น้ำท่วมหลายจังหวัดในประเทศไทย นิวยอร์กเจอน้ำท่วมลงไปถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน ฝนตกหนัก น้ำท่วมเป็นประวัติการณ์ในเหอหนาน ประเทศจีน
ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ที่ประสบปัญหากับเรื่องน้ำท่วม แต่ในรอบปีนี้ มีหลายประเทศ หลายเมืองที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นน้ำท่วมใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่น้ำมาก เพราะส่งผลต่อทั้งบ้านเรือน ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และชีวิตของประชากร ซึ่งภัยพิบัตินี้ก็ส่งผลมาจากสถานการณ์ภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change ที่ทำให้อุณหภูมิโลกเราสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าเมืองต่างๆ ที่เราเคยเห็น เคยไปเที่ยวในอนาคตอาจจะจมอยู่ใต้น้ำทะเล สถานที่ต่างๆ อาจจะไม่สามารถเดินเล่นได้ เพราะน้ำมากขังอยู่ ซึ่งโปรเจ็กจาก Climate Central กลุ่มวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้จำลองภาพ 184 สถานที่ ใน กว่า 50 เมือง ที่อาจจะเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยจากภาพสถานที่บางแห่งอาจจะจมหายไปหมดเลยด้วย
โปรเจ็กนี้เป็นการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และสถาบันพอทสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมา 3 องศาเซลเซียสนั้น ระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น จะทำให้สถานที่และเมืองต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างไร โดย The MATTER ขอยกมา 6 เมืองให้ทุกคนได้ดูว่า จะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และน้ำจะท่วมสูงถึงแค่ไหน หากเรายังไม่แก้ปัญหาโลกร้อนกัน
โตเกียวทาวเวอร์ โตเกียว, ญี่ปุ่น
นี่คือภาพของโตเกียวทาวเวอร์ ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะเห็นว่าตัวโครงสร้างของโตเกียวทาวเวอร์นั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ขึ้นสูง หากโลกร้อนขึ้น 3 องศา แต่เมืองโตเกียวบางส่วนทางด้านขวาของโตเกียวทาวเวอร์ จะมีสภาพอยู่ใต้น้ำเล็กน้อย เช่นลานจอดรถ ถนน และตึกต่างๆ ซึ่งในโปรเจ็กนี้ นอกจากโตเกียวแล้ว ยังมีการจำลองภาพเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งพบว่า มีสภาพน้ำท่วมสูงรุนแรงกว่าโตเกียว ทั้งฟุกุโอกะ นาโกย่า และซัปโปโรด้วย
สำหรับสถานการณ์สภาพอุณภูมิของโลกนั้น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการรายงานว่า ขณะนี้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ชี้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นควรอยู่ต่ำกว่า 1.5 องศา หลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่าตอนนี้ หลายๆ ประเทศทั่วโลกจะเริ่มตระหนักถึงเรื่องภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ และออกนโยบายต่างๆ เช่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีการคาดว่า หากมองสถานการณ์ในแง่ดีที่สุดนั้น ซึ่งทั่วโลกสามารถลดก๊าซเรียนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 อุณหภูมิโลกจะยังคงสูงสุดเหนือระดับ 1.5 องศาก่อนที่จะตกลง
พระราชวังบักกิ้งแฮม ลอนดอน, สหราชอาณาจักร
พระราชวังบักกิ้งแฮม ในลอนดอน จะล้อมไปด้วยน้ำ ประตูทางเข้าจะจมมิดอยู่ นี่คือสภาพการจำลองที่ Central Climate คาดการณ์ไว้ ซึ่งคงทำให้พิธีการดั้งเดิมอย่างการเปลี่ยนเวรยาม หรือทัวร์รอบพระราชวัง ต้องเปลี่ยนไปใช้เรือแทน ซึ่งนอกจากพระราชวังแล้ว เมือง และสถานที่ต่างๆ ในโปรเจ็กนี้ ก็ชี้ให้เห็นอังกฤษใต้ผืนน้ำเช่นกัน อย่างเช่นโบสถ์ King’s College ในแคมบริดจ์ ที่สนามฝั่งนึงจะมีน้ำนอง หรือมหาวิหารเซนต์ พอล ที่ก็จะถูกล้อมด้วยน้ำเช่นกัน
ซึ่งสถานการณ์นี้ อาจเกิดขึ้นได้ หากเรายังปล่อยมลพิษต่างๆ ต่อไป จนเกินกว่าที่พยายามตั้งไป ในปี 2050 นั่นจะทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาในช่วงปี 2060 หรือ 2070 และน้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราอาจจะเห็นภาพแบบนี้ได้ในปี 40-50 ปีข้างหน้านี้
พิพิธภัณฑ์ Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya มุมไบ, อินเดีย
บางเมืองแค่มีน้ำล้อมรอบ จมอยู่ใต้น้ำนิดหน่อย แต่สำหรับสถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์ Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya ในมุมไบ ประเทศอินเดียนั้น คงเรียกได้ว่ากลายเป็นเมืองใต้น้ำเป็นเลยอย่างสมบูรณ์ เพราะจากภาพจำลอง น้ำจะมิดเลยหลังคาของพิพิธภัณฑ์ไปเลยด้วย ซึ่งนอกจากสถานที่แห่งนี้ ในโปรเจ็กยังมี จัตุรัสมหาวิหารในฮาวานา ประเทศคิวบา ที่จะจมหายไปจนหมดเช่นกัน
ซึ่งจากรายงานชิ้นนี้ ยังชี้ว่า ประเทศเกาะเล็ก ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดงทั้งหมด และ 8 ใน 10 อันดับแรกของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอยู่ในเอเชีย ทำให้ประชากรประมาณ 600 ล้านคนต้องเผชิญกับน้ำท่วมภายใต้สถานการณ์ที่หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาฯ โดย Climate Central วิเคราะห์ว่า จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซียอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในระยะยาว รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่เพิ่มความสามารถในการเผาถ่านหินเพิ่มเติมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย
สนามกีฬาแห่งชาติ วอชิงตัน ดี.ซี., สหรัฐฯ
จากการดูกีฬาอย่างเบสบอล เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูง เราคงต้องเปลี่ยนเป็นการดูกีฬาทางน้ำแทน ที่สนามกีฬาแห่งชาติ วอชิงตัน ดี.ซี. ในสหรัฐฯ เพราะจากภาพจำลองจะเห็นน้ำที่ท่วมเข้ามาทั่วสนาม ที่ถึงแม้จะยังไม่ท่วมอัฒจรรย์ แต่ก็ทำให้สนามหญ้าหายไปหมด ซึ่งสถานที่อื่นๆ ในดี.ซี.เอง อย่างเพนทากอน ก็จะเจอกับน้ำท่วมโดยรอบ ไปถึงรัฐอื่นๆ อย่างแคลิฟลอเนียร์ หรือเท็กซัสเอง ต่างก็จะมีสถานที่ต่างๆ ที่จม และรายล้อมไปด้วยน้ำ
รายงานของ Climate Central ชี้ว่า ปัจจุบันมีประชาชนประมาณ 385 ล้านคนอาศัยที่อยู่บนพื้นดินซึ่งในที่สุดจะถูกน้ำท่วมโดยกระแสน้ำสูง แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงก็ตาม โดยหากอุณหภูมิจำกัดอยู่ที่ 1.5 องศาได้นั้น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ 510 ล้านคนในปัจจุบัน แต่หากโลกเราร้อนสูงขึ้น 3 องศา ระดับน้ำนั้น อาจรุกล้ำเหนือพื้นดินที่มีผู้คนมากกว่า 800 ล้านคนอาศัยอยู่ได้เลยด้วย
วัดหลงซาน ไทเป, ไต้หวัน
การขอพรหาคู่คงลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะจะเข้าวัดไปที คงต้องว่ายน้ำ ไม่ก็ดำน้ำไปเลย เพราะถ้าหากระดับน้ำสูงขึ้น วัดหลงซาน ในไทเป ไต้หวัน คงจมไปครึ่งหนึ่ง น้ำสูงเกือบมิดประตู และไต้หวันเอง ในฐานะที่เป็นเกาะ คงพบกับสภาพที่ยากลำบากมากขึ้น หากน้ำขึ้นสูง
เมื่อพูดถึงไต้หวันแล้ว ก็ต้องพูดถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่แม้จะไม่ได้มีภูมิประเทศเป็นเกาะ แต่ก็จะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก แต่ในการประชุมใหญ่ของ UN เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนได้ให้คำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศที่สำคัญว่า จะไม่สร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในต่างประเทศอีกต่อไป และเริ่มลดจำนวนโครงการริเริ่มด้านถ่านหินลงแล้ว
ซึ่ง Climate Central ยังรายงานว่า หากโลกมีอุณภูมิเพิ่มขึ้ 3 องศาฯ ประชากรประมาณ 43 ล้านคนในประเทศจีนจะอาศัยอยู่บนบกที่คาดว่าจะต่ำกว่าระดับน้ำที่ขึ้นสูงภายในปี 2100 และประชากรอีก 200 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในระยะยาวด้วย
พิพิธภัณฑ์แอร์มิทาช เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก, รัสเซีย
พื้นที่นั่งเล่น ปิกนิก เดินชิวๆ ในโลกนี้ คงหายไปเยอะ หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เช่นเดียวกับภาพจำลองพิพิธภัณฑ์แอร์มิทาช ในเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย ที่เห็นชัดว่า ถนน ทางเดินข้างหน้า จะท่วมเต็มไปด้วยน้ำมาก รอบบริเวณ ซึ่งยังสูงขึ้นมาค่อนประตูพิพิธภัณฑ์
แน่นอนว่าเรื่องการลดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นที่สำคัญมากขึ้น ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมใหญ่ของผู้นำระดับโลก สำหรับการเจรจาเรื่องสภาพอากาศที่ UN เป็นตัวแทนในกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ที่เรียกว่าการประชุม COP-26 โดยจะมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม และการปรับตัวต่างๆ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันว่า เวทีระดับโลกนี้ จะส่งผล และมีแอคชั่นเรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแค่ไหนกัน
เข้าไปดูรายละเอียด และเมืองอื่นๆ ในโปรเจ็ก Picturing our future ของ Climate Central ได้ที่ picturing.climatecentral.org/
อ้างอิงจาก