หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปูพรมฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานขนส่งสาธารณะทุกประเภทตั้งแต่วันที่ 24-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะพนักงานของขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ต้องให้บริการรถเมล์สำหรับประชาชน
แต่คำถามสำคัญที่ตามมาสองประการคือ เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว รถเมล์ปลอดภัยหรือยัง และ ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นหรือยังหลังพนักงานขนส่งสาธารณะได้รับวัคซีน COVID-19
The MATTER ชวนฟังเสียงของผู้ใช้บริการและพนักงานขนส่งมวลกรุงเทพฯ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมดูแนวทางปฏิบัติของต่างประเทศ และอัปเดตสถานการณ์และข้อมูลวัคซีน COVID-19 ล่าสุด
นโยบายป้องกัน COVID-19
หลังจากที่กรมการขนส่งทางบกได้ปูพรมฉีดวัคซีนให้พนักงานขนส่งสาธารณะ รวมถึงพนักงานขับรถเมล์ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานขนส่งสาธารณะและผู้ใช้บริการ
โดยจากการรายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม สุรชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้แถลงข่าวว่า ได้มีการฉีดวัคซีนให้พนักงานแล้วทั้งหมด 5,000 ราย จากทั้งหมดประมาณ 13,000 ราย และคาดว่าอีก 8,000 รายจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มิถุนายน
ก่อนหน้านี้ สุรชัย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ทาง ขสมก. ได้มีนโยบายอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในรถเมล์
- พนักงานประจำรถต้องสวมหน้ากาอนามัยตลอดเวลา ทั้งก่อน-หลังปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
- หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
- ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
- ฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วมผสมของแอลกอฮอล์ร้อยละ 70 ก่อนที่รถจะออกไปให้บริการประชาชน
นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม กระทรวงคมนาคมยังได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เน้นย้ำให้ยึดตามมาตรการของกรมควบคุมโรค D-M-H-T-T-A โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยให้รถโดยสารสาธารณะนั่ง 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง และควบคุมไม่ให้มีผู้โดยสารเกินกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด หรือให้เหมาะตามประเภทพาหนะ
การทำความสะอาดรถเมล์
ตามปกติของรถเมล์เที่ยวหนึ่ง หลังจากที่มันวิ่งตามเส้นทางจนครบหนึ่งรอบให้บริการแล้ว มันจะกลับมาที่อู่ประจำของมัน ซึ่งแยกอยู่ตามมุมต่างๆ ของกรุงเทพ
เช่นเดียวกับภายในอู่บางเขน หลังจากที่รถเมล์มาจอดเทียบท่าส่งผู้โดยสารกลุ่มสุดท้าย รวมถึงพนักงานขับรถและกระเป๋ารถเมล์ลงแล้ว พนักงานทำความสะอาดในชุด PPE จะเดินขึ้นไปเพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดรถเมล์ทันที
และสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาขึ้นรถเมล์ที่อู่บางเขนและตามจุดต่างๆ ที่เป็นอู่จะได้รับการคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิก่อนจะขึ้นไปบนรถเมล์ แต่สำหรับผู้โดยสารที่ขึ้นระหว่างทาง รถเมล์ก็มีเจลแอลกอฮอล์วางไว้ให้ดูแลตัวเอง และมีการติดเทปสีแดงไว้บนเบาะ เพื่อให้ผู้โดยสารเว้นระยะห่างไม่นั่งใกล้ชิดกันมากเกินไป
พนักงานมั่นใจหรือยัง
พนักงานขับรถเมล์ 2 คนในอู่บางเขน หันมาตอบด้วยความเชื่อมั่นว่า เขาทั้งคู่ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มแรกแล้ว และภายในอาทิตย์หน้าจะได้รับอีกเข็มหนึ่ง
ขณะที่พนักงานขับรถเมล์อีกคนหันมาส่ายหน้า และอธิบายว่าทาง ขสมก. ไม่ได้บังคับให้พนักงานทุกคนเข้ารับวัคซีน แต่เป็นไปในระบบสมัครใจ ประกอบกับตัวเขามีโรคประจำตัวทำให้ปฏิเสธวัคซีนที่ทางกรมขนส่งจัดหาให้ และเลือกเข้ารับวัคซีนทางเลือกที่มีข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนจะจัดหามาให้แทน
