เชื่อไหมว่า ดอกไม้สร้างหายนะจนเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกมาแล้ว แล้วมันทำได้ยังไงกันล่ะ?
หลายคนอาจรู้ว่าวิกฤตการณ์ซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) มีจุดเริ่มต้นจากสินเชื่อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือวิกฤตการณ์ครั้งอื่นๆ ล้วนเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเศรษฐกิจทั้งสิ้น อย่างสินเชื่อ หุ้น ค่าเงิน แต่ใครจะคาดคิดกันล่ะว่าวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลกเกิดจากสิ่งสวยงามอย่าง ‘ดอกไม้’
ย้อนกลับไปยังช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 17 ตอนต้น พ่อค้าชาวดัตช์ได้กระจายตัวไปทำการค้ากับนานาประเทศ จนประเทศต้นทางอย่างเนเธอแลนด์ (สาธารณรัฐดัตช์ในขณะนั้น) ได้กลายมาเป็นเมืองท่าแห่งการค้าไปโดยปริยาย ความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองจึงไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร ในเมื่อใครๆ ที่ค้าขาย จับจุดได้ ไปถูกทาง ก็ได้เม็ดเงินงอกเงยกลับมาล้นมือ ผู้คนจึงแสวงหาสิ่งแสดงความมั่งคั่งใหม่ๆ ซึ่งนั่นก็คือ ‘ดอกทิวลิป’
สัญญะความรุ่งเรืองจากเปอร์เซียสู่ยุโรป
เดิมทีดอกทิวลิปไม่ได้มีต้นกำเนิดจากเนเธอแลนด์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ไม่เคยปรากฏบนผืนแผ่นดินนี้เสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งราชทูตในราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานมหาราช เมืองคู่ค้าที่สำคัญจักรวรรดิอ็อตโตมัน ได้ส่งดอกทิวลิปให้แก่นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้ก่อตั้งสถาบันพฤกษศาสตร์แห่งไลเดน (Hortus Botanicus Leiden) เพียงเพราะอยากแบ่งปันความสวยงามนี้ที่เบ่งบานมากมายในผืนแผ่นดินอ็อตโตมันไปยังดินแดนอื่น ก่อนจะกระจายไปถึงมือพ่อค้า
ในช่วงแรกสิ่งนี้ถูกขายเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง ผู้มีอันจะกินเท่านั้น ก็เหล่าพ่อค้าหัวใสนี่แหละ ที่สรรหาของแฟนซีต่างแดนมากมายมาเสิร์ฟให้กับเหล่าชนชั้นสูง ยิ่งแปลกตา ยิ่งแสดงถึงฐานะอันสูงส่ง บ่งบอกถึงความร่ำรวย บ่งบอกทั้งรสนิยม ดอกทิวลิปจึงกลายมาเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชิ้นใหม่ที่เหล่าชนชั้นสูงอยากได้อยากมี
ด้วยความที่ผู้คนไม่เคยเห็นดอกทิวลิปมาก่อน ทั้งรูปทรง สีสันแปลกตา บวกกับความเป็นของใหม่ที่ ดอกทิวลิปเลยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ใครก็อยากจะจับจอง ต่อให้แพงหูฉี่ขนาดไหนก็ยอมจ่าย เพราะไม่อยากตกเทรนด์ สถานการณ์มันช่างคุ้นๆ ใช่แล้วล่ะ ไม่ต่างอะไรกับสินค้าฟุ่มเฟือยใหม่ๆ ในยุคนี้เลยล่ะ นี่มนุษยชาติติดกับ FOMO (fear of missing out) กันมาแต่ก่อนกาลแล้วสินะ
พอเห็นขายดีเป็นที่นิยมมากเข้า ชนชาติพ่อค้าอย่างชาวดัตช์ก็ลูกพระยานาหมื่น จะน้อยหน้าในวงการค้าในบ้านตัวเองได้ยังไง เหล่าพ่อค้าหัวใสจึงเที่ยวเสาะแสวงหาทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ๆ ยิ่งใหม่ ยิ่งแปลกตา ยิ่งเป็นที่ต้องการ แต่สายพันธุ์ที่ยอดฮิตติดลมบนที่สุดคือ ทิวลิปแตกสี (broken tulip) มันคือดอกที่ติดไวรัสทำให้เกิดสีผสมกันหลายสีในดอกเดียว เป็นลวดลายแตกต่างกันไปในสายพันธุ์
จากดอกไม้สู่หายนะ
มันก็เป็นธรรมดาหรือเปล่านะ สินค้ามีขึ้นมีลง ใช่แล้ว ชาวดัตช์ในตอนนั้นก็คิดแบบนั้น มองว่าสิ่งนี้เป็นเพียงสินค้าฟุ่มเฟือยชนิดใหม่ในตลาด แต่เมื่อบวกกับความโลภในเม็ดเงินมันเปลี่ยนดอกไม้ให้กลายเป็นหายนะ
จากเดิมทิวลิปสีธรรมดาก็เป็นที่นิยมมากแล้ว แต่เมื่อมีดอกแตกสีที่มีลวดลายเฉพาะตัวและเพาะพันธุ์ได้ยาก ยิ่งเป็นที่ต้องการยิ่งขึ้นไปอีก จนคนบางกลุ่มเริ่มมองเห็นช่องทางทำเงิน จากเดิมที่ตัวทิวลิปเองก็ทำเงินได้มากอยู่แล้ว แต่เมื่อความต้องการมันล้นหลามขนาดนี้ มันย่อมดันเพดานไปได้สูงกว่านี้แน่
เมื่อความโลภเข้ามามีเอี่ยว ตลาดค้าขายจึงไม่ใช่แค่เรื่องซื้อมาขายไปอีกต่อไป พ่อค้าบางกลุ่มเริ่มเก็งกำไรจากสิ่งนี้ด้วย ‘สัญญาซื้อขายล่วงหน้า’ กันตั้งแต่ยังไม่มีสินค้าในมือด้วยซ้ำ
จากเดิมที่เคยซื้อขายกันเป็นดอกที่บานให้เห็นแล้วว่าเป็นสีอะไร ก็เริ่มลามไปสู่การซื้อขายกันตั้งแต่ยังเป็นหัวหน้าตาไม่สวยงาม ลองนึกภาพว่าต้นทิวลิป ที่มีลักษณะเป็นหัวใต้ดิน แทงหน่อออกมาเหนือดิน ก่อนจะงอกออกมาเป็นดอกให้เราเห็นกัน นั่นหมายความว่า หากซื้อขายกันตั้งแต่เป็นหัว ก็ยากที่จะคาดเดาว่าดอกที่ได้จะเป็นสีอะไร แต่เหล่าพ่อค้าก็รับประกันว่า นี่ล่ะ ดอกนี้แตกสีสวยแน่นอน ซื้อขายกันตั้งแต่เพิ่งเอาหัวทิวลิปฝังดิน เพราะในตอนนี้จะได้ราคาถูกที่สุด เป็นเหมือนการหว่านพืชหวังผล ว่ามันจะแจ็กพอตออกมาเป็นสีสันสวยงามหรือเปล่า อย่างน้อยถ้าโตมาเป็นสีปกติ ก็ยังขายได้แม้จะราคาน้อยกว่าแบบแตกสีก็ตาม
แต่ปัญหาคือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ ไม่ได้อยู่ในมือมือเดียว มันถูกขายต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเปลี่ยนมือเจ้าของไปเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งสูงตามไปด้วย กว่าจะถึงปลายทางราคามันสูงเสียจนไม่อยากจะเชื่อ เพราะทิวลิป 1 หัวราคาเทียบเท่าหรืออาจจะสูงกว่าบ้าน 1 หลังในตอนนั้นเลยทีเดียว แต่ย้ำกันอีกที อย่าลืมนะที่เราบอกว่าซื้อขายกัน ไม่ใช่หัวทิวลิปจริง แต่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากันเป็นปีๆ ว่าจะปลูกในเดือนนั้น เดือนนี้ จำนวนเท่านี้ จะบอกว่าซื้อขายลมก็ไม่เกินจริงนัก
ใครจะซื้อขายลมกันได้นานนักล่ะ ยิ่งมันไกลเกินเอื้อมเท่าไหร่ ผู้คนเริ่มย้อนกลับมามองอีกครั้งแล้วว่า สิ่งที่เรากำลังวิ่งตามไขว่คว้าอยู่นี้ เป็นสินค้าที่ยังไม่มีจริงด้วยซ้ำ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในมือที่ซื้อต่อมาจากผู้อื่นในราคาสูง มันเริ่มสูงเกินกว่าจะมีใครซื้อต่อได้ไหวแล้ว เริ่มเห็นเค้าลางไม่ดีมาแต่ไกล
เมื่อพ่อค้าที่กักตุนสินค้าเริ่มปล่อยสินค้าสู่ตลาด ผู้คนที่เก็งกำไรในมือเริ่มกลัวว่าหากมีของในตลาดมากกว่านี้ ราคาจะยิ่งตกลงไป จึงยิ่งปล่อยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในมือไปด้วย จนเดือนหนึ่งในปี 1637 ดอกทิวลิปที่เคยราคาสูงเสียดฟ้ากลายเป็นสินค้าล้นตลาด ราคาร่วงลงมาจนแทบไม่เหลือมูลค่าในตัวเอง คนที่มีดอกไม้ในมือแม้จะขาดทุนย่อยยับ ก็ยังได้จับต้องอะไรอยู่บ้าง แต่คนที่มีแต่สัญญาในมือนี่สิ พวกเขาไม่เหลืออะไรเลย ภาพฝันที่วาดไว้สลายหายไปพร้อมกับทิวลิปที่ล้นตลาด ผู้คนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้ทางการค้า ไม่เท่าทันความผันผวนของตลาด
จนรัฐสภาดัตช์ในขณะนั้นต้องออกมาควบคุมสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบเป็นตราสารสิทธิ หากราคาตกผู้ซื้อก็มีโอกาสที่จะจ่ายเฉพาะค่าปรับและบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องจ่ายเต็มราคาตามที่ตกลงกันในสัญญาเดิม
แต่นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ส่งผลแค่กับชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเท่านั้น เนื่องด้วยราคาของทิวลิปที่พุ่งสูงเกินกว่าประชาชนทั่วไปจะเอื้อมถึงตั้งแต่ก่อนจะเป็นที่นิยม จึงมีเพียงคนมีฐานะเท่านั้นที่จะหยิบจับสิ่งนี้มาเก็งกำไรได้
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ลดทอนบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ ที่ทำให้โลกได้เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่ขึ้นครั้งแรก เมื่อผู้คนลืมมูลค่าที่แท้จริงของตัวสินค้า แต่กลับสร้างมูลค่านั้นขึ้นมาด้วยวิธีเจ้าเล่ห์ จนทำให้สินค้าที่เคยถูกซื้อขายด้วยความพอใจ กลายเป็นช่องทางเก็งกำไรที่ไม่ได้ยั่งยืนอย่างใจคิด ความต้องการเพียงดอกไม้สักดอกกลับทำให้ผู้คนบ้าคลั่งในเม็ดเงินที่ตามมา จนลืมไปว่ามันก็เป็นดอกไม้ดอกหนึ่งที่จะแย้มบานในหนึ่งฤดู และจากไปเมื่อถึงเวลาของมัน
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ดอกไม้เท่านั้น วิกฤตการณ์ฟองสบู่ยังคงถูกเล่าแบบเดิมเสมอ เพียงเปลี่ยนทิวลิปเป็นสินค้าอื่นเท่านั้น
“เข้าแล้วออกให้ทัน” ยังคงเป็นคำเตือนใจที่ใช้ได้ตั้งแต่ทิวลิปมาจนถึงของฟุ่มเฟือยชนิดใหม่ในยุคนี้
อ้างอิงจาก