สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยกลับมารุนแรงอีกครั้ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นสี่หลักเป็นเวลาร่วมสัปดาห์ บุคลากรสาธารณสุขทำงานแข่งกับเวลา ไล่จับโรค สืบหาคลัสเตอร์ วนเวียนไปไม่รู้จบเหมือนการ์ตูนเรื่อง Tom&Jerry
แต่ขณะที่บุคลากรการแพทย์กำลังกุลีกุจอกับหน้างาน ปัญหาด้านการบริหารจัดการกลับโผล่มาไม่รู้จบ อาทิ ผู้ป่วยบางรายเข้าไม่ถึงเตียงและเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ได้มีโอกาสพบหมอ
และที่สำคัญ เรื่องของวัคซีนที่ทั้งสื่อมวลชน สมาชิกรัฐสภา บุคลากรสาธารณสุข และสังคมไทยทั้งหมดต่างรอคอยจากรัฐบาล ท้ายที่สุดกลับไม่คืบหน้า ฉีดได้ไม่ถึง 2% ของประชากร ซ้ำร้ายวัคซีนยังถูกผูกอยู่กับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ให้สิทธิในการผลิตกับบริษัทเดียวที่มีสายสันพันธ์กับกลุ่มชนชั้นสูง
สุดท้าย ความตายก็ร่วงโรยดั่งใบไม้ร่วงอีกครั้ง ทั้งที่นี่คือระลอกที่ 3 แล้วที่สังคมไทยเผชิญวิกฤต COVID-19
ไม่ว่าหลังบ้านจะวุ่นวายขนาดไหน แต่หน้างานบุคลากรทางการแพทย์ยังคงทำงานอย่างไมรู้เหนื่อย ทำทุกวิถีทางเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่พวกเขาควรได้ระบายหรือแสดงความคิดเห็นบ้าง ถึงปัญหาที่พวกเขาพบ ความเห็นต่อฝ่ายบริหาร และโดยเฉพาะเรื่องวัคซีน
และเบื้องล่างนี่คือ ความคิดเห็นของพวกเขาที่ The MATTER รวบรวมมาให้ผู้อ่านจากการสนทนาแบบปิดบังตัวตน
หมอแจสมิน
หมอแจสมิน (นามสมมุติ) แพทย์หญิงวัย 25 ปี ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วง intern ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตอบข้อความหลังจากพักจากงานที่หนักหนาว่า ทุกวันนี้ ปัญหาหนักที่สุดของการทำงานคือ ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าเปิดเผยว่าใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรค COVID-19 มาก่อน ซึ่งทำให้ทั้งตัวหมอแจสมินและบุคลากรในโรงพยาบาลเกิดความกังวล
แม้เธอเชื่อว่าบุคลากรในระบบสาธารณสุขของไทยมีความสามารถและความจริงใจในการดูแลผู้ป่วยทุกคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องสายด่วนโทรไม่ติด หรือผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเตียง ล้วนเป็นปัญหาในเชิงระบบ ที่มีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมอุปถัมภ์ในสังคมไทย
“(ปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเตียง) เรื่องปกติของไทยแลนด์ที่ไม่ควรปกติ แต่ก็เห็นมานาน เตียงเต็มแค่ไหนถ้าเส้นใหญ่ก็มักจะมีโอกาสได้เตียงมากกว่า เส้นสายและคอนเนกชั่นเป็นปัญหาใหญ่มากในสังคมไทย
“อีกเรื่องคือระบบราชการไทย ทำอะไรๆ ก็ช้าไปหมด บางอย่างก็ทำไม่เป็นระบบ แจ้งที่ประชุมแต่คนทำงานไม่ได้รับทราบ”
หมอแจสมินกล่าวถึงเรื่องวัคซีนว่า ในตอนแรกเธอกลัวมากที่ต้องฉีดวัคซีน Sinovac เพราะได้เห็นบางรายที่หลังฉีด มีอาการอ่อนแรงจนต้องรักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน ก่อนแสดงความเห็นว่าอย่างประเทศอื่น เขาก็มีการซื้อวัควีนหลายชนิดเข้ามาในประเทศ ไม่เหมือนไทยที่เหมาแค่เจ้าเดียว และไม่พอ กลับเป็นเจ้าที่ผลวิจัยออกมาว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำที่สุดอีกต่างหาก
“จริงๆ เราควรมีทางเลือกในการฉีดวัคซีนมากกว่านี้ หรือถ้าจะมีแค่เจ้าเดียว ท่านๆ ก็ควรพิจารณาจากงานวิจัยและเลือกอันที่แนวโน้มดูดีที่สุด”
เธอเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร นักวิชาการ, แพทย์, อาจารย์ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงหัวโขนหนึ่ง ขณะที่อีกหัวโขนที่ถอดไม่ได้คือหัวโขนของประชาชนคนหนึ่งในประเทศ
เธอแสดงความเห็นต่อแคมเปญลงชื่อเรียกร้องให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลาออกในเว็บไซต์ Change ว่า
“ควรคิดได้ตั้งแต่ก่อนจะโดนประท้วงนะ”
แพทย์หญิง SHP
แพทย์หญิง Single Happy P (นามสมมุติ ต่อไปนี้จะย่อว่า SHP – ผู้เขียน) เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เธอต้องทำงานที่รักหนักขึ้นและต้องเผชิญความเสี่ยงมากกว่าที่เคย เพราะนอกจากต้องตรวจคนไข้รายวันปกติแล้ว เธอยังต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจเชิงรุกในชุมชนและอาจสัมผัสกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการด้วย เธอเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองว่า
“กลัวตัวเองติด ไม่ได้กลัวตายขนาดนั้น แต่กลัวเอาเชื้อไปติดคนที่รัก ผู้ป่วย และเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว การทำงานในระบบสาธาณสุขไทย ปกติก็หนักอยู่แล้ว ป่วยแทบไม่ได้ ห้ามป่วยหรือมีคนลาเกิน 20% ไม่งั้นระบบอยู่ไม่ได้ โรงพยาบาลไม่สามารถเปิดต่อแบบปกติได้ ผู้ป่วยทั่วไปเดือดร้อนและการตรวจเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต้องพังลงแน่ๆ”
เธอเล่าต่อในข้อความถึงปัญหาเชิงระบบและการจัดการของฝ่ายบริหารในปัจจุบันว่า
“นโยบายจากสาธารณสุขจังหวัดก็ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน สั่งแต่ละนโยบาย ไม่คิดถึงคนหน้างาน งานปริมาณเพิ่มขึ้นแต่คนเท่าเดิม
“ขณะนี้ยังพอมีเตียงอยู่บ้างในบางจังหวัด แต่ที่ผู้ป่วยอายุน้อยเสียชีวิตจากโรค COVID-19 มันเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการแน่นอน ไม่ได้อยู่ที่มดงาน อยู่ที่ผู้บริหารที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตคน ทั้งที่ทำให้ดีกว่านี้ได้
“ผู้บริหารในระดับประเทศก็เข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดถึงประโยชน์ของประเทศหรือคนหมู่มากเป็นที่ตั้ง ใช้จ่ายอะไรก็คำนึงถึงผลประโยชน์แอบแฝง ไม่คำนึงถึงประชาชน เพราะเขาไม่ได้เข้ามาอย่างประชาธิปไตย ตอนนี้ไม่เห็นทางออก นอกจากรอเขาหมดอำนาจ”
คุณหมอ SHP แสดงความกังวลถึงวัคซีนอย่างตรงไปตรงมา เธอเปรียบเทียบว่าวัคซีนก็เหมือนเกราะป้องกัน เมื่อลงไปสู่สนามรบแล้วอุปกรณ์ป้องกันไม่ดีก็ไม่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจกันเสียเปล่าๆ
“เรื่องวัคซีนนี่แย่มาก คือสุดท้ายหมอต้องรักษาทุกคน แต่รัฐบาลไม่เตรียมเกราะป้องกันที่ดี แต่ให้เกราะป้องกันแค่ครึ่งๆ กลางๆ และไม่เปิดเผยถึงรายละเอียดของผลข้างเคียงอีก เราจะป้องกันคนไข้ได้ไง คุณอยากให้หมอที่มีเชื้อ COVID-19 รักษาพ่อแม่หรือตัวคุณเองหรือ? วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะไม่ต้องกลัวว่าตัวหมอจะรักษาคนไข้คนหนึ่ง แล้วเอาไปติดอีกคน”
เธอยืนยันว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เธอควรมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตัวเองในทุกด้าน ทั้งในเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อแสดงออกมาในฐานะองค์กร หรือโรงพยาบาล ควรมีการประชุมและปรึกษาบุคลากรคนอื่นในโรงพยาบาลเสียก่อน
เธอทิ้งท้ายถึงแคมเปญรณรงค์ใน Change.org ว่า “เป็นการแสดงจุดยืนที่ดี ไม่รุนแรง และแสดงออกมาได้ชัดเจน ชื่นชม”
หมอลี
หมอลี (นามสมมุติ) ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน โดยปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือ ระบบสาธารณสุขล้มเหลว
“ผมกลัวว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับผู้ป่วยไม่ไหว ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรค COVID-19 แต่รวมถึงผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องใช้ห้อง ICU เช่นกัน
“และอาจมีปัญหาที่ตามมาหลังจากนี้อีก เช่น โรงพยาบาล (โดยเฉพาะในเมืองใหญ่) งดรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการป่วยมากขึ้นในอนาคต เช่น ผู้ป่วยโรความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวานที่ขาดการพบแพทย์หรือตรวจพบไม่ทันก็อาจส่งผลเสียได้ และจะกลายเป็น after shock ของระบบสาธารณสุขหลังจากที่เราทุ่มทรัพยากรต่างๆ ไปกับ COVID-19”
หมอลีแสดงความเห็นต่อถึงเรื่องวัคซีนว่า การที่ไทยเลือกใช้วัคซีนเพียงเจ้าเดียว เป็นความเสี่ยงมากกกว่าผลดี นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขควรชี้แจงผลข้างเคียงของวัคซีนที่ใช้อยู่ในตอนนี้ (Sinovac-ผู้เขียน) ให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นให้กับสังคม
“การมีวัคซีนเจ้าเพียงเดียวค่อนข้างเสี่ยงเกินไปในแง่ประสิทธิภาพ เพราะสุดท้ายเราไม่รู้ว่าจะทำให้เกิด ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้แค่ไหนและจริงไหม”
“เรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ทางกระทรวงสาธารณสุขควรชี้แจงให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับสังคม แต่หากยังไม่ชัดเจน คิดว่าควรพักการฉีดไปก่อนเหมือนในต่างประเทศ” หมอลีพิมพ์ตอบมาทางช่องข้อความแอพพลิเคชั่นไลน์
คุณหมอจุก
หมอจุก (นามสมมุติ) แพทย์หญิงอีกคนหนึ่งได้เล่าให้เราฟังผ่านตัวอักษรว่า ทุกวันนี้สถานการณ์หนักขึ้นกว่ารอบที่แล้ว มีคนไข้ในโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งแบบที่มีอาการและไม่มีอาการจนเตียงในโรงพยาบาลเต็มแน่นไปหมด เธอเล่าต่อว่าทุกวันนี้งานตรวจประจำก็ต้องทำปกติ ผู้ป่วยรายไหนที่มีนัดก็ยังพยายามมาพบแพทย์ปกติ รวมๆ แล้ว เดือนนึงแพทย์แต่ละคนต้องออกตรวจราวคนละ “40 ชั่วโมง +++”
เธอกล่าวถึงงานของเธอด้วยอารมณ์ดีว่า “หลักๆ เลยคือช่วงนี้มันเดือนเมษายน มันร้อน หายใจไม่ออก พักกินน้ำลำบากมาก ต้องพยายามทำตัวไม่ให้ปวดฉี่ แต่ทุกคนก็ร้อนกันหมดเลยทนทนไป”
แต่เมื่อคำถามเดินทางมาถึงปัญหาเชิงระบบที่ส่งผลต่อคนไข้ในมือของคุณหมอจุก ท่าทีที่ดูสดใส อารมณ์ดีของเธอก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“พวกระดับผู้บริหารของรัฐบาลไม่เคยเห็นหัวคนรากหญ้าเลย ทั้งที่พวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เอาแต่อ้างว่าโรคนี้ตายแค่ 2% แต่บางคนตายเพราะเข้าถึงการรักษาล่าช้า บางคนตายเพราะไม่มีเตียง พวกเขาสมควรตายหรอ ทำไมถึงเข้ามาแล้วไม่ได้ช่วยพัฒนาหรือยกระดับชีวิตคนไทยเลย ไม่ได้มาทำงาน แต่มาหาผลประโยชน์ พอถึงช่วงวิกฤตจริงๆ ก็ทำอะไรไม่เป็น
“มันผิดพลาดที่การวางแผน นี่มันคือการระบาดรอบที่ 3 แล้วนะ ไม่ใช่รอบแรก ทำเหมือนกับว่าช่วงที่ไม่ระบาด ไม่มีการประชุมวางแผนอะไรกันเลย ทั้งที่สถานการณ์มันคาดเดาได้อยู่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
“สถานการณ์ปกติเตียงก็เต็มล้นอยู่แล้ว ทำไมคนไข้ COVID-19 ที่ควรต้องรับทุกเคสไว้ในโรงพยาบาลถึงไม่มีเตียงหรือต้องรอเตียง ถ้ามีการวางแผนที่ดีกว่านี้ในทุกด้าน กรณีที่ผู้ป่วยไม่เข้าถึงการรักษาหรือต้องเสียชีวิตคาบ้านมันจะไม่เกิดขึ้น
“รัฐบาลและรัฐมตรีสาธารณสุขก็เหลือเกิน ทำไมถึงออกมาให้แถลงข่าวมั่นใจว่าเตียงพอ และตรวจโรคที่ไหนก็ได้ สุดท้ายเป็นอย่างที่เห็นระบบบริหารจัดการมันไม่ได้เรื่อง ไม่มีการวางแผน ไม่มีการคุยกัน สายด่วน 1668 อีก ทำไมยังต้องใช้มือจดข้อมูลกันอยู่เลย กระทรวงดิจิทัลหายไปไหน งบประมาณหายไปไหนหมด นี่มันภาวะวิกฤตนะ”
คุณหมอจุกแสดงความเห็นต่อถึงเรื่องวัคซีนในปัจจุบันว่า “กลัวฉีดวัคซีนม้าเต็งแล้วตายหรือพิการ ไม่ก็ทำงานหนักแล้วตายไปก่อน ได้ใช้ชีวิต”
เธอตั้งข้อสังเกตุถึงการจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมว่า “ทำไมรัฐบาลถึงสั่งซื้อเพียงวัคซีน Sinovac ที่มีนักลงทุนรายใหญ่ของไทยถือหุ้นอยู่ ทำไมที่จะไปดีลวัคซีน Sputnik V ก็มีนักลงทุนรายนั้นเป็นเป็นหุ้นส่วน แล้วทำไมทีวัคซีน Pfizer มาเสนอขาย รัฐบาลกลับไม่รับ ทั้งที่บริษัทเขามีความมืออาชีพและได้รับการยอมรับในระดับสากล ทุกอย่างดูบังเอิญไปหมด”
เธอแสดงความเห็นต่อถึงเรื่องของวัคซีนและการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า
“อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ถูกฝึกมาให้คิดวิเคราะห์แยกแยะ (critical thinking + integral thinking) อยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ( evidence-based Medicine) แต่ทำไมคนบางกลุ่มยังหยิบเพียงบางด้านของวัคซีน Sinovac มาบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน ไม่ละอายวิชาชีพตัวเองบ้างเหรอ”
“เรื่องอาการแทรกซ้อนก็ปิดข่าว สั่งลบโพสต์ นี่ถ้าเป็นประเทศอื่นเข้าสั่งหยุดฉีดไปแล้ว แต่ไทยเราไม่มียี่ห้ออื่นให้ฉีดไง เลยต้องจำใจฉีดต่อแล้วโทษว่าเป็นผลข้างเคียงจากเฉพาะล็อตนั้น สุดท้ายล็อตนั้นก็ยังถูกฉีดต่อ.. และคนที่ฉีดก็คือหมอด้วย xxx กันหมดแล้ว 5555555 “
ดูเหมือนแพทย์ทั้ง 4 ท่าน จะเห็นตรงกันว่าการบริหารจัดการด้านสาธาณสุขในปัจจุบันมีปัญหาจริงๆ ดังนั้น เมื่อบุคลากรด่านหน้าทางการแพทย์ออกมากล่าวเช่นนี้แล้ว ก็ได้แต่เป็นกำลังใจให้แก่พวกเขา และหวังว่าผู้มีอำนาจในการวางแผนและกำหนดนโยบายตอนนี้ จะยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด ออกมาขอโทษเสียบ้าง และรีบแก้ไขปัญหาเดิมๆ ให้หมดสิ้น เพราะอย่างที่แพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ‘นี่มันคือการระบาดระลอกที่ 3 แล้ว ไม่ใช่ครั้งแรก’
และที่สำคัญรัฐบาลโปรดตระหนักว่ายิ่งวัคซีนมาถึงไว ความสูญเสียยิ่งมีน้อย ไม่ใช่แค่เพื่อส่วนรวม แต่เพื่อคนที่พวกท่านรักเองด้วย