เดี๋ยวนี้เรามี ‘พ่อบ้านใจกล้า’ พูดถึงเหล่าชายชาตรีที่มีความเกรงกลัว เอ้ย! เกรงใจต่อเหล่าภรรยาสุดที่รัก ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นเรื่องของความรักเนอะ รักใคร อยู่ร่วมกับใครก็ประนีประนอมกันไป ความสัมพันธ์จะได้ไปต่อได้อย่างมีความสุข
แต่…บางทีมันก็กลายเป็นมุก ที่อาจจะตลกบ้างไม่ตลกบ้าง อย่างล่าสุดมีคลิปสั้นๆ ที่ลูกชายอัดแล้วบอกว่าแม่ใหม่ใจดี พอคุณแม่ตัวจริงได้ยินดังนั้นก็ลงมืออัดคุณพ่อที่อยู่ด้านหลังด้วยความรุนแรง…คงด้วยความที่เราดูตลกแบบไทยๆ บ่อย ที่มักมีการตบหัว ล้อเลียน ลื่นล้ม เราเลยอาจจะรู้สึกชินและตลกไปกับตลกสไตล์ตบหัว หรือ slapstick แบบนี้
แต่ในอีกทางเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันรุนแรงเหมือนกันนะ ต่อให้พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็นการเซ็ตเรื่องขึ้น เพราะมีเด็กไร้เดียงสาเข้ามาเกี่ยวข้องและได้รับรู้ความรุนแรงของพ่อแม่ตรงหน้าด้วย ไอ้ความตลกจากคลิปเลยรู้สึกชะงักๆ ไปว่า เออ แบบนี้มันคือความรุนแรงในครอบครัวรึเปล่า
และแน่นอนว่าความรุนแรงในครอบครัวย่อมไม่ใช่เรื่องตลกหรอก
ผู้ชายกับการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ประเด็นการล้อเรื่องกลัวเมีย ไปจนถึงภาพของการถูกผู้หญิง-ที่น่าจะเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าทำร้าย จริงๆ มีความซับซ้อนในตัวเอง คือบางมุมก็บอกว่า เพราะเราอยู่ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ไง พอผู้ชายไม่เป็นใหญ่ ไม่เป็นผู้นำ ถูกเมียทุบตี มันเลยกลายเป็น ‘เรื่องตลก’ ที่เอามาล้อกันสนุกๆ
สำหรับบ้านเรา ในปี 2558 มีกระแสตื่นตัวเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สตรีและเด็ก มีรายงานว่าในไทยมีสถิติความรุนแรงต่อเด็กสตรีที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี ในปีดังกล่าวเก็บสถิติความรุนแรงได้กว่า 30,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (2557) ที่มีจำนวน 28,000 ราย
รูปแบบความรุนแรงที่พบเป็นการกระทำต่อต่อร่างกาย กักขัง บังคับ ทุบตี และคดีทางเพศคือการข่มขืน กระทำชำเรา และล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่เก็บสถิติยาก เพราะมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ถูกทำให้กลายเป็นคดีความ ยังมีความรุนแรงอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้
แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่สนับสนุนความรุนแรงใดๆ เลย ในแง่ของความรุนแรงในครอบครัวอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะเดี๋ยวนี้ ผู้ชายเองก็กลายเป็นว่าตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเหมือนกัน
ความขมขื่นของพี่ราชสีห์กับน้ำตาลูกผู้ชาย
กระแสส่วนใหญ่เวลาพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเราจะพูดถึงผู้ชายในฐานะผู้ลงมือกระทำมากกว่า จากการสำรวจพบว่าก็มีสาเหตุมาจากค่านิยมเรื่องผู้ชายที่เป็นผู้นำนี่แหละ แต่มีรายงานจากอังกฤษว่า กรณีความรุนแรงในครอบครัวทั้งหลาย มีตั้ง 40% ที่ผู้ชายนั้นตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เมื่อเหล่าลูกผู้ชายทั้งหลายกลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำ แถมยังที่ไม่มีใครช่วยเหลืออีกต่างหาก
ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อเหล่าพี่ราชสีห์ก็เป็นเหมือนวงจรจากความเชื่อเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ที่ย้อนมาทำร้ายผู้ชายเอง คือถ้าเกิดกรณีที่ผู้ชายถูกทำร้ายการจะไปแจ้งความหรือแจ้งต่อทางการเพื่อรับความช่วยเหลือมันก็เป็นเรื่องยาก ผู้ชายที่ถูกทำร้ายมีแนวโน้มที่จะถูกล้อเลียนจากการขาดความเป็นชาย แถมทางการเองก็ไม่ค่อยรับรู้ความลำบากนี้เท่าไหร่
ในอังกฤษเลยมีกลุ่มที่ออกมาบอกว่า เฮ้ย นี่มันมีปัญหาเหมือนกันนะเพราะผู้ชายเองก็มีที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวไม่น้อย ข้อมูลจาก Home Office statistical bulletins and the British Crime Survey บอกว่าในหลายช่วงปีเช่น 2004- 2005, 2006-2007 และ 2008-2009 มีผู้ชายตกเป็นเหยื่อมากกว่า 40% ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีช่วงปี 2007-2008 ที่สัดส่วนลดลงเหลือ 37.7%
เล่นรุนแรง: ความ ‘ชินชา’ คือหัวใจ
กลับมาที่เรื่องตลกกันบ้าง เราตลกเล่นๆ แต่ความรุนแรงนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาไหม โดยเฉพาะกับเด็กๆ
เรื่องนี้เป็นความซับซ้อนเหมือนกัน เพราะในการ์ตูนหลายเรื่องก็มีองค์ประกอบหลักๆ เป็นความรุนแรง เช่น Tom&Jerry หรือรายการตลกจำนวนมากก็ใช้การทุบตี หรือความรุนแรงทั้งหลายมาสร้างเสียงหัวเราะให้กับเรา ข้อถกเถียงเลยอยู่ที่ว่าตกลงแล้วเด็กจะสามารถแยกแยะได้หรือไม่
สำหรับความรุนแรงจริงๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว องค์กรเกี่ยวกับเด็กอย่าง unicef ก็บอกว่ามีผลเชิงลบต่อเด็กแน่นอน เพราะเด็กที่เผชิญหรือรับรู้ความรุนแรงในครอบครัวจะกลายเป็นความเคยชิน ทำให้มีแนวโน้มที่จะเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาและมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังพบผลเชิงลบต่อพัฒนาการของตัวเด็กเองด้วย เช่น มีผลต่อพัฒนาการของสมองและการรับรู้ เกิดความเครียดได้ง่าย มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ มีปัญหาเรื่องสมาธิและความสนใจ มีการศึกษาพบว่า 40% ของเด็กที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวมีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่มีความรุนแรง
องค์กรและนักวิชาการหลายคนเห็นตรงกัน เช่น The Australian Council on Children and the Media (ACCM) และ Dr. Wayne Warburton แห่ง Macquarie University ที่ Sydney เห็นพ้องต้องกันว่าผลกระทบของความรุนแรงแบบเล่นๆ เช่นการบริโภคสื่อที่มีความรุนแรง มีผลบางอย่างที่ใกล้เคียงกับการเผชิญความรุนแรงจริงๆ คือ ‘การทำให้ชินชา (Desensitisation)’ ต่อความรุนแรง
Dr. Wayne อธิบายว่าการทำให้ชินชาหมายถึงการที่เด็ก (หรือแม้แต่เราเอง) สูญเสียความรู้สึกในการเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อคนที่กำลังทนทุกข์ทรมาน ทำให้เพิกเฉยต่อปัญหาที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ และท้ายที่สุดคือสูญเสียความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือไป
ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะเล่นตลกที่มีความรุนแรงอยู่ในนั้นไม่ได้ หรือจะต้องแยกเด็กออกจากสื่อที่มีความรุนแรงไปเลย เพราะการจะแยกเด็กออกไปอย่างสมบูรณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้
สิ่งสำคัญคือการที่ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กๆ ให้มองเห็นและรักษาซึ่งความรู้สึกเห็นอกเห็นใจไว้ และมองเห็นว่าความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามเป็นปัญหา และเป็นสิ่งที่ถ้าเราเห็นว่าไม่ควร ก็ควรจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