ถึงเวลานี้ เชื่อว่าหลายๆ คนกำลังรอคอยให้ ‘วิกฤต COVID-19 จบลง’ จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แม้ความปกตินั้น จะเป็นความปกติใหม่ คืออาจมีหลายๆ อย่างเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมซะทีเดียว หรือที่เรียกกันว่า new normal ก็ตาม
และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ คนส่วนใหญ่รอคอยก็คือ ‘วัคซีน’ ที่จะมาคอยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสตัวร้าย เพื่อให้ทุกๆ คนได้กลับไปใช้ชีวิตกันตามปกติ ได้กลับไปทำมาหากินเหมือนที่ผ่านๆ มา เศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศจะได้เดินหน้า ไม่ต้องรอคอยอย่างมีความหวังริบหรี่เช่นทุกวันนี้
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่มีชื่อเสียงและความสามารถ กระทั่งมีข่าวลือในช่วงที่เกิดสุญญากาศเก้าอี้ รมว.คลัง ว่าเป็นหนึ่งในที่มีความเหมาะสม (แต่ตอนนี้ มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อาคม เติมพิทยาไพสิรฐ ให้เป็น รมว.คลังคนใหม่แล้ว) นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อชักชวนให้คนไทยมาร่วมกันออกแบบประเทศ
ระยะหลังศุภวุฒิยังหันไปสนใจเรื่องสุขภาพ เพื่อรองรับกับที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังอ่านงานวิจัยและผลการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับ COVID-19 กระทั่งเขียนหนังสือ ‘Beating COVID-19 เอาชนะโรคร้ายด้วยความเข้าใจ’ เพื่อให้ความรู้ที่ถุูกต้องเกี่ยวกับโรคติดต่ออุบัติใหม่นี้
คำพูดแรกๆ ของศุภวุฒิ ชวนให้เราขนลุก เพราะมองว่า วิกฤต COVID-19 จะอยู่กับเรานานกว่าที่คิด “ต่อให้มีวัคซีนมาก็ยังไม่จบ”
เขายังชวนทบทวนจุดยืนของประเทศกันด้วยว่า ในขณะที่หลายๆ ประเทศดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบ ‘อยู่กับ COVID-19’ แต่สำหรับประเทศไทย กลับเหมือนพยายาม ‘อยู่โดยไร้ COVID-19’ ซึ่งทำให้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องรองรับหลายด้าน
ศุภวุฒิยังตั้งคำถามไปยังรัฐบาล ที่ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่คำพูดในเชิงนามธรรม พร้อมกับเรียกร้องให้ส่งเสริมให้ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยคิดหาทางออกจากวิกฤตนี้ ..วิกฤตที่จะอยู่กับเรานานกว่าที่คิด และผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะรุนแรงกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในปี พ.ศ.2540
วิกฤต COVID-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน
อาจจะอยู่ค่อนข้างนานมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะทุกคนนึกว่าถ้ามีวัคซีนออกมา มันก็จะจบ แต่ถ้าดูจากงานทางวิชาการที่เขาค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับโควิด ไวรัสนี้อาจจะปราบยาก แม้มันไม่ได้ทำให้ตายเยอะขนาดนั้น แต่มีวิธีหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันที่ดีมาก
พูดรวบหัวรวบหางให้ฟังเร็วๆ คือแบบนี้ หลายคนคิดว่ามีวัคซีนจะไปกระตุ้นแอนตี้บอดี้ แอนตี้บอดี้คือการไปกาหน้าหรือทาสีไวรัสว่านี่คือผู้ร้ายที่ต้องปราบ เป็นการชี้เป้า ปัญหาของงานวิจัยที่เห็นระยะหลังก็คือ แม้จะชี้เป้าก็เถอะ มันมีอีกตัวที่จะต้องใช้มาปราบเป้านี้ คือ t cell ซึ่งมีหน้าที่จะไปฆ่าไวรัสนี้ และการทำงานของ b cell และ t cell หรือ helper t-cell มันต้องทำงานร่วมกันดีมาก ถ้าไม่ดี คุณมีแอนตี้บอดี้อย่างเดียว คุณก็ปราบไวรัสนี้ไม่ได้
ผมเป็นห่วงว่า มีวัคซีนออกมาแล้ว ผมที่ได้ออกมาจะได้แค่ 60-70-80% เท่านั้น ไม่ใช่ 100% ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ไวรัสนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน
ในอีกด้าน มันเป็นไวรัสที่ฉลาด เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วมันหลบภูมิคุ้มกันได้ ทำให้อยู่ได้นาน พอระบบภูมิคุ้มกันมารู้ทีหลัง จะทำอะไรไม่ทัน และมีงานวิจัยที่ชี้ว่า มันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเราสติแตก ที่เรียกว่า Cytokine Storm ตอนหลังมีคำเรียกใหม่ว่า Bradykinin Strom ซึ่งแปลเหมือนกันว่า ในที่สุดแล้วระบบภูมิคุ้มกันของเราจะตื่นตระหนกแล้วซี้ซั้ว t cell ไปฆ่า ไปทำลายอวัยวะของเราเองได้
ผมจึงกลัวว่า ถึงมีวัคซีนมาก็ไม่ได้ช่วยอย่างที่หลายคนคิด นึกว่าจะกลับไปเหมือนสมัยก่อน COVID-19 มันจะไม่ใช่
นอกจากนั้นแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเรา ย้ำนะครับเวลาพูดถึงไวรัสนี้ ชื่อเต็มของมันคือ SARS-CoV-2 ย่อมาจาก severe acute respiratory syndrome คือส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เดินนักวิชาการตั้งชื่อไวรัส เพราะเชื่อว่าไป ‘ทำลายระบบทางเดินหายใจ’ แต่จริงๆ แล้วมันเข้าไป ‘ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน’ คือ immunity มากกว่า และไปทำให้เกิดการอักเสบของระบบ ซึ่งตรงนี้แก้ยาก เพราะระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ และระบบนี้มันเสื่อมสำหรับคนแก่ คนอ้วน คนที่มีโรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง แล้วมนุษย์เราตอนหลังแก่ตัวกันเยอะขึ้นและอ้วนกันมากขึ้น ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป มีคนที่น้ำหนักเกิน 60% อยู่ในภาวะอ้วน 40% ฉะนั้น อาการจะวนไปวนมา ถ้าอ้วน ก็เป็นความดัน เบาหวาน หัวใจ ฉะนั้นไวรัสนี้ ดีไม่ดี เข้าไปก็กระทบกับคนกลุ่มนี้ได้รุนแรงมาก และคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่
แต่ในอีกขาหนึ่ง โรคนี้ มนุษย์เราก็เริ่มรู้วิธีที่จะบรรเทาอาการได้ค่อนข้างมาก หลังๆ เราจะเห็นว่ามียาบางชนิดใช้บรรเทาอาการ คือตอนนี้ยังไม่มียารักษา แต่ยาบางชนิด เช่น ยาที่ไปลดการอักเสบ เช่น Dexamethasone ยาละลายลิ่มเลือดกก็ช่วยได้ ตอนหลังๆ เวลาเราคำนวณอัตราการเสียชีวิต หรือ case fatality rate คือเอาจำนวนคนที่พิสูจน์ได้ว่าติดเชื้อเป็นตัวหาร และตัวบนก็คือคุณเสียชีวิตเท่าไร คุณไปดูอัตราการติดเชื้อรายใหม่ ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ.2563 และอัตราการเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน ตอนนั้นอัตราการเสียชีวิตจะสูงมาก ราวๆ 8.5% ตอนนั้นยังรักษาไม่เป็น มาตอนนี้เหลืออยู่ราวๆ 2.1% ที่สำคัญกว่านั้นหลายคนไม่ถูกคัดกรองด้วยซ้ำ เป็นแล้วหายเอง ไม่เคยอยู่ในระบบเลย มีวิธีการที่จะไปพยายามตรวจและประเมินว่าคนกลุ่มนี้มีอยู่เท่าไร โดยดูจากแอนตี้บอดี้ที่เหลืออยู่ เขาทำการประเมินทางวิชาการ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 และใช้คำว่า infection fatality rate อยู่ที่ 0.5-1.0% แปลว่าอะไร จำนวนคนตายนับไม่ผิดแน่นอน แต่ตัวหารสิ ถ้าตัวเลขนี้ไม่ผิด ผมคำนวณได้เลยว่า ตอนนี้มีคนติดเชื้อทั้งหมดทั้งที่เคยตรวจเจอและไม่เจอ อย่างน้อย 140 ล้านคน แปลว่ามันกระจายไปทั่วไปหมดแล้ว แล้วเรานึกว่ามันมีอยู่แค่นี้
ผมคิดว่า หนึ่ง ไวรัสนี้จะอยู่กับเรานาน และคุมยาก สอง วัคซีนไม่น่าจะมีประสิทธิผลอย่างที่คนหวัง ที่คิดว่ากลางปี พ.ศ.2564 มีวัคซีนแล้วคนจะหาย 100% แล้วสถานการณ์ต่างๆ จะกลับไปเหมือนปี พ.ศ.2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย 40 ล้านคน ผมว่าดีไม่ดี อีกหลายปีเลยกว่าจะไปถึงจุดนั้น
ต่อให้มีวัคซีนล็อตแรก ล็อตสอง ล็อตสาม แต่ก็ยังไม่สามารถหยุด COVID-19 ให้หมดไปได้
คือวัคซีน จากที่ผมไปอ่านงานวิจัยมา จริงๆ แล้วมันทำยากมาก แล้วส่วนใหญ่ใช้เวลาเป็นสิบปี และบางโรคก็ยังทำวัคซีนไม่ได้เลย และวิธีทำวัคซีน เขาทำแบบลวกๆ มากเลย เดิมเขาจะเอาเชื้ออ่อนๆ ฉีดเข้าไปในร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าทำแบบนั้นมันเสี่ยง เชื้ออ่อนๆ อาจจะไม่อ่อนจริง ตอนหลังเขาเลยเอาศพของเชื้อ ตอนหลังจากนั้น ก็ไม่มั่นใจว่าศพของเชื้ออาจไม่ตายจริง ก็เลยเอาเฉพาะบางส่วนของชิ้นของศพของไวรัส เขาก็ยังกลัวอีก วิธีทำปัจจุบัน เหมือนไปสร้าง mRNA เทียมของไวรัสแล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างแอนตี้บอดี้ ซึ่งวิธีนี้มันทำได้เร็ว แต่อาจจะได้ภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงเท่าไร คงจะช่วยได้บ้าง เพราะต้องการเร็ว มันก็เลยไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่แรง และย้ำนะครับ แอนตี้บอดี้อย่างเดียวไม่พอต้องการ t cell ด้วย และงานวิจัยที่ผ่านมาที่ผมเคยเห็นคร่าวๆ วัคซีนที่ทดลอง มันกระตุ้นแค่แอนตี้บอดี้ ไม่ได้กระตุ้น t cell
ภาพรวมๆ แบบนี้ ผมเลยบอกว่า เห้ย หวังอะไรกันเยอะกับวัคซีน เพราะดีไม่ดี กลางปีหน้าได้วัคซีน ประสิทธิภาพของมันอาจจะแค่ 60-70-80% เท่านั้นเอง
เมื่อ อ.ศุภวุฒิมองว่า ต่อให้มีวัคซีนออกมาก็จะไม่ได้ผล แล้วระบบเศรษฐกิจไทยจะเป็นยังไงต่อไป
คือระบบเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าประเทศอื่นเขา ‘อยู่กับ COVID-19’ ส่วนของเราจะ ‘อยู่โดยปราศจาก COVID-19’ ผมให้ดูตัวเลขของประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ (นำกราฟเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละประเทศมาให้ดู) แต่ละประเทศมีคนติดวันละหลายพัน ตายวันละเป็นสิบ ของเรานะ แค่อยู่มาวันหนึ่งมีคนติดเพิ่มหลักสิบก็ตายแล้ว นี่คืออยู่กับ COVID-19 ของเราเหมือนพยายามจะอยู่โดยไม่มี COVID-19 ซึ่งต้นทุนทางเศรษฐกิจจะสูงมาก คืออยู่ได้ แต่จะสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจ 5 ข้อ
หนึ่ง การท่องเที่ยว ก่อน COVID-19 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 40 ล้านคน ทำรายได้ให้ประเทศ 2 ล้านล้านบาท หารออกมาหัวละห้าหมื่น มาปีนี้ ไตรมาสแรกได้แค่ 6.7 ล้านคน ไตรมาสต่อๆ มาแทบจะศูนย์เลย แล้วปีหน้าจะได้เท่าไร ถ้าแนวโน้มแบบปัจจุบัน คือให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแบบ long stay คือให้กักตัว 14 วันแล้วอยู่เป็นเดือน อันนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกว่า คิดว่าจะได้หัวละแปดแสนบาท คำถามคือทั้งโลกมีคนที่ยอมจ่ายเงินขนาดนี้มาเที่ยวประเทศไทยกี่คนกัน รัฐบาลประเมินว่า 1 ล้านคน ซึ่งผมว่าเยอะมาก คือได้ 8 แสนล้านบาท แปลว่าหายไป 1.2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่น้อยนะครับตัวเลขนี้ คิดเป็นหนึ่งในสามของงบประมาณรัฐบาล
นอกจากนั้นแล้ว คุณได้นักท่องเที่ยวเข้ามา เต็มที่แค่ 1 ล้านคน แต่ก่อนคุณมีทรัพยากรรองรับนักท่องเที่ยวได้ 40 ล้านคน ทั้งสนามบิน โรงแรม รถทัวร์ ไกด์ ห้องประชุม ร้านอาหาร บาร์ ฯลฯ เห้ย จาก 40 ล้าน เหลือ 1 ล้าน ทรัพยากรพวกนี้หมดค่าทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้ถูกใช้ แล้วจะให้คนพวกนี้ไปทำอะไร
จากที่ผมเห็น เวลาเห็นรัฐบาลพูด ส่วนใหญ่พูดเป็นนามธรรม “เราล้มแล้วต้องลุกขึ้น” แล้วไง และสิ่งที่รัฐบาลทำคืออะไร
ปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2563 มี Job Expo จ้างงาน 1 ล้านคน แต่ภาคการท่องเที่ยวมีคนน่าจะ 5-6 ล้านคน แล้วที่รัฐบาลจะจ้าง 1 ล้านคน รัฐบาลจ้างเอง 6 แสนคน และจ้างเพียงหนึ่งปีเท่านั้น
สอง นักธุรกิจที่มาลงทุนในประเทศไทย ที่ผ่านมา จะมีนักธุรกิจจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เวลาจะมาลงทุน เขาก็อยากมาดูว่า โรงงานเขาเป็นยังไง ได้คุยกับผู้จัดการที่เมืองไทย ถ้าคุณจัดให้เขาต้องกักตัว 14 วัน เพื่อต้องมาคุยกับพนักงานเขาแค่วันเดียว เขาจะมาลงทุนเยอะไหม ก็ลดลงแน่ๆ การลงทุนทั้งหมดในประเทศไทย มัน 25% ของ GDP คิดเป็นเงินราว 4 ล้านล้านบาท คือต่างชาติเขาไม่ได้ลงทุนเยอะ ลงทุนนิดเดียว แต่เป็น catalyst หรือตัวกระตุ้นการลงทุน ถ้าเขาไม่ลงทุน ก็ไม่มีการลงทุนร่วมกัน ซึ่งเงินส่วนนี้ก็ถูกกระทบ ฉะนั้นการลงทุนของเรามันเดี้ยง
สาม เราพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ น่าจะราว 3-4 ล้านคน ตัวเลขทางการคือ 1 ล้านคน แต่ตัวเลขไม่เป็นทางการน่าจะเยอะกว่านั้น อันนี้คือตัวลดต้นทุนการผลิต เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงถูก ตอนนี้เราตรึงชายแดนอยู่ เพราะมีการระบาดจากอินเดียเข้ามาในพม่า แล้วส่วนใหญ่เราใช้แรงงานต่างด้าวจากพม่า แสดงว่า SME หรือหลายๆ ธุรกิจที่เดิมเคยพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ก็จะมีแรงงานต่างด้าวให้ใช้น้อยลง ตรงนี้ก็เป็น cost เหมือนกัน สำหรับ SME และภาคเกษตรและภาคก่อสร้าง นี่เป็นกี่ % ของ GDP ก็ไม่รู้ แต่ไม่น้อยแน่ๆ น่าจะสัก 10% เพราะประชากรไทยในวัยแรงงานมีราว 30 ล้านคน สมมุติเขามา 3-4 ล้านคน ก็คือ 10% ของแรงงานทั้งหมด
สี่ นักเรียน นักศึกษา ต่างประเทศ เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยตอนหลังสร้างมากเกินไป เดิมทีเราสร้างตอนที่คนไทยมีลูกเยอะ แต่นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมาคนเรียนน้อยลงเพราะทุกคนมีลูกน้อย ยี่สิบปีที่ผ่านมาจำนวนนักศึกษาไทยน้อยลง ต้องพึ่งนักศึกษาต่างประเทศราว 3 หมื่นคน เข้าใจว่าอันนี้คงจะหายไปเยอะเลย เพราะเราไม่ให้เข้า
ห้า เราเคยอบกว่าเราอยากจะเป็นศูนย์กลางให้เขามาถ่ายทำหนังไม่ว่าจะฮอลลิวู้ด บอลลิวู้ด แต่ตอนนี้ก็ปิดหมด เดิมทีมีข่าวว่า รัฐบาลบอกว่ามีรายได้จากตรงนี้ 2 แสนล้านบาท ตอนนี้มันเหมือนศูนย์
นี่คือ 5 sector ที่ได้รับผลกระทบ นี่แหละคือต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นรัฐบาลพูดเลยว่าจะทดแทนอย่างไร
ระเบิดเวลาลูกใกล้ๆ ที่ทุกคนพูดถึงกันคือ ระยะเวลาพักชำระหนี้เงินกู้ที่ใกล้จบในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 อ.ศุภวุฒิมองว่า มันจะแรงแค่ไหนและส่งผลกระทบยังไงบ้าง
คือทุกอย่างที่ผมพูดเมื่อกี้ ความที่เศรษฐกิจไทยใช้คำว่า bank-based คือเศรษฐกิจไทยเราพึ่งธนาคาร ธุรกิจเราพึ่งธนาคาร ฉะนั้นทุกอย่างที่พูด มันไปรวมศูนย์ให้แห็นตัวเลขอยู่ที่ธนาคาร เร็วๆ ก็คือว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อในระบบ ตัวเลขกลมๆ 20 ล้านล้านบาท อาจจะน้อยกว่านี้นิดหน่อย แต่ให้จำได้ง่าย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้พักชำระหนี้ ซึ่งเขาใช้คำว่า เป็นมาตรการผ่อนปรนลูกหนี้ ตั้งแต่ 25 เมษายน พ.ศ.2563 เป็นต้นมา เขาก็บอกว่า ถ้าลูกหนี้คนไหนที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาจะไม่จ่ายดอกเบี้ยก็ได้ โดยที่ธนาคารจะไปทำอะไรคุณไม่ได้ และคุณจะไม่เสียชื่อไม่ติดเครดิตบูโร นั่นคือมาตรการที่ ธปท.ประกาศตอนเดือนเมษายน พ.ศ.2563 เราเห็นคนที่แห่เข้าไปตรงนี้ มูลค่าหนี้ทั้งหมด 7.2 ล้านล้านบาท มันจึงเกินหนึ่งในสามของหนี้ทั้งหมด
คนไทย 3 คน เดินมาบอก คนหนึ่งมีปัญหา มันเยอะขนาดนั้นเลยนะ
พอมาถึงตรงนี้ เราก็เห็นข่าว ลูกหนี้บอกว่า ขอต่ออีก 2 ปี ซึ่งผมว่า ธปท.ไม่ยอมหรอก เพราะถ้ายอม แล้วอีก 2 คนที่เขายังจ่ายดอกเบี้ยอยู่จะคิดยังไง เขาอาจจะบอกว่า เรื่องอะไรถ้าคนอื่นไม่จ่ายได้ ผมก็ไม่จ่ายด้วย จะเป็น moral hazard เขาก็เลยบอกว่า ไม่ได้แล้ว หยุดแล้ว ต้องให้มาคุยกับเจ้าหนี้แล้ว โดย ธปท.ให้ไกด์ไลน์คร่าวๆ ว่า ช่วยๆ ลดดอกเบี้ยให้หน่อย แล้วมาเจรจากัน
ผมมีจุดยืนตรงนี้ว่า สิ่งนี้น่ากลัวสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย เพราะสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ คือการปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่ จนเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปในตัว จริงไหมครับ ลูกหนึ้ตั้งหนึ่งในสามอยู่ในอาณัติของเจ้าหนี้ที่จะปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารปรับโครงสร้างหนี้เป็นอย่างไร เศรษฐกิจของประเทศก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะมันใหญ่เหลือเกิน
คำถามผมคือ ทำไมคุณถึงนึกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ต่างคนต่างทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและ stakeholder จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องสำหรับเศรษฐกิจและคนไทยโดยรวมทั้งหมด แล้วมันจะตรงกับยุทธศาสตร์ที่เราตรงการไหม มันไม่มีทางจะตรง ธนาคารแห่งละแห่งก็ต้องคิดถึงตัวเอง ผู้ถือหุ้น พนักงาน ผู้ฝากเงิน แล้วก็ปรับโครงสร้างไปในทางนั้น แล้วสิ่งนั้นจะตรงกับความต้องการของประเทศหรือเปล่า มันไม่น่าจะตรงนะ
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า ธนาคารพาณิชย์โดยวิสัย โดยอาชีพ โดยความชำนาญ คือคนที่ไปรวบรวมเงินฝากแล้วก็จ่ายดอกเบี้ย จากนั้นก็เอาเงินฝากนั้นไปปล่อยกู้ โดยหวังจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้เยอะหน่อยเพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วส่วนต่างเอามาจ่ายพนักงานและผู้ถือหุ้น นั่นคือหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเขาไม่เคยอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ และทำธุรกิจไม่เป็น
สิ่งที่เขาทำเป็นคือปล่อยเงินกู้แล้วหวังว่าเขาจะคืนเงินต้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะคืนเงินต้นมา เราก็เลยเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน เวลาคับขัน เราก็จะไปยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งผมคิดว่ามีอยู่ 3 ประเภท หนึ่ง รีบยึดรีบขาย เช่น รถยนต์ ซึ่งจะมีปัญหาคือ car loan ซึ่ง ธปท.เคยสั่งห้ามยึดอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ผมคิดว่าเดี๋ยวถ้ามีปัญหา ก็จะโดนยึด สอง เครื่องจักร ที่ธนาคารพาณิชย์ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน อาจจะให้ทำต่อไป อย่างน้อยๆ ให้มี cash flow นิดหน่อย เพราะถึงยึดไปก็ทำอะไรไม่เป็น สาม โรงแรมที่ว่าง อันเนี้ยผมรู้ว่าถ้าเอามา warehouse หรือดองไว้ เดี๋ยวราคาก็จะขึ้น ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากก็ไม่เยอะ เลยต้องยึด แล้วต่อไปผมอาจจะขายให้ใครที่ซื้อยกล็อต
คำถามคือ พฤติกรรมของธนาคารทำ 3 อย่างนี้มันตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ เพราการเอาทรัพยากรไปดองไว้เฉยๆ ก็เท่ากับไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย ไม่จ้างงาน ไม่ขายอะไรเลย มันไม่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจนะครับ หรือกรณีเครื่องจักร ที่ให้ตะบี้ตะบันทำของเดิมไป มันก็ไม่ได้ปรับโครงสร้าง พวกธนาคารเองก็คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น
อย่างเนี้ยมันจะทำให้เศรษฐกิจซึมยาวเลย แล้วมันก็ไม่ปรับโครงสร้าง เพราะทรัพยากรเดิมที่เคยเป็นของ SME เช่น โรงแรมเล็กๆ อาจจะถูกรวบโดยรายใหญ่
ถ้าคุณบอกว่าคุณอยากจะอยู่แบบปลอด COVID-19 ไม่ให้มีคนติดเชื้อสักคนเดียว แล้วคุณพร้อมรับต้นทุนทางเศรษฐกิจขนาดนี้ไหม แล้วคุณพร้อมแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเปล่า
ฟัง อ.ศุภวุฒิว่า หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจอาจจะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยน mindset ก่อน อย่าไปกดตัวเลขให้เหลือศูนย์
เหลือศูนย์ก็ได้ ให้เป็น covid-free แต่ช่วยตอบคำถามผมด้วยว่าคุณจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผมไล่มาอย่างไร ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่เห็นการพูดภาพใหญ่ว่ายุทธศาสตร์ของประเทศจะเดินไปยังไง อย่างเช่นที่มีข่าวว่า เรายังเดินหน้า EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) โดยเฉพาะ 5 โครงการใหญ่ต่อไป แต่ถามว่ามีโครงการอะไรบ้าง ทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เชื่อมทำไม เพราะนักท่องเที่ยวเยอะ แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวไม่มีแล้ว การบินไทยทำอู่ซ่อมเครื่องบินสำหรับสายการบินภูมิภาค แต่การบินไทยตอนนี้อยู่ในศาลล้มละลาย ต่อมาคือสร้างอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง ทั้ง 5 โครงการนี้ คือการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยังเปิดเหมือนเดิม และยังมีการท่องเที่ยว การค้าขาย เหมือนเดิม (เน้นเสียง)
สมัยตอนที่คุณคิดทำ 5 โครงการนี้ เพราะคุณคิดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือราว 2 ล้านคน ไปอ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติดู เดิมการท่องเที่ยวเป็น 18% ของจีดีพี จะทำให้ขึ้นเป็น 30% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 5 ล้านล้านบาท ภายในยี่สิบปี
5 โครงการใหญ่ของ EEC คุณจะทำต่อไปจริงๆ หรือ แล้วมันจะสร้างงานจริงๆ เหรือ คุณเชื่อมรถไฟความเร็วสูงสามสนามบิน มันจะต้องใช้จริงๆ เหรอ
นายกฯ เคยพูดว่า รัฐบาลคงจะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้แล้ว อาจารย์มองว่ารัฐบาลยังเหลือเครื่องมืออะไรให้ใช้อีกบ้าง
ผมไม่เห็นด้วยกับคำพูดนั้น (เปิดเอกสารตัวเลขหนี้สาธารณะ และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีย้อนหลัง หลายสิบปีให้ดู) ความสำคัญของรูปนี้คืออะไร น้อยครั้งมากที่รัฐบาลลดหนี้ ทำไมรัฐบาลสร้างหนี้ตลอดได้ เพราะรัฐบาลเป็นอมตะ ไม่ตาย ก็เลยสร้างหนี้ได้เรื่อยๆ สังเกตว่าตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 หนี้สาธารณะพุ่งกระฉุด แต่ตัวสำคัญที่เราดูว่า สถานการณ์การคลังเป็นยังไง แย่หรือไม่แย่ คือเราดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สังเกตว่าช่วงนั้น หนี้สาธารณะขึ้นนะครับ แต่ที่ขึ้นแรงกว่าคือหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 20% พรวดมาเป็น 60% เลย เพราะอะไร เพราะตัวหารมันลดลง
เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลจะใส่เงินเข้าไปเพื่อกระตุ้น เพราะเวลามีวิกฤต จะเก็บภาษีไม่ได้ แล้วจีดีพีจะลดลง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็เลยพุ่ง แต่สังเกตนะครับ หลังวิกฤตถ้าคุณฟื้นเศรษฐกิจเก่งๆ และทำให้จีดีพีโตเร็วกว่าหนี้ กราฟก็จะร่วง จาก 60% ก็จะเหลือ 40% นิดๆ
บทเรียนคืออะไร อย่ามาบอกว่าตอนนี้กู้อีกไม่ได้แล้ว แต่ถ้ากู้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว จนกระทั่งจีดีพีในอนาคตโตเร็วกว่าหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า นั่นแหละคือวิธีรักษาวินัยการเงินการคลัง คือการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ยาวนาน และต่อเนื่อง แล้วทำให้ตัวหารมันเพิ่มสิ มันไม่ใช่บอกว่า ผมไม่กล้ากู้แล้ว เพราะเดี๋ยวตัวเลขหนี้จะเพิ่ม แต่คำถามคือถ้าผมไม่กู้ แล้วจีดีพียิ่งลงแรง กราฟมันจะยิ่งขึ้น
ถ้าคุณไม่ทำอะไร แล้วเศรษฐกิจแย่ และจีดีพีไม่โต แล้วคุณจะต้องขาดดุลงบประมาณปีละเฉลี่ย 3-4 แสนล้านบาท กราฟมันจะยิ่งพุ่งขึ้นเลย
ประเด็นมันคือ การกู้เงินโดยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อการฟื้นเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน จะทำให้จีดีพีโตเร็วกว่าหนี้ แล้วสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะลดลง ตอนปี พ.ศ.2543 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็พุ่งเป็น 60% แต่รัฐบาลก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ทำให้กราฟค่อยๆ ร่วงลงมา
การที่ตำแหน่ง รมว.คลังว่างลงนานนับเดือน สำคัญแค่ไหนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าวิกฤต COVID-19 จะอยู่กับเมืองไทยนานแค่ไหน
ผมไม่ให้ความสำคัญกับคน กับใคร และผมก็ไม่รู้จักใคร ผมให้ความสำคัญกับว่าคุณจะทำอะไร ผมไม่สนใจว่าใคร คุณจะทำอะไร คุณจะเปลี่ยนคนไหน ใครจะมา ผมไม่สนใจ คุณรู้ปัญหาหรือเปล่า แล้วคุณแก้ปัญหาหรือเปล่า
ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลก็พูดแต่เรื่องนามธรรม ยังไม่มีรูปธรรม
คือผมไม่เห็น แล้วรูปธรรมเช่น คุณจะแจกเงินเพิ่ม 3,000 บาท อีกสามเดือน คุณจะจ้างงานอีก 1 ล้านตำแหน่งไปอีกหนึ่งปี นี่แหละรูปธรรม แต่ไม่ตอบโจทย์ที่ผมเล่าให้ฟัง 5 ข้อเมื่อกี้ การท่องเที่ยว การลงทุน แรงงาน ถ่ายหนังจากต่างประเทศ นักเรียนต่างชาติ มันไม่ตอบสักข้อเลย แต่สิ่งที่อยากให้ตอบจริงๆ คือคุณมียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกหลัง COVID-19 ให้คนไทยทำมาหากินได้อย่างดีอย่างคล่องตัวได้อย่างไร คุณจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในโลกหลัง COVID-19 อย่างไร มันอยู่แบบรองนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนให้กลับมา ไม่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร แล้วคุณจะช่วยให้คนปรับเปลี่ยนไปสู่โครงสร้างใหม่ยังไง ตอนนี้มันไม่เห็น ไม่มีเลยนะครับ ทรัพยากรที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน คุณจะโยกย้ายไปที่ไหน ให้เขาไปทำอะไร ถ้าคุณยังปิดประเทศอยู่ หรือเปิดนิดหน่อย
ถ้าเปิดประเทศหมดช่วยได้ไหม
เปิดหมดไม่กล้าหรอก ใข่มะ ตอนนี้อย่าว่าแต่เปิดหมดเลย พูดมาตั้งนานแล้วว่าจะทำ travel bubble ก็ยังไม่เห็นจะมีเลย คืออย่าไปพูดเลยว่าเปิดหมด คือเรา panic กลัวโรค COVID-19 มากเกินไป ผมยังตัวอย่างตัวเลขง่ายๆ ตอนนี้มีคนเสียชีวิตเพราะ COVID-19 กว่า 900,000 คน คุณรู้หรือเปล่าว่า ตั้งแต่ต้นปีมาถึงตอนนี้ มีคนเสียชีวิตเพราะโรคติดต่ออื่นๆ รวมถึง COVID-19 ราว 9,000,000 คน ที่เสียชีวิตเพราะ COVID-19 แค่ 10% ของทั้งหมด และที่เหลือคุณรู้ไหมว่าติดเชื้ออะไรบ้าง คุณไม่เคยรู้และไม่เคยกลัวมันเลย ทำไมคุณกลัว 900,000 คน แล้วไม่กลัว 8,100,000 คน ทำไมล่ะ ทำไมคุณกลัวแต่ COVID-19
เพราะคุณมานั่งออกข่าวทั้งวัน ตายเพราะ COVID-19 เท่านี้ๆ แล้วคุณก็มานั่ง panic แต่โรคติดเชื้ออื่นๆ มันก็ตายกันทุกวัน ทุกปี มีคนไทยตายเพราะขี่มอเตอร์ไซค์ราว 20,000 คน คุณก็ไม่ได้ห้ามขี่มอเตอร์ไซค์ คนตายเพราะอุบัติเหตุบนรถยนต์ปีหนึ่งราว 30,000 คน รวมขี่มอเตอร์ไซค์ แต่คุณก็ไม่ได้ห้ามขับขี่รถยนต์ ทั้งๆ ที่คุณรู้ มีสถิติชัดเจน เทียบกับ COVID-19 ที่ถึงตอนนี้มีคนเสียชีวิต 59 คน ซึ่งคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมากกว่านั้นอีก
แล้วถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้อยู่ รัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจน ในฐานะคนทั่วไป เราควรจะทำยังไง ต้องกลั้นหายใจนานแค่ไหน
มันกลั้นไม่ได้ อย่างนี้กลั้นไม่ได้ ตอนแรกนึกว่ากลั้นได้ ทุกคนต้องมาคิดเองทำเองว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป โดยไม่มีการชี้นำจากรัฐบาลด้วย อันนี้ยากแล้ว เพราะให้ผมคิดแทน ผมก็คิดได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่มากหรอก
ด้วยเหตุผลนี้ ผมกับทางกลุ่ม CARE จึงตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นให้คนไทยช่วยกันคิดช่วยกันลองปรับโครงสร้างกันเองดีกว่า กระจายอำนาจทางเศรษฐกิจดีกว่า ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์มาจากส่วนกลาง เรากระจายให้ SME เขาคิดของเขาเองดีกว่า โดยที่รัฐบาลมาช่วยเพิ่มทุนให้เขา ย้ำนะครับว่าไม่ใช่ปล่อยกู้ soft loan แต่เพิ่มทุนให้เขา แล้วให้เขาเสนอไอเดียแล้วเสี่ยงทำไอเดียของตัวเอง ผมคิดแล้วหล่ะว่า “ผมคิดไม่เป็น ผมคิดไม่ออก” ผมสังเกตแล้วหล่ะว่า รัฐบาลก็คิดไม่เป็น คิดไม่ออก แต่มันต้องเดินหน้า เพราะฉะนั้นโยนความรับผิดชอบไปให้ SME ดีกว่า ให้เขาคิด เชื่อในปัญญาของเขา คนรุ่นใหม่ ดีกว่า เขาคิดได้ดีกว่าผม
ที่เราเสนอ ตัวเลขกลมๆ สมมุติว่า SME เขามีเงิน 20 ล้านบาท แล้วเขาทำโครงการปรับโครงสร้างธุรกิจของเขา แล้วเขาสามารถไปเสนอกับธนาคาร ให้ปล่อยกู้ 30 ล้านบาท ต่อมาสองคนจูงมือมาเสนอรัฐบาล ก็บอกว่าจะใส่ทุนเข้าไปให้อีก 50 ล้านบาท กลายเป็นว่า ส่วนทุนจะเป็น 70 ล้านบาท แล้วเงินกู้อีก 30 ล้านบาท รัฐบาลจะถือหุ้นแบบ passive ไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร แล้วคุณพาไปเลย จะกี่รายก็พาไปเลย ข้อเสนอนี้ คือให้รัฐบาลเตรียมเงินไว้เลย 2 ล้านล้านบาท แล้วถ้าทำได้จริง อีกฝ่ายก็ต้องหามา 2 ล้านล้านบาท ถูกไหม อยู่ๆ มี 4 ล้านล้านบาท อันเนี้ย โอ้โหมันเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ราว 20% ของจีดีพี ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงๆ แน่นอนว่ามันอาจจะไปไม่ถึง แต่ขอให้มันมีอย่างนี้ SME เขาจะได้มีกำลังใจว่า เขาหาเงินมานะ คิดโครงการอะไรที่เขาน่าจะทำได้ อย่างนี้ถึงจะมีทาง
ถามว่าให้ทำอะไร ตัวอย่างเช่น มีโรงแรมรายเล็กๆ บางโรงแรมอยู่ใน กทม. หัวหิน เขาก็ทำ travel corridor เขาจะโคกันเอง จะสร้างแอพฯ จะทำให้ติดต่อกันเอง และทำให้เป็น corridor การท่องเที่ยว กทม.-หัวหิน ชวนให้มาเที่ยวกันนะ แล้วทำเป็นระบบปิด แล้วคุณจะมีความมั่นใจปลอดภัย จะทำ covid insurance ให้หมด แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้อง reinvent revamp และ invest ใหม่ด้วยการสร้างเครือข่าย ใช้แอพฯ มา consolidate กัน เป็นหย่อมๆ ไป อีกหย่อมอาจจะทำเชียงใหม่-เชียงราย ก็ได้ อีกหย่อมอาจจะทำภูเก็ต-เกาะสมุย ก็ได้ ไม่ว่ากัน SMEs ด้วยกัน ซึ่งตอนนี้พวกโรงแรมสองดาว สามดาว ไม่มีใครไปพักเลย เขาอาจจะต้องมา revamp แล้วอัพเกรดขึ้นมา ซึ่งมันต้องใช้เงินทุนไงครับ
ต่อมา หรือเขาบอกว่า แค่ท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่พอ อาจจะต้องมีเรื่องอาหาร นวดสมุนไพร เขาก็อาจจะไปลงทุนเทคโนโลยีให้มีอาหารออร์แกนิก แล้วรู้จัก supply chain แล้วมา integrate ให้เข้ากับตรงนี้ แล้วเข้าไปร่วมกับชาวนาด้วย มันก็จะมีการ integration กันตลอดทางว่า อาหารเหล่านี้ปลอดภัยทุกอย่าง ออร์แกนิกแท้ ซึ่งมันก็ต้องใช้เงินทุน
นี่คือการ reinvent ว่าประเทศไทยจะใช้การท่องเที่ยวแบบ healthy มาก แบบ environmental friendly มาก แบบปลอดภัยด้านสุขภาพมาก เนี่ย ยกตัวอย่าง แต่ถ้าวันนี้คุณกำลังปวดหัว เพราะเจ้าหนี้ทวงทุกวัน จะยึดทรัพย์ไม่ยึดทรัพย์ ต้องไปทะเลาะกันในศาล คุณจะมาคิดอย่างนี้ได้ยังไง”
ซึ่งเงินทุนที่ให้ไป รัฐบาลจะอยู่กับเขาเจ็ดปี แล้วซื้อหุ้นคืนที่ 1.3 เท่าของราคาเดิน ถ้าเขาขาดทุนก็ไม่ว่ากัน รัฐบาลไม่คิดเงินแพงมาก เอาแค่เท่าทุน สิ่งที่รัฐบาลจะบังคับให้เขาทำ หนึ่ง ต้องพัฒนาระบบบัญชีให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ไม่มี 2-3 เล่ม มีเล่มเดียว แล้วรัฐบาลจะต้องสร้างบุคลากรมาช่วยเขาทำบัญชีด้วย สอง เมื่อบัญชีถูกต้องก็จะเสียภาษีเข้าระบบที่ถูกต้อง สิ่งที่รัฐบาลต้องการจากพวกเขาคือให้เขาประสบความสำเร็จ และในอนาคตก็เป็นผู้เสียภาษีที่ดี
นี่คือเงื่อนไขที่ผมต้องการให้เขามาทำกับรัฐบาลมีแค่ 2 ข้อ เขาจะต้องเลิกหนีภาษีและเลิกมั่วในการทำบัญชี เพื่อให้เขาเป็นผู้เสียภาษีที่ดีในอนาคต แล้วจะได้จ้างคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีการจ่ายประกันสังคมที่ถูกต้อง แล้วพนักงานก็จะได้ประโยชน์จากการเข้าระบบที่ถูกต้อง เพราะตอนนี้เรามีคนวัยทำงาน 30 ล้านคน แต่เข้าอยู่ในระบบแค่ 11-12 ล้านคน หรือหนึ่งในสาม เท่านั้นเอง
ผมเชื่อว่าคนไทยมีความเก่ง แต่ตอนนี้มันอยู่ในภาวะคับชัน ถูกเจ้าหนี้ทวง คิดอะไรไม่ออก
วิกฤตครั้งนี้เทียบกับวิกฤตปี 2540 ครั้งไหนที่หนักกว่ากัน
(ตอบเร็ว) ครั้งนี้หนักกว่าครั้งโน้นเยอะเลย ครั้งโน้นมันง่ายๆ คือรัฐบาลและเอกชนต่างเร่งกันกู้เงินจากต่างประเทศมาเยอะมาก เพราะมีนโยบายสนับสนุนให้กู้เงินจากต่างประเทศที่เรียกว่า BIBF โดย ธปท.กับรัฐบาลยืนยันว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรากฎว่ากู้ไปกู้มา หนี้ต่างประเทศมหาศาลเลย 6-7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุนสำรองมีแค่ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงจุดหนึ่งเจ้าหนี้ก็ดึงเงินคืนทำให้ทุนสำรองหมด เงินบาทก็อ่อนค่า จาก 25 บาทเป็น 50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หนี้ที่คุณกู้มาเดิมมันพองไป 100% แต่ครั้งนั้นมันเป็นวิกฤตคนรวย เพราะ SME กับชาวบ้านมันกู้ต่างประเทศไม่ได้หรอก เป็นวิกฤตคนรวยและสถาบันการเงิน จำได้ไหมสถาบันการเงินปิดไป 60-70 แห่ง สถาบันการเงินพัง
ประเด็นคือ กระทบคนจนไหม กระทบ คนตกงานคราวนั้น 1.5 ล้านคน เขาก็กลับไปต่างจังหวัด แต่ฟื้นได้เร็ว เพราะพอบาทมันอ่อน จาก 25 บาท เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าเกษตรขายดีหมดเลย เพราะเราส่งออกนี่ ตอนนั้น ตัวที่ทำให้ฟื้นได้เร็วคือการอ่อนตัวของค่าเงินบาท เศรษฐีถูกยึดทรัพย์ ธนาคารล้มไปแล้ว แต่ชาวบ้านได้ราคาพืชผลที่ดีมาก ฉะนั้นคนไปทำพวกนั้น กำไรหมดเลย คนตกงานคราวนั้น ภาคการเกษตรก็ absorb ได้ เชื่อไหมครับช่วงนั้น จากการส่งออก 20% ของจีดีพี กลายเป็น 50% ของจีดีพี ภายในเวลาสิบปีหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
คือตัวขับเคลื่อนหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจคือการส่งออก เพราะบาทอ่อน พอบาทอ่อน ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต เพิ่มการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ ภาคอุตสาหกรรมของเราก็ดีอีก แล้วเผชิญช่วงนั้นเศรษฐกิจโลกบูมอีก แล้วพอดีพรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล เขาก็กระตุ้นเศรษฐกิจอีกทั้งภายใน-ภายนอก เขาทำเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ มันก็เลยพากันไปหมดเลย
แต่รอบนี้ มันไม่มีประเด็นนั้นเลย ตอนนี้บาทแข็งและไม่มีแนวโน้มจะอ่อน รถยนต์เราก็จะถูกรถยนต์ไฟฟ้าตีตลาดจะแย่อยู่แล้ว พลังงานก็หมด ประชากรก็แก่ตัว แล้วจะตกงานกัน ดีไม่ดี 4-5 ล้านคน มากกว่าคราวที่แล้วสองสามเท่า ฉะนั้นรอบนี้จะรุนแรงสำหรับคนจนมากกว่ารอบที่แล้ว เยอะมาก
รอบนี้เศรษฐีไม่กระทบ แล้วเศรษฐีที่อายุมากๆ ก็กลัว COVID-19 ด้วย
รอบนี้จะแรงกว่ามาก ผมถึงเป็นห่วงรอบนี้มาก แรงกว่ามากแน่นอน
ตอนวิกฤตปี 2540 ใช้เวลากี่ปีกว่าจะฟื้น
ถ้าจำไม่ผิด ใช้เวลา 2-3 ปี
แล้วคราวนี้จะกี่ปี
คราวนี้ไม่รู้เลย
*การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2563