หนึ่งในพนักงานสองคนที่ได้รับวัคซีนมองถึงการได้รับวัคซีนว่า “ถ้าไม่ฉีดมันก็ไม่ป้องกันอะไรเลย ถ้าฉีดมาก็ช่วยเราได้บ้าง แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสติดไหม ก็ติด แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ฉีดเลย”
“เราต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด แต่ก็ต้องรอให้ผู้โดยสารฉีดด้วย” เขากล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านสุภาพสตรีกระเป๋ารถเมล์ 2 คนให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว แต่พวกเขายังไม่มั่นใจจนกว่าจะได้รับเข็มที่สอง
หนึ่งในสองคนนั้นกล่าวว่า “ทุกวันนี้ เราก็กลัวเขา เขาก็กลัวเรา กลัวกันทั้งคู่นั่นแหละ” ซึ่งเธอขยายความว่า บางครั้งผู้โดยสารบางรายก็ชอบดึงหน้ากากอนามัยลงมาไว้ใต้คาง หรือซ้ำร้ายบางคนไม่ยอมสวมใส่หน้ากากอนามัยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งพอเธอจะเดินเข้าไปตักเตือนก็ถูกตวาดกลับมาว่า “เรื่องของกู”
เธอกังวลว่าผู้ใช้บริการบางรายอาจทำให้พนักงานและผู้โดยสารคนอื่นได้รับเชื้อได้ นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่าทาง ขสมก. มีนโยบายปรับเงินพนักงาน หากพบว่ามีผู้โดยสารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของการควบคุมโรค
ผู้ใช้บริการไว้ใจหรือเปล่า
ผู้โดยสารรายหนึ่งวัยราว 40 ปี ยืนรอรถเมล์อยู่บริเวณวงเวียนอนุเสาวรีย์ชัย เขาเล่าถึงการใข้บริการรถเมล์ในช่วง COVID-19 ว่า “ทุกวันนี้ต้องรอรถเมล์นานขึ้น บางทีรอเป็นชั่วโมง เกือบสองชั่วโมงก็มี เพราะรถมันวิ่งน้อยลง”
เขาเล่าว่าบางทีออกจากที่ทำงานราว 17.30-18.00 น. กว่าจะถึงบ้านก็ปาเข้าไปราว 20.30 แล้ว อย่างไรก็ตาม รถเมล์น้อยลง ก็สัมพันธ์กับจำนวนผู้ใช้บริการที่น้อยลงเช่นกัน
“มั่นใจขึ้นในระดับนึง แต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะเขายังฉีดกันไม่หมด” เขากล่าวถึงการพรมฉีดวัคซีนให้พนักงานรถเมล์
“ผมเองก็ลงรับวัคซีน Sinovac ไปแล้ว แต่กว่าจะได้ก็เดือนสิงหาคม” เขากล่าวถึงวัคซีนสัญชาติจีนที่ตนกำลังจะได้รับว่า “แต่ Sinovac ก็ประสิทธิภาพไม่ดีขนาดนั้น และไม่ป้องกันการแพร่เชื้ออยู่ดี แต่ถ้าได้รับวัคซีนมันก็จะมั่นใจกว่านี้” เขากล่าวทิ้งท้าย พร้อมขยับแมสก์ให้กระชับขึ้น
ผู้ใช้บริการรถเมล์อีกรายหนึ่งบริเวณห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวเล่าว่า “ช่วงนี้ผมไม่ค่อยได้ใช้รถเมล์เท่าไร ส่วนมากจะอยู่บ้านมากกว่า ถ้าต้องออกไปไหนก็เรียกแกร็บ” มองจากภายนอกอายุราว 20 ปี
“ถามว่ามั่นใจมากขึ้นไหม ผมต้องถามกลับว่าเขาฉีดอะไรให้พนักงาน ถ้าเป็น AstraZeneca ก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้า Sinovac ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันไม่ป้องกันแพร่เชื้อ”
หนุ่มวัยราวยี่สิบต้นๆ ที่ให้เดาดูคงเป็นนักศึกษากล่าวต่อว่า การเร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เขากล่าวว่า “ถ้าจะให้ฉีด Sinovac ก็ต้องให้ทั่วถึง แต่ถ้า AstraZeneca ก็ยังดีหน่อย เพราะถ้าผมจำไม่ผิดเหมือนมันสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ด้วยใช่ไหม หมายถึงถ้าคนที่รับวัคซีนได้รับเชื้อแต่ไม่มาก คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะไม่ติด”
“แต่ผมไม่ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลยังไง แถลงแต่ละทีก็ไม่ชัดเจน สับสนไปหมด” เขาพูดทิ้งท้าย
แนวปฏิบัติขนส่งสาธารณะต่างประเทศ
อันที่จริงกฎระเบียบที่ออกโดยกระทรวงคมนาคมไทยเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไม่ต่างกันมากนัก อย่างในอังกฤษ ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนหนึ่งโดสให้แก่ประชากรมากกว่าร้อยละ 70 แล้ว แต่ก็ยังมีกฎเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและรถประจำทางอยู่ดี
