติหากมีกำลังคน 10-15 คน จะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ต่อบ้านหนึ่งหลัง แต่บางกรณี สำหรับเคสที่ยากมากๆ บางบ้านต้องใช้อาสาสมัครราว 20 คน ทำความสะอาดบ้านเป็นเวลา 2 วัน จึงจะเสร็จ
“โคลนเป็นข้อยากที่สุดของเรา” บก.ลายจุด กล่าวถึงอีกหนึ่งความท้าทายในการล้างบ้าน เนื่องจากโคลนที่ทับถมทั่วพื้นที่บ้าน ทำให้การเคลื่อนย้ายของเพื่อล้างบ้านเป็นไปได้ยาก อีกทั้งหากโคลนลงไปตันในท่อ ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการกำจัด เช่น รถดูดโคลน ซึ่ง บก.ลายจุดระบุว่ามีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย
“เอกชนคือภาคประชาสังคม เรามีหน้าที่ไปอุดช่องโหว่ที่รัฐฯ ทำไว้”
บก.ลายจุด กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิฯ โดยระบุว่าวิกฤตน้ําท่วมครั้งนี้ ได้เพิ่มปริมาณขยะที่ต้องจัดการ หลายสิบเท่าตัว จนเกินขีดความสามารถในการจัดการของรัฐฯ ดังนั้นภาคเอกชน อย่างมูลนิธิ หรือจิตอาสาต่างๆ ที่มีศักยภาพ จึงเข้าไปสนับสนุน ผ่าน ‘การทำงานอย่างสอดคล้องกัน’ เพื่อบรรเทาความลำบากของประชาชนให้ได้มากที่สุด
“เพราะว่าจริงๆ เอกชนช่วยรัฐฯ ครับ ไม่ใช่รัฐฯ ช่วยประชาชน” บก.ลายจุดกล่าว