เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีการลงนามจากรัฐมนตรีสาธารณสุขเพื่อนำกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 โดยให้มีผล 120 วันนับจากประกาศดังกล่าว หรือในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ทำให้คอกัญชาและผู้ป่วยหลายคนแสดงความยินดีกับมูฟเมนต์สำคัญครั้งนั้น แต่ดูเหมือนเรื่องราวอาจไม่ดำเนินไปราบรื่นทั้งหมด
เพราะขณะนี้ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง โดยพรรคภูมิใจไทยเข้าสู่สภา ซึ่งเนื้อหาภายในร่างดังกล่าวทำให้บางคนเปรียบว่ามันคือ “การพอกัญชากลับไปขังคุกอีกรอบ”
มันเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ทำไมเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยถึงจัดม็อบเพื่อต่อต้านร่างดังกล่าว ในมุมมองพวกเขาปัญหาของร่างฉบับนี้คืออะไร และทิศทางที่ควรเดินหน้าไปสู่ ‘กัญชาเสรี’ ในความหมายพวกเขาควรเป็นอย่างไร
ขบวน 420 ต่อต้านร่างกฎหมายกัญชา ฉบับพรรคภูมิใจไทย
ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยได้จัดม็อบบริเวณหน้าองค์กรสหประชาชาติ โดยในช่วงเช้าได้มีการยื่นหนังสือกับสำนักนายกฯ เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. กัญชา-กัญชงฉบับภูมิใจไทย
ก่อนที่ในเวลาประมาณ 16.00 น. ขบวนจะเริ่มเดินมาถึงบริเวณสำนักงาน กพร. แล้วเริ่มอ่านแถลงการณ์เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีใจความ ดังนี้
- กัญชาเป็นพืชพื้นเมืองที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึง เช่นเดียวกับพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าในการรักษาโรค ประกอบอาหาร หรือแปรรูป
- แม้ในปัจจุบัน กัญชาจะถูกถอดจากบัญชียาเสพติด แต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชงฉบับใหม่ของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอเข้าสู่สภา เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยเห็นว่าไม่ได้ร่างเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะมีลักษณะกีดกันไม่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ทางการค้าของพืชกัญชาอยู่ดี
- เครือข่ายไม่ต้องการ “กัญชาเสรี” แบบไร้ขอบเขต แต่เรียกร้องให้กฎหมายฉบับใหม่ตั้งอยู่บนหลักการว่า กัญชาเป็นพืชพื้นเมืองที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม รัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยต้องไม่กีดกันประชาชนเหมือน พ.ร.บ.ฉบับพรรคภูมิใจไทย
- เครือข่ายเชื่อว่าถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงกัญชาได้อย่างเป็นธรรม พืชกัญชาจะสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจและการกระจายผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและยั่งยืน ดังนั้น การเคลื่อนไหวของเครือข่ายจึงเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมและเปลี่ยนแปลงการควบคุมทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา – กัญชง ฉบับภูมิใจไทย
สำหรับสถานะของกัญชาในตอนนี้ อธิบายให้ชัดเจนคือ ‘ผิดกฎหมาย’ จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยขณะนี้ทางกลุ่มผู้ออกกฎหมายกำลังยื่นร่างกฎหมายควบคุมกัญชา-กัญชง ฉบับใหม่เข้าสู่สภา ซึ่งเนื้อหาภายในร่างดังกล่าวมีดังนี้
1.ให้มี “คณะกรรมการกัญชา-กัญชง” ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจทิศทางทั้งแง่การแพทย์, อุสตาหกรรม รวมถึงวิจัยกัญชาและกัญชง โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน, เลขาฯ อย. เป็นเลขาฯ คณะ, และมีคณะกรรมการที่มาจากข้าราชการชั้นสูง รวมถึงให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 7 คน โดยต้องมาจากภาคเอกชน 3 คน โดยคณะกรรมทั้งหมดนี้มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี
2.การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าอาจเป็นได้ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชนในและต่างประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งขึ้นอยู่กับ อย. เป็นผู้ตัดสินใจ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.การปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนจำเป็นต้องขอจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง (กล่าวคือภาครัฐ) โดยใบจดแจ้งมีอายุ 1 ปี
4.การขอจดแจ้งและอนุญาตมีค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
- ใบอนุญาตปลูก และผลิต (สกัด) มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 50,000 บาท
- ใบอนุญาตนำเข้ามีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 100,000 บาท
- ใบอนุญาตส่งออก มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
- ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 20,000 บาท (นำเข้า-ส่งออกรูปแบบนี้ต้องขออนุญาตทุกครั้ง ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท)
- ใบอนุญาตจำหน่าย มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท
- ค่าขออนุญาตหรือคำขออื่นๆ คำขอละ 7,000 บาท
- ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากองค์กรและผู้เชี่ยวชาญ องค์กรของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รายละ 100,000 บาท
- ค่าตรวจสถานประกอบการ ครั้งละ 50,000 บาท
- การต่อใบอนุญาตเท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมนั้น
5.ห้ามขายกัญชา กัญชงแก่บุคคลดังต่อไปนี้ มีอายุต่ำกว่า 20ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร ยกเว้นได้รับอนุญาตจากแพทย์ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 30,000 บาท
6.พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบทั้งสถานที่และพาหนะ, ยึดกัญชากัญชงบางส่วนไปตรวจสอบ, หากมีความสงสัยว่าจะกระทำความผิดสามารถเข้าไปยึดและอายัดกัญชา กัญชง รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ได้เลย
7.บทเฉพาะกาลระบุว่า ภายใน 5 ปีที่กฎหมายนี้บังคับใช้ การนำเข้ากัญชง กัญชงสามารถทำได้เฉพาะเพื่อการแพทย์, ประโยชน์ราชการ และการศึกษาเท่านั้น
ถาม-ตอบปัญหากฎหมายกัญชา กับ เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. หรือวัน 420 The MATTER ได้เข้าร่วมม็อบที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และภายในงานได้มีทั้งการยื่นหนังสือถึงนายกฯ รวมถึงร่วมอ่านแถลงการณ์เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายที่พรรคภูมิใจไทยเขียนขึ้น โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีเจตนาคืนกัญชาให้แก่ประชาชนโดยแท้จริง แต่ไม่ต่างจากการซ่อนปีศาจไว้ในรายละเอียด และคืนกัญชากลับกรงขังอีกครั้ง
The MATTRE ได้พูดคุยกับ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ตัวแทนจากเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย , ถึงปัญหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงข้อเรียกร้องที่ประกาศว่า “ไม่ได้เรียกร้องกัญชาเสรี แบบไร้การควบคุม” เป็นอย่างไร
คำถามที่หนึ่ง : คิดเห็นอย่างไรกับสถานะของกัญชาในตอนนี้ เพราะถึงแม้ปลดจากบัญชียาเสพติดแล้วก็ยังมีบางคนถูกจับ
ประสิทธิ์ชัยอธิบายถึงสถานะของกัญชาในตอนนี้ว่าอยู่ในสภาวะ “อิหลักอิเหลื่อ” เพราะถึงแม้นำกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว แต่ยังไม่มีผลชัดเจนจนกว่าจะถึงวันที่ 9 มิ.ย . หรือครบ 120 วันหลังประกาศนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
คำถามที่สอง : มองอย่างไรที่ยังมีประชาชนบางรายถูกจับกุมจากกัญชาในช่วงที่ผ่านมา
ประสิทธิ์ชัยฟังคำถามแล้วก็ส่ายหน้า เขากล่าวว่านี่คือความอิหลักอิเหลือที่พูดถึงข้างต้น เขาชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะมีโนยบายต่อกัญชาอย่างไร ซึ่งสำหรับเขามองว่า
“เมื่อมันปลดจากยาเสพติดแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องมีสามัญสำนึกว่าถ้าไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว” เขากล่าวต่อว่า “ผมคิดว่ามันควรยุติการจับไปได้แล้ว ตั้งแต่ปลดออกจากยาเสพติด หรือยึดถือวันที่ 25 ม.ค. ที่ ป.ป.ส. ปลดออกจากบัญชีก็ได้ มันเป็นความอิหลักอิเหลื่อ และไม่มีใครฟันธงว่าใครควรทำอย่างไร ดังนั้นก็คงไปยุติกันในวันที่ 9 มิ.ย. นี้”
ขณะที่ด้าน อัครเดช แกนนำอีกหนึ่งเล่าว่า จากกาลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านยังมีการจับผู้ครองครอบกัญชาจริง แต่เมื่อเข้าถึงชั้นศาลมักจะได้รับการรอลงอาญาไว้ก่อน แต่อย่างไรก็นับว่าเป็นการ “ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ” อยู่ดี
คำถามที่สาม : ทำไมเครือข่ายถึงกังวลว่ากฎหมายฉบับพรรคภูมิใจไทยจะมีปัญหา
ประสิทธิ์ชัยอธิบายว่า เราต้องเข้าใจว่ากฎหมายแบ่งกิจกรรมของกัญชาไว้ 2 แง่ คือซีกปลูก และซึกแปรรูป โดยในซีกปลูกเขามองว่า “ซีกปลูกมันไม่เสรี มันยังมีกลไกควบคุม และยังมีกลไกการลงโทษ ฉะนั้น กลไกแบบนี้จะทำให้คนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงส่วนแบ่งตลาดของกัญชาได้ ”
เขาอธิบายต่อว่า ตามข้อความในร่าง พ.ร.บ. ฉบับภูมิใจไทยระบุว่า ถ้าจะปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือต้องมีการจดเจ้งกับ อบจ. ซึ่งการได้ใบจดแจ้งยังต้องผ่านการวินิจฉัยคุณสมบัติ ซึ่งจะมีประกาศออกมาคุมอีกที ซึ่งสิทธิชัยมองว่ามันมีแนวโน้มว่าอาจเกิดการควบคุมกัญชาอีกครั้ง
“ในครัวเรือนไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย สามารถไปจดแจ้งและถ้าได้รับใบจดแจ้งก็ปลูกได้เลย แต่ว่าเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าการปลูกเป็นไปตามใบจดแจ้งไหม และถ้าไม่สามารถรื้อถอนกัญชาได้ เพราะฉะนั้น ใครจะปลูกได้ขึ้นอยู่กับระเบียบ แต่จะผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ มันไม่เสรีจริง”
แต่สิ่งที่แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยเป็นกังวลมากกว่านั้นคือ กระบวนการขาย เขาแสดงความเห็นว่า
ในกระบวนการขายหนักกว่านั้น มันต้องมีใบอนุญาตทั้งปลูก 50,000 บาท แปรรูป 50,000 บาท นำเข้าส่งออกอีก 100,000 บาท และยังอาจมีค่าตั๋วธนาคาร ค่าทำของอีก ซึ่งในกรณีที่แย่ที่สุดกระบวนการนี้อาจต้องใช้ถึงเกือบ 1,000,000 บาท ยังไม่นับความยุ่งยากของเอกสารที่ต้องขออีก แล้วจะมีกี่คนที่ปลูกได้?
ประสิทธิ์ชัยยังอธิบายต่อว่า ในร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทยยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ สั่งพัก เพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงยึดอุปกรณ์ ซึ่งเขามองว่านี่ไม่ต่างจากความพยายาม “ควบคุมการผลิต” ของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดกัญชาดลย
“เนื้อหา 90% ที่เขียนในร่างกฎหมายมันเป็นเนื้อหาคุมการผลิต ขณะที่มีมาตราเดียวที่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น ชัดเจนมากว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับภูมิใจไทยร่างขึ้นเพื่อควบคุมทางการค้า”
คล้ายๆ กับกฎหมายเหล้าเบียร์ เสรีโดยหลักการ แต่คุมด้วยกลไก มันทำให้คนเข้าสู้ตลาดเบียร์ไม่ได้ จนมีแค่ไม่กี่เจ้าที่ได้ส่วนแบ่งตลาด 300,000 ล้านบาทไปหมด
ประสิทธิ์ชัยกล่าวต่อว่า “พวกเขาเขียนกฎหมายโดยมีสมมติฐาน รากฐาน ปรัชญาความคิดแบบนี้ ดังนั้น พอเราถอดรหัสออกมา เราจึงยอมให้มันเกิดขึ้นไม่ได้อีก”
คำถามที่สี่ : ทำไมถึงมีความกังวลต่อท่าทีของอำนาจรัฐต่อกัญชาในกฎหมายฉบับใหม่?
ประสิทธิ์ชัย กล่าวถึงประเด็นนี้ใน 2 ประการ ประการหนึ่งคืออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้นและยึดของกลางโดยที่ไม่ต้องมีหมายศาล เขากล่าว่วา
การให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าตรวจค้นและยึดทุกอย่างในกรณีที่สงสัยโดยไม่ต้องมีหมายค้น คำถามคือ เรากำลังปฏิบัติต่อกัญชาเสมือว่า มันคืออาวุธสงครามที่ก่ออันตรายอย่างยิ่งต่อประชาชน วิธีมองและปฏิบัติแบบนี้ มันแปลว่ากัญชายังเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ ทั้งที่คุณปลดมันออกจากยาเสพติดแล้ว
ประการสองคือ กลไกผู้เชี่ยวชาญ ประสิทธิ์ชัยมองว่า การให้อำนาจแต่งตั้งใครก็ได้ทั้ง บุคคล, องค์กร, คนไทย หรือต่างชาติในการเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การจ่ายใต้โต๊ะ
“ใครอยากปลูก แปรรูป แต่มีปัญหาบางอย่างแล้วไม่ได้ใบอนุญาต ก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อทำให้มันถูก อะไรแบบนี้มันเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น กลไกผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แล้วมันเป็นกลไกสำคัญด้วยซ้ำที่ทำให้โฟลว์ทั้งหมดที่ออกแบบมาลื่นไหล”
คำถามที่ห้า: ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงตัวเลขสาร THC 0.2% น่ากังวลไหม
ประสิทธิ์ชัยอธิบายว่า ตัวเลขดังกล่าวถูกเขียนอยู่ในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ในร่าง พ.ร.บ. กัญชา – กัญชง ฉบับของพรรคภูมิใจไทยกำหนดไว้อีกแบบหนึ่ง กล่าวคือให้คณะกรรมการกัญชา (ตามข้อ 1 ด้านบน) เป็นผู้กำหนดปริมาณสาร THC เขากล่าวว่า
“ถึงแม้ใน พ.ร.บ. ไม่ได้ระบุปริมาณสาร THC เอาไว้ แต่ถ้าเขาใช้ 0.2% เหมือนเดิม มันเกินแน่นอนครับ 0.2% มันรักษาโรคไม่ไ้ด้ เพราะทุกวันนี้เขาปรับปรุงพันธุ์กันจนสาร THC เกิน 30% แล้ว”
อย่างไรก็ตามในมุมมองของประสิทธิ์ชัย ตัวเลขดังกล่าวก็น่าสงสัยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เขากล่าวว่าว่า
คำถามคือตัวเลขตรงนี้มาจากไหน? มันมีหลักวิทยาศาสตร์อ้างอิงอะไรไหม หรือมาจากการคำนวณเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า
คำถามที่หก : ‘เสรีกัญชาภายใต้การควบคุม’ ในความหมายที่ทางกลุ่มอ้างถึงมีความหมายอย่างไร?
ประสิทธิ์ชัยอธิบายแนวคิดของทางกลุ่มว่า สำหรับกระบวนการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนั้นไม่ควรต้องมีการควบคุม ซึ่งรวมถึงกระบวนการแปรรูปเช่นทำน้ำมันกัญชาใช้ในครัวเรือนด้วย
“เรื่องการปลูกการใช้ในครัวเรือนควรจะเหมือนพืชทั่วไป พูดง่ายๆ เราปลูกในบ้านตัวเอง แปรูปเป็นน้ำมันใช้ในบ้านเราเอง ไม่ต้องควบคุม เหมือนตำน้ำพริกอยู่ในบ้านกินกันเองก็ไม่ต้องขออนุญาตใคร”
ขณะที่ในกระบวนการขาย เขาเห็นด้วยว่าควรมีจดแจ้งกับ อปท. สำหรับเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ เพียงแต่ผู้จดแจ้งนั้นไม่ควรมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตในกระบวนการนี้ คนที่รับผิดชอบควรเป็นหน่วยงานอื่นมากกว่า เช่น อย.
“ถ้าจะปลูกเพื่อขายต้องมีการจดแจ้งกับ อบต. เพื่อเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ เราคิดว่าถ้าทำแค่นี้สามารถทำให้เสรีโดยที่ประชาชนไม่ถูกกีดกันได้ เพราะการไปจดแจ้งถือว่าเป็นหน้าที่ แต่ผู้จดแจ้งเป็นแค่ผู้รับทราบข้อมูล ไม่มีสิทธิอนุญาตหรือไม่อนุญาต”
เมื่อไรนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกัญชาเข้ากลไกการค้าเนี่ย ผมเห็นด้วยให้ควบคุม แต่ผมคิดว่ามันก็กลับไปใช้กฎหมายตัวอื่น เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ให้ยุ่งยาก ภูมิใจไทยไปทำให้มันซับซ้อนมากขึ้น
คำถามที่เจ็ด : สรุปแล้วมาถึงตรงนี้ ควรดีใจหรือไม่กับสถานะของกัญชาในไทย?
“เราควรจะดีใจ แต่จังหวะนี้ถ้าเราไม่สามารถร่วมกันร่าง พ.ร.บ ฉบับประชาชนเอง มันจะเป็นการดีใจแค่แปปเดียว แล้วจะเสียใจขึ้นมา” ประสิทธิ์ชัยอธิบาย
อ่านเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทยที่เข้าสู่สภาได้ที่:
เสรีจริงไหม ใครปลูกได้บ้าง? สรุปสาระจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับภูมิใจไทยที่ยื่นเข้าสภา