“คุณจะกินมะม่วงที่มีแม่ของคุณฝังอยู่ใต้ต้นไหม?”
ผมเคยถามคำถามพิลึกแบบนี้กับเพื่อนๆ เพราะการฝังร่างอยู่ใต้รากมะม่วงก็เคยเป็นคำประชดที่พูดสนุกปากดี แต่ภายใต้ความเสียดสีนี่ก็น่าขบคิด (อย่างน้อยผมก็เคยฝังสุนัขตัวโปรดใต้ต้นมะม่วงจริงๆ) ร่างกายมนุษย์เมื่อผุพังมีธาตุอาหารชั้นดีให้กับพืช มียีน 25 ชนิดในร่างกายที่เริ่มทำงานทันทีที่เราตายเพื่อเข้าสู่กระบวนการย่อยสลาย แบคทีเรียและเชื้อราจะใช้ประโยชน์ดินแดนแห่งแร่ธาตุเพื่อการเจริญเติบโตต่อไป ความตายจึงเป็นการเดินทางอีกครั้งของสรรพสิ่งอื่นๆ
‘ความตาย’ เป็นเช่นไร เราต่างขบคิดบ้างไม่คิดบ้าง หรือบังเอิญขณะหัวถึงหมอนกลางดึก สมองก็ใคร่คิดพิจารณาถึงความตายอย่างที่เราไม่ทันตั้งตัว มันจะน่าหวาดกลัวหรือสงบเยือกเย็นล้วนเป็นปริศนา ซึ่งทุกคนก็ต้องเผชิญหน้ากับความตายด้วยกันทั้งนั้น
จากเมื่อก่อนเรามักคิดว่าการพูดถึงความตายเป็นความ ‘อัปมงคล’ ที่เราไม่ควรจะมาพูดเล่นกัน แต่ระยะหลังคนรุ่นใหม่เปิดใจกับความตายมากขึ้น เราพูดถึงความตายในบั้นปลายชีวิตด้วยมิติต่างๆ ศพฉันจะถูกจัดการอย่างไร ฉันก็ไม่อยากเป็นภาระใครเมื่อไร้ลมหายใจ ความตายแบบไหนที่ฉันเลือกได้เอง ทำให้การจัดการกับความตายจึงเป็นหัวข้อสนทนาที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการวางแผนมีชีวิตอย่างมีสติ
‘มรณานุสติ’ หรือการระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อให้หวาดกลัวที่จะตาย แต่เพื่อที่จะให้รู้จักที่จะดำรงชีวิตที่มีอยู่อย่างมีความหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับความตายเข้าจริงๆ ก็ยากที่จะตั้งตัวได้ทัน จึงต้องมีการฝึกคิดอย่างต่อเนื่อง มองความตายให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนรุ่นใหม่จึงมีกิจกรรมสนทนาเรื่องความตายมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ด้วยซ้ำ และมีธุรกิจเกิดใหม่สอดรับการตรึกตรองแบบมรณานุสติหลายรูปแบบ
ในประเทศไทยมีคาเฟ่บรรยากาศแหวกแนวที่คุณจะเห็นโลงศพ โครงกระดูก และข้อความต่างๆ ที่กระตุ้นให้ฉุกคิดถึงความตาย อย่างร้าน Kid Mai Death Cafe แถวซอยอารีย์ ที่เอาคอนเซปต์มรณานุสติมาพูดคุยอย่างเปิดอก คุณอาจจะไปนอนเล่นในโลงที่ทางร้านจัดไว้ก็ได้ หรืออยากเขียนพินัยกรรมก่อนตายว่าจะอโหสิให้ใครบ้าง เห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีการเข้าหาความตายโดยที่ไม่ต้องเข้าวัดเข้าวาอย่างเดียว แต่ถูกปรับเปลี่ยนไปกับวิถีชีวิตได้
การมองความตายเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ไม่ได้ทำให้คุณกลายเป็นคนหดหู่หมองเศร้า เพราะความตายนั้นช่วยพัฒนารูปแบบการมีชีวิต ร่างกายของมนุษย์ที่ปราศจากลมหายใจยังมีการผจญภัยในอีกหลายบทบาท และเราจะทิ้งอะไรไว้ ทิ้งอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับโลกใบนี้
เราทุกคนต้องตาย และทุกคนเข้าใจสัจธรรมข้อนี้ดี แต่เรากลับไม่ค่อยอยากคิดถึงความตายเสียเท่าไหร่ ความตายจึงถูกขีดเส้นแยกออกไปจากการมีชีวิต เราจึงไม่ต้องเห็นความตายให้กระทบกระเทือนใจ และการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดในกลุ่มบรรดาเครือญาติก็เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจไม่น้อย
จากการสำรวจคนยุโรปราว 70% มีความเห็นว่า การตายในบ้านพักอย่างสงบย่อมดีกว่าที่จะตายในโรงพยาบาล แต่มีคนเพียง 24% เท่านั้นที่จะได้ตายในแบบที่หวังไว้ การเลือกตายในบ้านกลายเป็นความต้องการของคนรุ่นต่อไป อย่างในอังกฤษนั้นมีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ฝึกฝนมาเฉพาะทางเพื่อดูแลบุคคลที่กำลังใกล้ตาย พวกเขามีความสามารถที่จะพูดคุยด้วยความเข้าอกเข้าใจ สามารถให้ยาเพื่อระงับความเจ็บปวดได้หากจำเป็น หรือสามารถบันทึกวิดีโอและตัดต่อง่ายๆ เพื่อให้ผู้ป่วยส่งข้อความไปยังบรรดาญาติๆ เป็นการสั่งเสีย ซึ่งแน่นอนว่าการใช้บริการผู้ดูแลพิเศษนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนการตายมาก่อนเนิ่นๆ โดยคุณจะต้องกรอกรายละเอียดความต้องการในบั่นปลายชีวิต สถานที่สุดท้ายที่อยากอยู่ และในเมื่อวันสำคัญนั้นมาถึงอยากจะให้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ศพจะถูกนำไปจัดการอย่างไร เป็นรายละเอียดที่ค่อนข้างเปิดกว้างที่ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการดูแล
ในฝั่งสหรัฐอเมริกาก็ล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่นับถือคริตส์ไม่ต้องการที่จะฝังตามธรรมเนียม (อนึ่งการฝังในสุสานมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง) จึงมีความต้องการที่จะฝังหลังบ้านตัวเอง เป็นเทรนด์ที่มีชื่อว่า Green burials เป็นการฝังที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เพราะการฝังแบบปกตินั้นมีการใช้สารเคมีคงสภาพศพที่ปล่อยรอยเท้าคาร์บอนในสิ่งแวดล้อม หรือโลงที่ใช้ก็เป็นโลงที่ผ่านกระบวนการค่อนข้างมาก Green burials จึงเปลี่ยนนิยามของการฝังใหม่ด้วยการใช้โลงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นอาหารเชื้อราในดิน ซึ่งในปีนี้รัฐวอชิงตันในสรัฐอเมริกาเป็นที่แรกที่อนุญาตให้ฝังศพที่แหล่งธรรมชาติได้ (หรือหลังบ้าน) โดยที่ศพของคุณจะห่อหุ้มด้วยสปอร์เชื้อของเห็ดและราจำนวนมาก คล้ายบอดี้สูทที่สวมทับศพ ทำให้เกิดการะบวนการย่อยสลายที่รวดเร็วขึ้น เป็นอาหารให้เห็ดราเจริญเติบโตได้อย่างดี
หรือถ้าการฝังไม่ใช่แนวทาง ยังมีบริการเปลี่ยนศพเป็นของเหลวผ่านกระบวนการ ‘ไฮโดรไลซิสอัลคาไลน์’ (alkaline hydrolysis) เป็นกระบวนการสำหรับการกำจัดซากมนุษย์และสัตว์เลี้ยงโดยใช้น้ำด่างและความร้อน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการฝังศพหรือการเผาศพแบบดั้งเดิม ซึ่งจะไม่ทิ้งมลภาวะในกระบวนการ หรือถ้าคุณเห็นความสำคัญของการศึกษาก็สามารถบริจาคร่างกายให้กับสถาบันต่างๆ เพื่อเป็น ‘อาจารย์ใหญ่’ ในการถ่ายทอดความรู้ด้านกายวิภาคให้กับนักศึกษาแพทย์
นอกจากนั้นยังมีทางเลือกแปลกๆ ที่เปลี่ยนเถ้าของคุณให้เป็นพลุแล้วยิงขึ้นฟ้าไปแตกเป็นดวงไฟเจิดจรัสบนนภา หรือเอาอัฐิไปลอยในลูกโป่งบรรจุฮีเลียมให้ลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือทำเป็นปะการังเทียมทิ้งในมหาสมุทรก็ยังได้
จะเห็นได้ว่าในอนาคตการจัดการกับความตายจะมีทางเลือกมากขึ้น และการเลือกตายนั้นจะมีความหมาย ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
แต่นอกจากกายเนื้อที่เราต้องมีการบริหารจัดการแล้ว ยังมีข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากที่ยังหลงเหลืออยู่แม้ว่าคุณจะจากโลกไปแล้ว ภาพถ่ายจำนวนมาก โพสต์ข้อความ และข้อมูลที่คุณเคยกรอกไว้ในเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งต่อไปมีแนวโน้มความสำคัญมากในอนาคต เพราะข้อมูลดิจิทัลจะมีความสำคัญในฐานะ ‘มรดก’ที่ต้องมาไล่ถามกันว่าใครจะมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญดังกล่าว ผมเห็นว่าเพื่อนหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังโลดแล่นในอยู่ในเฟซบุ๊ก คอยไปคอมเมนต์คนอื่น ไม่ใช่เพราะวิญญาณผีดิจิทัลอะไรหรอก แต่เป็นบรรดาพ่อแม่ที่เข้าไปใช้ account ผู้เสียชีวิตเพื่อตอบโต้กับคนอื่นๆ ซึ่งในอีกนัยหนึ่งอาจจะถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่
ในอนาคตการจัดการข้อมูลหลังความตาย ‘Cyber funerals’ จะเกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นนำข้อมูลของผู้ตายไปใช้เป้าประสงค์อื่นๆ ซึ่งบริการดังกล่าวอ้างว่าสามารถเข้าไปลบร่องรอยดิจิทัลที่คุณทิ้งไว้ได้ทั้งหมด แต่มีราคาสูงพอสมควรเพื่อใช้บริการในกรณีที่คุณอยากจะหายไปจากโลกนี้อย่างถาวรโดยที่ไม่ทิ้งอะไรไว้
แต่หากคุณอยากอยู่เป็นอมตะล่ะ? ก็ยังมีบริการของบริษัท Eterni.me ที่จะทำให้คุณอยู่อย่างอมตะในโลกดิจิทัลได้โดยเปลี่ยนเป็น Avatar ที่เกิดจากเก็บรวบรวมข้อมูลของคุณไว้ สร้างเป็นร่าง avatar ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ ซึ่งก็แล้วแต่จุดประสงค์ของการจากไปของคุณที่จะถูกจดจำอย่างไร
การคิดถึงความตายนั้นทำให้รับรู้จุดสิ้นสุดของชีวิต วินาทีที่เกิดมาพร้อมวินาทีที่ดับสูญ การขบคิดความตายจึงอาจจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป หากรู้ว่าชีวิตที่มีอยู่จะดำเนินต่อไปอย่างไร นี่เองจึงเป็นความงามรูปแบบหนึ่งของความตาย ที่ต่อให้คุณคิดถึงมันหรือไม่คิดเลย ความตายก็จะมาหาคุณได้อยู่ดี
คุณเตรียมตัวที่จะตายแล้วหรือยัง?
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.nationalgeographic.com