“การจัดการน้ำต่อไปนี้ ไม่สามารถคิดเพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องระหว่างประเทศ” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง กล่าว
ต้นเดือนกันยายน 2567 ทุกคนคงเห็นภาพที่ชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม จนมีการเปิดรับบริจาคทั้งอาหาร เสื้อผ้า และของใช้จำเป็น ถัดมาไม่นานหลังน้ำลด เราก็เห็นบรรยากาศที่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองต่างช่วยกันเคลียร์พื้นที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม ซึ่งเต็มไปด้วยดินโคลนและข้าวของที่ได้รับความเสียหาย หนึ่งในจังหวัดที่ประสบและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอุทกภัยครั้งนี้คือ ‘เชียงราย’
ส่งผลให้จวบจนวันนี้หลายคนยังตั้งคำถามว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ถึงรุนแรงเพียงนี้ อะไรคือต้นตอสาเหตุ และต่อไปนี้เราต้องเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างไร? The MATTER จึงมีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่ รวมถึงหาต้นตอของปัญหา ที่ทำให้น้ำท่วมปีนี้รุนแรงและกินระยะเวลายาวนาน
‘เขื่อน’ ต้นตอสำคัญของน้ำท่วมใหญ่?
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย สปป.ลาว และเมียนมา ได้ส่งผลให้เกิดน้ำหลากทั้งในลำน้ำโขง และลำน้ำสาขา เช่น น้ำงาว น้ำอิง น้ำกก
ส่งผลให้น้ำเริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนจำนวนหลายหมื่นไร่ นับตั้งแต่ 15 สิงหาคมเป็นต้นมา ซึ่งน้ำที่ไหลท่วมไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงมีระดับสูง ซึ่งระดับน้ำโขงขึ้นสูงสุดอีกครั้งในช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคม สูงขนาดท่วมเสาวัดระดับน้ำ จนไม่สามารถอ่านค่าได้
โดยสรุปแล้ว หนึ่งในปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำโขงหลากระดับเท่านี้ เกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา โดยเฉพาะแม่น้ำอิงและแม่น้ำงาว รวมทั้งการปล่อยน้ำจากเขื่อนตอนบน
จนมีการเรียกร้องการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว หรือ เขื่อนปากแบง ที่ปัจจุบันมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง
“คนที่มีสวนส้มโอริมน้ำงาวตายหมด ไม่สามารถนับมูลค่าได้” ไผท นําไท ผู้ใหญ่บ้านบ้านยายเหนือ พูดถึงสวนส้มโอ ริมน้ำงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
ผู้ใหญ่บ้านเสริมว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูว่าการสร้างเขื่อนปากแบง จะสร้างผลกระทบต่อผู้คนในอำเภอเวียงแก่นอย่างไรบ้าง เพราะพวกเราไม่เคยรู้หรือรู้มากพอว่าการสร้างเขื่อนดังกล่าว จะกระทบกับเรามากน้อยเพียงใด
“นี่ขนาดยังไม่ได้สร้างเขื่อนยังขนาดนี้ น้ำท่วม 3 รอบ พืชผลทางเกษตรเสียหาย บางคนปลูกมา 10 ปีตายหมด”
ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ต้องใช้เวลาปลูก 5 ปี ถึงจะเก็บผลผลิตได้ ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่กล้าทุนเพราะกลัวว่าน้ำจะท่วมอีก แต่คาดว่าถ้าน้ำลดคงจะเลือกปลูกต้นพืชล้มลุกแทน เพราะต้นทุนในการปลูกส้มโอมันสูง
“ส้มโอเวียงแก่น ส่งออกจีน ยุโรป เวียดนาม และ กัมพูชา รายได้ต่อปีจากทั้งหมู่บ้านรวมกันหลักร้อยล้านบาท ถ้าเป็นระดับอำเภอก็มากกว่านี้” ผู้ใหญ่บ้านไผทกล่าวปิดท้าย โดยผู้ใหญ่บ้านถือเป็นตัวแทนของชาวบ้านหลายคน ที่มายืนล้อมวงเพื่อพูดคุยกับสื่อถึงความเสียหายที่พวกเขาประสบ
“ชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไรก็เลือกที่จะมาตกปลาแทน ซึ่งปลาที่ตกได้คือ ปลากด ไว้กินกับแกงส้ม ไม่ก็นึ่งกิน” เยาวน์ นงเยาว์ ชาวบ้านที่แก่งผาได หรือ พรมแดนไทย-ลาว ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณมากกว่า 1 พันไร่ อธิบาย
เธอกล่าวต่อ สถานการณ์โดยรวมก็ดีขึ้น เพราะนำ้เริ่มแห้ง แต่ถึงกระนั้นเธอยอมรับว่าในเวลาเดียวกันนั่นก็ยังแย่อยู่ เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบน้ำท่วมแทบจะทั้งหมด “บ้านนี้ไม่น้ำท่วมนะ แต่ข้าวโพดที่ปลูกไว้ 4 ไร่ ท่วมหมดเลย ซึ่งน้ำไม่ท่วมมา 10 กว่าปีแล้ว และท่วมไม่เยอะและไม่ยาวนานขนาดนี้ ”
เยาวน์ ชี้ไปที่น้ำที่เธอกำลังนั่งตกปลาอยู่ พร้อมระบุว่า พื้นที่ตรงนี้จริงๆ แล้วเป็นสวนข้าวโพด ทุเรียน มะพร้าว ยางพารา มะม่วง และส้ม แต่ส่วนมากจะเป็นข้าวโพดเสียมากกว่า เพราะปลูก 3 เดือนก็เก็บได้แล้ว
“ที่จริงตอนนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว แต่เก็บไม่ได้แล้วเพราะน้ำท่วมหมด ซึ่งข้าวโพดเป็นพืชผลสำคัญของคนที่นี่ เพราะส่วนใหญ่ถูกซื้อไปเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์”
“ทั้งตัวเราเองและชาวบ้านไม่ค่อยทราบเรื่องเขื่อนว่า ปล่อยน้ำมาอย่างไร หรือจะปล่อยไม่ปล่อยกันแน่” เธอพูดทิ้งท้าย
“ลุงปลูกข้าวโพด 4-5 ไร่ กับทุเรียน 1 ไร่ ท่วมหมดเลยไม่มีเหลือ ปลูกมาตั้งแต่หนุ่ม เมื่อก่อนน้ำก็มีท่วม แต่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาไม่มีมาเลย มาปีนี้ซึ่งหนักมาก” ผลุง ดวงชัย อีกหนึ่งชาวบ้านที่กำลังนั่งตกปลา ที่แก่งผาได
ผลุง ยอมรับว่าตอนนี้เขายังมีความหวังอยู่ เพราะไม่เหลืออะไรแล้ว ข้าวโพดก็ไม่ได้เก็บ ทุเรียนที่ปลูกมา 7 ปีก็ตาย ซึ่งใช้ต้นทุนไปมหาศาลทั้งค่าปุ๋ย ยากำจัดแมลง และเครื่องสูบน้ำ “อีก 10 กว่าวันก็จะได้เก็บทุเรียนแล้ว แต่น้ำมาก่อน มีเก็บมาทันบ้างแต่มันยังไม่แก่ ท้ายสุดก็เน่ากินไม่ได้”
คนถัดมาที่เราพูดคุยด้วยคือ เมษ กาวีละ หนึ่งในเครือข่ายชาวบ้านจากหมู่บ้านบ้านสบกก เข้าร่วมฟังสถานการณ์รับน้ำ อำเภอเชียงแสน
“ลุงเป็นชาวประมงตั้งแต่หนุ่ม ตอนนี้อายุจะ 70 ปีแล้ว ตอนนี้ทุกครอบครัวได้รับผลกระทบหมด แม้จะน้ำลดลงแล้วก็ตาม” ลุงเมษชี้ว่า นอกเหนือจากการทำประมง เขายังเลี้ยงเป็ดและไก่ ซึ่งไก่ตายไปเกือบ 100 ตัว เพราะน้ำท่วมสูง อย่างไรก็ดี สำหรับลุงเมษเองเขารู้สึกว่าปีนี้ปริมาณน้ำไม่เยอะ หากเทียบเท่ากับปี 2551 พร้อมกันนั้นเขาเสริมว่า “พอรู้เรื่องเขื่อน เพราะเคยไปอบรมที่เชียงแสน ก็มีคนเข้ามาพูดคุยด้วยว่าจะสร้างมีการสร้างเขื่อน แต่ไม่ได้บอกเหตุผลกับพลเรือนว่าทำไม”
