การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นับเป็นนโยบายแรกที่ประชาชนทุกภาคส่วน (รวมถึงผมเอง) ต่างจับตามองหลังจากพรรคเพื่อไทยคว้าตำแหน่งผู้นำรัฐบาล พร้อมกับคำถามติดแฮชแท็กว่าเงินหนึ่งหมื่นบาทนี้จะโอนเมื่อไหร่ เพราะหลายคนอาจเกรงว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายหาเสียงเพื่อการโฆษณาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การแถลงนโยบายของรัฐบาล ‘เศรษฐา 1’ ก็คงทำให้หลายคนใจชื้น เพราะท่านนายกรัฐมนตรียังคงยืนกรานเดินหน้านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตโดยมีเป้าหมายคือ “กระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง” และยังคงเงื่อนไขการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรเพื่อให้เงินสดไหลเวียนอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ และนำไปสู่การหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็จะได้เงินคืนเข้าคลังในรูปแบบของการจัดเก็บภาษี
หากยังคงเกณฑ์จ่ายเงินแบบถ้วนหน้าสำหรับประชาชนอายุมากกว่า 16 ปี รัฐบาลไทยจะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 5.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ของเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 เงินก้อนนี้จึงนับเป็นเงินก้อนใหญ่มโหฬารซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่เคยมีโครงการลักษณะนี้มาก่อน โครงการที่พอจะเทียบเคียงกันได้ที่พอจะนึกออกก็เป็นการแจกเงินช่วยเหลือของรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นที่แจกเงินก้อนเพื่อกระตุกเศรษฐกิจให้ฟื้นจากการระบาดของโควิด-19
การแจกเงินแบบถ้วนหน้าเช่นนี้ย่อมไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจล้วนๆ ซึ่งหากจะประสบความสำเร็จได้ตามที่หวังก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 5 ประการครับ
เงื่อนไขที่ 1: ในรัศมี 4 กิโลเมตรต้องมีที่ให้ใช้เงิน
หนึ่งในหลักเกณฑ์การใช้เงินที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งบ่นระงมถึงความยากลำบากในการใช้จ่ายคือข้อจำกัดว่า ต้องใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน หลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่อยู่อาศัยตามเมืองใหญ่ แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งในรัศมี 4 กิโลเมตรอาจไม่มีร้านให้ใช้บริการ
หากกางแผนที่ประเทศไทยแล้วใส่ตัวเลขรายได้ต่อหัวเข้าไปเราจะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัด ประชากรในกลุ่มจังหวัดรายได้สูงเช่นเขตชายฝั่งตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑลต่างมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 30,000 บาท ขณะที่กลุ่มจังหวัดรายได้ต่ำอย่าง นราธิวาส มุกดาหาร และหนองบัวลำภูต่างมีรายได้ปริ่มๆ ที่ 5,000 บาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนกำลังซื้อปัจจุบันของคนในจังหวัด นั่นหมายความว่ากลุ่มจังหวัดที่รายได้ต่ำจะเผชิญความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะหาร้านใช้เงินที่ได้รับโอนมาจากรัฐ เพราะเหล่าร้านค้า (หรือก็คือฝั่งอุปทาน) ต่างคุ้นชินกับประชากรที่รายได้ค่อนข้างต่ำ โครงสร้างพื้นฐานด้านสินค้าและบริการในปัจจุบันจึงอาจไม่พร้อมรองรับเมื่อวันดีคืนดีลูกค้าคนเดิมกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
แต่ความท้าทายยังไม่จบเพียงเท่านี้นะครับ ปัจจุบันเรายังไม่ทราบรายละเอียดของฝั่งผู้ขายว่าจะต้องลงทะเบียนหรือมีเงื่อนไขอะไรบ้าง หากขั้นตอนยุ่งยากก็อาจทำให้จำนวนผู้ขายที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมีจำนวนน้อยลง สร้างความยากลำบากแก่ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับเงินเพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ได้ไปใช้ที่ไหน เท่ากับว่าความหวังที่จะให้เงิน 10,000 บาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงไปไม่ถึงฝัน
เงื่อนไขที่ 2: เงิน 10,000 บาทต้องหมุนเวียนมากกว่า 1 รอบในระบบเศรษฐกิจ
หากเป้าหมายของรัฐบาลคือการเพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี หัวใจสำคัญคือการออกแบบให้การใช้จ่ายดังกล่าว ‘หมุนเวียน’ ในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากที่สุด เพราะตัวเลขจีดีพีคือ ‘ผลรวม’ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หากนายนิดได้เงิน 10,000 บาทจากรัฐบาล แล้วนำไปใช้จ่ายซื้อข้าวกระเพราหมูสับร้านป้าหน่อยไปแจกเพื่อนๆ ป้าหน่อยก็สามารถใช้เงินที่ได้มาสำหรับใช้จ่ายซื้อหมู กระเพรา น้ำปลา และพริกจากร้านชำลุงทิมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ลุงทิมก็ใช้เงินที่ได้จากป้าหน่อยเพื่อซื้อสินค้าจากเหล่าเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ส่วนเกษตรกรต้นน้ำก็จะย้อนกลับมาใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการอีกครั้ง ยิ่งธุรกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นหลายรอบมากเท่าไหร่ก็จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันเราก็ยังไม่เห็นระบบ ‘หลังบ้าน’ ของดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะฝั่งของร้านค้าที่ยังไม่ชัดเจนว่าถ้ารับเงินมาแล้วและต้องการนำไปใช้จ่ายต่อนั้นจะติดเงื่อนไขอะไรหรือไม่
หากสามารถแลกคืนเป็นเงินสดจากรัฐบาลได้
ก็ถือว่าสะดวกสบาย
แต่หากยังมีเงื่อนไขอย่างเช่นใช้จ่าย 4 กิโลเมตรจากภูมิลำเนาหรือต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเท่านั้นก็อาจเป็นปัญหา เพราะห่วงโซ่การใช้จ่ายอาจสะดุดหยุดลงทันทีเมื่อไปเจอกับคู่ค้าที่ไม่ได้ลงทะเบียน ตัวอย่างเช่น ร้านชำลุงทิมที่ไม่สามารถใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากป้าหน่อยเนื่องจากเหล่าเกษตรกรไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกเงื่อนไขที่จะทำให้ห่วงโซ่ธุรกรรมดังกล่าวหยุดชะงักลงคือกรณีที่สินค้าและบริการไม่ได้ผลิตภายในประเทศไทย เพราะการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศจะเปรียบเสมือนการ ‘นำเข้า’ ซึ่งส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจไทยแบบไม่เต็มที่ เนื่องจากเงินส่วนใหญ่จะไหลไปสู่มือของผู้ผลิตในต่างประเทศนั่นเอง
เงื่อนไขที่ 3: เงิน 10,000 บาทต้องเป็นการใช้จ่าย ‘ส่วนเพิ่ม’
สมมติว่าถ้าทุกคนที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ใช้เงินจนเกลี้ยงกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ตจะนับว่ารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่?
คำตอบคืออาจจะใช่หรืออาจจะไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ต้องพิจารณาคือเงิน 10,000 บาทที่ได้รับไปนั้นจะต้องเป็นการใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายปกติ หากใครอ่านแล้วยังรู้สึกงงๆ ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพแล้วกันครับ
สมมติว่าผมมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท เก็บออม 2,000 บาทและชำระหนี้ 8,000 บาท เมื่อได้เงินจากรัฐบาลมา 10,000 บาท ผมก็ไม่รู้จะเอาเงินไปซื้ออะไรเลยตัดสินใจคงค่าใช้จ่ายไว้ที่เดือนละ 20,000 บาทโดยจ่ายผ่านเงินสด 10,000 บาทและเงินในดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ขณะที่เงินส่วนเกินซึ่งได้มานั้นผมนำไปโปะหนี้บัตรเครดิต ส่วนที่เหลือก็เก็บเข้าบัญชีออมทรัพย์ไว้สำหรับยามเกษียณ
พฤติกรรมข้างต้นนับว่าไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะวัดจากการ ‘บริโภค’ นั่นหมายความว่าต่อให้ได้เงินเติมเข้ากระเป๋าดิจิทับวอลเล็ต ค่าใช้จ่ายก็ยังคงอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ขณะที่การนำไปชำระหนี้เปรียบเสมือนการบริโภคในอดีต ส่วนการเก็บออมคือการบริโภคในอนาคต
หากคนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มระดับการใช้จ่ายหลังจากได้รับเงิน แต่หันไปใช้เงินดังกล่าวชำระหนี้หรือเก็บออม นโยบาย ‘กระตุกเศรษฐกิจ’ ก็จะนับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะใช้เงินมหาศาลแต่ไม่สามารถปลุก ‘ประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง’ ได้สำเร็จ
เงื่อนไขที่ 4: งบประมาณก้อนนี้จะต้องไม่ลดทอนงบประมาณส่วนอื่นหรือนำไปสู่การเก็บภาษีเพิ่ม
หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลยากจะหลีกเลี่ยงที่จะต้องอัดฉีด ‘เงินใหม่’ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เงินใหม่ที่ว่านี้คือเงินที่จะต้องไม่เบียดบังงบประมาณส่วนอื่น หรือนำไปสู่การเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคตนั่นเอง เหตุผลก็สามารถอธิบายได้ด้วยสมการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
ปริมาณเงิน (M) x อัตราการหมุนของเงิน (V) = ราคา (P) x ปริมาณการผลิต (Q)
เป้าหมายของเราคือต้องการให้จีดีพีหรือปริมาณการผลิต (Q) เพิ่มขึ้นโดยที่ราคา (P) เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากรัฐบาลอัดฉีดเงินใหม่เข้าสู่ระบบก็จะเทียบเท่ากับการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ (M) ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราการหมุนของเงิน (V) คงที่ ปริมาณการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัตินั่นเอง
ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลไม่ได้สร้างเงินใหม่ แต่ลดทอนงบประมาณส่วนอื่นหรือเตรียมจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมก็ไม่ต่างจากการโยกเงินจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่งโดยที่ปริมาณเงินในระบบเท่าเดิม ความหวังเดียวที่จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นก็คือการเพิ่มอัตราการหมุนของเงินซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา อัตราการหมุนดังกล่าวคือการที่เงินเปลี่ยนมือในระบบเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกนำไปใช้ (1) ชำระหนี้ (2) เก็บออม หรือ (3) จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ
จากคำแถลงนโยบายล่าสุดของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่าจะรักษาวินัยทางการคลังและไม่ขายสมบัติของชาติสำหรับนโยบายดังกล่าว จึงนำไปสู่คำถามว่ารัฐบาลจะนำเงินก้อนใหญ่มหาศาลนี้มาจากไหน เพราะหากใช้วิธีปันส่วนจากเงินงบประมาณตามปกติก็อาจไม่ตอบโจทย์การเพิ่มปริมาณเงิน สุดท้ายหากจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้สำเร็จ รัฐจึงต้องหวังให้เงินหมุนเวียนในระบบหลายรอบมากขึ้นซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ใครจะควบคุมได้
เงื่อนไขที่ 5: ต้องคุ้มกับค่าเสียโอกาส
หนึ่งในเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามต้นทุนค่าเสียโอกาสซึ่งเราสามารถมองได้สองมุมทั้งในมุมปัจเจกและในมุมมหภาค
สถิติล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุว่าประชากรแฝงกลุ่มนี้มีจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 7 ล้านคนโดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประชากรแฝงกลางคืนที่ว่าคือคนที่อยู่อาศัยประจำในจังหวัดหนึ่งแต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของจังหวัดนั้น
นั่นหมายความว่าถ้าเงินดิจิทัล 10,000 บาทมีเงื่อนไขต้องใช้งานในระยะ 4 กิโลเมตรโดยอิงจากภูมิลำเนา ประชากรกว่า 7 ล้านคนนี้จะต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อใช้เงินก้อนดังกล่าวและนำไปสู่การเกิดค่าเสียโอกาส ทั้งการขาดรายได้ในกรณีที่พวกเขาเหล่านั้นทำงานหาเช้ากินค่ำ และสูญเสียผลิตภาพหากพวกเขาทำงานประจำ แน่นอนครับว่าการหยุดงานไม่กี่วันสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศย่อมคุ้มค่ากับการมีโอกาสใช้เงิน 10,000 บาท แต่หากนำค่าเสียโอกาสมาหักกลบลบกันแล้ว นโยบายดังกล่าวก็อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่
อีกหนึ่งค่าเสียโอกาสที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงคือตัวเลือกอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทคืองบประมาณก้อนใหญ่ หากรัฐบาลใส่ใจที่จะขยายความเจริญสู่ภูมิภาคก็ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟรางคู่ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและใช้งบประมาณน้อยกว่าด้วยซ้ำ
แต่หากรัฐบาลพิจารณาแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนจริงๆ และตระหนักดีถึงเงื่อนไขที่จะไปให้ถึงฝัน รวมทั้งเรื่องที่ว่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณก้อนใหญ่นี้จะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว ผมเองก็ไม่ขัดข้องและพร้อมเป็นพลเมืองดีใช้จ่ายเงินฟรีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง แล้วก็ขออวยพรให้รัฐบาลใหม่ไปถึงฝั่งฝันนะครับ