ไม่ใช่คนพิการแล้วเข้าไปจอดรถในที่ของคนพิการ ถือว่าผิดกฎหมายไหม? แล้วจะออกแบบที่จอดรถคนพิการอย่างไร เพื่อไม่ให้คนไม่พิการเข้าไปแย่งจอด?
เป็นคำถามที่ค้างคาและถกเถียงกันอยู่ในสังคมมาตลอด ยิ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน มีข่าวชายทุบกระจกรถของคนไม่พิการที่เข้าไปจอดในช่องของคนพิการ เพื่อเรียกร้องให้คนตระหนักถึงสิทธิที่คนพิการควรได้รับ ก็เรียกคำถามและข้อถกเถียงเหล่านี้ให้วนกลับมาอีกครั้ง
The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับที่จอดรถเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงแนวทางในออกแบบที่จอดรถเพื่อแก้ปัญหา และหาหนทางที่จะสร้างความสบายกายและใจให้กับทุกคน
จอดรถในที่ของคนพิการ ทั้งที่ไม่ได้พิการ ผิดกฎหมายไหม?
สัญลักษณ์คนนั่งบนรถเข็นที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้าย หน้าประตู หรือบนพื้นลานจอดรถ ต่างก็เป็นเหมือนตัวแทนที่ช่วยให้คนเข้าใจตรงกันว่า พื้นที่นั้นๆ อำนวยความสะดวกเป็นพิเศษให้คนพิการ
แต่ก่อนจะไปไกลกว่านี้ อาจมีคนสงสัยว่า แล้วคนพิการขับรถได้ด้วยเหรอ?
แน่นอนว่าไม่ใช่คนพิการทุกคนที่ขับรถได้ เพราะคุณสมบัติของผู้ที่ทำใบอนุญาตขับขี่ได้นั้น ต้องไม่เป็นผู้พิการทางร่างกาย ตั้งแต่ แขน ขา ตาบอด หูหนวก และลำตัวพิการที่เป็นเหตุไม่สามารถทำให้ขับรถยนต์ได้ ดังนั้นแล้ว ที่จอดคนเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะมีผู้พิการที่สามารถขับรถอยู่ได้เช่นกัน
แต่ทุกสถานที่จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการไหม?
อ้างอิงจากมาตรา 17 (1) ของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ระบุว่าเพื่อเป็นการคุ้มครองและสงเคราะห์คนพิการให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ
จากมาตราดังกล่าว ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ออกกฎกระทรวงกําหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555
โดยข้อ 5 ของกฎกระทรวงนี้ บัญญัติอุปกรณ์ที่อาคาร หรือสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ ต้องมีไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ เช่น บันไดเลื่อน พื้นที่สําหรับหนีภัย ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อนหรือทางเลื่อนในแนวราบ รวมถึงที่จอดรถสำหรับคนพิการ เป็นต้น
และในหมวดที่ 4 ของกฎกระทรวงกําหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคาร สําหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 ยังกำหนดเอาไว้ด้วยว่า ต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา อย่างน้อยเป็น 10% ของที่จอดรถทั้งหมด และต้องจัดให้เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร และที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ทั้งยังต้องเป็นพื้นผิวเรียบมีระดับเสมอกับที่จอดรถ
อีกลักษณะที่สำคัญมากสำหรับที่จอดรถเพื่อคนพิการ คืออยู่ใกล้ทางเข้าออกของอาคารให้มากที่สุด รวมทั้ง ต้องมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถให้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วย
ส่วนคำถามว่า คนที่ไม่พิการสามารถจอดรถในที่คนพิการได้หรือไม่? พบว่าไม่มีกฎหมายห้ามจอดในช่องจอดรถสำหรับคนพิการ เพราะสัญลักษณ์รถเข็นที่เราเห็นนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงว่า นี่คือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการเฉยๆ ไม่ใช่เครื่องหมายห้ามจอด และพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการก็ไม่เข้าข่ายพื้นที่ห้ามจอดตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57 ระบุเอาไว้ด้วย
ออกแบบที่จอดรถคนพิการอย่างไร ให้คนไม่พิการเข้าไปแย่งจอด?
นอกจากเรื่องของกฎหมายแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือเราควรออกแบบที่จอดรถอย่างไร เพื่อไม่ให้มีที่ไม่พิการเข้าไปใช้ช่องจอดสำหรับคนพิการและคนชรา? หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างว่า ที่จอดรถควรมีลักษณะแบบไหน เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม?
ชุมเขต แสวงเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเรื่องของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลไว้ว่า การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เป็นแนวคิดของการออกแบบสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงการออกแบบเมือง โดยมีหลักการง่ายๆ ก็คือ เน้นการออกแบบที่ใช้งานง่าย และปลอดภัย
“การออกแบบจะต้องไม่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมเป็นพิเศษ หรือไม่เจาะจงไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อไม่ทำให้รู้สึกแปลกแยกไปจากการออกแบบทั่วไป และต้องสอดคล้องกับบริบท สังคม ความแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญที่สุดเลยคือ ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ใช้หลักอย่างคนพิการและผู้สูงอายุ เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ หรือก็คือ การออกแบบต้องไม่เกิดการเลือกปฏิบัตินั่นเอง”
แล้วจะออกแบบอย่างไรไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นได้?
อาจารย์ชุมเขตถามย้อนกลับมาว่า เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาไปห้างฯ เราถึงไม่สามารถเข็นรถเข็นไปจอดเทียบด้านข้างของรถได้?
ในประเทศไทย การออกแบบช่องจอดรถสำหรับคนพิการมีลักษณะที่ตรงตามมาตรฐานสากลดี แต่สิ่งที่อาจารย์ชุมเขตมองว่า ยังเป็นจุดที่ประเทศไทยติดชะงักอยู่ คือเรามีการยื่นสิทธิแบบเฉพาะเจาะจงให้บุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำตามกฎหมายที่ต้องการพิทักษ์สิทธิให้คนพิการ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่การติดป้ายสัญลักษณ์ก็เป็นการเจาะจง หรือชี้เฉพาะให้คนพิการสามารถใช้ที่จอดรถตรงนั้นได้แค่ที่เดียวเช่นกัน
หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ที่จอดรถริมทางหรือตามห้างสรรพสินค้าจะเว้นพื้นที่ในช่องจอดรถเอาไว้เยอะ ทำพื้นให้เรียบเสมอกัน และขนาดช่องจอดทุกช่องมีความกว้างเหมือนกันหมด ซึ่งทำให้รถเข็นต่างๆ หรือวีลแชร์สามารถเข้าไปจอดเทียบด้านข้างของรถได้ เพื่ออำนวยสะดวกต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ
แต่ในขณะเดียวกัน คนทั่วไปที่ซื้อข้าวของเครื่องใช้แล้วใส่รถเข็นของห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น ก็สามารถเข็นเข้าไปจอดเทียบด้านข้าง แล้วยกของใส่ในรถได้อย่างสบายๆ เช่นกัน การออกแบบที่จอดรถในญี่ปุ่น จึงไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบที่คิดถึงแต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษเท่านั้น
แล้วอย่างนี้ ถ้าเราสามารถทำที่จอดรถให้เหมือนกันหมด ที่จอดรถคนพิการยังจำเป็นอยู่ไหม?
อาจารย์ชุมเขตกล่าวว่า การแก้ขนาดและความเรียบของพื้นที่จอดรถ ยังไม่ถือเป็นการออกแบบที่จอดรถเพื่อคนทั้งมวลที่สมบูรณ์ สิ่งที่ต้องแก้ตามด้วยก็คือ ทางสัญจรต้องปลอดภัย พื้นราบเรียบเสมอกัน ไม่เสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชนด้วย
“ถ้าเรามองเป็นระบบแบบนี้ คนอาจจะปั่นวีลแชร์ไกลหน่อย แต่ปลอดภัยก็ไม่เป็นไร หรือว่าเขาจะใช้ไม้เท้า บนพื้นที่มี Guiding Block ดีๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเขาตาบอดแต่ขาเขาไม่ได้พิการ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย แล้วเขาต้องเดินไกล ความเสี่ยงจะเยอะเกินไป ฉะนั้น การออกแบบที่จอดรถที่เป็น Universal Design แล้วพัฒนากันอย่างเป็นระบบก็จะเอื้อให้การขัดแย้งตรงนี้น้อยลง”
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ชุมเขตเห็นว่าควรคงไว้เหมือนเดิม คือการทำป้ายสัญลักษณ์คนพิการและผู้สูงอายุ ไว้สำหรับที่จอดรถที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าออกของอาคาร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่มีสิทธิใช้พื้นที่ตรงนี้ ได้มีโอกาสเลือกเองว่าจะจอดในพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ หรือจะจอดในช่องจอดรถอื่นๆ
“บางคนอาจจะมองว่าความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม คือความเท่ากัน ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องได้เท่ากันหมด แต่หมายถึงการให้สิทธิบางอย่างกับคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อันเนื่องจากความผิดปกติใดๆ ก็ตาม จึงจำเป็นจะต้องเอื้อประโยชน์อะไรบางอย่าง เพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้เหมือนคนอื่นๆ”
ดังนั้น การออกแบบที่จอดรถที่จะช่วยลดความขัดแย้ง ก็คือการทำที่จอดรถให้มีความกว้าง และปูพื้นเรียบเสมอกันในทุกช่องจอด รวมถึงสร้างทางเดินเชื่อมเข้าประตูอาคารที่สะดวกสบาย ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องคงป้ายสัญลักษณ์เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุเอาไว้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เขามีทางเลือก ไม่ใช่ถูกบีบให้จอดได้แค่ในช่องจอดรถของคนพิการและผู้สูงอายุอย่างเดียว
ที่จอดรถเพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ของประเทศอื่นๆ เป็นแบบไหน?
ในหลายประเทศทั่วโลก พื้นที่จอดรถส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เป็นการออกแบบเพื่อมวลชนกันเสียทีเดียว จึงต้องมีสัญลักษณ์คนนั่งบนเก้าอี้ที่มีล้อ ซึ่งถือเป็นรูปแบบสากลที่เข้าใจได้โดยทั่วกันว่า สิ่งใดๆ ก็ตามที่มีเจ้าสัญลักษณ์นี้ปรากฏอยู่ ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้อำนวยความสะดวกให้คนพิการหรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุอายุเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างออกไปในแต่ละประเทศก็คือ นโยบาย หรือข้อบังคับในการใช้อุปกรณ์นั้นๆ
อย่างในสหราชอาณาจักร มีโครงการที่ชื่อว่า Blue Badge scheme หรือโครงการจุดจอดรถสำหรับผู้พิการ โดยหลักการของโครงการนี้ คือรัฐต้องจัดพื้นที่จอดรถไว้ให้ผู้ที่มีความผิดปกติด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความผิดปกติด้านการสื่อสารและอารมณ์ เป็นโรคจิตเสื่อม หรือผู้ที่มีภาวะผิดปกติทางจิต ก็สามารถใช้ที่จอดรถนี้ได้เหมือนกัน
ใครก็ตามที่เข้าเกณฑ์นี้ สามารถใช้สิทธิเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถเข้าไปจอดรถในพื้นที่ที่รัฐเตรียมไว้ให้ได้ และหากพบว่ามีการใช้ป้ายดังกล่าวผิดประเภท ก็จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 1,000 ยูโร หรือประมาณ 33,500 กว่าบาท
ส่วนที่สิงคโปร์ ก็มีกฎและนโยบายเรื่องที่จอดรถเพื่อคนพิการที่คล้ายๆ กับในสหราชอาณาจักร นั่นคือ มีการแจกสติ๊กเกอร์ให้กับผู้พิการและคนชราโดยเฉพาะ ทั้งยังมีระบบ Call Center เอาไว้ให้คนแจ้งเมื่อพบเห็นรถที่ไม่ได้มีสติ้กเกอร์ แต่เข้าไปจอดในช่องจอดรถคนพิการอีกด้วย
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าสิงคโปร์จะไม่มีปัญหาเรื่องที่จอดคนพิการเลย เพราะข้อมูลจากกระทรวงสังคมและการพัฒนาครอบครัวของสิงคโปร์ เมื่อปี 2016 ระบุว่า จำนวนของผู้ถือป้ายมีสิทธิจอดรถในช่องจอดของผู้พิการ มีจำนวนมากขึ้นถึง 38% เมื่อเทียบกับปี 2012 ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการเข้าถึง (Code on Accessibility) ระบุว่าจะต้องมีที่จอดรถสำหรับผู้พิการอย่างน้อย 1 ช่อง หากมีช่องจอดทั้งหมด 50 ช่อง
ปัญหาสำหรับที่จอดรถคนพิการในฮ่องกง คือพื้นที่ไม่เพียงพอ รายงานเมื่อปี 2017 จาก The News Paper สื่อในสิงคโปร์ ระบุว่ามีหลายคนบ่นถึงช่องจอดรถของคนพิการที่ไม่เพียงพอในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เช่น The Hougang mall มีที่จอดรถเพื่อคนพิการเพียง 1 ช่อง จากทั้งหมด 153 ช่อง (แต่ห้างฯ นี้ ก็สร้างก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงจะออกมาเสียอีก)
หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเอง ถึงหลายที่จะพยายามออกแบบที่จอดรถสำหรับทุกคน ตามที่อาจารย์ชุมเขตเล่าให้ฟัง แต่ก็ยังมีสติ๊กเกอร์สำหรับคนพิการ เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าใช้ช่องจอดรถสำหรับพิการเหมือนที่อื่นๆ อยู่เช่นกัน นอกจากนี้ตัวกฎหมายของญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ชี้ชัดถึงบทลงโทษขนาดนั้น ทำให้ยังมีคนที่ไม่ได้ติดสติ๊กเกอร์สำหรับคนพิการ เข้าไปจอดรถในพื้นที่สำหรับคนพิการอยู่ดี
ดังนั้นแล้ว ปัญหาเรื่องที่จอดรถคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา จึงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ละที่ก็มีประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหนทางในการแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของกฎระเบียบ ไปจนถึงการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคนอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก