จะไปวิทย์ดี หรือไปสายศิลป์ดี หนึ่งคำถามสำคัญในระบบการศึกษา ที่เมื่อขึ้นม.ปลายแล้ว นักเรียนแต่ละคนเหมือนเจอทางแยก และจุดเปลี่ยนแรกในชีวิตที่จะต้องตัดสินใจ
แต่ที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ โรงเรียนที่กำลังจะเริ่มมีหลักสูตรม.ปลายในปีการศึกษาหน้า เด็กนักเรียนที่นี่กลับไม่ต้องเจอทางแยกที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนหลักสูตรไหน แต่เด็กมีโอกาสได้ออกแบบหลักสูตรของตัวเอง ตามความชอบ ความสนใจของแต่ละคนเองเลยด้วย
The MATTER มาคุยกับ ครูเด้นท์ – ศราวุธ จอมนำ, ครูเบน – เบญจ์ บุษราคัมวงศ์ และครูปอ – ปฏิพัทธ์ สถาพร 3 คุณครูของโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ ที่มีส่วนในการออกแบบหลักสูตร และจัดองค์ความรู้ให้กับนักเรียนม.ปลายของโรงเรียนนี้ว่า คุณครูคิดอย่างไรกับการแยกสายการเรียนแบบสายวิทย์-ศิลป์ มันยังตอบโจทย์การเรียนรู้ในปัจจุบันหรือไม่ และสาธิตธรรมศาสตร์ ถ้าไม่แยกสายแล้ว ใช้ระบบการสอนแบบไหนในมัธยมปลาย ?
จะไปวิทย์ หรือไปศิลป์ ? การเลือกสายการเรียน ก้าวแรกในการตัดสินใจของเด็ก
นอกจากการเลือกโรงเรียน หรือไปสอบเข้าช่วงเปลี่ยนชั้นเรียนแล้ว หนึ่งจุดสำคัญที่เด็กนักเรียนหลายคนต้องเลือก เพื่อชี้เส้นทางชีวิต คือ ‘การเลือกสายวิทย์-สายศิลป์’ ในช่วงขึ้นมัธยมปลาย ซึ่งก่อนจะเลือกสาย เข้าไปเรียนในองค์ความรู้นั้นๆ ตลอด 3 ปีแล้ว เรายังมักจะเห็นปัญหาที่เด็กหลายคนพบ คือ การตัดสินใจเลือกไม่ได้ หรือเลือกแล้ว ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ
ครูเด้นท์ เล่าให้เราฟังว่า การแบ่งสายมันสร้างความเครียดให้เด็ก ทั้งจากที่ต้องตัดสินใจ ไปถึงความเครียดของผู้ปกครองที่คาดหวังเส้นทางในอนาคตของลูกๆ
“พอแบ่งสายวิทย์-ศิลป์ที่ขาดกันชัดเจน มันสร้างความกังวลให้เด็กเยอะเหมือนกัน ว่า ม.4 เขาจะเอายังไงกับชีวิต จะไปวิทย์เลยไหม ที่ต้องเรียนวิทย์ทุกตัวรวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ แต่ถ้าเป็นสายศิลป์ก็แทบจะไม่ต้องเรียนตัวของวิทยาศาสตร์เลย มีแค่บางตัวเท่านั้น รวมถึงสร้างความกังวลให้ผู้ปกครองด้วยว่า จะต้องพาลูกไปเรียนอะไรต่อ หรือต้องเตรียมลูกยังไง
แต่แน่นอน คนที่ได้รับผลกระทบมากๆ คือนักเรียน ซึ่งถ้าเค้าเลือกไม่ได้ ไม่รู้จะไปไหนดี เขาจะไปเลือกวิทย์ ทำยังไงก็ได้ให้ได้ไปวิทย์ เหตุผลเพราะว่า ในตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย พวกสายวิทย์สามารถสอบได้ทั้งหมดเลย จึงทำให้คนพยายามกระเสือกกระสนไปเรียนสายวิทย์กันหมดเลย ทั้งๆ ที่ไม่มีความสุขเลยในตอนที่เรียนอยู่”
ซึ่งในการเลือกสาย นอกจากความชอบส่วนตัว หรือแรงกดดันจากที่บ้านหลายครั้ง ‘เกรด’ ก็ถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดว่า เด็กควรเข้าสายอะไร รวมไปถึงค่านิยมของสังคมในขณะนั้น ที่เข้ามามีส่วนให้เด็กตัดสินใจด้วย