ลุงรู้สึกว่าไม่ค่อยถูกต้องที่แจ้งเพียงเท่านี้ จริงๆ ต้องคุยกับชาวบ้านว่า สร้างขึ้นมาเพราะเหตุผลยั้ง เอาไฟไปใช้จังได๋ ขณะนี้รู้เพียงว่าเขื่อนนี้เป็นเขื่อนที่สร้างร่วมกัน (ไทย จีน ลาว) “ช่วยเตือน ช่วยบอกพวกเราบ้าง สร้างขึ้นมาพี่น้องจะอยู่อย่างไร เพราะที่ทำกินจะเสียหาย ลูกหลานวันหน้าจะอยู่ยังไง”
ข้างต้นทั้ง 4 คน ถือเป็นผู้คนที่ได้รับกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมใหญ่เชียงรายครั้งนี้ ทั้งสูญเสียพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งทุกคนคาดหวังการเยี่ยวยาที่เหมาะสม และคำตอบที่แน่นอนว่าหลังจากนี้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกหรือไม่
คนสุดท้ายที่เราได้รับฟังคือ นิรันดร์ กุณะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบกก ที่เขาเน้นย้ำถึงปัญหาการสร้างเขื่อนปากแบง ต่อนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
“ผมได้ยินมาหลายครั้งแล้วว่าน้ำจะมาถึงเชียงแสน แล้วทำไมประเทศไทยไม่มีประชาคมประชาวิจารณ์ คิดจะสร้างก็สร้าง พื้นที่การเกษตรจะเหลืออะไร เราจะเอาอะไรมาทำกิน ใครจะรับผิดชอบ”
ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบกก ปิดท้ายว่า อยากให้หน่วยงานตรวจสอบก่อนที่จะสร้างเขื่อนปากแบง เช่น ชุมชนและผู้ที่อยู่ท้ายน้ำจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะน้ำที่มาจะเข้าสู่แม่น้ำแต่ละสาขาไม่ว่าจะแม่น้ำใดก็ตาม อาทิ แม่น้ำกก แม่น้ำอิง
หลังจากนั้น ทีมข่าว The MATTER ได้มีโอกาสไปสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำกก ในอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งได้รับกระทบหนักจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้
ข้าวของชั้นล่างของหอได้รับความเสียหายหมด เช่น ตู้เย็น เตียง เสื้อผ้า และส่วนใหญ่แล้วผู้คนจะเคลียร์พื้นที่กันเอง ด้วยการจ้างคนซึ่งเสียเงินไปจำนวนมาก “เกิดมาไม่เขาเจอในชีวิต เป็นน้ำท่วมที่หนักที่สุดในชีวิตยายเลย” ยายอำไพ ที่อาศัยอยู่ที่หอแถวนั้น กล่าว
หลังจากนั้น คนในพื้นที่ที่มีบ้านติดกับหอดังกล่าวก็เดินมาคุยกับเราว่า “น้ำขึ้นไวและสูงถึงคอ มีเจ้าหน้าที่ส่งไลน์มาแจ้งก่อนหลายชั่วโมงว่าน้ำกำลังมา ให้นำของขึ้นที่สูง” ลุงประสิทธิ์ ระบุ
เขาเสริมว่า ลุงไม่รู้ว่าสาเหตุที่น้ำท่วมมาจากอะไร แต่ตอนนี้ได้รับเงินเยียวยาเบื้องต้นอยู่ที่ 2,500 บาท”
อย่างไรก็ดี พอเราสอบถามถึงการทำความสะอาดที่พักอาศัย ลุงประสิทธิ์ แจงว่า ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เทศบาลหรืออาสามาช่วยเก็บบ้าน เพราะไม่มีเงินจ้างทำความสะอาด หรือช่วยขนของที่ได้รับความเสียหายออกไป เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในบ้านได้
เขื่อนจิ่งหง-เขื่อนปากแบง ผลกระทบข้ามพรมแดน?
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง กล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงพรมแดนไทยลาว และน้ำท่วมใหญ่ลุ่มน้ำสาขา ว่า
“อุทกภัยที่เกิดมาจากแม่น้ำโขง ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว ซึ่งเมื่อปี 2551 มีความชัดเจนมากว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในเชียงของรุนแรงมากกว่าปีนี้ น้ำสูงมากกว่าถึง 40-50 เซนติเมตร แต่ความรุนแรงในปีนั้นเกิดขึ้นจากเขื่อนจิ่งหง เพราะตอนนั้นระหว่างที่ฝนตก เขื่อนดังกล่าวมีการปล่อยน้ำออกมา กระทบทั้งหมด 3 อำเภอ มูลค่าความเสียหาย 86 ล้าน”
หลังจากนั้นเป็นต้นมา น้ำก็มีขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่า เพราะหลังจากปี 2551 มีเขื่อนที่ 3 เกิดขึ้น และ ปี 2554 ก็มีเขื่อนเกิดขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 4 เขื่อน ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีผลกระทบอีกรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นคือ ‘ฤดูฝนไม่มีน้ำ’ เพราะว่าเขื่อนกักน้ำไว้เยอะ กลายเป็นฝนกลายเป็นแล้ง แล้งกลายเป็นฝน
16 ปีผ่านมา เราจะเห็นกันอย่างชัดเจนว่า สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ฝนตกหนักทำให้น้ำยกระดับสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ซึ่งช่วงต้นของเดือนระดับน้ำโขงเพิ่มสูงเพราะฝน แต่พอวันที่ 12 สิงหาคม ระดับน้ำลดลงเหลือ 4.9 เมตร (เดิมทีประมาณ 9 เมตร) ทว่าฝนก็ตกลงมาอีกเรื่อยๆ จนวันที่ 24 สิงหาคม เขื่อนจิ่งหงปล่อยน้ำ 2,460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มวลน้ำนี้จะมาถึงบ้านเราภายใน 18 ชั่วโมง ทำให้วันที่ 26 สิงหาคม น้ำขึ้นสูงถึง 10.80 เมตร ดังนั้นนี่คืออิทธิพลจากเขื่อนเลย
ต่อมาเดือนกันยายน น้ำขึ้นสูงสุดในวันที่ 12 เวลา 21.00 น. ขึ้นเป็น 12.65 เมตร “เราจะเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากจีนนั่นเริ่มสับสน เพราะช่วงแรกมีเจ้าหน้าที่กงศุลโทรมาเพื่อแจ้งว่าจีนไม่ได้ปล่อยน้ำ แต่เราก็เอาข้อมูลระดับน้ำส่งกลับไปให้จีน”
นิวัฒน์นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง ระบุว่า ประเด็นน้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำโขงสำหรับผม ในฐานะประชาชน ซึ่งติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด รู้สึกว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการบูรณาการ หรือจัดการน้ำระหว่างแม่น้ำโขงตอนบนกับตอนล่างได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเป็นการปล่อยน้ำเพื่อเป็นผลประโยชน์ต่อจีนอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ข้างล่าง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงมากกว่าการรับตาราง (mrc) จากจีนว่า จะปล่อยน้ำเมื่อไหร่หรือปริมาณเท่าไหร่ คือการยกระดับการบูรณาการการจัดการน้ำ
นิวัฒน์ ยกตัวอย่างวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าจีนควรปล่อยน้ำออกจากเขื่อนไหมไหม ทั้งที่รู้ว่าน้ำข้างล่างน้ำยกระดับขึ้นสูงขนาดไหน ซึ่งเป็นการวางตารางการปล่อยน้ำไว้ก่อนแล้ว เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และล่าสุดไม่นานมานี้ก็ปล่อยลงมาอีก ซึ่งขณะนี้พวกเรายังไม่ทราบเลยว่าปล่อยมาเท่าไหร่ ดังนั้นการบูรณาการกัน จะทำให้เขาลดการปล่อยน้ำทันที
“ปัญหาแม่น้ำโขงจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผลกระทบไม่เกิดกับแค่พื้นที่ตอนบน แต่ยังรวมถึงตอนล่าง เช่น อีสาน ดังนั้นต้องคุยกันให้ได้” นิวัฒน์ กล่าว
เขาตั้งคำถามว่า เมื่อปี 2516 น้ำอิงก็เคยท่วมอย่างหนัก แต่ทำไมความเดือดร้อนไม่เท่ากับปัจจุบัน เพราะว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นสาเหตุมันยังไม่เยอะ เพราะฉะนั้นฝนตก น้ำท่วมก็ระบายออกได้ไว แต่ปัจจุบันปัญหาเกิดจากต้นน้ำที่มีการปล่อยน้ำ จนถึงขณะนี้น้ำอิงยังไม่แห้ง และน้ำที่ท่วมพื้นที่เกษตรกรรมจะฟื้นตัวอีกกี่เดือน
“ถ้าเขื่อนปากแบงถูกสร้าง ห่างจากนี้ 97 กิโลเมตร ลองคิดดูถ้ามีเขื่อนรับน้ำข้างล่างอีก และไม่มีบูราณาการน้ำร่วมกันอีก ก็จะยิ่งทำให้น้ำโขงยกระดับขึ้นสูงอีกหลายเท่า”
ดังนั้นในมุมมองของเขา การจัดการ นิยามน้ำ ทำตามกระบวนอย่างเดิมไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้สถานการณ์ผิดพลาดไปหมด ตั้งแต่การวางแผน กระบวนการจัดการ การป้องกัน การฟื้นฟู ต้องแก้ไขใหม่หมด และการจัดการน้ำต่อไปนี้ ไม่สามารถคิดเพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องระหว่างประเทศ ต้องคิดให้เชื่อมโยงกับแม่น้ำสายประทานและสาขาด้วย เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก
ถึงเวลาบูรณาการการจัดการน้ำระหว่างประเทศ?
“การจัดการปัญหาเรื่องแม่น้ำโขง เจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาใจใส่เต็มที่ตั้งแต่อดีต อย่างเรื่องเขื่อนปากแบงที่มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2556 พวกเราทำประชาวิจารณ์กัน ชาวบ้านมีข้อกังวล 7-8 ข้อ เรื่องของน้ำเท้อ น้ำท่วมต่างๆ และผลกระทบข้ามพรมแดน พูดหมด แต่ถามว่าหน่วยงานของรัฐทำอะไรกับความกังวลนี้บ้างไหม สำหรับผมคือไม่” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง ระบุ
การสร้างเขื่อนสักแห่งต้องมีกระบวนการมากมาย เช่น การประชาวิจารณ์ ขณะนี้จึงมีความพยายามทำให้เกิดการพูดคุยกับทางจีนให้ได้ ซึ่งภาครัฐต้องเอาใจใส่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศจะใหญ่หรือเล็ก มันเป็นเรื่องของความเดือดร้อน
“ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต จีนพยายามจะบอกว่าเราดื่มน้ำสายเดียวกัน (แม่น้ำโขง) ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่พวกเราจะใช้คำพูดดังกล่าว นำไปสู่คำถามที่ว่า ‘แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร การดื่มน้ำสายเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน ก็ต้องเจรจากัน’
โดยสรุปแล้ว การแก้ไขปัญหาทั้งหมดในแม่น้ำโขง ต้องเจรจาอย่างเดียวเท่านั้นกับทุกๆ ฝ่าย และต้องร่วมกับทุกภภาคส่วนด้วย ไม่อย่างนั้นไม่มีทางแก้ปัญหาได้ “โครงการเขื่อนปากแบงไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะโลกรวน ตอนนี้เชียงรายน้ำท่วมยังท่วมหนักขนาดนี้ แล้วถ้าสร้างขึ้นมามันจะขนาดไหนกัน”
เขื่อนไม่จำเป็นอีกต่อไป?
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงประเด็นเขื่อนว่า “การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำโขง มันหมดหยุดสมัยแล้วสำหรับยุคโลกรวน ถ้านับจริงๆ เขื่อนอยู่เหนือเราไปประมาณ 10 เขื่อน ตรงนี้เอาออกไปไม่ได้แล้วแน่นอน ดังนั้นวันนี้เราต้องพูดว่าเราจะหยุดการสร้างเขื่อนต่อไปนี้ยังไง”
กลับมาที่ทางเทคนิคว่าทำไมเขื่อนปากแบงจะสร้างผลกระทบให้แก่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ข้างเคียงทั้งหมด เพราะการออกแบบเขื่อนต้องการน้ำที่สูงถึงประมาณ 340 เมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อให้เกิดการปั่นไฟเพราะเป็นเขื่อนพลังน้ำ ถ้าน้ำไม่สูงก็จะไม่มีพลังมากพอในการผลิตไฟฟ้า
เขาคำนวณผลกระทบได้ว่า ระยะห่างของชาวบ้านกับเขื่อนปากแบงอยู่ที่ 97 ตารางกิโลเมตร แต่ความเดือดร้อนตั้งแต่หน้าเขื่อนปากแบงจะกระจายไป 285 กิโลเมตรโดยประมาณ ยิ่งไปกว่านั้นหลังเขื่อนที่เป็นพื่นที่กักเก็บน้ำ จะมีพื้นที่กักเก็บน้ำทั้งหมดคิดแล้วเป็น 81 ตารางกิโลเมตร ความสูง 340 เมตร ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นระดับน้ำที่สูงเพียงพอที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมบนบก ทั้ง 2 ฝั่ง ไม่จะเป็นฝั่งลาวหรือไทย
สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้าผู้สร้างเขื่อนต้องการกำลังไฟที่เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มความสูงน้ำไปอีก ซึ่งมากที่สุดอยู่ที่ 347 เมตร และถ้าต้องการมากกว่านั้นเขื่อนก็สามารถกระทำรับน้ำนั้นได้ แต่ปัญหาคือ ทุกๆ เมตรที่เพิ่มขึ้น คือการท่วมไปในพื้นที่ทำการเกษตร ทำมาหากิน บ้านเรือนของเรายิ่งขึ้น
หาญณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำ กล่าว “สิ่งที่ผมพูดอยู่มันเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น หมดเวลาแล้วที่จะใช้แบตเตอรี่ผ่านเขื่อนแม่น้ำโขง ผมอยากให้ประเทศลาวและไทยพิจารณาว่า เรากำลังทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หยุดเรื่องเขื่อนได้แล้ว เขื่อนไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน”
ไทยต้องเป็นผู้นำภูมิภาคในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ผู้สร้างหรือทำลาย
เบนจา แสงจันทร์ สส.พรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า เราได้รับฟังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีข้อกังวลเกี่ยวกับเขื่อน ซึ่งในขณะนี้เข้าใจว่ายังไม่มีหน่วยงานใด หรือเจ้าของโครงการเข้ามารับฟังความเดือดร้อน และให้ความรู้พี่น้องประชาชนเลย ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะประชาชนกังวลเรื่องน้ำเท้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งมีชีวิตในลำน้ำ การอพยพของสัตว์น้ำ การประมงแนวริมน้ำ ผลกระทบของสินค้าเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น ส้มโอ
นอกจากนี้ประชาชนยังกังวลว่า จะกระทบไปถึงสัณฐานของแม่น้ำหรือไม่ หรือแม้แต่การหายไปของตะกอนในลำน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และที่สำคัญผลกระทบต่อเขตแดนไทยกับลาว
“มันเป็นผลกระทบทั้งระบบไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดเลย”
เบนจา ระบุว่า การทูตระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างมาก เราเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาการทูตระหว่างประเทศและการดำเนินโครงการ การเจรจาข้ามประเทศล้มเหลวมาโดยตลอด แม้จะเห็นปัญหาที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพิสูจน์การทำงานทูตของประเทศไทย ในการที่จะเข้าไปเจรจา
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราค่อนข้างนิ่งเฉย เรามีหนังสือส่งไปแต่ไม่ได้การตอบกลับ แต่เราก็ไม่พยายามที่จะติดตามหรือสอบถามประเด็นเรื่องนี้ ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในอดีต คิดว่าครั้งนี้เองจะเป็นบทพิสูจน์ให้กับรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาสานต่อในการทำงาน”
เธอพูดปิดท้ายว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะพิสูจน์ว่าคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีจะปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนไทยได้หรือไม่
“ไทยต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่ผู้สร้างหรือทำลาย เพราะไทยพยายามที่จะเป็นตัวแทน UN Committe ในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ขณะเดียวกันยังละเมิดในประเทศตัวเอง หรือข้ามพรมแดน ก็ต้องคิดกันแล้วละว่าเราควรจะเป็นหรือไหม”