หลังนายกฯ แถลงนโยบายอย่างเป็นทางการ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.ก้าวไกล ลุกอภิปรายวิเคราะห์แหล่งที่มางบดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณแผ่นดินปี 2567 คงไม่พอ ส่วนเอาเงินนอกงบประมาณอย่างการกู้แบงค์รัฐก็เกินกรอบวินัยการเงินจนอาจกู้ไม่ได้
ศิริกัญญาเน้นย้ำว่า แหล่งรายได้และที่มางบประมาณการแจกเงินหมื่นคือเรื่องสำคัญ เพราะนโยบายนี้จำเป็นต้องใช้งบถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการแบบนี้จำเป็นต้องมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวนเพื่อสนับสนุนมูลค่าของเงิน
The MATTER จึงสรุปที่ศิริกัญญาวิเคราะห์แหล่งที่มางบดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาทไว้ ดังนี้
1. เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท มีทางเลือกว่าจะ 1) ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือ 2) เงินนอกงบประมาณ ถ้าจะใช้งบประมาณแผ่นดินต้องพิจารณาว่างบ-เงินสดพอมั้ย หรือถ้าใช้เงินนอกงบประมาณต้องพิจารณาว่า กู้แบงค์รัฐได้ไหม หรือจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียน-ขายกองทุนวายุภักษ์
2. ถ้าใช้ ‘งบประมาณแผ่นดินปี 2567’ งบจะไม่พอ เพราะงบประมาณ 3.5 ล้านล้านบาทไม่สามารถใช้จ่ายได้ตามใจ และมีค่าใช้จ่ายที่ตัดทอนไม่ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรราชการ งบใช้ชำระหนี้ เงินสวัสดิการตามกฎหมาย ดังนั้น งบที่จะเหลือให้หั่นตัดจะเหลือแค่ 8.5 แสนล้านบาท
ใน 8.5 แสนล้านบาท กฎหายกำหนดว่าต้องเป็นรายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% อีก ดังนั้นจะต้องกันเงินเป็นรายจ่ายลงทุนอีก 450,000 ล้านบาท เหลือใช้จริงแค่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทแน่นอน ..หรือถ้าจะดันทุรังใช้ งบ 4 แสนล้านบาทก็ต้องแบ่งกันใช้ใน 20 กระทรวงอีก จะเอามาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี่ถามรัฐมนตรีกระทรวงอื่นหรือยัง
3. ถ้าจะใช้เงินสดตามงบประมาณ อาจบริหารจัดการได้ แต่ปกติจะมีไม่พอ พร้อมยกตัวอย่างดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่บ่งชี้ว่า 4 เดือนแรกมีรายได้นำส่งคลังเฉลี่ยมากสุด 8 แสนล้านบาท แต่รายจ่ายกดไปแล้ว 1,200,000 ล้านบาท ซึ่งปกติไตรมาสแรกจะติดลบดุลเงินสด และอาจกู้ชดเชยขาดดุลบางส่วน ที่เหลือจะไปบริหารสภาพคล่องจากเงินคงคลัง
ถ้าจะทำให้ 5.6 แสนล้านเป็นเงินสดที่เพียงพอ จะต้องลดรายจ่ายจาก 1.2 ล้านล้านบาทลง 50% แต่เงินก็จะเหลือแค่พอให้จ่ายเงินเดือนค่าราชการ-เงินบำนาญ ถ้าไม่งั้นก็ต้องคุมเงินนอกงบให้สมดุล แต่เงินสดก็อาจจะไม่พออยู่ดี จึงมีเพียง 2 ทางเลือก คือ จะกู้เงินชดเชยขาดดุลล่วงหน้ามาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ หรือจะใช้เงินคงคลังที่ระหว่างปีก็จะเหลือไม่มาก
ดังนั้น การใช้งบประมาณแผ่นดิน ทั้งงบและเงินสดที่มีก็อาจไม่พอ
4. จึงจำเป็นต้องเลือกทางเลือกที่ 2 คือ ‘เงินนอกงบประมาณ’ ที่มีทางเลือกคือ กู้แบงค์รัฐ, ยืมกองทุนหมุนเวียน, ขายกองทุนวายุภักษ์
5. จะขายกองทุนวายุภักษ์ 346,000 ล้านบาท ถ้าจะขายให้หมดใน 4 เดือนก็เสี่ยงขาดทุน และอาจทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน หรือถ้าจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียน ก็ต้องเลือกว่าจะล้วงจากกองทุนประกันสังคม หรือจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งสิ่งนี้ศิริกัญญาไม่สนับสนุน เพราะไม่ใช่เงินรัฐบาล 100%
6. ตัวเลือกสุดท้ายจึงเป็นการกู้แบงค์รัฐ ซึ่งกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดให้กู้ได้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ตอนนี้ถึงคอหอยแล้ว สิ้นปี 2565 วงเงินเหลือ 62,000 ล้านบาท และปัจจุบันเหลือราว 18,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้าจะกู้จริงๆ ก็ทำได้โดยแก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ม.28 การกู้เงินจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ถ้าทำแบบนี้คงไม่สง่างาม เพราะตั้งแต่สปีชแรกและการแถลงนโยบายพูดย้ำถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่จะเริ่มงานด้วยการทำลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือไม่
และนี่คือข้อวิเคราะห์ต่อที่มางบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ศิริกัญญาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียด แหล่งรายได้ และที่มางบประมาณต่อประชาชน
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=nvLM_zfKxek
#ดิจิทัลวอลเล็ต #DigitalWallet #แถลงนโยบาย #ประชุมสภา #TheMATTER