ครูปอมองว่า เกรดคือสิ่งที่นำมาวัดได้ในตอนเลือกสาย แต่มันก็ไม่ได้ตัดสินทุกอย่าง “เกรดอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้มากที่สุดในโรงเรียน ว่าสุดท้ายฉันเก่ง หรือไม่เก่งเรื่องนี้ มันถูกรายงานออกมาเป็นตัวเลข เป็นเกรด เราเอาตรงนั้นมาดู และประกอบการพิจารณาของเรา ซึ่งความเป็นจริงมันอาจจะมีช่วงจังหวะ
เช่น จริงๆ แล้วเราชอบวิชาประวัติศาสตร์มาก แต่ลืมส่งงานไป 1-2 ชิ้น ทำให้เกรดน้อย เกรดมันก็อาจจะไม่ได้วัดได้ทุกอย่างเสมอไป เรื่องความรู้ก็ส่วนนึง เรื่องความรับผิดชอบก็ส่วนนึง เพราะฉะนั้น เกรดสุดท้ายมันเป็นแค่ตัวแทนนึงแค่นั้นเอง แต่เพื่อความง่ายสุดในชีวิต ทุกคนจึงเอามาวัดเท่านั้นเอง”
ซึ่งครูเบนเอง ในช่วงมัธยมปลายก็เป็นหนึ่งคนที่ suffer กับการเรียนไม่ตรงสายที่ชอบ เพราะถูกตัดสินจากเกรด
“เราเป็นเด็กที่อกหักกับระบบการศึกษา ตอนเรียนมัธยมผมจบสายวิทย์ ซึ่งจริงๆ ถ้าพ่อแม่อนุญาต คงหลุดไปเรียนสายอาชีพ อาชีวะเกี่ยวกับด้านศิลปะ แต่แม่ไม่อยากให้เรียน ขอให้เรียนมัธยมปลาย เราก็ขอเลือกอยากเรียนสายศิลป์ แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้ จะให้เรียนวิทย์ เพราะเขาดูที่เกรด ดูผลงานเรา แต่ไม่ดูว่าเราชอบอะไร
โรงเรียนก็เป็นคนแนะนำ บอกว่าเด็กคนนี้เหมาะแก่การเรียนวิทย์ เพราะคะแนนวิทย์ดี เลขดี ภาษาอังกฤษก็ได้ สุดท้ายเราก็ต้องเรียนวิทย์ ก็จบด้วยเกรดที่ไม่ดี เพราะเราไม่อยากเรียน”
แต่ไม่ว่าจะปัจจัยอะไรที่ทำให้เด็กเลือกเรียนแต่ละสาย ปัญหาหนึ่งที่เราพบคือ การมองคุณค่าของแต่ละสายที่ไม่เท่ากัน ที่ทำให้ส่งผลต่อการเลือกเรียนแต่ละสายด้วย
“เราว่าปัญหาใหญ่ของสังคมนี้มันให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่เท่าเทียมกันในหลายๆ เรื่อง เพราะเรามักมองว่าเด็กที่เก่งกว่าก็ควรเรียนสายวิทย์สิ สายวิทย์ทำงานได้มากกว่า สายศิลป์ คือเด็กเรียนไม่เก่ง เรียนสายวิทย์ไม่ไหว ค่อยไปเรียน โดยที่เราไม่ได้สนใจว่าเขาอาจจะถนัด หรือชอบทางด้านภาษา หรือชอบวิชาทางนั้นหรือเปล่า” ครูปอเล่า
ซึ่งไม่เพียงแค่สายวิทย์-สายศิลป์ที่ถูกแบ่ง และให้คุณค่าไม่เท่ากัน แต่ครูปอเองก็เล่าว่า ยังมีสายอาชีพอย่างอาชีวะ ที่ก็ถูกแบ่งลึกลงไปอีก “แต่จริงๆ แล้วทุกองค์ความรู้มันก็สำคัญต่อประเทศนี้เท่ากัน แต่ค่านิยมบางอย่างมันถูกผูกติดมาแล้ว และมันก็ต้องใช้เวลาในการที่จะขยับมันไป”
ในขณะที่ครูเด้นท์ มองว่า การให้คุณค่าของแต่ละสายไม่เท่ากัน บางครั้งก็มาจากตัวโรงเรียนเองด้วย “โรงเรียนมักจะมีวิธีการบังคับ หรือจูงใจเด็กที่เค้ามองว่าเป็นเด็กหัวดี เป็นเด็กเก่ง พยายามดันให้ไปเรียนวิทย์ แต่เด็กที่พอไปวัดไปวาได้ ก็จะให้ไปเรียนศิลป์ จริงๆ เด็กที่บอกว่าเก่ง ก็ต้องมาดูนิยามกันอีกที ว่าเขาเก่งอะไร เขาเก่งวิทย์ ภาษา หรือศิลปะ คำว่าเก่งของเขาแต่ละคนไม่เหมือนกัน
การแยกสายวิทย์-ศิลป์เด็ดขาด มันสร้างปัญหาอย่างที่ ความสุขในการเรียนของเด็กก็จะหายไปเยอะ และถ้าเกิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัด แต่เขาต้องจำเป็นทำให้ได้ดี เพราะมันมีเกรด เรื่องของผลมาวัดด้วย แน่นอนเรื่องการติว การเรียนพิเศษข้างนอกเกิดขึ้นแน่นอน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ”
