เพิ่งจบมาใหม่ๆ แต่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่จนหางานไม่ได้ มีคนต้องติดคุก ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิด ส่วนคนที่ศาลต่างประเทศตัดสินไปแล้วว่าผิด ในไทยกลับบอกว่าไม่ผิดเสียอย่างนั้น
นี่คือสถานการณ์ที่ทำลายความความหวังของคนรุ่นใหม่ และทำให้คำว่า อนาคตอันสดใส ที่คนรุ่นใหม่ถูกพร่ำบอกมา เลือนรางลงไปทุกที
‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ กลุ่มเฟซบุ๊กที่รวมเอาคนที่ต้องการย้ายประเทศ จึงถือกำเนิดขึ้น โดนตอนนี้ (7 พ.ค.) มีจำนวนสมาชิกกลุ่มถึง 888,400 กว่าคน สร้างคำถามที่สำคัญกับสังคมว่า แรงงานไทยจะย้ายประเทศได้จริงไหม แล้วถ้าแรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้ย้ายประเทศกันขึ้นมาจริงๆ ประเทศไทยซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว จะต้องเผชิญกับอย่างไร
The MATTER ไปพูดคุยกับ รศ.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อสำรวจปรากฏการณ์ ‘อยากย้ายประเทศ’ และหาคำตอบว่า เมื่อแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ย้ายประเทศกันขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
สภาพสังคมที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ
“เรียนจบ ป.ตรีมา เริ่มสตาร์ทเงินเดือนที่ 15,000 บาท”
ไม่ว่าเงินเดือน 15,000 บาทนี้จะดูเยอะหรือน้อยในสายตาของคุณ แต่ต้องไม่ลืมว่า วงเงินจำนวนนี้ จะต้องครอบคลุมถึงค่าครองชีพต่างๆ อย่าง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ที่รัฐไม่ได้มีสวัสดิการรองรับให้เราดีพอ จนเราต้องสำรองเงินเอาไว้ให้ดี เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เป็นต้น
นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก มองว่า การหางานทำ และอยู่ในประเทศไทยนั้น ไม่สามารถมอบอนาคตอันสดใสให้กับเขาได้
ยิ่งกว่านั้น ในช่วงที่เราเจอกับ COVID-19 มาได้ปีกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะสู้ดีอยู่แล้ว ก็ดิ่งลงเหวไปหนัก โดยช่วงเปิดปีใหม่มานี้ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานของแรงงานไทยจะยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น
แต่นั่นเป็นการคาดการณ์ก่อนเกิดการระบาดระลอกเมษายน 2564 ซึ่งอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าหลังวิกฤต COVID-19 การเลิกจ้างและอัตราการว่างงานสูงจะยังดำรงอยู่อีกหลายปี เศรษฐกิจของไทยที่เหมือนจะกระเตื้องขึ้นมาบ้างในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และคาดว่าจะมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง รวมไปถึง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐด้วย
ทีนี้ พอลองมองออกไปถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศโลกที่หนึ่ง ที่เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชากรไปจำนวนมาก คนเริ่มกลับมามีชีวิตแบบปกติอีกครั้ง ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินงานต่อได้ กลายเป็นว่า ความหวังที่จะได้ชีวิตเดิมกลับคืนมาสำหรับประชาชนในกลุ่มประเทศเหล่านั้น ก็อยู่ไม่ไกลแล้ว ยิ่งซ้ำเติมให้คนไทย เอามาเปรียบเทียบกับประเทศตัวเองหนักขึ้นไปอีก
ขณะที่ รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีไทย ว่า การกำเนิดของกลุ่มอยากย้ายประเทศนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยช่างดูสิ้นหวังเหลือเกินสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ ความไม่มั่นคงของชีวิต อย่างเรื่องการเมืองและอนาคตที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเองได้ และความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการรับมือกับ COVID-19
แรงงานแบบไหนที่ต่างชาติต้องการ
เมื่อพูดถึงการไปทำงานในระดับโลก คำถามที่ตามก็คือ ทักษะของคนไทยเป็นที่ต้องการของนานาชาติขนาดไหน?
กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนทั้งแรงงานไร้ฝีมือกับแรงงานมีฝีมือควบคู่กันไป ด้วยสาเหตุคือ เมื่อประเทศพัฒนามีรายได้สูงขึ้น การศึกษาเพิ่มสูงขึ้น มีลูกน้อยลง และเกิดปัญหาสังคมสูงวัย ทำให้สัดส่วนประชากรหนุ่มสาวลดลง จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาว
และประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีใครต้องการทำงานประเภท 3ส หรือ 3D คืองานสกปรก (dirty) เสี่ยง (dangerous) แสนสาหัส (difficult) ขณะเดียวกัน เมื่อประเทศขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี จึงต้องการแรงงานมีทักษะเพื่อทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ประเทศเหล่านี้จึงมีความต้องการแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานฝีมือ
“แรงงานไทยย้ายไปทำงานก็ต้องเลือกเอาว่าจะไปทำงานประเภทไหน ถ้าไปทำงาน 3ส ก็จะเป็นงานประเภทเดียวกันกับที่แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติทำในประเทศไทย งานในโรงงาน งานเกษตร งานเก็บผลไม้ เป็นงานยากลำบาก ใช้แรงงานกายมาก แต่ถ้าอยากไปทำงานทักษะสูง ก็ต้องจบพวก STEM ซึ่งแรงงานไทยจบสาขาเหล่านี้ไม่ได้มีจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ต้องเก่งภาษาด้วย สามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว”
ตอนนี้สังคมทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ด้วยสัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องหาแรงงานมาชดเชยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน
รายงานจาก วอยซ์ออนไลน์ ระบุว่า หากไม่มีตัวเลขผู้อพยพเข้าไปยังประเทศในทวีปยุโรป จำนวนประชากรที่เคยอยู่ที่ราว 512 ล้านคน ในปี 2559 (นับรวมสหราชอาณาจักร) จะลดลงมาเหลือ 471 ล้านคน ในปี 2593 หรือคิดเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่หายไปถึง 41 ล้านคน
หรืออย่าง แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่หลายคนใฝ่ฝันอยากย้ายถิ่นฐานไปอาศัยแทน ก็เป็นอีกชาติที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และมีนโยบายเปิดรับแรงงานทักษะสูงเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แคนาดาก็ประกาศว่าจะเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติในช่วงปี 2564-2566 มากถึง 1.2 ล้านคน
ขณะที่ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ทักษะโดยทั่วๆ ไป อันเป็นที่ต้องการพื้นฐาน คือทักษะในเชิงโปรแกรมเมอร์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการทำงานกับคอมพิวเตอร์ เช่น กราฟิก ดิจิทัลอาร์ต ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้แรงงานเยอะ และยังขยายตัว รวมถึง อาชีพอย่าง แพทย์ พยาบาล หรืองานดูแลผู้สูงอายุ ก็ยังขยายตัวในต่างประเทศเช่นกัน
“แต่ผมคิดว่า เขาคงไม่ได้เป็นการพิเศษเฉพาะที่ไทย ถ้าของไทยจริงๆ อาจจะมีในเรื่องของอาหาร เรื่องบริการบ้างเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่เซคเตอร์ที่ต้องมีการจ้างงาน หรือที่ต้องการแรงงานจากต่างประเทศมากที่สุด คือมีอยู่บ้าง ตามปกติ แต่ไม่ได้เยอะเท่ากับเทคโนโลยีใหม่ที่เราเห็นกันอยู่ เช่น พวกดิจิทัลเทคโนโลยีพวกนี้”
จะเป็นอย่างไร หากแรงงานไทย ย้ายไปเป็นแรงงานข้ามชาติ
ทีนี้ อีกคำถามที่สำคัญก็คือ หากแรงงานในไทย ย้ายหนีกันไปต่างประเทศขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น?
