บ้องหู+ตบปากแตก+กราบหน้าเสาธง+ปาแก้วจนหน้าเบี้ยว ถ้าเอามามัดรวมกันมันคือชุด Combo ท่าเผด็จศึกที่เปลี่ยนโรงเรียนในฝันให้กลายเป็นดินแดนรกร้างไร้ความหวัง โดยคุณไม่จำเป็นต้องรอวิกฤตนิวเคลียร์ถล่มโลก
โรงเรียนที่ถูกคาดหวังว่าเป็น ‘สถานบ่มเพาะความรู้’ กลับบ่มเพาะความรุนแรงเป็นอันดับ 2 รองมาจากครอบครัว จนคุณอาจเคยถามตัวเองว่า กำลังส่งลูกสุดที่รักไปเจอกับอะไรในทุกๆ วัน วันละ 10 ชั่วโมง
เกิดอะไรขึ้นเบื้องหลังรั้วโรงเรียน ปรากฏการณ์ความรุนแรงเช่นนี้เป็นเรื่องปกติวิสัยจริงหรือ?
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คุณอาจสะดุ้งหลายตลบ เมื่อสไลด์หน้าจอมือถือแต่กลับพบข่าวฉาวจากวงการการศึกษาไม่ขาดสาย ตั้งแต่คดีครูตบเด็กปากฉีก นักเรียนแพ้เต้าหู้จนต้องขอขมาครูหน้าเสาธง หรือกรณีล่าสุด ครูคว้าถ้วยเซรามิคปาใส่นักเรียนสาวจนเส้นประสาทที่ 7 กระทบกระเทือน ปากเบี้ยวเสียโฉม โรงเรียนกลับเตะเรื่องเข้าใต้พรม พยายามทำให้จบ แต่กลิ่นปลาเน่าดันโชยผ่านเส้นใยแก้วนำแสงและเคลื่อนโทรศัพท์ 4G ได้อยู่ดี
นักเรียนจำนวนมากกำลังเป็นเหยื่อความรุนแรงที่บ่มเพาะในสถานศึกษา และโอวาทของครูเลยเถิดไปถึงการใช้กำลังแบบเด็ดขาด แต่ในอีกมิติที่มองข้ามไม่ได้คือ ครูเองก็ตกอยู่ในตำแหน่งลำบากเช่นกัน เมื่อพวกเขาเองก็โดนกลั่นแกล้งและเป็นเหยื่อความรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน แต่กลับไม่มีอำนาจใดๆ ดึงพวกเขาออกจากวังวนแห่งความรุนแรงได้ กลายเป็นลูปนรกที่วนซ้ำๆ และทวีความเร็วขึ้น
และเป็นไปได้ที่คุณจะได้อ่านข่าวพวกนี้ในทุกๆ เดือน
ครูและนักเรียนจึงยืนอยู่บนเส้นขนานของความรุนแรง
ปรากฏการณ์นี้เป็นภัยเงียบคอยกัดกร่อนสังคม แม้เราจะได้คนที่ผ่านระบบการศึกษาภาคบังคับมาเพิ่มเป็นกำลังหลักในสังคม แต่พวกเขากลับมีตรรกะวิบัติ ถ้าเปรียบสังคมไทยเป็นรถยนต์เครื่องรอบจัด คนคุมพวงมาลัยคงดริฟต์ตกโค้งแรกไปแล้ว
นักเรียนกำลังเป็นเหยื่อ
กรณีนักเรียนเป็นเหยื่อความรุนแรง (Victimized) ในสถานศึกษา ไม่ใช่ประเด็นที่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหลายสังคมกลับพบรูปแบบความรุนแรงคล้ายคลึงกัน มีแพทเทิรน์ชัดเจน และส่วนใหญ่ผู้ลงมือกระทำผิดล้วนเป็นครูบาอาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนที่นักเรียนรู้หน้า (ไม่รู้ใจ)
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหางานวิจัยความรุนแรงในระบบการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะเหมือนเราจะไม่ได้เรียบเรียงไว้อย่างสมบูรณ์นัก กระทรวงศึกษาธิการบ้านเราก็ควรลงมือทำวิจัยเช่นนี้บ้าง แทนการประกันคุณภาพการศึกษา หรือพยายามปั้นเด็กอัจฉริยะให้ไปโอลิมปิก แต่กลับเตะเด็กหลังห้องไปไว้ใกล้ๆ ถังขยะ
มีงานวิจัยของอเมริกัน พบว่านักเรียนในโรงเรียนของรัฐราว 25% เป็นเหยื่อความรุนแรงจากครู 2-3 เหตุการณ์ ในรอบ 1 เดือน เด็กชายมักถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้หญิง และส่วนใหญ่ไม่เคยร้องเรียนให้ใครรับรู้
งานวิจัยของสถาบันวิจัยทางการศึกษา Exceptional Children พบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือครู สามารถควบคุมได้ ‘ง่ายกว่า’ หากเทียบกับการกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียนด้วยกัน แต่โชคร้ายที่ครูส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะรับมือกับเด็กในกระบวนทัศน์ใหม่ และขาดการปรับทัศนคติจากหน่วยงานที่สังกัด
บางคนถึงขั้นไม่สามารถสอนเด็กพิการหรือเด็กพิเศษร่วมชั้นเรียนเดียวกับเด็กปกติได้ จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตสะเทือนวงการศึกษาอเมริกันปีที่แล้ว โดยครูใน Florida จุ่มสีเทียนในซอสเผ็ด เพื่อควบคุมความประพฤติของเด็กออทิสติก
สถานะที่แตกต่างทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ทำให้ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนห่างกันเป็นปากแม่น้ำฮวงโห เมื่อเกิดเหตุใช้ความรุนแรง เป็นไปไม่ได้เลยที่นักเรียนจะเดินไปเรียกร้องจากฝ่ายปกครองด้วยตัวเอง ด้วยความหวาดกลัวเมื่อถูกหมายหัวจากครูประจำวิชาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเผชิญหน้าทุกๆ วัน
ถ้าคุณต้องเจอนรกทุกคาบบ่าย คงไม่สนุกใช่ไหมล่ะ?
ดังนั้นการหนีเรียนจึงเป็นทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุด เท่าที่พวกเขาจะนึกออก
ข้อมูลรวบรวมจาก โรงเรียนของรัฐ 31 แห่งจาก 12 รัฐของอเมริกา ทีมวิจัยได้ออกแบบชุดคำถามและออกสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับนักเรียนกว่า 13,177 คน พบว่านักเรียนจำนวนกว่า 3,305 รายหรือคิดเป็น 25% มีประสบการณ์ถูกครูใช้ความรุนแรงอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน ไม่ว่าจะด้วยทางวาจาหรือร่างกายโดยตรง
อีกแง่มุมที่น่าสนใจเผยว่า ครูผู้ลงมือกระทำความรุนแรงมักเลือกเป้าหมายที่เป็น ‘เพศเดียวกัน’ ครูผู้หญิงจะมักลงโทษนักเรียนหญิงมากกว่า นักเรียนหญิงมักถูกดูหมิ่นโดยวาจา ส่วนนักเรียนชายเป็นเป้าหมายถูกใช้กำลัง
การส่งครูไปอบรมล้วนไม่ได้ผล พวกเขามักกลับมาใช้ความรุนแรงอีก (ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงจากครูที่ลงโทษโดยไม่มีเหตุผล จากนั้นโรงเรียนก็ส่งเขาไปอบรมราว 1 สัปดาห์ แต่เขาก็กลับมาหวดทุกคน แถมหนักกว่าเดิมอีก ช่วงนั้นมือบวมเป็นใบพัด ถ้ากระพือแรงๆ หน่อย ก็บินกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องง้อรถโรงเรียน)
ครูตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ถูกละเลยไม่แพ้กัน เนื่องจากคนในสังคมไม่สนใจและสื่อเองก็พร้อมเมินหนี เพราะบิลท์อารมณ์ร่วมยาก จากเหตุการณ์ที่ครูต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งจากระบบอำนาจในโรงเรียนและจากนักเรียนนิสัยแย่ๆ ปัญหาของครูล้วนไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีใครยอมหยุดฟัง และไม่ได้รับทางออกความรุนแรง ทำให้ครูจำเป็นต้องส่งต่อความรุนแรง จนเป็นวิกฤตเงียบของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว
ครูโดนรังแกไม่น้อยเลย จากผลวิจัยใน American Psychological Association ปี 2011 พบว่า ครูมากกว่าครึ่งในโรงเรียนมีประสบการณ์ถูกคุกคามจากนักเรียน จากครูด้วยกันเอง และฝ่ายบริหารที่อาวุโสกว่าด้วยอำนาจในทางไม่ชอบ
เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ อย่างของบนโต๊ะหาย ถูกขโมยเงิน (คุณคงได้ยินเรื่องขโมยเงินครูในชั้นคุณใช่ไหมล่ะ) ข้าวของเสียหาย นักเรียนทำท่าล้อเลียน หรือถูกด่าอย่างหยาบๆ คายๆ จนถึงขั้นเจ็บเนื้อเจ็บตัว อย่างการถูกนักเรียนขว้างของใส่ โดนรุมทุบตี หรือถูกของมีคมทำร้ายร่างกาย
เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก แม้แต่อเมริกาผู้วางรากฐานระบบการศึกษาโลก ยังมีงานวิจัยที่ครูตกเป็นเหยื่อเพียง 14 ชิ้นเท่านั้น น่าตกใจไม่น้อยเลยล่ะ
และที่เลวร้ายคือ พวกครูร่วมงานด้วยกันก็ตัวดี ขโมยข้าวของบนโต๊ะประจำตัวในห้องพัก ภาควิชารวมหัวกันบอยคอต และเรื่องชู้สาวคาวโลกีย์ในโรงเรียน บีบให้ครูไม่มีที่ปรึกษายามต้องการ (ตอนเรียนคุณคงรู้ว่าครูคนไหน ไม่กินเส้นกับคนไหน)
แต่ที่เลวร้ายขึ้นสุดคือพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนเอง เหตุประทุษร้ายร่างกายส่วนใหญ่ มักเป็นการบันดาลโทสะจากผู้ปกครองนักเรียน (เหวอ!) เพราะพวกเขายังเชื่อว่า ลูกหัวแก้วหัวแหวนทั้งหลายช่างงดงามราวเทวดาส่งมาเกิด ไม่รู้ว่าก่อเรื่องอะไรไว้บ้าง
นี่ยังไม่ได้เคาะปัญหา หนี้ครู อีก ครูทุกวันนี้อยู่ในสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าครูมีหนี้ในระบบสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่หากรวมหนี้นอกระบบด้วยแล้ว คาดว่าครูทั้งประเทศอาจมีหนี้รวมกันทะยานเกินกว่า 2 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน
โรงเรียนส่วนใหญ่เองก็ดันมีโครงสร้างแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้ครูจำนวนมากมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็กเกินเลย ประกอบกับการเรียนการสอนเป็นการสื่อสารทางเดียว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ครูจำนวนมากขาดทักษะการฟัง
สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูไทยเหนื่อยล้า ถ้าเปรียบครูเหมือนเรือจ้าง (ชอบเปรียบเปรยกันจัง) ครูกำลังเป็นเรือไม้ผุที่มุ่งตรงไปยังน้ำตกไนแอการาระดับความสูง 100 เมตร โดยไม่เหลือแรงพายเข้าหาฝั่งแล้ว ความรุนแรงในโรงเรียนเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าของการศึกษาที่ต้องมองทุกมิติ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบล้วนอยู่ในระบบเรือผุลำเดียวกันนี้ ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันออกแรงพายเลย มีแต่จะโทษกันไปมา จับต้นชนปลายไม่ได้ เรือลำนี้คงทิ้งดิ่งลงใต้น้ำเป็นแน่แท้
แม้ผมอาจไม่สามารถนำเสนอทางออกที่ดีนัก (ถ้าพบทางออก กระทรวงศึกษาคงจ้างผมไปเดินโก้ๆ แถวถนนราชดำเนินนอกแล้ว) แต่การที่โรงเรียนทำความรู้จักกับนักจิตวิทยาเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันการใช้ความรุนแรงให้เข้าใจสภาพของผู้เรียน รวมถึงการลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
ในมิติครอบครัว ก็ไม่ควรปัดความรับผิดชอบให้กับทางโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว เพราะพวกเราเองเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมมือที่ 1 ที่เด็กๆ ยุคต่อๆ ไปต้องเผชิญ หากคุณไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้จริง ก็ยากที่จะมีมนุษย์คนอื่นมาทำให้มันดีขึ้นได้
มันน่าอดสูไม่น้อยที่ต้องห่วงลูกหลาน เมื่อพวกเขาก้าวไปในรั้วโรงเรียนที่เคยเชื่อกันว่าปลอดภัยที่สุด
ไม่มีใครรู้เลยว่าหลังม่านหมอกแห่งความรุนแรงนั้น มันได้เปลี่ยนใครหรืออะไรไปแล้วบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Understanding and Preventing Violence Directed Against Teachers