ทันทีที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินประกาศรายชื่อหนังเข้าประกวดชิงรางวัลหมีทองคำ (Golden Bear) เหล่านักดูหนังก็ฟันธงเลยว่า สารคดีอิตาลีเรื่อง Fire at Sea ของผู้กำกับ Gianfranco Rosi จะต้องได้รางวัลใหญ่ และแล้วหนังเกี่ยวข้องกับปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งสุดแสนจะเป็นข่าวร้อนแรงเรื่องนี้ก็ได้รางวัลหมีทองคำไปจริงๆ
Fire at Sea ว่าด้วยหมู่เกาะ Lampedusa ทางตอนใต้ของอิตาลี ด้วยตำแหน่งที่ตั้งทำให้มันเป็น ‘ด่านแรก’ ของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางเข้ายุโรป ทั้งจากทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลาง ความโดดเด่นของหนังคือรูปแบบที่ Rosi เลือกใช้ ซึ่งแตกต่างจากสารคดีผู้ลี้ภัยในช่วงสองปีนี้ที่มักใช้วิธีการสัมภาษณ์เป็นรายคน (หรือที่เรียกว่า Talking Head) แต่ Fire at Sea กลับใช้วิธีสังเกตการณ์แบบทิ้งระยะห่าง ผู้กำกับ (ซึ่งถ่ายภาพเองด้วย) จับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าและพยายามไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยว
หนังจึงแทบไม่มีฉากสอบถามความคิดเห็นหรือความรู้สึกของผู้ลี้ภัยเลย กล้องเพียงถ่ายภาพผู้ลี้ภัยปีนขึ้นเรือลำเลียงของทางการอิตาลีอย่างอ่อนแรง ภาพของเหล่าคน ‘ไม่ได้ไปต่อ’ ที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจเนื่องจากเรือบรรทุกผู้โดยสารมาแน่นขนัด รวมถึงภาพร่างไร้วิญญาณในห่อพลาสติกสีดำวางเรียงรายต่อกัน การได้มองชุดเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านสายตา (กล้อง) อันนิ่งเฉยกลับทำให้ผู้ชมยิ่งขนลุก
ทว่าสิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดใน Fire at Sea คือการที่มันไม่ได้เน้นไปที่เรื่องของผู้ลี้ภัย แต่กลับมุ่งสำรวจชีวิตของชาวท้องถิ่นในเกาะ Lampedusa โดยเล่าผ่านเด็กชายวัยสิบสองขวบและครอบครัวของเขา สิ่งที่หนังนำเสนอเป็นเพียงกิจวัตรทั่วไป เด็กชายออกไปวิ่งเล่นในป่า คุณยายทำกับข้าว ส่วนพ่อออกไปหาปลา
นี่เป็นเหตุที่ทำให้ Fire at Sea ถูกโจมตีอยู่บ้าง ข้อหาที่มันไม่เสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลี้ภัยกับชาวท้องถิ่นเลย แต่ผู้กำกับก็อาจจงใจ ‘แยกส่วน’ คนสองกลุ่มนี้ เพราะมันทำให้เห็นว่าแม้พวกเขาจะมีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาอยู่ร่วมในอาณาเขตเดียวกัน ดังนั้นเส้นแบ่งที่ผู้กำกับสร้างขึ้นจึงไม่มีอยู่จริง และอาจเป็นหน้าที่ของคนดูที่ต้องรู้เท่าทันและทลายเส้นขีดกั้นนั้นด้วยตัวเอง
จากคอลัมน์ Top Shelf: Movie โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
giraffe magazine 48 – Hero Issue