โดยรัฐบาลอังกฤษมีโทษปรับสำหรับประชาชนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ขณะใช้บริการรถสารณะ (ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้ว) มีโทษปรับตั้งแต่ 100-200 ปอนด์ในครั้งแรก และเพิ่มทวีคูณจนมากสุดที่ 6,400 ปอนด์
การหมั่นใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหลีกเลี่ยงการจับสิ่งของก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ แนะนำให้หมั่นทำอยู่เสมอ ถึงแม้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC จะออกมาประกาศว่าโอกาสติดเชื้อ COVID-19 จากการสัมผัสพื้นผิวมีน้อยกว่า 1 ใน 10,000 หรือน้อยกว่า 0.01% ก็ตาม
อีกประการหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ พยายามเน้นย้ำคือ การเว้นระยะห่างและการวางแผนเดินทาง และถึงแม้รถเมล์ไทยเราจะขึ้นชื่อเรื่องความมั่วนิ่ม ไม่ตรงต่อเวลา แต่อยากแนะนำแอพพลิเคชั่น Viabus ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ CU Innovation Hub และขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยเป็นแอพฯ ที่จะคาดการณ์เวลาที่รถเมล์จะเดินทางมาถึง มีสายไหนบ้างที่สามารถขึ้นได้ รวมถึงบอกวิธีการเดินทางไปยังจุดหมายให้เราอย่างครบถ้วน
สถานการณ์กระจายวัคซีนไทย
ล่าสุด (10 มิถุนายน) ศบค. ได้แถลงจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพิ่มขึ้นเป็น 5.99% ของประชากรไทยทั้งหมด ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สองเพิ่มขึ้นเป็น 2.23% ของประชากรไทยทั้งหมด
แต่ปัญหาเรื่องชนิดวัคซีนยังเป็นสิ่งต้องคำนึงควบคู่ไปด้วย โดยจากงานวิจัย Phase 3 ของวัคซีน Astra Zeneca ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ Natural Medicine ซึ่งพยายามทดลองว่าผู้ได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าวสามารถป้องกันการติดและแพร่เชื้อ COVID-19 ได้หรือเปล่า
โดยนักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ทดลองตรวจหาเชื้อ COVID-19 จากประชากร 383,000 คน ด้วยวิธี RT-PCR เป็นจำนวนราว 2 ล้านครั้ง (ตรวจผู้ได้รับวัคซีนซ้ำไม่ว่ามีอาการหรือไม่มี) และพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็มไปอย่างน้อย 3 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ/แพร่เชื้อ COVID-19 ได้ถึง 61% ขณะที่ถ้าฉีดครบ 2 เข็มจะป้องกันได้ถึง 79%
ทางด้านวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักอีกหนึ่งตัวของไทย และได้ปูพรมฉีดให้พนักงาน ขสมก. อันที่จริงก็ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายนัก เพราะจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ว่า เมื่อรับ Sinovac ครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันการป่วยหนักนอนโรงพยาบาลได้ 85% และป้องกันป่วยจนเข้าไอซียู หริอต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 89%
อย่างไรก็ตาม ปัญหาประการหนึ่งของวัคซีน Sinovac คือ ยังไม่มีงานวิจัย Phase 3 ออกมารองรับ มีเพียง Press Release จากบริษัทเท่านั้น จึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่า Sinovac สามารถป้องการแพร่เชื้อได้หรือไม่ เพราะในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศชิลีที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเกือบค่อนประเทศ แต่กลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,000 รายต่อวัน (แต่ก็มีผู้นอนโรงพยาบาลและป่วยหนักลดลงเช่นกัน)
สุดท้ายยังต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของการชนะ COVID-19 คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเมื่อวัคซีนยังเดินทางมาไม่ถึง (สักที) เช่นนั้นเราทุกคนยังควรหมั่นดูแลตัวเองและรอบคอบอยู่เสมอนะค้าบ
อ้างอิง: