นั่งดูจนจบ ตื่นเต้นกับความสยดสยอง แต่ก็ต้องช็อก เพราะดันมารู้ทีหลังว่า เนื้อหาทั้งหมดถูกสร้างมาจากเรื่องจริง!ใครจะไปคิดว่าฉากนองเลือด เนื้อเรื่องอันแสนหดหู่ ตัวละครผู้เป็นฆาตกร และเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จะถูกสร้างมาจากคดีอาชญากรรมจริง
พอมานั่งเลื่อนหน้าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหนังดูดีๆ กลับพบว่า จำนวนของหนังและซีรีส์แนว ‘True Crime’ ที่แทรกอยู่กับหนังอาชญากรรมทั่วไป มีจำนวนมากอยู่พอสมควร แถมเมื่อดูจากภาพปกก็แทบจะดูไม่ออกด้วยซ้ำว่า หนังเหล่านี้สร้างมาจากเรื่องจริง จนกว่าเราจะกดเข้าไปอ่านคำบรรยายเนื้อหา
แล้วการหยิบเอาคดีสะเทือนขวัญเหล่านี้มาเล่าใหม่อีกครั้งในรูปแบบ ‘สื่อบันเทิง’ เป็นสิ่งที่สมควรไหมนะ? เพราะขึ้นชื่อว่าสร้างจากเรื่องจริง นั่นย่อมหมายถึงการมีเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ และอะไรคือเส้นแบ่งทางจริยธรรมระหว่างความบันเทิงกับอาชญากรรมกันแน่?
True Crime Story เรื่องจริงที่หลายคนนิยมชม
ก่อนเราจะพูดถึงเส้นแบ่งทางจริยธรรมของคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง กับความบันเทิงของเนื้อหาแนว True Crime เราอาจต้องย้อนกลับมาดูตัวเนื้อหากันก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วมันมีลักษณะเนื้อหาเป็นอย่างไร
หากฟังจากชื่อ หลายคนอาจเข้าใจว่าเนื้อหาต้องสร้างมาจากเรื่องจริงทั้งหมดแน่เลย ทว่าความจริงแล้ว เนื้อหาแนว True Crime มักใช้การอ้างอิงจากเหตุการณ์อาชญากรรมซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงให้ได้มากที่สุด ด้วยการขุดคุ้ยและรวบรวมเนื้อหาจากเหตุการณ์ต่างๆ มาร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราว แต่เพื่อความบันเทิงในการรับชม ทางผู้กำกับ คนเขียนบท รวมถึงนักแสดงก็จะร่วมกันตีความ พร้อมเสริมเติมแต่งเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนใจจนอยากรับชมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเติมความบันเทิงเข้าไปในเหตุการณ์อาชญากรรมอันแสนตึงเครียดกลับได้ผล เพราะเนื้อหาแนว True Crime เป็นอีกหนึ่งแนวหนังและซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ชม ซึ่งอ้างอิงจากผลสำรวจของ YouGov โดยได้รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับชมสื่อบันเทิงของผู้คนในสหรัฐอเมริกา พบว่า ประชากรของสหรัฐฯ กว่าครึ่งชื่นชอบคอนเทนต์แนว True Crime ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มการบริโภคเนื้อหาดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นกว่า 60% ตั้งแต่ปี 2020-2021
จากตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลยเลือกรับชม และมีความชื่นชอบต่อเนื้อหาแนว True Crime แต่อะไรคือสิ่งที่ดึงให้คนหันมาสนใจ หรือรับชมเนื้อหาแนวนี้กันมากขึ้นขนาดนี้ ทั้งที่เราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อหาแนวดังกล่าวมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง ซึ่งในอีกหลายกรณีคือยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระทึกขวัญเหล่านี้อยู่?
งานศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องหลังความหลงใหลในเนื้อหาแนว True Crime จาก Rasmussen University พบว่า มีอยู่ 4 สาเหตุหลักที่ทำให้หลายคนชอบดูหนังหรือซีรีส์แนวดังกล่าว ได้แก่
- อยากรู้ถึงแรงจูงใจในการก่อคดี – ก็เพราะรู้อยู่แล้วว่าอ้างอิงมาจากเรื่องจริง ผู้ชมหลายคนจึงเลือกดู เพราะอยากรู้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ตลอดจนทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนก่ออาชญากรรมอันแสนโหดร้ายขึ้น
- เชื่อมั่นว่าคดีจะได้รับการคลี่คลาย – ขณะกำลังรับชม หลายคนมักจะสวมบทบาทเป็นนักสืบจำเป็น พร้อมพิจารณาทุกรายละเอียดของคดี ด้วยความหวังในการไขคดีต่างๆ ให้กระจ่าง ที่สำคัญผู้ชมจะพยายามเชื่อมั่นในความยุติธรรม เพื่อนำตัวฆาตกรหรือผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายในตอนท้ายของเรื่อง
- เพราะมีความกลัว เราจึงยังนั่งดู – เหตุผลในข้อนี้เหมือนเวลามีคนถามเราว่า ทำไมถึงชอบดูหนังผี หรือหนังแนวไล่เชือด แม้ตัวเราจะร้องวี้ดว้ายไปกับฉากสุดสยองของหนัง แต่นั่นเป็นเพราะว่าเนื้อหาแนว True Crime มีความน่ากลัวและความตื่นเต้น ซึ่งเข้าไปกระตุ้นร่างกายของเราให้หลั่งอะดรีนาลีน ฮอร์โมนอันช่วยให้เลือดสูบฉีดและหัวใจเต้นแรงขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของสมองได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมหลายคนถึงเสพติดการดูสิ่งน่ากลัวนั่นเอง
- ดูเพื่อเรียนรู้ รับชมเพื่อเข้าใจ – แม้เราจะรู้สึกกลัวเมื่อรับชมความสยดสยอง แต่แทนที่เราจะกดปิดและเลิกดู แต่บางคนยังคงจดจ่อต่อไป นอกจากความกลัวจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายของเราอย่างที่ว่าไปแล้ว มันยังมีส่วนอย่างยิ่งต่อการช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรอย่างรวดเร็วในสถานการณ์อันบีบบังคับ ช่วยให้เราเรียนรู้ได้เรียนรู้ว่า หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันในเรื่อง เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร
เส้นกั้นอันเบาบางระหว่างอาชญากรรมกับความบันเทิง
เชื่อว่าหลายคนที่เคยรับชมคอนเทนต์ True Crime อาจเคยคิดกันบ้างแหละว่า ความบันเทิงที่เรากำลังนั่งชมอยู่ คือภาพสะท้อนความจริงอันแสนโหดร้ายซึ่งมีเหยื่ออยู่จริงๆ การรื้อฟื้นนำคดีเหล่านี้มาสร้างใหม่อีกครั้งในฐานะสื่อบันเทิง จึงอาจเป็นเรื่องน่าตั้งคำถาม
การขุดเอาเรื่องราวอันโหดร้ายที่เคยสร้างบาดแผลให้แก่เหยื่อ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ มาสร้างเป็นความบันเทิงนั้น ถือเป็นหนึ่งในการถกเถียงเรื่องจริยธรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากการขีดเส้นแบ่งไม่ชัดเจนระหว่างอาชญากรรมกับความบันเทิง รวมถึงเรื่องราวดังกล่าวยังอาจสร้างความบอบช้ำทางจิตใจให้กับใครหลายคนได้มากกว่าที่เราคิด
งานศึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมและเนื้อหาแนว True Crime ของจอร์แดน สเม็ล (Jordan Smail) จาก University of Arkansas อธิบายเอาไว้ว่า ผู้ผลิตหนังหรือซีรีส์แนวดังกล่าว ขาดแนวทางด้านจริยธรรมที่ชัดเจนในการผลิต ทำให้หลายครั้งเมื่อสื่อแนว True Crime ถูกเผยแพร่ออกไป มันมักสร้างผลกระทบต่อเหยื่อและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนเข้าข่ายการละเมิดความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
