เมื่อไม่นานมานี้ V. S. Naipaul นักเขียนรางวัลโนเบลจากตรินิแดดที่ไปเติบโตในอังกฤษจนกลายเป็นนักเขียนชื่อดังมีผลงานส่งอิทธิพลไปทั่วโลกเพิ่งเสียชีวิตลง ก่อนหน้านี้ในปี 2017 เราก็มี Kazuo Ishiguro ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมไป—เป็นนักเขียนที่เกิดที่ญี่ปุ่นแต่ไปเติบโตในประเทศอังกฤษและเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ
ในช่วงเวลาที่เรากำลังสนใจเรื่องเชื้อชาติ การเกิดและเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง งานเขียนของนักเขียนที่ ‘พลัดถิ่น’—เกิดในวัฒนธรรมหนึ่งและไปเติบโตในอีกวัฒนธรรม การมีสายตาของคนที่จะเป็น ‘คนในก็ไม่ใช่’ เป็น ‘คนนอกก็ไม่เชิง’ จึงเป็นงานที่ทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนของประเด็นเรื่องรากเหง้าและความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน ไปจนถึงการมีสายตาที่ต่างออกไปเมื่อเขาเหล่านั้นมองไปยังสังคมและวัฒนธรรมรอบตัว—ทั้งในดินแดนที่เขาโตขึ้น หรือเมื่อได้ลองกลับไปยังพื้นที่ที่รากเหง้าบรรพบุรุษหยั่งเอาไว้
นักเขียนบางคน โดยเฉพาะนักเขียนจากกลุ่มประเทศแอฟริกาและบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกตะวันตกไม่ว่าจะเป็นการล่าอาณานิคมไปจนถึงผลกระทบจากสงครามโลก นักเขียนจากประเทศในอาณานิคมที่ไปเติบโตและได้รับการศึกษาจากดินแดนตะวันตกก็ได้ใช้ภาษา ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ไปจนถึงประสบการณ์การเป็นคนพลัดถิ่นถ่ายทอดและตั้งคำถามกับโลกตะวันตก
นอกจากนักเขียนแอฟริกันและอินเดียแล้ว เรายังมี รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ นักเขียน ‘ชาวไทย’ ที่มีความซับซ้อนเรื่องเชื้อชาติ ชายหนุ่มผู้เกิดที่สหรัฐฯ โตที่กรุงเทพ และจบการศึกษาจากสหรัฐฯ อีกที รัฐวุฒิเขียนรวมเรื่องสั้นชื่อ Sightseeing เป็นงานเขียนเรื่องไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและเวรี่โด่งดัง—ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
V. S. Naipaul
V. S. Naipaul เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่มีความซับซ้อนเรื่องตัวตนและวัฒนธรรมอีกท่านหนึ่ง และเพิ่งจากเราไปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา Naipaul เกิดที่ประเทศตรินิแดด เป็นลูกหลานของชาวอินเดียที่อพยพเพื่อไปเป็นแรงงานที่นั่นตั้งแต่รุ่นปู่ พ่อของเขาทำอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษให้กับ Trinidad Guardian หลังจากที่ V. S. Naipaul จบการศึกษาจาก Queen’s Royal College ก็ได้รับทุนรัฐบาลตรินิแดด (Trinidad Government scholarship) ทุนที่เปิดโอกาสให้เลือกศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไหนก็ได้ในเครือจักรภพ ซึ่งเขาเองก็เลือกที่ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
การเป็นเด็กหนุ่มจากประเทศในอาณานิคมเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยศูนย์กลางของจักรวรรดิไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงชีวิตการเติบโตขึ้นของ V. S. Naipaul ต้องเผชิญหน้ากับภาวะสิ้นหวัง โดดเดี่ยว และตั้งคำถามกับศักยภาพและตัวตนของตัวเองเสมอ ซึ่งประสบการณ์และความรู้สึกนั้นส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมและการกดผู้คนจากสีผิวและเชื้อชาติ งานเขียนของเขาจึงมักสะท้อนถึงผลกระทบของระบบอาณานิคมที่มีต่อผู้คน A House for Mr Biswas ตีพิมพ์ในปี 1961 และถือกันว่าเป็นนวนิยายชิ้นสำคัญเล่าอ้างอิงจากชีวิตพ่อของเขา เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มชาวตรินิแดดเชื้อสายอินเดียผู้พยายามสร้างความสำเร็จแต่ก็กลับล้มเหลวทุกครั้ง
Kazuo Ishiguro
Kazuo Ishiguro เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมไปเมื่อปี 2017 ด้วยความที่ตัว Ishiguro เติบโตขึ้นในประเทศอังกฤษ และในแง่งานเขียน เขาเองก็มักจะบอกว่าตัวเองได้รับอิทธิพลจากนักเขียนตะวันตก เช่น Marcel Proust แต่ในแง่ของตัวตน Ishiguro เองก็บอกว่าจากภูมิหลังการเติบโตในครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่พูดภาษาญี่ปุ่น ไปจนถึงความพยายามที่ครอบครัวของเขาจะรักษาปลูกฝังค่านิยมแบบญี่ปุ่นเอาไว้ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เขาเองมีสายตาและตัวตนที่ต่างออกไปจากคนอื่นบ้าง
ความสัมพันธ์ระหว่าง Ishiguro และญี่ปุ่นในฐานะบ้านเกิดจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน ยิ่ง Ishiguro เองเกิดที่เมืองนางาซากิ—พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำและบาดแผลอันซับซ้อนระหว่างญี่ปุ่นและโลกตะวันตก Ishiguro ในฐานะลูกหลานชาวญี่ปุ่นที่แม้จะยังไม่เคยกลับไปสัมผัสพื้นที่และรากเหง้าของตัวเองก็เลือกที่จะเขียนนวนิยายสองชิ้นแรกโดยเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น ใน An Artist of the Floating World งานเขียนเล่มที่สอง พูดถึงภาวะหลังสงครามในญี่ปุ่น ในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสรับรางวัลโนเบล Ishiguro เองก็กล่าวถึงความเชื่อมโยงของเขากับพื้นที่บ้านเกิด และพูดถึงประเด็นเรื่องสันติภาพและผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2
Salman Rushdie
Salman Rushdie เป็นอีกหนึ่งนักเขียนเบอร์ใหญ่ที่ก่อร่างตัวตนขึ้นบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากการหล่อหลอมระหว่างวัฒนธรรมของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ตัว Rushdie เองเป็นคนอินเดียสัญชาติอังกฤษ เป็นชาววอินเดียที่ค่อนข้างเกิดในครอบครัวสมัยใหม่ พ่อของเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นทนายความที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ ในขณะที่ Rushdie เองก็เกิดที่บอมเบย์ ประเทศอินเดีย ก่อนจะจบการศึกษาที่เคมบริดจ์และไปทำอาชีพสายนักเขียนเช่นนักเขียนคำโฆษณา แล้วจึงค่อยมาผลิตงานสร้างสรรค์
งานเขียนของ Salman Rushdie เป็นงานเขียนที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ แต่ตัวเรื่องนอกจากส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องราวในภาคพื้นชมพูทวีปแล้ว สไตล์การเล่ายังเต็มไปด้วยกลิ่นอายลึกล้ำแบบตะวันออก Midnight’s Children ถือเป็นงานชิ้นสำคัญ แม้ว่าจะเล่าเรื่องการเมืองร่วมสมัยของอินเดียแต่ก็ใช้กิมมิกมหัศจรรย์ว่าด้วย ‘สหชาติ’ คือการที่เด็กที่เกิดคืนวันนั้นสามารถสื่อสารเชื่อมต่อกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากสไตล์แล้ว ประเด็นของนวนิยายของเขาก็มักจะพูดถึงประเด็นเรื่องความเชื่อมโยง ความขัดแย้ง และการถ่ายเทผสมผสานระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกเสมอ
Ngũgĩ wa Thiong’o