อ.กิริยา ตอบว่า เราจะมีปริมาณแรงงานในประเทศลดลง ส่วนคุณภาพแรงงานในประเทศนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าแรงงานกลุ่มไหนที่ย้ายไปต่างประเทศ ถ้าเป็นแรงงานกลุ่มที่มีทักษะสูง ไทยก็จะสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณภาพดีไป ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้
เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ถ้านักลงทุนจะมาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทย หัวใจของรถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ นักลงทุนจึงต้องมองหาคนที่รู้เคมี วิศวกร นักวิทยาศาสตร์วัสดุ ที่หาวัสดุมาใช้ให้เหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาจะได้ไม่เปลืองไฟฟ้า และต้องปลอดภัยด้วย วิศวกรไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ โปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาซอฟแวร์ต่างๆ แต่เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ ย้ายประเทศไป โอกาสที่นักลงทุนจะมาทำธุรกิจในไทย ก็หายไปด้วยเช่นกัน
“จริงๆ ก็เหมือน วัคซีน COVID-19 นี่ล่ะ เราผลิตเองไม่ได้ ต้องซื้อจากต่างประเทศ เราก็เลยต้องรอแบบนี้”
“หรืออย่างกรณีของการผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนเช่นกัน เรารับจ้างผลิตประกอบชิ้นส่วน แต่เทคโนโลยีไม่ใช่ของเรา เราก็ได้แค่ค่าประกอบ ค่าจ้างต่ำๆ เราไม่รวยเหมือนเจ้าของผลิตภัณฑ์เขา ไม่รวยได้เหมือนเกาหลีใต้ เพราะเราผลิตเองไม่ได้ เราไม่มีแรงงานที่มีทักษะสูงรองรับการผลิตเหล่านี้”
ในทางกลับกัน อ.กิริยา มองว่า ถ้าแรงงานไปทำงานต่างประเทศแล้ว ส่งเงินกลับมาให้พ่อให้แม่ ก็จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ส่งคนไปทำงานในประเทศต่างๆ แล้วถ้าคนเหล่านี้ไปทำงานต่างประเทศเพียงชั่วคราว แล้วกลับมาประเทศไทย แรงงานสามารถนำเอาทักษะความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาประเทศไทยได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ในสภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วนั้น การหายไปของแรงงานหนุ่มสาว นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่เช่นกัน ซึ่ง อ.กิริยากล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องดูว่า กลุ่มคนที่จะย้ายประเทศนั้น หายไปเท่าไร กลุ่มไหนที่หายไป ถ้าหายไปไม่มาก ก็คงไม่ได้มีผลมาก และถ้าเป็นกลุ่มไร้ฝีมือ คงไม่ยาก สามารถนำเข้าทดแทนจากต่างประเทศได้ แต่ถ้ากลุ่มที่หายไปเป็นกลุ่มทักษะสูง กลุ่ม STEM ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาก ก็จะกระทบต่อการพัฒนาประเทศเยอะ
ขณะเดียวกัน แรงงานจากต่างประเทศก็สามารถย้ายเข้ามาทำงานในไทยได้เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยชดเชยแรงงานไทยที่ย้ายออกไปได้ ถ้าเรามีนโยบายที่สามารถดึงดูดการย้ายเข้าได้
ถึงจะมีผู้เข้าร่วมกลุ่มกว่า 8 แสนคน ก็ใช่ว่าทุกคนจะได้ย้ายประเทศกันไปหมด เพราะการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ซึ่ง อ.กิริยา ให้เหตุผลว่า โลกไม่ได้เปิดให้เคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีขนาดนั้น ต่างจากสินค้าและทุนที่การเคลื่อนย้ายค่อนข้างเสรี และทำได้ง่ายกว่ามาก
อีกทั้ง อ.กิริยากล่าวว่า นโยบายสำหรับแรงงานไร้ฝีมือกับมีฝีมือก็แตกต่างกัน ประเทศส่วนใหญ่กีดกันการนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือ จำกัดปริมาณ กำหนดให้สามารถทำงานได้เพียงระยะเวลาสั้น เพื่อป้องกันการตั้งรกราก และจำกัดอายุ โดยเลือกเอาแต่คนหนุ่มสาว รวมถึงกำหนดโควตาปริมาณนำเข้า ตรงข้ามกับ นโยบายสำหรับแรงงานมีฝีมือ ที่ให้อยู่ได้ระยะยาว และสามารถพัฒนาจนเป็นพลเมืองของประเทศได้
แต่ถ้าคิดว่า คนที่ได้ไปจริงๆ คือ 10% ของสมาชิกกลุ่มนี้ หรือก็คือ 80,000 กว่าคน จะส่งผลกระทบกับประเทศเท่าไหร่กันนะ?
เดชรัต กล่าวว่า ในเชิงปริมาณ คงไม่ได้กระทบภาพรวมการทำงานในประเทศไทยนัก ถ้าเทียบกับนักศึกษาจบใหม่ซึ่งค้างอยู่ประมาณ 5แสนกว่าคน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในเชิงคุณภาพ ก็ต้องดูว่า ใครจะเป็นคนไป แล้วหน่วยงานต่างๆ หรือประเทศเรา จะหาคนมาเติมเต็มกลับคืนได้หรือไม่
อีกทั้ง เดชรัต ก็มองว่า โครงสร้างตลาดแรงงานของเรามีข้อดีอยู่อย่างนึง คือ ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่สำคัญกับองค์กร หรือเป็น key person ขององค์กร ก็จะได้ค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจที่ดีพอ จึงอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่จะย้ายประเทศ แม้ว่าเขาจะไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น คนที่ไปจริงๆ ก็เป็นคนบางส่วนที่ยังไม่ถึงตำแหน่ง key person แต่เป็นผู้มีศักยภาพ ที่อยากจะไปเจริญเติบโตก้าวหน้าในประเทศอื่น ซึ่งอาจจะไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด
ในระยะสั้น หากคนจำนวน 10% ของกลุ่มนี้หายไป เดชรัต ระบุว่า ผลกระทบอาจจะไม่เกิดขึ้นในทันที เพราะกลุ่ม key person ยังอยู่ แต่ในระยะยาวอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะคนกลุ่มที่จะต้องเติบโตขึ้นมารับตำแหน่งต่อ หายไปแล้ว
“ถ้าหายไปเยอะๆ ก็ตอบว่า ระยะสั้นคงไม่เป็นอะไรเลย เชิงปริมาณคงไม่มีปัญหา แต่ว่าเชิงคุณภาพจะมีปัญหาในระยะยาวว่าเราจะขาดจิ๊กซอว์ตัวนี้ไป”
แต่เดชรัตก็ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาตรงจุดนี้ ต้องดูด้วยว่า กลุ่มคนที่ย้ายไป ย้ายไปในลักษณะไหน หากรัฐเชียร์ให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปในเชิงสนับสนุนและช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยในอนาคต ผลกระทบระยะยาวที่ว่ามานั้น ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจเป็นไปในทางบวกว่า เมื่อเขาไปแล้ว เขาจะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ต่างไปจากเมืองไทย และกลับมาทำให้องค์กรหรือภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้นได้
นอกจากกลุ่มคนที่ต้องการย้ายประเทศแล้ว ยังมีอีกตัวเลขที่เดชรัตมองว่า หลายคนไม่ได้พูดถึง คือ กลุ่มแรงงานที่กลับบ้านไปอยู่ในต่างจังหวัด ประมาณ 2 ล้านคน และมีนัยยะคล้ายกับการอพยพย้ายประเทศ ซึ่งต้องถามว่า กลุ่มเหล่านี้กลับไปเพื่อเป็นที่พึ่งพิงให้ผู้สูงอายุ หรือไปเป็นภาระของกลุ่มผู้สูงอายุกันแน่
“มันอยู่ที่กลไกทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะลงไปช่วยเขา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ อย่าเพิ่งกังวลกับคนหลายหมื่นคนที่จะออกจากประเทศ ให้กังวลกับคน 2 ล้านคนที่กลับไปแล้ว แล้วลองดูสิว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ ช่วยให้เขาได้มีโอกาสกลับไปอยู่ที่บ้านอย่างไร”
เดชรัตกล่าวอีกว่า จากแพคเกจเยียวยาเศรษฐกิจล่าสุดที่รัฐบาลออกมา ส่วนตัวเขาก็ไม่ได้คัดค้าน แต่ถามว่า แผนการนั้นตอบโจทย์แรงงานที่กลับบ้านไหม ก็ต้องตอบว่า มันคนละเรื่องกัน เพราะเป็นเรื่องของการช็อป ซึ่งนั้นอาจจะเยียวยา แต่ไม่ตอบว่า นโยบายนี้จะช่วยให้คน 2 ล้านคน มีความอยู่ได้ดีขึ้นได้อย่างไร
รัฐบาลจะต้องรับมืออย่างไร?
จริงๆ แล้ว หากมองปัจจัยที่ทำให้คนอยากย้ายประเทศ ก็จะเข้าใจได้ว่า ปัญหาของประเทศไทยคืออะไร
ทั้งค่าแรงที่คุ้มกับค่าครองชีพ มีสวัสดิการสังคมที่จะช่วยให้ประชาชนเติบโตได้เต็มที่ ความเท่าเทียมในมิติต่างๆ เช่น มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีกฎหมายที่คุ้มครองอคติทางเชื้อชาติ รวมถึง ความชอบธรรมในสังคม ต่างเป็นประเด็นที่คนในกลุ่มนี้พูดถึง และถามหาจากประเทศปลายทางที่พวกเขาใฝ่ฝันกันทั้งสิ้น
“เราสามารถสนับสนุนให้คนออกไปทำงานหารายได้เข้าประเทศได้ แล้วนำเอาทักษะความรู้กลับมาพัฒนาประเทศได้ แต่ต้องจัดเตรียมกระบวนการรองรับแรงงานคืนถิ่นเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนอื่นต้องสร้างสมองให้ดีก่อน เริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ โรงเรียนดี มหาวิทยาลัยดี คนก็อยากเรียน นั่นคือ ต้องปฏิรูปการศึกษา” อ.กิริยา กล่าว
อ.กิริยา บอกอีกว่า นโยบายที่จะช่วยป้องกันการย้ายประเทศที่ทำให้เกิดการสมองไหล ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของการทำงานให้ดี ทำให้คนมีงานให้ทำ มีค่าตอบแทนเหมาะสม เป็นงานที่ดี มีความก้าวหน้า แรงงานมีโอกาสจะใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ และต้องส่งเสริมการแข่งขันในตลาดด้วย รวมถึง การสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่ชอบธรรมในสังคม
ขณะที่ เดชรัตมองว่า รัฐต้องมีนโยบายที่จะช่วยให้กลุ่มคนทั้งที่จะย้ายประเทศ และที่ย้ายกลับต่างจังหวัดไปแล้ว มีอนาคตและเติบโตต่อไปได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
“ถ้าคนที่พร้อมจะไปต่างประเทศ แล้วเป็นประเทศทั่วไปอย่าง สหรัฐฯ อังกฤษ นโยบายไม่มีอะไรมาก อย่าไปขวางเขา หรืออย่าไปรู้สึกว่าเขากำลังจะทิ้ง แค่ส่งเสริมตามปกติ ไม่ต้องมีนโยบายพิเศษ แค่ทำความเข้าใจว่าเรามองเขาในฐานะผู้แสวงหาโอกาสให้กลับประเทศของเรา ก็น่าจะพอแล้ว”
ส่วนในประเทศที่เราต้องไปบุกเบิกฐานการตลาด เดชรัตมองว่า เราต้องวางแผนควบคู่กับ sector ที่คนจะไป โดยต้องมีนโยบายจูงใจพิเศษ นอกเหนือจากกลไกปกติ ที่จะทำให้เขาพร้อมเผชิญโชค ในฐานะที่จะไปเปิดตลาดให้กับประเทศไทย
ในกลุ่มของแรงงานที่กลับบ้านนั้น เดชรัตมองว่า รัฐบาลควรมีแนวทางช่วยเหลือ 2 ทาง อย่างแรกคือ การสร้างงานของภาครัฐ อันจะเป็นหัวใจสำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างงานจากภาครัฐน้อยมาก จึงต้องเพิ่มการจ้างงานเหล่านี้มากขึ้น และอาจให้มีภาคองค์กรประชาสังคมเข้ามาร่วมจ้างงานด้วย
“ตัวอย่างนึงที่น่าจะทำได้คือ การเกณฑ์ทหาร ปกติเราเกณฑ์ทหารปีละหมื่นแสนนาย ตอนนี้เราตัดออกไปสัก 50% ได้ไหม แล้วใช้งบก้อนเดียวที่ใช้ในการเกณฑ์ทหาร มาเป็นการจ้างงานในภาคส่วนอื่นๆ”
อีกประเด็นคือ ในเรื่องของการลงทุน คนที่กลับไปถ้าจะลงทุน ก็มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ดินก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะงั้นกลไกที่จะช่วยในเรื่องของเงินทุน แล้วก็เรื่องที่ดิน ก็จำเป็นอย่างมากในการเข้าไปเติม
“สุดท้ายคือ นโยบายสวัสดิการสังคม หรืออาจจะเรียกว่า ระบบรัฐสวัสดิการ มันน่าสนใจมากเลย วันก่อนผมออกรายการกับคุณนิ้วกลม แล้วมีคนมาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการย้ายประเทศ ซึ่งคำถามเกือบครึ่งนึง เป็นคำถามว่า ประเทศนั้นมีสวัสดิการอย่างไร หากถ้าเรามองแบบผู้สูงอายุ เราก็อาจจะมองว่า เขาอยากจะได้นู่นนี่หรือเปล่า แต่ถ้าเรามองแบบในความคิดของคนยุคปัจจุบัน ตอนนี้ชีวิตเรามันไม่มีอะไรที่แน่นอนเลย เราอาจจะถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยี เราอาจจะเจอปัญหาเหมือน COVID-19”
“เพราะงั้น ความมั่นใจพื้นฐานที่จะเป็นจุดหลังพิงให้เราสามารถที่จะไปลุยได้ในการเปิดตลาด หรือไปทำงานอาชีพใหม่ๆ หรือเปิดกิจการของตัวเอง มันจึงมีความสำคัญมาก”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก