ช่วงเปิดเทอมแบบนี้ ก่อนออกจากบ้านได้ตรวจเช็คความเรียบร้อยของตัวเองกันแล้วหรือยัง? ถุงเท้าข้อยาว รองเท้าห้ามเหยียบส้น อ้อ! แล้วก็อย่าลืมถักเปีย ผูกโบว์ ติดกิ๊บ เอาผมหน้าม้าขึ้นให้เรียบร้อยด้วยล่ะ
จากแฮชแท็กดัดแปลงชื่อสถาบันการเรียนหลายแห่งในโลกทวิตเตอร์ มีการเล่าถึงประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กนักเรียนยุคนี้ต้องเผชิญกับการกดขี่จากกฎระเบียบหรือข้อห้ามอะไรบ้าง บางกฎก็เป็นกฎที่เห็นกันมานาน และดูท่าว่าจะไม่มีการยกเลิกไปง่ายๆ บางกฎก็ถูกตั้งขึ้นตามยุคสมัยและบริบทที่เพิ่มเข้ามาในสังคม อย่างการ ‘ห้ามสั่งอาหารจากแกร็บเข้ามากินในโรงเรียน’ หรือ ‘ห้ามไม่ให้นักเรียนไม่นับถือศาสนา’
แม้ความเข้มงวดที่พวกเขาต้องเผชิญจะไม่ต่างไปจากเด็กนักเรียนยุคก่อนๆ แต่ความกล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือสร้างการเคลื่อนไหว จึงทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นที่สนใจและดูเป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่าเมื่อก่อน เลยขอหยิบยกบางความเห็นในทวิตเตอร์ขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น
“เคยยืนร้องไห้หน้าห้องสอบเพราะครูไม่ให้เข้าห้องสอบ ด้วยสาเหตุที่ว่าผมสีอ่อน เข้าใจผิดว่าไปย้อมผมมา”
“ห้ามใส่ถุงเท้าข้อสั้นหรือพื้นดำกันลื่น ห้ามเอาถุงกระดาษหรือถุงผ้าที่ไม่ใช่ของโรงเรียนเข้าโรงเรียน ฝากโทรศัพท์ทุกเช้าก่อนเข้าแถว ห้ามเอาขวดน้ำเข้าโรงเรียนหรือเอาขึ้นตึก ห้ามกินน้ำในห้องเรียน ต้องไปกินนอกห้องเท่านั้น และมีกฎใหม่ห้ามใส่รองเท้าใต้ตึก”
“ห้ามนักเรียนสั่งอาหารจากภายนอกโรงเรียน มีการคลำตรวจเสื้อชั้นในนักเรียนหญิง ผอ. กล่าวตักเตือนนักเรียนที่ไม่นับถือศาสนา”
“เรื่องการลูบหลังคลำจับเสื้อในอะ คือมันไม่โอเคจริงๆ นะ ใครจะชอบให้คนอื่นมานั่งคลำหาเสื้อในตัวเองวะ ถึงจะเป็นเพศเดียวกันก็รู้สึกแย่อยู่ดีอะ ต่อให้เป็นเพื่อนสนิทยังไม่ทำกันเลย ทำไมถึงมีกฎอะไรแบบนี้อะ งง”
“สิ่งที่งงสุดๆ คือการเคลมตัวเองว่าเป็นโรงเรียนสหศึกษาโรงแรกของไทย แต่ชายหญิงนั่งโต๊ะติดกันไม่ได้ ถามแล้วได้รับคำตอบว่า มันไม่เหมาะสม”
ซึ่งแม้จะยังไม่มีคำตอบว่าบางกฎตั้งมาไปเพื่ออะไร แล้วสุดท้ายกฎระเบียบของโรงเรียนจะสร้างวินัยในตัวเด็กนักเรียนมากขึ้นจริงหรือไม่ แต่การลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีกฎบางข้อที่เด็กไม่สามารถทำความเข้าใจหรือยอมรับได้ โดยเฉพาะกฎที่ถูกตั้งขึ้นจากการใช้ ‘อำนาจ’ ที่อาจไปละเมิดสิทธิหรือปิดกั้นเสรีภาพของตัวบุคคล และเมื่อประกอบกับ ‘ความไม่ชัดเจน’ ของผู้ตั้งกฎ ที่ไม่ให้เหตุผลหรือคำอธิบายที่มีน้ำหนักมากพอ จึงทำให้กฎข้อนั้นก็จะเป็นอะไรที่ ‘ไม่ยั่งยืน’ เพราะผู้ปฏิบัติอาจไม่อยากเชื่อฟังและต้องการต่อต้าน
จริงๆ มีคนออกมาพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบหรือข้อบังคับของโรงเรียนหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียน แม้กระทั่งซีรีส์ชื่อดังอย่าง ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ก็ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอเพื่อสะท้อนระบบการศึกษาไทย โดยนักเรียนหนุ่มม.ปลายหนุ่ม ‘วิน’ ได้ชักชวนให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน เพื่อต่อต้านการใส่เครื่องแบบ
“พวกเราไม่ต่อรองก็ได้ครับ แต่ครูต้องตอบคำถามพวกผมให้ได้ก่อน” วินพูดกับครูเมื่อถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ยอมรับและเข้าใจในกฎระเบียบข้อนี้ หลังจากได้ฟัง ‘คำอธิบาย’ ของครู ทำให้ทราบว่าสิ่งที่เด็กต้องการจากสิ่งที่กำลังบีบบังคับพวกเขาอยู่ ก็คือ ‘ความเป็นเหตุและผล’ ที่มารองรับนั่นเอง
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนว่า จริงๆ แล้วมันก็มีข้อดีอยู่เยอะ แต่เมื่อใดก็ตามที่เครื่องแบบถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบหรือลงโทษเด็ก เครื่องแบบหรือกฎระเบียบก็จะกลายเป็นความจุกจิกที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดี
“มันจะกลายเป็นความหยุมหยิมที่น่ารำคาญ เราอย่าเสียเวลาไปกับเรื่องพวกนี้มากเกินไป แทนที่จะไปหาอะไรทำที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะช่วยพัฒนาเด็กได้ อย่าลืมว่า เด็กวันนี้เป็นเด็กยุค Gen Z ในขณะที่ครูยังเป็นเบบี้บูมเมอร์ ความแตกต่างทางความคิดจึงเกิดขึ้น ยิ่งถ้าเครื่องแบบกลายเป็นเครื่องมือตอบสนองภายใต้ระบบการใช้อำนาจ เด็กอาจยิ่งรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็อาจนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ดีระหว่างครูกับนักเรียน” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ซึ่งการออกมาเรียกร้องเรื่องเครื่องแบบนักเรียนก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้างเมื่อ ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ออกมาอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียนได้ ซึ่ง ผอ. มีแนวคิดว่า ในอดีต เราสอนว่าถ้าเด็กไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่จะถือว่าเป็นเด็กไม่ดี เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องเคารพผู้ใหญ่ แต่ ณ ปัจจุบัน เราก็ต้องสอนให้ผู้ใหญ่เคารพเด็กเป็นด้วย
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เด็กไทยหลายคนมักจะนึกอิจฉาและเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ เพราะพวกเขาดูมีอิสระเสรี ไร้ซึ่งกฎระเบียบในโรงเรียน แต่ความเป็นจริง ก็เป็นแค่ภาพลักษณ์ไฮสคูลที่เราเห็นกันจนเคยชินในภาพยนตร์หรือซีรีส์เท่านั้น ซึ่งต่างประเทศเองก็มีกฎระเบียบที่เคร่งและเข้มงวด อย่างการห้ามลุกไปเข้าห้องน้ำระหว่างคาบเรียน การควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การควบคุมการพกเงินมาโรงเรียน (เนื่องจากอาจมีการลักทรัพย์เกิดขึ้น) และการสุ่มตรวจกระเป๋านักเรียน
แต่ก็มีความเห็นจากผู้ใหญ่หลายคน อย่างเช่น เลน คิลแพทริก (Lain Kilpatrick) ครูใหญ่ของโรงเรียนซิดคอท ประเทศอังกฤษ ที่กังวลถึงปัญหาการตั้งกฎในโรงเรียน และให้ความเห็นว่า การกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมพฤติกรรมนักเรียนจะเน้นไปที่การลงโทษมากกว่าการหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น เขามองว่านักเรียนสามารถตั้งคำถามหรือท้าทายคุณครูได้ว่าทำไมกฎพวกนี้ถึงยังมีอยู่ โดยที่ยังคงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองไว้ได้ แต่โรงเรียนบางแห่งดูเหมือนจะใช้วิธีในการเข้าถึงนักเรียนแบบควบคุมและออกคำสั่งมากกว่า ซึ่งเขาไม่ได้อยากให้โรงเรียนมีกฎระเบียบวุ่นวาย แต่อยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สำหรับการสนทนา และการสนทนาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเสมอภาคระหว่างคุณครูกับเด็ก
แม้สภาพแวดล้อมที่ดี มีอิสระจะเอื้อต่อการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ และสุขภาพจิตของเด็ก แต่ก็มีผลการศึกษาที่มองว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดสามารถ ‘ใช้ได้ผล’ ในห้องเรียนเช่นกัน
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กฎระเบียบ ชุดยูนิฟอร์ม และผลการเรียน‘ โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบวินัยในห้องเรียนขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า ประเทศที่เข้มงวดและมีระเบียบวินัยสูงเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านวิชาการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีการเรียกร้องจากคนหลายกลุ่ม ทั้งผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการด้านการสอน ที่ต้องการจะหลีกหนีแนวทางการใช้วิธีที่รุนแรงเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ยังผลการวิจัยใหม่จาก Evidence for Learning ซึ่งเป็นองค์กรจากออสเตรเลีย ระบุว่า สภาพแวดล้อมการเรียนที่เข้มงวด ช่วยให้คนวัยหนุ่มสาวเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีในห้องเรียน โดยพวกเขาจะมีผลการสอบที่ดีขึ้นเมื่อครูใช้แนวทางการสอนที่เข้มงวด นอกจากนี้ยังพบว่า ‘การเข้าไปแทรกแซงการกระทำผิด’ ของนักเรียน จะช่วยให้พวกเขามีผลการเรียนที่ดีขึ้นไปอีกหลายเดือน แม้ผลวิจัยจะไม่ได้ระบุวิธีการลงโทษที่แน่ชัด แต่ก็ได้สร้างข้อสงสัยและข้อถกเถียงให้กับแนวคิดที่เคยเชื่อว่า การสอนแบบสบายๆ นั้นเป็นวิธีการสอนนักเรียนที่ดีที่สุด
บางที อาจจะพูดได้ว่ากฎระเบียบก็สามารถทำให้ครูควบคุมห้องเรียนให้สงบได้ และทำให้ผู้เรียนมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น อย่างการห้ามพูดคุยเสียงดังรบกวนผู้อื่น ห้ามเล่นวิดีโอเกมในห้องเรียน หรือการเข้าห้องเรียนให้ตรงต่อเวลา หรือไม่กินอาหารในห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างวินัยให้กับตัวเอง และเป็นการเคารพผู้อื่นไปในตัว
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะสามารถใช้อำนาจในการบังคับเด็กนักเรียนยังไงก็ได้ตามใจชอบ แต่อาจจะต้องมีการพบกันคนละครึ่งทางระหว่างผู้ตั้งกฎและผู้ปฏิบัติตาม โดยทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ของ ‘กฎระเบียบ’ แต่ละข้อ เพราะถ้าขึ้นชื่อว่า ‘กฎ’ แล้ว ก็ถือว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนหมู่มากที่หวังจะให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ แต่การตั้งกฎโดยที่มีการศึกษาเรียนรู้ ‘วิถีชีวิต’ ของผู้ปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้ทราบระดับในการควบคุมที่จะไม่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขาจนเกินไป และจะถือเป็นแนวทางในการสร้างกฎเกณฑ์ที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ต่อไปในรั้วโรงเรียน
กฎระเบียบถือเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม แต่เมื่อเหตุผลของกฎหรือข้อห้ามบางข้อที่ลงลึกเกินไปจนกระทบกับสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถนำมาอธิบายให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแค่คำว่าเหมาะสม ระเบียบวินัย หรือศีลธรรมอันดีที่มากำกับ ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ ‘อำนาจ’ ในทางที่ผิด และอาจกลายเป็นเรื่อง ‘จุกจิก’ หรือ ‘ไม่เมกเซนส์’ ไปแทนจนคนหันหน้าหนี
อ้างอิงข้อมูลจาก