ผลกระทบของการล่าอาณานิคมซับซ้อนหยั่งรากลึกถึงระดับภาษา Ngũgĩ wa Thiong’o เป็นนักเขียนชาวเคนยาที่เชื่อและพยายามปลดแอกตัวเองออกจากการถูกล่าอาณานิคมในระดับวัฒนธรรม ตัว Ngũgĩ เองได้รับการศึกษาแบบโลกสมัยใหม่ และได้รับทุนไปเรียนต่อที่ University of Leeds ในอังกฤษ งานเขียนหลักๆ ในช่วงแรกของ Ngũgĩ จึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเริ่มมองว่าการเขียนในภาษาอังกฤษจากระบบการศึกษาแบบตะวันตกนี้คือส่วนหนึ่งของการตกเป็นอาณานิคม Ngũgĩ จึงเริ่มกลับมาเขียนงานในภาษา Gikuyu และภาษา Swahili
Weep Not, Child เป็นงานเขียนชิ้นแรกของ Ngũgĩ ที่ถือกันว่าเป็นนวนิยายเล่มแรกที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษโดยนักเขียนจากแอฟริกาตะวันออก นวนิยายของ Ngũgĩ ค่อนข้างพูดเรื่องการเมืองและการปฏิวัติปลดแอกจากวัฒนธรรมตะวันตก โดยตัว Ngũgĩ เองนอกจากจะเป็นนักเขียนแล้วยังเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญและวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิอาณานิคม งานเขียนสำคัญคือ Decolonising the Mind: The Politics of Language in African Literature งานเขียนเชิงวิชาการที่พูดเรื่องอิทธิพลอันซับซ้อนของการล่าอาณานิคมในระดับภาษาและวัฒนธรรม
John M. Coetzee
เรามีคนพื้นฐิ่นจากดินแดนในอาณานิคมแล้วได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แล้วเราก็มี J.M. Coetzee ลูกหลานชาวตะวันตกเชื้อสายดัตช์-เยอรมันที่ไปเกิดที่เมือง Cape Town ในแอฟริกาใต้ เป็นคนขาวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนอาณานิคม Coetzee ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่แอฟริกา ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่อังกฤษ และได้รับทุน Fulbright ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ University of Texas at Austin ในสหรัฐฯ Coetzee ใช้การศึกษาทางคณิตศาสตร์กับตัวบทวรรณกรรมในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของตัวเอง
จากภูมิหลังที่แสนจะยุ่งเหยิง สมัยเด็กๆ ครอบครัวก็พูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษา Afrikaans การเป็นคนผิวขาวพลัดถิ่น ไปจนถึงการกลับมาศึกษาที่เกี่ยวข้องวรรณกรรม Coetzee จึงเป็นนักคิดนักเขียนที่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมตะวันตกและผลกระทบของการล่าอาณานิคม ผลงานสำคัญของเขาได้แก่ Life & Times of Michael K ตีพิมพ์ในปี 1983 และ Disgrace ตีพิมพ์ในปี 1999 Coetzee ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2003
Rattawut Lapcharoensap
อีกหนึ่งนักเขียนไทยที่เราอยากพูดถึง รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นนักเขียนชาวไทยที่เกิดที่ชิคาโก โตที่กรุงเทพ และไปจบการศึกษาจาก University of Michigan ในสาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ผลงานสำคัญที่ทำให้รัฐวุฒิเป็นที่รู้จักคือ Sightseeing รวมเรื่องสั้นแนวเดินทางท่องเที่ยวที่มีกรุงเทพเป็นพื้นที่สำคัญของเรื่อง เป็นงานเขียนของคนไทย ว่าด้วยเรื่องไทย ที่เขียนให้ชาวตะวันตกอ่าน
หนึ่งในประเด็นที่รัฐวุฒิหันมาเขียนเรื่องสั้นที่มีฉากและเล่าเรื่องราวที่ต่างไปจากงานแนวท่องเที่ยวที่มีเมืองไทยเป็นฉาก คือดินแดนที่เล่าถึงแค่ซอยคาวบอยและพื้นที่เริงรมย์ เรื่องสั้นชุดนี้เป็นงานที่ย้อนกับความคิดความเชื่อที่ตะวันตกคิดต่อประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ ในขณะเดียวกันด้วยภูมิหลังที่ซับซ้อนของผู้เขียนก็ทำให้สายตาและมุมมองที่มีต่อเรื่องราวในพื้นที่แบบไทยๆ ไปจนถึงวิธีการเล่าเรื่องมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างออกไป