เราทุกคนต่างก็มี ‘บ้าน’ เป็นของตัวเอง
บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของคนเรา บ้านเป็นทั้งอนาคต เป็นความฝันที่ใครๆ ก็อยากมี เป็นพื้นที่ของอดีต เป็นความทรงจำที่เราหยั่งรากและเติบโตขึ้น บ้านจึงไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพ ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างที่มีรั้วรอบขอบชิด แต่บ้านเป็นพื้นที่ทางความรู้สึก เป็นพื้นที่ในจินตนาการ เป็นความฝัน ความทรงจำ เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับตัวตนของเรา
ประเด็นเรื่องคนและถิ่นฐานบ้านของตัวเองเลยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนพอสมควร ทุกวันนี้เรามีผู้ที่ต้องอพยพเพราะลี้ภัยสงคราม มีคนที่ต้องหลีกลี้ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเพราะมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างออกไป ต้องพลัดพรากจากครอบครัว จากอดีต จากรากเหง้าของตัวเอง บางคน เป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ คือถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองเติบโตขึ้นมา แต่ก็ไม่อาจถือครองหรือจัดการชีวิตได้ นิยามหนึ่งของคนเหล่านี้ ผู้ที่แปลกแยกจากบ้านที่ตัวเองอยู่ เราเรียกว่า ‘คนพลัดถิ่น (Diaspora)
Diaspora ที่มาจากผู้ถูกขับไล่
‘คนพลัดถิ่น’ หรือ Diaspora เป็นคำที่ฟังดูแล้วน่าพิศวงดี โดยรากศัพท์เกี่ยวข้องกับการอพยพในสมัยคริสตกาลยุคพระเยซูโน่น ในภาษากรีกโบราณคำว่า Diaspora หมายถึงผู้คนที่ต้องระเห็จหรือกระจัดกระจาย ดั้งเดิมมาจากคำว่าการหว่าน (แบบเดียวกับการหว่านและไถเพื่อทำการเกษตร) แต่เดิมเลยคำว่า Diaspora ถูกใช้เรียกคนจากประเทศที่ชนะสงคราม แล้วเคลื่อนย้ายประชากรของตัวเองไปยังดินแดนที่เอาชนะได้
ต่อมาคำว่า Diaspora ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลภาษาฮิบรู ใช้เรียกพวกชาวยิวโบราณ คือเตือนว่าถ้าไม่เชื่อในพระเจ้าจะต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นและกระจัดกระจายไปอยู่ตามอาณาจักรต่างๆ แต่ถ้ากลับมาทำตามพระบัญชาของพระเจ้า พระองค์ก็จะรวบรวมผู้คนทั้งหลายกลับคืนถิ่น
ย้ายถิ่น/พลัดถิ่น
การอพยพย้ายถิ่นกับการพลัดถิ่น จริงๆ มีลักษณะทับซ้อนกันอยู่ คำว่าคนพลัดถิ่น จากรากศัพท์ที่หมายถึงชาวยิวที่ถูกขับให้ระหกระเหินจากอิสราเอลไปอยู่ที่อื่นเมื่อสองพันกว่าปีก่อน มันมีนัยของการถูกบังคับ ถูกกดขี่ และความจำเป็นที่จะต้องไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มักเต็มไปด้วยความยากลำบาก (ถูกกีดกันจาก ‘บ้าน’ ในปัจจุบัน) โดยมีความรู้สึกที่จะได้กลับไปสู่ดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองในตอนท้าย ดังนั้น ความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแต่ใจยังคงอยากกลับบ้าน จึงเป็นลักษณะสำคัญของคนพลัดถิ่นหนึ่ง
William Safran พยายามจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่จะนิยามว่าเป็นคนพลัดถิ่นที่แตกต่างจากผู้อพยพเฉยๆ คือการมีความรู้สึกอยากจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง พี่แกบอกว่าคนพลัดถิ่นเนี่ยจะต้องมีกระบวนการคือถูกขับออกจากถิ่นกำเนิด พอไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้รับการยอมรับซะทีเดียว บ้านเกิดยังมีความสำคัญต่อความรู้สึก และมองว่าในที่สุดแล้วหวังว่าลูกหลานของตัวเองจะต้องกลับไปยังบ้านเกิดตัวเอง
ต่อมาโลกเราพัฒนาไปเรื่อยๆ มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันมากขึ้น นิยามคำว่าคนพลัดถิ่นในสมัยโลกโลกาภิวัตน์จึงไม่ได้ถูกจำกัดแค่เรื่องศาสนาหรือการถูกบังคับแบบชาวยิวในแบบเดิม แต่กินความและถูกเอาไปอธิบายเพื่อทำความเข้าใจผู้คนที่นำพาวัฒนธรรมของตัวเองไปทั่วโลกด้วย ดังนั้นเส้นแบ่งของคำว่าคนพลัดถิ่นก็เลยกินความรวมไปถึงคำหรือแนวคิดอื่นๆ อย่าง ผู้ลี้ภัย (refugee) คนเข้าเมือง (immigrant) รวมไปถึงคนไร้สัญชาติด้วย
พลัดออกจาก ‘บ้าน’ ที่เป็นนามธรรม
อย่างที่พูดไปตอนต้นว่าบ้านมันมีมิติที่ซับซ้อนระหว่างพื้นที่จริงๆ กับพื้นที่เชิงความรู้สึก นักวิชาการเลยบอกว่าเฮ้ย ไอ้การเอาเกณฑ์แบบที่ว่าฉันจะต้องกลับบ้าน…หรือบ้านเกิดเมืองนอน มันอาจจะตายตัวไปหน่อย เพราะการ ‘อยากกลับบ้าน’ มันอาจจะไม่จำเป็นว่าต้องกลับไปจริงๆ ก็ได้
ในโลกสมัยใหม่ที่เราต่างก็กระจัดกระจายย้ายถิ่นจากบ้านไปอยู่ที่อื่น สิ่งสำคัญคือการที่เราต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เรามีวิธีการจัดการกับอดีตอย่างไร เรานำพาเอาความทรงจำ เอาเรื่องราวของบ้านหรือรากเหง้าของเราติดตัวไปอย่างไร เช่นคนที่ต้องลี้ภัยบางคนอาจจะเจอกับปัญหา เจอกับความยากลำบากทางความรู้สึก เกิดความระลึกถึงครอบครัวหรือเรื่องราวในบ้านเกิดที่ตัวเองไม่ได้กลับไป
คนไร้สัญชาติ : บ้านไม่ได้ครอบครอง
นอกจากคนที่ไปตั้งรกรากต่างถิ่นแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่รากเหง้า ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่อาจจะเกิดบนแผ่นดินนั้น แต่ด้วยปัญหาต่างๆ ทำให้ต้องกลายเป็น ‘คนไร้สัญชาติ’ ไป ซึ่งในการศึกษาคนพลัดถิ่น (diaspora studies) ก็นับว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนพลัดถิ่นแบบหนึ่งด้วย
พูดง่ายๆ คือ นึกสภาพว่าคนเหล่านี้ก็รู้สึกแหละว่านี้คือบ้านเกิดเมืองนอน เป็นที่ๆ มีอดีตอยู่ แต่อาจจะด้วยพรมแดนที่ถูกขีดขึ้นมาใหม่ การเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ไม่ได้รับเอกสารหรือการบันทึกจากทางการ ในแง่นี้พื้นที่ทางกายภาพจึงไม่สามารถเป็นบ้านของคนกลุ่มนั้นอย่างสมบูรณ์ได้ เช่น อยากจะถือกรรมสิทธิ์บ้าน อยากจะซื้อรถ อยากจะเรียนหนังสือ ก็ทำไม่ได้
ลองคิดดูก็อาจจะพอรู้สึกได้ว่า มันเป็นความเจ็บปวดอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน คือคนที่ในที่สุดแล้วในทางนิตินัยและการใช้ชีวิตต้องกลายเป็น ‘คนอื่น’ เช่นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ตายลงในแผ่นดินเกิด จะถือว่าคนๆ นั้นตายลงในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ยากเรื่องหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)