เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ได้เปิดรายงานการลักลอบค้ายาเสพติดในปี 2020 ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 และพบว่าในภาพรวมตลาดยาเสพติดได้รับผลกระทบจากการระบาดอยู่ไม่น้อย ยกเว้นในภูมิภาคอาเซียนที่พ่อค้ายาปรับตัว แถมยังมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณยาเสพติด
ในไทยเอง ตั้งแต่ต้นปี 2564 มีข่าวเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งยาเสพติดล็อตใหญ่จากไทยสู่ต่างประเทศอยู่ไม่น้อย ไม่ว่ากรณีออสเตรเลียพบไอซ์กว่า 316 กิโลกรัมซุกในเรือขนส่งสินค้่าจากไทย หรือกรมศุลกากรฮ่องกงพบเฮโรอีน 23.6 กิโลกรัมซ่อนในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกส่งจากท่าเรือไทย
มองคร่าวๆ การจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่สะท้อนทั้งการทำงานที่แข็งขันและงานข่าวที่เป็นระบบมากขึ้นขององค์กรต่อสู้ยาเสพติดทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็สะท้อนถึงความเข้มแข็งของฐานผลิตยาเสพติดในอาเซียนเช่นกัน
The MATTER อยากชวนเปิดรายงานฉบันนี้ของ UNODC และชวนวิเคราะห์ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อโลกพ้นจากวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 แล้ว เรากำลังมีความท้าทายอะไรอยู่ และควรรับมืออย่างไรต่อปัญหายาเสพติด
รายงานของ UNODC
ในรายงานของ UNODC เรียกได้ว่าภาพรวมตลอดปี 2020 ตลาดยาเสพติดทั่วโลกคึกคักน้อยลง เนื่องจากมาตรการตอบโต้ COVID-19 ของรัฐบาลแต่ละประเทศทำให้การผลิต นำเข้า ส่งออก ตั้งแต่ต้นสายยันปลายน้ำของสารธารยาเสพติดมีปัญหา ด้านพ่อค้ายากำลังปรับตัวเปลี่ยนวิธีการผลิตและขนส่งยาเสพติด ขณะที่ผู้เสพเองก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
ในอัฟกานิสถาน เกษตรกรต้นฝิ่นขาดแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตทำให้พวกมันแห้งตายและไม่ถูกส่งไปผลิตเป็นยาเสพติดต่อเพราะนโยบายควบคุมการคมนาคมของรัฐบาล ต้นฝิ่นจำนวนมากในอัฟกานิสถานจะออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน มันถูกใช้เป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดหลายประเภทโดยเฉพาะ ผงขาวหรือเฮโรอีน (Heronin)
ในเม็กซิโก แม้ต้นโคเคนจะขึ้นทั้งปีและมีแรงงานเหลือเฟือในการเก็บเกี่ยว แต่การขนส่งยาเสพติดเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดสำคัญ อย่างสหรัฐฯ ก็ลำบากขึ้น เพราะมาตรการตอบโต้ COVID-19 ที่เคร่งครัด
แต่อีกซีกโลกหนึ่ง ตลาดยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับยังคึกคักสวนกระแสภูมิภาคอื่นของโลก รายงานของ UNODC ชี้ว่า การค้าขายยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียนเผชิญกับภาวะถดถอยแค่ชั่วครู่ และกลับมาเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมหลังช่วงไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว
ข้อมูลของหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดของอาเซียนชี้ว่า ในปี 2020 พวกเขาสามารถยึด meth หรือไอซ์ได้เกือบ 170 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 19% และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ยึดได้ในปี 2017 เกือบสองเท่า
UNODC วิเคราะห์สรุปแนวโน้มว่า นโยบายควบคุมการเดินทางในช่วง COVID-19 ทำให้ขนส่งยาเสพติดลำบากจนพวกมันขาดตลาด มีราคาสูงขึ้น และผู้เสพสามารถหายาเสพติดที่มีคุณภาพบริสุทธิ์ได้ยากขึ้น ทำให้พวกเขาอาจเปลี่ยนไปใช้สารตัวอื่นที่หาได้แทน อาทิ จากเฮโรอีนเป็นสารสังเคราะห์ด้วยฝิ่นชนิดอื่น
ในอีกด้านหนึ่ง มีแนวโน้มว่าพ่อค้ายาเสพติดสต็อกสินค้าตัวเองไว้อย่างดีในโกดัง และเมื่อสิ้นสุดวิกฤต ยาเสพติดเกรด A อาจทะลักเข้าสู่ตลาด จนกลายเป็นสิ่งที่มีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
เพราะความจนและขบวนการยาเสพติดทำงานร่วมกันอย่างแยกไม่ออก แนวโน้มการทะลักของยาเสพติดคู่กับการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก จึงน่าเป็นกังวลว่าจะมีผู้ที่หันมาใช้สู่ยาเสพติดมากขึ้น รวมถึงบางส่วนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด
สามเหลี่ยมทองคำและคลื่นยักษ์ของยาเสพติด
ถ้ามองตามแนวโน้มของ UNODC คำถามต่อมาคือ ‘ทำไมถึงน่ากังวลว่าไทยจะเป็นประเทศที่ยาเสพติดทะลักเข้ามาจำนวนมาก?’
คำตอบสำคัญคือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีเรื่องเล่าสนุกปากปนความจริงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานของไทยสามารถหายาบ้าได้ในราคาเม็ดละหนึ่งบาท หรือคำติดปากฝรั่งว่าประเทศไทยเป็นเมืองคนบาป (Sin City) และเรื่องเล่าอีกมากเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทย และถ้าจะบอกว่าทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ ‘สามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle)’ คงไม่ผิดนัก
สามเหลี่ยมทองคำคือพื้นที่บริเวณจังหวัดตอนเหนือของไทยที่มีอาณาเขตติดกับรัฐชานของเมียนมา และทางตะวันออกของลาว โดยมันเป็นศูนย์กลางการผลิตยาเสพติดชนิดแอมเฟตามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ควบคู่ไปกับการผลิตเฮโรอีนในพื้นที่พระจันทร์เสี้ยวของภูมิภาคตะวันออกกลาง และโคเคน ในเม็กซิโกและโคลอมเบีย
แล้วภูมิภาคนี้ผลิตยาเสพติดมหาศาลขนาดไหน?
ASEAN Drug Monitoring Report 2019 รานงานว่าปี 2019 ไทยมีการลักลอบขนยาเสพติดอย่างน้อย 197,231 กรณี โดยเป็นเฮโรอีน 723 กิโลกรัม, ยาอี 261,188 เม็ด, โคเคน 42 กิโลกรัม, ยาไอซ์ 17,619 กิโลกรัม และยาบ้ามากถึง 395.5 ล้านเม็ด
ในบทความของ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ชี้ว่าในปี 2019 มีรายงานการยึดแอมเฟตามีนในภูมิภาคอาเซียนรวมกับเอเชียตะวันออกมากถึง 140 ตัน ประมาณการเป็นกำไรแก่กลุ่มค้ายาเสพติดอย่างน้อย 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.2 ล้านล้านบาท) ขณะที่เฉพาะแอมเฟตามีนอาจมากถึง 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.9 ล้านล้านบาท) โดยส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นในรัฐฉานของเมียนมา
ขณะที่ในรายงานของ UNODC ปี 2019 ก็ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียนรวมกับเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นชนิดปีต่อปี จนทำให้ราคาของยาเสพติดถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยในปี 2011 ราคาท้องตลาดของ methamphetamine หรือยาไอซ์ของไทยอยู่ที่ราว 11 ดอลลาร์ ขณะที่ในปี 2019 อยู่ระหว่าง 2-3 ดอลลาร์เท่านั้น สะท้อนปริมาณยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นในตลาด และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แสงและเงา ความจนและยาเสพติด
องค์กรสหประชาชาติยืนยันข้อมูลผลการวิจัยในปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤตซัพไพส์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอไปทั่วโลกว่ามีความสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนตกงาน และภาครัฐมีเงินทุนในการต่อสู้กับยาเสพติดน้อยลง
เช่นเดียวกับในงานวิจัยของ Olga Khazan ที่ทำร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหัรฐฯ (National Bureau Economic Research) ที่พบข้อสรุปว่า อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสารสกัดจากฝิ่นเพิ่มขึ้น 3.6 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนผู้ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินจากอาการโอเวอร์โดสเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์
และถ้างานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ทำนายความจริงได้ ประเทศไทยที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ Perfect Storm อาจกำลังเผชิญภาวะที่คนหันหน้าเข้าหายาเสพติด และธุรกิจมืดมากขึ้น
จากรายงานของกองยุทธศาสตร์และการวางแผนมหภาคของสภาพัฒน์ ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 2.4 ขณะที่ในปี 2563 และ 2564 มีการคาดการณ์ว่าจะหดตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และ 3.5-4.5 ตามลำดับ
ขณะที่รายงาน ‘ผลกระทบโควิด 19 ต่อตลาดแรงงานไทย’ ในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 คนไทยเกือบ 6 ล้านคนกำลังว่างงานหรือเสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/ วัน)
ใกล้เคียงกับข้อมูลที่ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ แถลงเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีแรงงานเกือบ 7 ล้านคนกำลังเผชิญภาวะว่างงานหรือเสมือนว่างงาน โดยคิดเป็นแรงงานไทยที่ประสบภาวะว่างงานราว 7.6 แสนคน ขณะที่นักศึกษาจบใหม่อีก 4.9 แสนคนกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มเติม
หากนำตัวเลขการถดถอยทางเศรษฐกิจมามองคู่กับงานวิจัยของ Olga อาจทำนายได้ว่ายุคหลัง COVID-19 สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหายาเสพติดขนาดใหญ่ ทั้งจำนวนผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย และผู้ที่ยอมเดินเข้าสู่ธุรกิจสีดำ เพราะอับจนหนทางจากความจนที่เพิ่มมากขึ้น
นโยบายยาเสพติดยุค Post Covid-19
น่าจะเป็นคำถามที่ดีว่า ในยุคหลัง COVID-19 สิ้นสุด เราจะรับมือกับยาเสพติดอย่างไรต่อไป เพราะถ้าไม่ทำอะไรกับโครงสร้างที่เป็นอยู่ จำนวนนักโทษคดียาเสพติดอาจเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
อันที่จริง ภาครัฐไทยก็เริ่มยอมรับแล้วว่านโยบายสงครามยาเสพติดแบบริชาร์ด นิกสันมันไม่เวิร์ค และเริ่มหันมาใช้โมเดลแบบโปรตุเกส หรือเนเธอร์แลนด์ที่พยายามเปลี่ยนท่อนเหล็กเป็นไม้นวม ควบคุมและมองว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ร้ายที่ต้องกำจัดและพาตัวมาคุมขังแปลกแยกจากสังคม อย่างที่เห็นล่าสุดคือ การอนุญาตให้หันมาใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ รวมถึงความพยายามปรับบทลงโทษทางอาญา (Decriminalize) สำหรับผู้เสพพืชกระท่อม ซึ่งถือว่าเป็นการปักธงที่ชัดเจนว่านโยบายยาเสพติดในภายภาคหน้าของไทยจะเป็นอย่างไร
แต่ยาเสพติดเปรียบดั่งวัชพืช ยิ่งถอนยิ่งขึ้น ยิ่งเกลียดกลัวยิ่งใกล้ตัว ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุให้ลอง ที่จะพูดก็คือมันเป็นไปได้ยากมากที่จะกำจัดยาเสพติดให้หมดไปโดยสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ ในเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยกลุ่มเกี่ยวกับยาเสพติด อาทิ กรุ๊ปยาเสพติดหลอนประสาทชนิด DMT, กรุ๊ปเห็ดเมา หรือกรุ๊ปยาเสพติดชนิด Psychadelic อื่นๆ รวมถึงยังมียาเสพติด (Drug) ชนิดอื่นๆ ที่เหลื่อมกับคำว่ายา (Medicine) อยู่มาก เช่น ยาแก้ไอ ที่ถูกใส่ลงในน้ำผสมสี่คูณร้อย ซึ่งล้วนเป็นยาเสพติดชนิดที่ตรวจไม่พบในปัสสาวะ
โทษของยาเสพติดมีแน่นอนและมีมากด้วย แต่การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน อาจต้องเริ่มจากการปรับมุมมองต่อมันเสียใหม่ ไม่ใช่ทำสงครามกำจัดให้สิ้นซาก แต่คือการเรียนรู้ ควบคุม และตามให้ทันขบวนค้ายา
เรากำลังพูดถึงการยกเครื่อง โล๊ะความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดเสียใหม่ ไม่ใช่การตั้งแง่ติดในมายาคติว่าคนเสพยาแล้วจะถือมีดจี้คอลูกเมียอย่างเดียว แต่คือการให้ความรู้ถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและลบของยาเสพติด ตลอดไปจนควบคุมการผลิต จำหน่าย และอนุญาตซื้อขายโดยภาครัฐ
ความคิดดังกล่าวอาจดูก้าวหน้ากว่าความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบันอยู่มาก แต่ก้าวหน้าไม่ใช่แปลว่าเป็นไปไม่ได้ หากเราค่อยๆ ปรับเลนส์และจูนกันเสียใหม่ถึงปัญหายาเสพติด เราอาจจะหาทางออกที่มีประสิทธิภาพกว่าและลดจำนวนผู้ต้องขังที่สูญเสียอนาคตเพราะยาเสพติดจำนวนเล็กน้อยในมือได้
แต่จะว่าไป ไทยเราก็มีพ่อค้าเฮโรอีนนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ อยู่เหมือนกัน ดังนั้น จะว่าสังคมประเทศเราไม่ก้าวหน้าอาจไม่ถูกทั้งหมด ..
อ้างอิง:
unodc (2019)
thediplomat