“แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” หากนี่เป็นแคมเปญการตลาดก็คงเรียกได้ว่าสำเร็จ เพราะติดหูคนไทยในฐานะนโยบายเรือธงไปเรียบร้อย และเมื่อประเทศไทยได้แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ก็กลายเป็นสิ่งแรกๆ ที่ประชาชนทวงถาม
“ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก ได้รับการช่วยเหลือแบบหยอดน้ำข้าวต้ม ทีละ 500 บาท 700 บาท 1,000 บาท น้อยมาก หยอดเข้าไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร” นายกฯ เศรษฐาอธิบายในวิดีโอของพรรคเพื่อไทย ถึงเหตุผลที่ต้องแจกเงินคนละ 10,000 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 560,000 ล้านบาท
“ผมว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุกและกระตุ้นครั้งใหญ่”
และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามที่ตั้งใจไว้ พรรคเพื่อไทยจึงได้กำหนดเงื่อนไขในการรับเงินดิจิทัลไว้บางประการ
- ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป (เศรษฐาอธิบายว่า “เป็นอายุที่เริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว ทราบถึงว่าเงินควรจะใช้อะไร อย่างไรบ้าง”)
- ต้องใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน แต่หากเป็นพื้นที่ชนบทที่ไม่มีร้านค้า ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามภูมิประเทศ เพื่อให้สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ต้องใช้ภายใน 6 เดือน และไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้ (เพื่อ “กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว ทันที และเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศ” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว)
แต่ทั้งหมดนี้จะทำได้แค่ไหน? มีผลเสียหรือเปล่า? The MATTER คุยกับนักเศรษฐศาสตร์มหภาค วิมุต วานิชเจริญธรรม รองศาสตราจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนวิเคราะห์ถึงนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ของ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
ดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร?
วิมุตอธิบายว่า การทำธุรกรรม (transaction) หรือการจับจ่ายใช้สอย จะเป็นสิ่งที่ทำให้เงินหมุนเวียน และกลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิมุตอธิบายว่า สมมติหากได้เงินมา 100 บาท แต่เก็บเข้ากระเป๋าไม่ใช่จ่าย ก็จะไม่มีการสร้างรายได้เกิดขึ้น แต่หากนำเงินนั้นไปใช้จ่าย นั่นหมายความว่า เงิน 100 บาทก็จะกลายเป็นรายได้ของอีกคน และคนคนนั้นก็อาจนำเงินจำนวนนั้นไปใช้จ่าย เกิดเป็นรายได้อีกทอดตามมา
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างว่า คนหนึ่งคนได้รับเงินดิจิทัล 100 บาท และแทนที่จะเก็บเงินนั้นไว้กับตัว (ซึ่งหมายความว่า จะมีคนได้เงิน 100 บาทแค่คนเดียว) แต่นำเงินนั้นไปใช้จ่าย หลังจากนั้น ร้านค้าที่รับเงินจำนวน 100 บาทนั้นก็นำไปใช้จ่ายต่ออีก และร้านค้าในลำดับถัดไปก็นำไปใช้จ่ายอีก หมุนเวียนครบ 10 รอบ ก็หมายความว่า จากเดิม 100 บาท กลายเป็นมีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้นเป็น 1,000 บาท ทำให้คนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 100 บาท จำนวน 10 คน
อย่างไรก็ดี วิมุตชี้ว่า หากไปดูเอกสารที่พรรคเพื่อไทยส่ง กกต. ก็พบว่า เป็นการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งก็แปลว่า เป็นนโยบายการคลัง “ถ้าเป็นนโยบายการคลัง ลักษณะของการแจกเงินอย่างนี้ มันก็เหมือนกับนโยบายที่ลุงตู่ทำมาก่อนหน้า ที่แจกเงินคน หรือเช็คช่วยชาติ” เขาย้ำอีกว่า “มันไม่มีอะไรต่างกันเลย ในแง่ของการใส่เงินเข้ากระเป๋าคน”
เพียงแต่มีกิมมิกของการเป็นเงินดิจิทัล “ที่บอกว่าไม่เหมือน เพราะว่าอันนี้เป็นดิจิทัล ซึ่งจะมีการรับส่งของวอลเล็ต หรืออะไรที่เขาต้องสร้างขึ้นมาทีหลัง แล้วก็มีข้อจำกัดเรื่องรัศมีของการใช้ ซึ่ง โอเค มันก็คือความแตกต่างกันแล้วว่า จะแจกเงิน แต่มีข้อจำกัดในการใช้เงิน ก็จะมีตรงนี้ขึ้นมา”
แล้วนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จะเป็นจริงได้แค่ไหน? เราขอให้วิมุตฟันธงสั้นๆ ง่ายๆ ก่อน ซึ่งก็ได้คำตอบว่า
“แค่วอลเล็ต ผมเข้าใจว่ามันไม่ยากอะไร เรื่องของระบบการยืนยัน (verify) มันก็คงสามารถทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า มันก็จะมีคำถามตามมา”
ผลได้-ผลเสีย จากการแจกเงินดิจิทัล
“คงได้อยู่ ตรงที่เงินพอเข้ากระเป๋าคน แล้วคนไปจับจ่าย มันมีธุรกรรมเกิดขึ้น อันนี้ก็คงได้บ้าง” วิมุตวิเคราะห์ถึงผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
“สมมติเป็นลักษณะของการแจกเงินเข้ากระเป๋าประชาชน ประชาชนก็เอาไปใช้จ่าย รายจ่ายคนหนึ่งก็เป็นรายได้ของอีกคนหนึ่ง มันก็ทำให้คนมีรายได้ ทำให้เกิดการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งโอเค มันก็มีอิมแพ็กต์แน่นอน” และโดยเฉพาะในมุมมองของพรรคการเมือง “เขาก็ต้องมองโลกสวย ผลลัพธ์ (outcome) ซึ่งมันดีเลิศไว้ก่อน เพื่อที่จะคุยว่า โอเค เขากระตุ้นเศรษฐกิจได้” วิมุตกล่าว
สำหรับปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ วิมุตเข้าใจความกังวลของคนทั่วไปว่า “อยู่ดีๆ มีเงินจำนวนมหาศาลเข้ามา แล้วคนก็ถามว่า มันจะเกิดเงินเฟ้อไหม” ในเรื่องนี้ เขายังมองว่า หากเป็น ‘ภาพที่ดีที่สุด’ เงินเฟ้อก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
ที่เงินเฟ้ออาจจะไม่เกิดขึ้นในมุมมองของวิมุตนั้น ก็เพราะในช่วงเวลานี้ เศรษฐกิจยังไม่ดี ทรัพยากรยังใช้ได้ไม่เต็มที่ และยังต้องการกำลังจากหลายด้านอยู่ ดังนั้น เงินเฟ้อก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
“เราก็เห็น เศรษฐกิจมันก็ยังไม่ดี มันก็มีทรัพยากรที่ยังใช้ไม่เต็มที่ค่อนข้างเยอะ ยังต้องการกำลังซื้อจากหลายๆ ด้านอยู่ เพราะฉะนั้น มันอาจจะไม่เกิดเงินเฟ้อก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดคนไปใช้จ่ายในต่างจังหวัดกันจริงๆ มันก็อาจจะดีสำหรับเขา ก็มีธุรกรรม มีอะไรขึ้นมา”
ส่วนการควักงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เขาอธิบายว่า รัฐบาล “ยังไม่ต้องควักเงินในตอนนี้ เพราะว่ามันเป็นเงินดิจิทัล คือเหมือนเป็นตัวเลขอยู่ในบัญชี แล้วก็มีการซื้อขายกัน ก็คือ โอนตัวเลขระหว่างกัน” และใน ‘ภาพที่สวยที่สุด’ ประชาชนอาจจะใช้จ่ายอย่างดีมาก สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้เยอะ รัฐบาลก็อาจจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้เยอะ โดยที่ไม่ต้องออกเงินงบประมาณมากเท่าที่ควรก็ได้
แต่ด้วยงบประมาณจำนวนเท่านี้ วิมุตก็เตือนด้วยว่า อาจนำไปสู่ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น “งบประมาณมันเยอะ มันก็จะมีการก่อหนี้ที่อาจจะตามมาได้ การที่หนี้สาธารณะอาจจะเพิ่มขึ้น มันสร้างภาระทางการคลังในอนาคต รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีเพื่อใช้หนี้” เขามองว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือ ต้นทุน งบประมาณที่ใช้ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูง ในขณะที่เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าผลที่คาดหวังไว้จากนโยบายจะมากน้อยแค่ไหน
วิมุตเล่าด้วยว่า “ผมจำได้สมัยที่รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาปุ๊บ โห นโยบายตอนนั้นเขาคือแกรนด์สเกล (grand scale) ทั้งนั้นเลย [เช่น] 30 บาท [รักษาทุกโรค] กองทุนหมู่บ้าน หรือว่า [โครงการ] พักหนี้ นโยบายแบบระดับใหญ่เลย จำได้ว่าเขาก็สามารถที่จะรีดงบประมาณเพื่อเอามาสนับสนุนนโยบายพวกนี้ได้
“สถานการณ์มันต่างกันตรงที่ว่า ยุคนั้นตอนเข้ามา รัฐบาลไม่ได้มีหนี้เยอะเหมือนตอนนี้ ยุคก่อนโน้น งบประมาณรัฐบาลเกินดุลมากกว่าขาดดุล แต่พอมายุคนี้ หนี้มันเยอะมากแล้ว และมันก็มีอะไรต้องใช้จ่ายเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า มันก็ยากอยู่นะ ถ้าจะใช้นโยบายแบบนี้จริงๆ โดยที่ไม่ได้มีแนวทางชัดว่าจะไปตัดงบประมาณอะไร คือถ้าคุณไม่ตัด มันก็ยากเหมือนกันว่าคุณจะเอาเงินมาจากไหน”
อุปสรรคทั้งหลาย
วิมุตบอกกับเราด้วยว่า “คุยกับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผม บางทีคุณอาจจะไม่ได้คำตอบอะไร” เขากำลังหมายความว่า เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า สุดท้ายแล้ว นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน
“อย่างในเรื่องตัวคูณทวี [ทางการคลัง] สุดท้ายแล้วมันจะทำให้เกิดธุรกรรมมากแค่ไหน อันนี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ เงินมันจะหมุนกี่รอบ อันนี้ไม่รู้”
ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดไว้ วิมุตแจกแจงไว้หลายประการที่น่าพิจารณา
ประการแรก พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนที่อาจทำให้เกิดธุรกรรมไม่มาก
“สมมติว่า ผมมีเงินดิจิทัลในกระเป๋าอย่างนี้ แต่ว่าผมไม่อยากซื้ออะไร ผมอยากได้เงินสด แล้วถ้าเกิดมีคนขายคนหนึ่งเขาบอก เอาไหมล่ะ 10,000 บาทโอนมาให้เขา แล้วเขาจ่ายเงินสดให้เลย 9,800 บาท หรือ 9,500 บาท มันก็ได้ … พอแลกเสร็จปุ๊บ ได้เงินสดมา เอาไปซื้อเหล้า ซื้อเบียร์ในร้านสะดวกซื้อ อย่างนี้มันก็ผิดวัตถุประสงค์”
ประการที่สอง ปัญหาความต้องการไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ (lackk of double coincidence of wants)
“เงินดิจิทัลมันก็ไม่เหมือนเงินสด ตรงที่ว่า คุณต้องแมตช์คนขายกับคนซื้อให้ได้ เช่น ผมมีเงินดิจิทัล ผมอยากกินก๋วยเตี๋ยว แต่ว่าคนขายก๋วยเตี๋ยวไม่มีใครเข้าโครงการนี้เลยแถวบ้าน เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่รู้จะไปซื้อก๋วยเตี๋ยวจากใคร ในระยะ 4 กิโลเมตร แบบนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน”
ประการที่สาม อุปสรรคทางเทคโนโลยี
วิมุตอธิบายว่า คนเคยก้าวข้ามความยากทางเทคโนโลยี จากการปรับตัวใช้แอปฯ ‘เป๋าตัง’ มาแล้ว คราวนี้มีของใหม่เป็นดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจสร้างความลำบากให้ผู้ใช้อีก หรือในอีกแง่ เงินดิจิทัลอาจต้องการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแฮ็ก อาจต้องจำกุญแจส่วนตัว (private key) ซึ่งอาจจะซับซ้อนเกินไปสำหรับบางคน
อีกประการซึ่งอาจเป็นอุปสรรค วิมุตได้ตั้งคำถามทิ้งไว้ คือ ไม่แน่ว่าหากรับเงินดิจิทัลแล้วอาจต้องตรวจสอบภาษีหรือไม่ กรณีนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนขายบางส่วนไม่อยากรับเงินดิจิทัลเช่นกัน
ถ้าไม่แจกเงินดิจิทัล จะทำอะไรแทนได้บ้าง?
“นโยบายแจกให้กับทุกคนแบบนี้ ถ้าประเทศมันไม่เกิดวิกฤตจริงๆ เขาไม่ค่อยใช้กันหรอก” ข้อสังเกตของวิมุต
ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็เป็นความเห็นที่ตรงกับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ออกมาวิเคราะห์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย
“อย่างอเมริกาเราก็เห็นใช่ไหม ตอนสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สมัย COVID-19 เขาแจกเช็ค แจกเงินให้คนเลย แต่ว่านั่นคือมัน COVID-19 ไง มันวิกฤต คนตกงาน คนไม่ได้ทำงาน เขาให้เงินกันไปเลย แต่นี่ก็คือ ตอนนี้เศรษฐกิจเราเริ่มฟื้น ทุกอย่างมันเริ่มกลับมา”
แม้จะเป็นนโยบายที่ต้องทำ เพราะออกมาในช่วงหาเสียง แต่วิมุตก็เตือนว่า ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของการทำนโยบายด้วย “จริงๆ มันมีเรื่องข้อจำกัดนะ อย่างเรื่องงบประมาณที่เราพูดกัน คุณไม่ใช่มหาเศรษฐีนี่ เรายังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้เงินอยู่” หากปรับปรุงเฉพาะหน้า วิมุตเสนอว่า อาจต้องกำหนดเกณฑ์ในการรับเงินดิจิทัลเพิ่มเติม เช่น อายุ หรือรายได้ เพื่อให้ไม่กระทบสถานะทางการคลังมากนัก
แต่สำหรับตัวเขาเอง วิมุตเผยว่าตัวเองเห็นด้วยกับนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการ มากกว่านโยบายอย่างการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายที่ออกมาเป็นวาระ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรจัดสรรงบประมาณใหม่ที่จะเป็นการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ แทนที่จะทุ่มงบไปกับดิจิทัลวอลเล็ต
“ผมก็คงเห็นด้วยกับนโยบายแบบที่เป็นสวัสดิการ ซึ่งอยู่ถาวรตายตัวมากกว่า 10,000 บาท ก็อาจจะมาก แต่ว่าหมดแล้วเป็นยังไง สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ เพราะถ้าเกิดรวมกับปัญหาอื่นๆ ที่เราเห็นตอนนี้ อย่างเช่น หนี้ครัวเรือน ซึ่งมันก็น่าห่วงอยู่ 10,000 บาทสำหรับคนมีหนี้ อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ก็ได้ ก็น่าคิด”
“จริงๆ ก็ควรจะดึงจากอย่างอื่นที่เราคิดว่ามันได้มากไปในตอนนี้ [งบประมาณ] และไม่ได้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ดึงมาแล้วก็เอามากระจายใหม่ สำหรับแก้ปัญหาหลักๆ ของประเทศ”
“ที่เราพูดกันก็มีความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องของการทำธุรกิจที่คุณอาจจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ก็พยายามมาแก้เรื่องพวกนี้ ทำให้เกิดโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ ระดับ พวกนี้มันเป็นไอเดียที่กว้างๆ แต่มันก็พอเห็นว่า มันควรจะจัดสรรไปแนวไหน”
วิมุตยังยกตัวอย่างนโยบายที่เป็นการแจกเงินเหมือนกัน แต่ก็จัดว่าเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการด้วย เช่น การแจกเงินประชาชนเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อไปใช้สำรวจในสิ่งที่ตัวเองสนใจ
(เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงหลายประเทศในยุโรป ที่แจกเงินจำนวนหนึ่งให้กับเยาวชน เรียกว่า ‘ตั๋ววัฒนธรรม’ (culture pass) สำหรับใช้จ่ายในเชิงวัฒนธรรม เช่น ซื้อหนังสือ วิดีโอเกม แผ่นเสียง หรือไปชมคอนเสิร์ต อย่างเช่นล่าสุดคือกรณีของเยอรมนี ที่ประกาศแจกเงินคนละ 200 ยูโร หรือราว 7,500 บาท ให้กับคนอายุ 18 ปี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา)
“นี่คือแจกเงินเหมือนกัน แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (target group) และมีกรอบของการใช้เงินที่ชัดเจน แบบนี้ มันก็น่าจะมีผลดีต่ออนาคต มากกว่าที่จะกลายมาเป็นการบริโภค (consumption) ในปัจจุบัน” วิมุตอธิบาย
เข้าใจเหตุผลเพื่อไทย
เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ออกนโยบาย The MATTER พยายามติดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ คือ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล เพื่อขอคำอธิบายต่อข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
เราจึงขอรวบรวมคำตอบจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่เคยอธิบายไว้ในหน้าสื่อต่างๆ แทน
ทำไมต้องบล็อกเชน?
ประเด็นแรกที่คาดว่าน่าจะมีคนสงสัยจำนวนมาก คือ ทำไมต้องบล็อกเชน? เผ่าภูมิ เคยอธิบายในรายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า เหตุผลมีอยู่ 2 ข้อ
เหตุผลข้อแรกคือ เพื่อ “สร้างระบบการชำระเงินที่เป็นรูปแบบใหม่ที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ระบบปัจจุบันรองรับไม่ได้” อีกข้อคือ “บล็อกเชนมีข้อดีในเรื่องของการที่เราสามารถเขียนเงื่อนไขลงบนเงินได้ มันไม่ใช่กิมมิก มันไม่ใช่ความสนุก มันเป็นวัตถุประสงค์ของการสร้างมาตรการทางการคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ซึ่งก็จะทำให้ใช้ระบบเดิม อย่าง แอปฯ เป๋าตัง ไม่ได้
เผ่าภูมิยังอธิบายต่อในรายการของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถึงสาเหตุที่ต้องเป็นเงินดิจิทัล และไม่แจกเงินสด ว่า “ถ้าแจกเงินสด สิ่งที่เกิดขึ้น คนรวยได้รับเงินใส่เข้าบัญชีเงินฝาก ไม่เกิดอะไรเลยในระบบเศรษฐกิจ และคนที่มีรายได้น้อยเอาไปใช้จ่าย บางทีก็หมุนอยู่ในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นเมืองที่เจริญฟู และต่างจังหวัดก็เป็นเมืองที่ซบเซา”
ทำไมต้องกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้?
พรหมินทร์ เคยแถลงที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ว่า “หลัง COVID-19 เมื่อวัดไปแล้ว เราเป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียน … เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายของประชาชนก็เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่พอ เพราะฉะนั้น เป็นการสำคัญที่จะต้องกระตุ้น เราไม่อยากหยอดน้ำข้าวต้มเพื่อให้ยืดความตาย แต่เราจะต้องใช้การปั๊มหัวใจให้ฟื้นคืนมาให้รวดเร็วและแข็งแรง เพื่อที่จะไปทำทุกเรื่อง”
ทำไมต้องกำหนดเงื่อนไข ใช้ภายใน 6 เดือน ในรัศมี 4 กิโลเมตร?
ในการแถลงครั้งเดียวกับพรหมินทร์ เศรษฐาได้อธิบายถึงการกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ในการแจกเงินดิจิทัลด้วย
เช่น ทำไมต้องใช้ภายใน 6 เดือน เศรษฐาระบุว่า “เพราะอยากให้มีการกระตุ้น ให้มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างรวดเร็ว ห้างร้าน SMEs ภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายก็จะได้มีการเร่งผลิตสินค้าออกมาเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ”
หรือทำไมต้องกำหนดรัศมี 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน เพราะ “เราอยากให้กลับไปใช้เงินที่บ้าน เพื่อที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่ให้มาใช้ที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ … เราต้องการให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค”
ใช้งบประมาณจากไหน?
งบประมาณราว 560,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในการแจกเงินดิจิทัล พรรคเพื่อไทยจะหาจากไหน? เผ่าภูมิแจกแจงในรายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ ว่ามีงบประมาณอยู่ 3 ก่อน
- รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2567 (270,000 ล้านบาท)
- รายได้ภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จากการหมุนเวียนของเงินดิจิทัล (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)
- การจัดสรรงบประมาณ เกลี่ยงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ เปลี่ยนมาเป็นงบประมาณสำหรับดิจิทัลวอลเล็ต (ประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาท)
“เป็นตัวเลขที่เราคิดกันมาอย่างดี และคิดกันมานาน ก่อนที่จะประกาศนโยบายนี้ในวันแรกที่คุณเศรษฐาประกาศ” เผ่าภูมิระบุ
ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ทำอย่างไร?
“ถ้าคุณไม่มีมือถือจริงๆ ไม่มีแอปพลิเคชั่นจริงๆ หรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตจริงๆ สามารถใช้บัตรประชาชนควบคู่กับคิวอาร์โค้ด (QR code) ที่สามารถออกให้เฉพาะได้” เผ่าภูมิกล่าวกับสรยุทธ
เพื่อให้เห็นภาพวิธีการใช้ เผ่าภูมิอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะออกคิวอาร์โค้ดให้ประจำตัวสำหรับผู้ใช้เงินดิจิทัล และเมื่อมีการใช้จ่าย หากร้านค้าตรวจแล้วพบว่า คิวอาร์โค้ดแสดงข้อมูลตรงกับบัตรประชาชน ก็เป็นอันว่าสามารถทำธุรกรรมได้
แจกเงินดิจิทัลกี่โมง?
เป็นคำถามที่ประชาชนถามไถ่กันมากที่สุด หลังจากรับรู้ว่าจะได้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งอันที่จริงแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่เคยเปิดเผยกรอบเวลาของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอย่างชัดเจน แต่จากคำพูดของสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่ง ก็คาดว่า น่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า
เผ่าภูมิบอกว่า “จริงๆ เราอยากเหลือเกินที่จะเริ่มตัวนโยบายนี้เป็นของขวัญปีใหม่ แต่มันก็จะมีเรื่องของตัวงบประมาณ ที่มันจะเร่งให้ทำเสร็จเร็วจริงๆ ก็ประมาณเดือน 2-3 ของปีหน้า มันมีขั้นตอน ต้องผ่านสภาฯ ต้องผ่านกรรมาธิการงบประมาณ อะไรต่างๆ”
และเปิดเผยด้วยว่า “จะพยายามทำให้คร่อมสงกรานต์” เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกลับบ้านโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพื่อให้นำเงินกลับไปใช้ในภูมิลำเนา
สรุปแล้ว เงินดิจิทัลจะเข้ากี่โมง หรือเป็นจริงได้แค่ไหน เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราจับตากันต่อไป ภายใต้นายกฯ คนใหม่ที่ชื่อ ‘เศรษฐา’