หากจะมีนักเขียนสักคนที่ผมรู้สึกเสียดายว่างานเขียนของเขายังไม่เคยแปลเป็นภาษาไทย นักเขียนคนนั้นเห็นจะเป็น Michael Chabon ครับ
ว่าแต่นายนักเขียนคนนี้มีดีเรื่องอะไร และทำไมถึงน่าสนใจกันล่ะ ว่ากันอย่างสั้นๆ Chabon คือนักเขียนชาวอเมริกัน ที่นวนิยายของเขาไม่เพียงจะขายดิบขายดีเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ชื่นชมของบรรดานักวิจารณ์ ทั้งผลงานบางเล่มก็กวาดรางวัลจากเวทีวรรณกรรมต่างๆ มาอย่างไม่หวาดไหว ไม่ว่าจะเป็น Pulitzer Prize ในปี 2001 ที่เขาได้จากนวนิยายเรื่อง The Amazing Adventures of Kavalier and Clay หรือรางวัล Hugo Award ในปี 2008 จากเรื่อง The Yiddish Policemen’s Union ด้วยเหตุนี้คงไม่ถือเป็นการพูดเกินจริงหากบอกว่า Chabon คือหนึ่งในนักเขียนคุณภาพที่โด่งดังสุดๆ ของอเมริกาครับ
หากพิจารณาผลงานเล่มก่อนๆ ของเขา เราพบว่าปัจจัยที่ส่งให้ Chabon กลายเป็นนักเขียนที่โดดเด่นคือความกล้าได้กล้าเสียในการสร้างสรรค์งานแต่ละชิ้น ด้วยการเลือกนำเสนอเรื่องราวผ่านรูปแบบการเล่าที่ท้าทาย และไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์การเขียนที่มีแบบแผนตายตัว เช่น แทนที่จะเล่าเรื่องอย่างธรรมดา เขากลับเลือกท้าทายด้วยการนำเสนอมันผ่านวิธีคิด และการบรรยายเรื่องราวแบบหนังสือการ์ตูน ที่ให้ผลลัพธ์และรสชาติทางวรรณกรรมต่างออกไป หรือการทดลองถ่ายทอดความมืดหม่นของชีวิตด้วยการเล่าเรื่องแบบวรรณกรรมเด็ก ทำให้ได้อรรถรสที่แปลกและน่าสนใจดีทีเดียว
และอาจเพราะความเป็นนักทดลองในเรื่องเล่าของ Chabon นี่แหละครับ ที่บางครั้งก็ส่งผลในทางตรงข้ามเขาทำให้แฟนๆ และนักวิจารณ์ ต่างตั้งตารอและคาดหวังว่านวนิยายเรื่องหน้าเขาจะใช้ไม้ไหนมาสร้างความพิสมัยให้เรื่องเล่าของเขาอีก แต่ถึงแม้จะผิดหวังบ้าง สมหวังบ้าง ตามมาตรฐานของแต่ละคน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าคุณูปการสำคัญในงานเขียนของ Chabon คือ การที่เขามักท้าทายความคิดของนักอ่านอยู่เสมอครับ
บ่อยครั้งที่ Chabon จงใจจะล้อกับต่อมศีลธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมอย่างน่าหวาดเสียว เช่นใน The Mysteries of Pittsburg เขาได้พาผู้อ่านไปสำรวจประเด็นทางเพศที่ปรากฏภายในพื้นที่จิตใจ และการปฏิบัติสัมพันธ์กันระหว่างร่างกาย แน่นอนครับ เซ็กซ์ไม่ได้เป็นอะไรที่หวือหวาหรือแปลกใหม่ในโลกวรรณกรรม แต่ปัจจัยที่ส่งให้นวนิยายเรื่องนี้น่าสนใจกลับอยู่ตรงบริบทของปีที่มันวางจำหน่าย เพราะบรรยากาศของอเมริกาในปี 1989 นั้น Homosexual ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาปในสังคม ทั้งยังถูกนำไปโยงกับการแพร่กระจายของเอดส์ในช่วงเวลานั้นด้วย แซึ่ง The Mysteries of Pittsburg เองก็เลือกจะวิพากษ์ประเด็นนี้ผ่านตัวละครรักร่วมเพศอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา
หรืออย่าง The Amazing Adventures of Kavalier and Clay ที่ Chabon พาผู้อ่านกลับไปพิจารณาประเด็น holocaust ถึงผลกระทบของมันต่อผู้คน แม้ว่าจะหนีออกจากยุโรป ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกาแล้ว แต่ความหวาดกลัวที่เป็นดั่งพิษร้ายยังคงแทรกซึมอยู่เรื่อยไป นอกจากนี้ Chabon ยังได้นำเสนอแนวคิดแบบ Escapism หรือการหลบเลี่ยงจากความจริงอันโหดร้าย ผ่านตัวละครเอกของเรื่องที่หลงใหลในการวาดการ์ตูน กล่าวคือ Chabon พยายามชี้ให้เห็นภาพของความหวังในการมีชีวิตว่ามันเกิดขึ้นได้จากการดำดิ่งสู่โลกอีกใบหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด
เกริ่นมาเสียยาว สำหรับนวนิยายของ Chabon ที่ผมหยิบยกมาพูดถึงในสัปดาห์นี้คือผลงานเล่มล่าสุดของเขา นั่นคือ Moonglow ครับ
เราอาจเรียก Moonglow ว่าเป็นนวนิยายที่เล่าบันทึกความทรงจำของ Chabon ต่อคุณตาของเขา ผ่านคำพูดของชายแก่ที่ใกล้จะสิ้นลมถึงวีรกรรมที่ผ่านมาในชีวิตเขา ซึ่งก็ล้วนแต่พิสดารจนชวนให้สงสัยว่า เรื่องที่คุณตาแกเล่ามานี้ ตกลงมันจริงสักแค่ไหนกันเชียว
เรื่องเล่าคร่าวๆ ของคุณตามีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งแกเคยจับพลัดจับผลูไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง จนชีวิตผกผันครั้งใหญ่ แกประสบพบเจอกับเหตุการณ์เพี้ยนๆ ของสงครามจนเกิดเป็นภาพหลอนที่ตามหลอกเรื่อยมาแม้สงครามจะสิ้นสุด ก่อนที่ชีวิตจะบัดซบเข้าไปอีกเมื่อแกดันไปแต่งงานกับหญิงชาวยิวที่หลบหนีจากฝรั่งเศส โดยกระเตงลูกติดมาพร้อมกับความหวาดกลัวต่อสงคราม และปัญหาอีกสารพัดที่เธอคอยประเคนใส่ชีวิตของคุณตา
ชีวิตของคุณตาทั้งสับสน อลวน และชวนให้เศร้า ไม่เพียงแต่สงครามจะสร้างบาดแผลให้แกเท่านั้น แต่เศรษฐกิจ และสภาพสังคมอเมริกาในยุคหลังสงครามยังส่งผลกระทบให้ชีวิตคุณตาเผชิญอยู่กับความพลิกผันซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับเป็นเรื่องโกหก
นวนิยายเรื่องนี้ Chabon ได้พาผู้อ่านไปสำรวจและตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงและเรื่องแต่ง ด้วยการสร้างตัวละครชื่อ Mikle Chabon ขึ้นในเรื่อง ไม่อาจพูดเต็มปากได้ว่าตัวละครนี้เป็นตัวนักเขียนเอง แต่ก็ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับ Chabon ตัวจริงเสียจนเกิดเป็นความพร่าเลือนว่านวนิยายที่นำเสนอผ่านบันทึกความทรงจำเรื่องนี้ มีสัดส่วนของความจริง และจินตนาการอยู่สักแค่ไหน
Chabon เล่นสนุกและสร้างความสับสนให้ผู้อ่านมากขึ้นด้วยการบรรจงสอดแทรกหลักฐานต่างๆ เช่น เนื้อหาจากหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่พาดพิงอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความจริง
จะว่าไปแล้ว ขณะที่อ่าน Moonglow ผมก็มักจะนึกย้อนไปถึงภาพยนต์เรื่อง Big Fish ของ Tim Burton ที่ก็นำเสนอเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าของตัวละครหนึ่งๆ ที่ก็สร้างความคลางแคลงใจต่อคนดูด้วยไม่แน่ใจว่าข้อเท็จจริงที่กำลังรับรู้อยู่นี้เชื่อถือได้สักแค่ไหน หรือเป็นเพียงคำโกหกที่ปั้นแต่งขึ้นเพื่อสร้างอรรถรสให้กับชีวิตอันเหี่ยวเฉาของมนุษย์สักคนหนึ่ง
ซึ่งความน่าสนใจของทั้ง Moonglow และ Big Fish เมื่อเทียบกับการทำงานและผลกระทบที่เกิดจากพลังของเรื่องเล่าที่ส่งผ่านจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง อาจไม่ได้อยู่ที่ความเกินจริงของเรื่องเล่าเสียทีเดียว เมื่อเทียบกับการทำงานและผลกระทบที่เกิดจากพลังของเรื่องเล่าซึ่งส่งผ่านจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ดังที่ Chabon ได้ชี้ให้เห็นผ่านเส้นอันพร่าเลือนระหว่างความจริงและเรื่องแต่ง ว่าถึงที่สุดแล้ว