วันก่อนดูละครจักรๆ วงศ์ๆ นางสิบสองถูกทิ้งในถ้ำ โดนควักลูกตาด้วยมือเปล่า ปล่อยให้เบ่งคลอดลูกเอง ตัดรกเอง พอลูกตายก็เอามากินเป็นอาหารประทังชีวิต จะว่าไปนิทานพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ นี่โหดสุดหลายเรื่องเลยเหมือนกัน สมัยก่อนยังจำได้ว่าเคยดูเรื่อง ‘ปลาบู่ทอง’ ไม่เพียงผัวจะมีเมียสองคน ตีเมียแรกตกน้ำตายกลายเป็นปลาบู่ทอง นังลูกสาวชื่อ อ้าย ที่เกิดกับเมียอีกคนยังโขกสับกลั่นแกล้ง เอื้อย ลูกสาวฝ่ายเมียที่ตาย สองแม่ลูกขี้อิจฉานี้ยังรวมหัวกันจับปลาบู่ทองแม่ของเอื้อยมาขอดเกล็ดต้มกิน หนำซ้ำออกอุบายหลอกเอื้อยให้ตกไปในกระทะน้ำเดือดตายคาที่อีก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้มีแค่ผัวทำร้ายเมียเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ชายกดขี่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่มันยังมีเมียโขกสับล่อลวงผัว ผู้หญิงด้วยกันเองก็ใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าพี่น้องท้องเดียวกัน พี่น้องต่างแม่ เมียน้อยเมียหลวง ลูกสาวพ่อทำกับเมียพ่ออีกคน เหมือนกับที่นางอ้ายทำกับแม่ปลาบู่ทอง
เช่นเดียวกับเรื่องนางสิบสอง คนที่ออกอุบายให้พระราชามากเมียโยนมเหสีเก่าทั้งสิบสองนาง เข้าถ้ำให้ตกระกำลำบาก แล้วถูกควักลูกกะตา ก็คือมเหสีคนโปรด เป็นนางยักษ์แปลงกายมายุแหย่และใช้เวทมนตร์กำกับพระราชา
ยิ่งในครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก เช่น บ้านผัวเดียวหลายเมีย ลูกมากรากดก การช่วงชิงทรัพยากร ผลประโยชน์ภายในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติ ยิ่งผลประโยชน์ร่วมกันมหาศาล ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรย่อมมาก ขณะเดียวกันในการรับผิดชอบทรัพยากรมหาศาลก็ย่อมทำให้มีสมาชิกครอบครัวจำนวนมาก และนำไปสู่การจัดระเบียบ
ซึ่งยิ่งมีการจัดลำดับช่วงชั้นสถานะชัดเจน
มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างเข้มข้น
ก็ต้องยิ่งฟาดฟันกันแรง
เหมือนครอบครัวเศรษฐีพ่อนางเอื้อยนางอ้าย เหมือนนางยักษ์สันธมาลาออกอุบายควักตานางสิบสอง หรือครอบครัวในละครช่วง 2 ทุ่มกว่าๆ อย่าง ‘มงกุฎดอกส้ม’ ‘เลือดข้นคนจาง’ ‘เรือนเบญจพิษ’ ‘เรือนไหมมัจจุราช’ ที่สมาชิกหญิงในบ้านทั้งเฟียซทั้งฟาดกันเอง มีตั้งแต่ลูกสาวกำจัดเมียอีกคนของพ่อ พี่สาวน้องสาวแก่งแย่งกันเอง เมียพี่ vs น้องสะใภ้ ไปจนถึงความรุนแรงที่ผู้หญิงกระทำต่อผู้ชาย หรือแม้แต่ดูดายคนในครอบครัวตนเองทำร้ายกันเอง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าครอบครัวใหญ่ครอบครัวขยาย จะต้องมีความรุนแรงมากกว่าครอบครัวเล็กครอบครัวเดี่ยวนะ และความรุนแรงก็ไม่ใช่จะเป็นเรื่องของตีรันฟันแทง ด่าทอ ข่มขืน เพราะความรุนแรงมันรวมไปถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) และความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) ตามทฤษฎีของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ที่ว่า
- ความรุนแรงทางตรง (direct violence) คือการกระทำประเภทเป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพ เน้นที่อวัยวะร่างกายทำร้ายร่างกาย ลงไม้ลงมือหรือด้วยอาวุธ ก่อให้เกิดบาดแผลร่องรอย พิการหรือตายจากการฆ่า หรือความรุนแรงต่อความรู้สึกจิตใจ สร้างปัญหาในทางจิตวิทยา เช่น การเหยียด ล้อเลียน กักขัง หน่วงเหนี่ยว ลวนลาม
- ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) หมายถึง ระบบหรือโครงสร้างที่ทำให้มนุษย์เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) หรือนำไปสู่การทำลายศักยภาพของมนุษย์ จำกัดการเข้าถึงทรัพยากร การกระจายรายได้ที่ดำรงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานาน การเอาเปรียบทางสังคม ที่ส่งผลต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสถาปนาอำนาจตนเองเป็น ‘top dog’ มีอำนาจเหนือกว่าผู้คนส่วนใหญ่ พยายามแทรกแซงผู้ที่ถูกสูบทรัพยากร/เสียเปรียบ/เหยื่อของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ทำลายโอกาสที่จะได้รับรู้ข่าวสารข้อมูล (segmentation) ผลักให้อยู่รอบนอบสังคมกระแสหลัก (marginalization) และทำให้แตกแยกกระจัดกระจายไม่สามารถรวมตัวกันได้ (fragmentation)
ทั้งนี้เพื่อรักษาสถานภาพของฝ่ายที่ได้เปรียบเชิงอำนาจให้คงความได้เปรียบไว้ให้นานที่สุด อันเกิดจากการระบบสังคมไปจนถึงระบอบทางการเมือง เช่น การรวมศูนย์อำนาจทรัพยากรที่เมืองหลวง สูบทรัพยากรทุกชนิดไปจากชนบท เผด็จการ ราชาธิปไตย หรือแม้แต่หน่วยเล็กๆ ของสังคมที่เรียกว่าครอบครัว ที่จัดระเบียบสถานะทางเพศที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผัว-เมีย พ่อ-แม่ ลูกชาย-ลูกสาว เช่นโอกาสที่จะออกไปหาประสบการณ์ทักษะการใช้ชีวิตนอกบ้านระหว่างลูกสาวกับลูกชายที่ไม่เท่ากัน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวใหญ่ ที่คนใดคนหนึ่งเป็น top dog ของบ้าน มีอาญาสิทธิ์เหนือสมาชิกคนอื่น หรือการจัดลำดับสถานะคุณค่าเมีย ให้เป็นคุณนายที่ 1 2 3 4 ที่มีผลต่อการจัดลำดับคุณค่าลูกที่เกิดออกมาอีกที
และ 3. ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) อันเป็นต้นตอและระดับความรุนแรงว่าเป็นความรุนแรงที่ลึกที่สุดหากเปรียบเทียบกับชั้นดิน ซึ่งความรุนแรงประเภททารุณกรรม เหตุการณ์การกระทำอันโหดร้ายเป็นเพียงความรุนแรงชั้นแรกที่ตื้นที่สุด เห็นได้ชัดและบ่อยที่สุด ชั้นที่ลึกลงมาเป็นความรุนแรงที่โครงสร้างและสถาบันทางสังคมคอยผลิตซ้ำ ตอกย้ำ และยืนยันให้ดำรงอยู่ เป็นกระบวนการทำให้เกิดความรุนแรง
ชั้นที่ลึกที่สุดของความรุนแรงก็คือ วัฒนธรรมความคิดความเชื่อที่เกือบไม่เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงยากสุด มากไปกว่านั้นยังทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงชั้นบนทั้งสองชั้น เช่น ศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม ชุดอธิบายทางประวัติศาสตร์ ปรัชญา เทววิทยา คติชน มารองรับ ‘การเลือกปฏิบัติ’ (discrimination) หรือ ‘ความลำเอียง’ (prejudice) อย่างคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน มีลูกชายดีกว่าลูกสาว ผู้ชายมีอิสรภาพทางเพศมากกว่า[1]
ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี่แหละที่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงทั้งปวง
แถมยังผลิต ‘ฮ่องเต้ซินโดรม’ (little emperor syndrome) ที่อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เคยกล่าวถึง แต่ไม่รู้ว่าหมายถึงลูกบ้านไหน
ที่ใดๆ ในโลกก็สามารถถูกเรียกเป็น syndrome เป็นโรคได้ ฮ่องเต้ซินโดรมก็ถูกอธิบายว่ามาจากพฤติกรรมลูกชายคนโตที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่เกิด ในครอบครัวสถานะร่ำรวย ที่พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างเอาอกเอาใจประคบประหงมให้ท้าย จนนึกจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ความอดทนต่ำ ไม่รู้จักเกรงใจ โมโหร้ายเอาแต่ใจ ไร้ระเบียบวินัย อุปมาเป็นจักรพรรดิที่สามารถทำอะไรก็ได้ไม่ผิด ดังที่นักข่าวชาวอังกฤษ แอนดรูว์ มาร์แชล (Andrew Marshall) (คนละคนกับ Andrew MacGregor Marshall นะ พี่เค้าชาวสก็อต เก่งเรื่องเอเชียเหมือนกัน) อธิบายตั้งแต่ ค.ศ.1997 แล้วว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลลัพธ์ของนโยบายวางแผนครอบครัว ‘one-child policy’ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และนั่นจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะนำพาสังคมจีนไปสู่ปัญหาใหญ่ตามมา
ขณะเดียวกันก็เป็นผลผลิตของสังคมกลางเก่ากลางใหม่ ที่ครอบครัวสมัยใหม่ยังคงเลี้ยงลูกแบบประเพณีดั้งเดิม ที่ระบบอาวุโสนิยมและชายเป็นใหญ่เป็นกลไกสำคัญของครอบครัวโดยพ่อแม่และปู่ย่า ซึ่งก็มักจะอยากมีลูกชายมากกว่าลูกสาว และอุทิศทรัพยากรทุกอย่างให้แก่ทายาทชาย
อย่างไรก็ตามบางบ้าน one-child policy ก็ช่วยให้ลูกสาวได้รับการศึกษาในระดับสูง เพราะถ้าเธอมีพี่ชายหรือน้องชาย เธอก็จะไม่ได้โอกาสเช่นนี้ เพราะพ่อแม่จะอุทิศให้กับลูกชายมากกว่า ขณะเดียวกันนโยบายควบคุมประชากรใต้ระบอบปิตาธิปไตยนี้ก็ไปสู่การทำแท้งลูกสาวจำนวนมหาศาลของประเทศ ผู้ที่ธำรงรักษาโครงสร้างชายเป็นใหญ่ และลักษณะครอบครัวเช่นนี้ ก็รวมถึงผู้หญิงด้วยเช่นกัน
เพราะผู้หญิงเองก็สามารถเป็นพาหะนำปิตาธิปไตย
จากแม่สู่ลูก จากเพื่อนหญิงสู่เพื่อนหญิงได้เหมือนกัน
เหมือนหนังเรื่อง ‘The Stepford Wives’ เวอร์ชั่นปี ค.ศ.2004 ที่เป็นคอมเมดี้ (ไม่ใช่เวอร์ชั่นปี ค.ศ.1975 ที่เป็นหนังเขย่าขวัญและจบคนละอย่างกัน) ดัดแปลงจากจากนวนิยายระทึกขวัญเสียดสีสังคมชายเป็นใหญ่โดย Ira Levin ในปี ค.ศ.1972 เล่าถึงหมู่บ้านเศรษฐีอันสงบสุขประหลาดๆ เพราะลูกบ้านแต่ละครอบครัว มีศรีภรรยาเป็นสาวบลอนด์พริ้มเพรา นมใหญ่สะโพกผายในชุดแต่งกายสละสวย ขมีขมันทำงานบ้าน มีความสุขกับการปัดกวาดเช็ดถูจ่ายตลาดทำกับข้าว เพราะมนุษย์เมียทุกบ้านถูกฝังนาโนชิปให้เป็นหุ่นยนต์แม่ศรีเรือนและพร้อมเสมอที่ตอบสนองความปรารถนาทางเพศของสามีได้ตามใจสั่ง เมียผู้ใหญ่บ้านก็เช่นกัน
หากแต่สุดท้ายแล้ว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง คือศรีภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน นางเป็นนักวิทยาศาสตร์ นางไม่เพียงฆ่าสามีเจ้าชู้ของนางและทำให้เป็นหุ่นยนต์ แต่ยังสมาทานและพิทักษ์รักษาอุดมการณ์ปิตาธิปไตย ให้ผู้หญิงเป็นแม่และเมีย “เป็นกุลสตรีในห้องครัว เป็นอีตัวบนเตียงนอน” และพยายามเปลี่ยนหญิงทั่วไปให้เป็นแม่บ้านที่ ‘สมบูรณ์แบบ’
ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อสตรี (อันที่จริงก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับเพศใดก็ตาม) จึงไม่ใช่แต่เรื่องผัวตีเมีย ด่าทอ ข่มขืน บังคับขู่เข็ญที่เป็นความรุนแรงทางตรง การรณรงค์ยุติความรุนแรงที่ไม่สนสี่สนแปดกับโครงสร้างและวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำมิติอื่นๆ ที่ความรุนแรงสัมพันธ์กับสถาบันและระบบต่างๆ เช่น ครอบครัว ศาสนา ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ การศึกษาที่ไม่ได้สอนเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หรือความเป็นคนเท่าเทียมกัน ก็เป็นต้นตอและธำรงรักษาความรุนแรงต่างๆ ให้ดำรงอยู่
เผลอๆ คนที่ออกมารณรงค์ยุติความรุนแรงตบตีเองนั่นแหละที่ธำรงรักษาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและผลิตซ้ำความรุนแรงทางวัฒนธรรมอยู่ และทำให้การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ไม่ต่างอะไรกับการทำบุญทำกุศล ปล่อยนกปล่อยปลา ไถ่บาปแก้กรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต? : แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2549.