อย่างในกรณีของ Monster: The Jeffrey Dahmer Story ซีรีส์ซึ่งได้รับความนิยมเกิดคาดในหมู่ผู้ชม โดยมียอดรับชมรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลก ทว่าหลังจากซีรีส์ได้เผยแพร่ออกไป บรรดาครอบครัวของเหยื่อต่างออกมาประณามถึงเนื้อหาที่โหดร้ายภายในซีรีส์ ว่าเป็นการสร้างบาดแผลในจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งพวกเขาต่างไม่เข้าใจ และพากันตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ของการซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมา
ริต้า อิสเบลล์ (Rita Isbell) หนึ่งในครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อในคดีอาชญากรรมครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซต์ Insider ว่า การได้เห็นตัวละครที่แสดงเป็นตัวเธอ กำลังพูดเหมือนเธอแบบคำต่อคำในชั้นศาล สร้างความไม่สบายใจต่อตัวเธอเป็นอย่างมาก หนำซ้ำตัวเธอเองยังไม่เคยได้รับแจ้งเลยว่า ถ้อยคำต่างๆ ในชั้นศาลของเธอ จะถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์
ทั้งนี้การนำเนื้อหาจากอาชญากรรมอันเกิดขึ้นจริง มาผลิตเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง หลายครั้งอาจมีการเสริมเติมแต่งเนื้อเรื่องบางส่วน เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดผู้ชม นั่นจึงทำให้เนื้อเรื่องที่แม้จะมาจากเรื่องจริง บางส่วนกลับมีความเกินจริง ตลอดจนผู้ชมอาจมองภาพอาชญากรรมเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
ความโหดร้ายของเหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริง จึงอาจถูกทำให้กลายเป็นเรื่องดูสวยงาม (romanticize) รวมถึงเปลี่ยนภาพมองของผู้ชมต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน อย่างการนำนักแสดงหน้าตาดีมารับบทเป็นฆาตกร ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการลดทอนความโหดร้ายของเรื่องราวความเป็นจริงแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจและเกิดการมองผู้กระทำผิดเปลี่ยนไปได้ด้วย
มีงานศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของหน้าตาต่อการตัดสินคดีความ จาก Cornell University พบว่า หน้าตาอันมีเสน่ห์และน่าดึงดูดของจำเลย มีแนวโน้มทำให้บทลงโทษขอของพวกเขาลดน้อยลงกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับจำเลยที่หน้าตาไม่ค่อยมีเสน่ห์ งานศึกษานี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ‘หน้าตา’ มีอิทธิพลต่อภาพมองของเราต่อตัวฆาตกรที่เปลี่ยนไป เหมือนกับกรณีของคาเมรอน เฮอร์ริน (Cameron Herrin) ผู้ก่อเหตุขับรถชนแม่-ลูกเสียชีวิต แต่เนื่องด้วยหน้าตาอันชวนหลงใหลของเขา ทำให้ชาวเน็ตบน TikTok และ X รวมตัวกันเรียกร้องให้ลดโทษผ่าน #JusticeForCameron
ดังนั้น การนำนักแสดงหน้าตาผู้เต็มไปด้วยเสน่ห์มากมายมารับบทเป็นฆาตกร อาจมีโอกาสทำให้ผู้ชมมองภาพของฆาตกรเหล่านั้นเปลี่ยนไป มิหนำซ้ำยังเป็นการลดทอนความเลวร้ายของสิ่งที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้ด้วย
ด้วยเส้นแบ่งทางจริยธรรมที่ยังไม่ชัดเจนพอ จึงอาจนำไปสู่คำถามต่อว่า คอนเทนต์ True Crime ยังใช้เป็นสื่อสะท้อนภาพอันโหดร้ายได้จริงหรือเปล่า หรือทั้งหมดเป็นเพียงหลุมพรางของวงการบันเทิง ที่ต้องการใช้เรื่องราวอาชญากรรมเหล่านี้เป็นเพียงฉากหน้าสำหรับสร้างรายได้เพียงเท่านั้น?
การนำเรื่องราวจากเหตุการณ์ หรือคดีอาชญากรรมเหล่านี้ มาสร้างเป็นความบันเทิงควรปรับเปลี่ยนอย่างไร หากปัจจุบันยังมีเหยื่ออีกมากมายต้องทนทุกข์ทรมาน จากความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขาหรือคนใกล้ตัวอยู่?
อ้างอิงจาก