การเรียนแยกสาย และการศึกษาที่อาจจะไม่ตอบโจทย์อนาคต
ปัจจุบัน เรากลายเป็นโลกที่ยึดโยง และเชื่อมกันด้วยเทคโนโลยี เราจึงเห็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงบางอาชีพที่ตายลง ซึ่งครูทั้ง 3 ท่านก็มองว่า การที่เรายังคงยึดการศึกษาเพียงแค่สายวิทย์-ศิลป์นั้น ไม่ตอบโจทย์ และไม่ทันโลกเช่นกัน
ครูปอเล่าย้อนไปถึงประวัติการแบ่งแยกสายวิทย์-ศิลป์ว่า “กลับไปดูหลังช่วงปี พ.ศ. 2475 มันจะมีแผนการศึกษาแห่งชาติ ตอนนั้นเราจะเริ่มเห็นร่องรอยการแบ่งสายต่างๆ แต่ว่าปลายทางของแผนการศึกษา เราจะเจอว่ามันไปตกอยู่ที่อาชีพ การทำงาน เพราะฉะนั้นเขาเลยเอาอาชีพ การทำงานมาดูว่า มันต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง ใช้ความรู้ไหนเป็นหลัก คนที่ทำอาชีพนี้จะต้องมีความรู้ด้านนี้
เราก็เลยจะเห็นว่า พอเด็กที่เรียนมัธยมที่สูงขึ้น เขาจะเริ่มแบ่งเป็นมัธยมวิสามัญ มัธยมที่เป็นกสิกรรม เหมือนสายอาชีพ ที่เรียนเป็นอักษรศาสตร์ก็มี เพื่อเข้าเรียนสายภาษา-ศิลปะ หรือเป็นสายวิทยาศาสตร์ก็มี เพื่อไปต่อในชั้นวิทยาศาสตร์ชั้นสูงขึ้นไป โดยที่เขาน่าจะมองว่าปลายทางมันคือการประกอบอาชีพ และดูว่าแต่ละอาชีพใช้ความรู้อะไร
ซึ่งมันอาจจะทำให้ง่าย กับการที่จะจัดการเรียนการสอน มันรู้ว่าอาชีพไหนต้องใช้ความรู้อะไรก็เรียนไปตามนั้น แต่มันก็ไม่ได้มีอาชีพไหน ที่ใช้ความรู้ด้านเดียวอยู่แล้ว”
“แต่ถ้าเรามองเรื่องของการศึกษาเป็นการพัฒนาคน และการแบ่งแยกสายวิทย์-สายศิลป์ ทำให้เน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง เราคิดว่ามันไม่น่าจะตอบโจทย์ในระยะยาวๆ เพราะเอาจริงๆ คนๆ นึงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหนักไปด้านวิทย์ หรือหนักไปด้านศิลป์ เขาอาจจะต้องใช้ความรู้ของทั้งวิทย์และศิลป์ในชีวิตเขาหรือเปล่า ในชีวิตเรา เราก็ไม่ได้ใช้ทุกอย่างเป็นศิลปะตลอดเวลา หรือเราก็ไม่ได้คิดเป็นเหตุผล ตั้งคำถามวิทยาศาสตร์ เราว่าในความเป็นจริง คนเรามันใช้ทั้งวิทย์ และศิลป์อยู่แล้ว”
ด้านครูเบนมองถึงการแยกสายวิทย์-ศิลป์ว่ามันไม่ตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน ที่องค์ความรู้มันผสมผสานกันได้
“เรารู้สึกเหมือนมีทางเลือก แต่ทางเลือกมันไม่พอกับเด็ก ในอนาคตอาชีพมันมีมากกว่า 1 อาชีพ และมันก็ไม่ใช่ว่าจะต้องจบวิทย์ แล้วต้องทำงานในสายวิทย์อย่างเดียว มันพึ่งพาองค์ความรู้หลากหลายสายรวมกันในอาชีพ 1 อาชีพ ดังนั้นการที่เขาสามารถผสมผสานสิ่งที่เขาอยากรู้ และเมื่อเค้าอยากรู้เรื่องใดในขณะนั้น วาระในตอนนั้นมันสำคัญกับชีวิตเขา เราเลยรู้สึกว่า เรื่องบางเรื่องถ้าเขาอยากจะรู้ตอนนี้ เขาก็ควรจะได้รู้ตอนนี้”
“ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป เด็กในทุกๆ วันนี้ เขาใช้เทคโนโลยีอยู่แล้วในชีวิต ความรู้มันอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่เรายังจับเค้ามานั่งเรียนในห้องเหมือนเดิม ต้นทุนเขาเรียนไม่เหมือนกัน พอเขาต้องมานั่งเรียนสิ่งที่เหมือนกัน เราว่ามันเสียเวลาเปล่า”
ไม่เพียงแค่ไม่ตอบโจทย์กับยุคสมัย แต่ครูเด้นท์ยังมองว่า การแบ่งสายตอนขึ้นมัธยมปลาย อาจไม่ช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองในเส้นทางอนาคตของเขาเลยด้วย
“เรารู้ว่าการให้เด็ก 10 คนที่มีความชอบไม่เหมือนกัน มาเรียนเรื่องเดียวกัน มันไม่เวิร์ก เพราะเขาใช้วิธีการคนละอย่างกัน เวลาที่เขาต้องการเรียนรู้ก็ไม่เท่ากัน เรารู้แม้กระทั้งว่าฝาแฝดยังไม่เหมือนกัน แต่เราพยายามจัดเด็กเป็นวิทย์ และศิลป์เท่านั้น เรารู้แล้วว่า อาชีพในโลกนี้ มันไม่มีอะไรที่เป็นวิทย์เพียว หรือศิลป์เพียว ถึงแม้ว่าเรียนหมอมา ก็ต้องมีศิลปะคุยกับคนไข้ ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ใช้ศาสตร์ศิลปะหลายอันเลยที่เอาไปช่วยในอาชีพ”
“ชีวิตนี้มันเป็นชีวิตแห่งการค้นหาตัวเอง มันจะไปตัดสินตั้งแต่อายุ 15 ก็ไม่ได้ ว่าจะต้องเลือกอะไรไปเลย ถ้าเกิดถามว่าการแบ่งวิทย์-ศิลป์ค้นพบตัวเองได้ไหม เรามองว่าการแบ่งแบบนี้ ไม่ช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองเลย”
“แต่กระบวนการแนะแนวก่อนหน้านั้นต่างหาก กระบวนการที่ครู ซึ่งไม่ใช่ครูแนะแนวด้วย ช่วยกันดูว่า เด็กชอบอะไร เวลาว่างๆ เขาทำอะไรบ้าง เขาอ่านหนังสืออะไร ดูหนังอะไร มันจะทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความชอบของเขา ควรจะลงเรียนอะไรเพื่อสนับสนุนความชอบของเขา มากกว่าที่จะบอกว่า ถ้าเรียนเก่งต้องไปวิทย์ เกรดไม่ถึงต้องไปศิลป์ มันเป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งทำร้ายเด็กด้วยซ้ำ ไม่ได้ช่วยเด็กเลย”
ครูเด้นท์ยังเล่าต่อว่า แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้จะให้ทุกโรงเรียนยกเลิกสายวิทย์-สายศิลป์ไปเลย แต่อยากให้ทุกโรงเรียนปรับ และมีตัวเลือกให้เด็กได้เลือกมากกว่าแค่ 2 สาย
“สายการเรียน มันคือแพคเก็จของวิชา ที่โรงเรียนเซ็ทมาให้ ถ้าโรงเรียนนี้มี 2 แพ็กเกจ ก็มี 2 ก้อน เด็กต้องเลือกว่าจะกินอันไหน หรือโรงเรียนไหนมีตัวเลือกมากขึ้น โรงเรียนก็ทำงานหนักขึ้น ในการจัดหลักสูตรเพื่อรองรับเด็กมากขึ้น ความยากจะตกอยู่ที่โรงเรียน
แต่เด็กควรจะมีโอกาสได้ เลือกสิ่งที่เป็นวิทย์บ้าง เป็นศิลป์บ้าง แต่ผสมแล้วมันเหมาะกับตัวเองมากกว่า ถ้าเกิดมองโรงเรียนเป็นหน่วยย่อยๆ ของระบบการศึกษา ผมว่าแต่ละโรงเรียนควรจะมีจุดยืนเป็นของตัวเอง คำว่าจุดยืนในที่นี้ก็คือ บริบทของโรงเรียนเป็นแบบไหน ทรัพยากรเป็นยังไง ชุมชนแวดล้อมเป็นยังไง และโรงเรียนนี้จะตอบสนองชุมชนแวดล้อมยังไงบ้าง ผมว่าทุกโรงเรียนควรจะมีจุดยืนที่เข้มแข็งเป็นของตัวเอง
ถ้าโรงเรียนนี้บอกว่า บริบทของเราเป็นบริบทที่ต้องการป้อนนักวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ โรงเรียนนี้ก็ต้องเน้นวิทย์ล้วนๆ อยู่แล้ว หรือถ้าอีกโรงเรียนบอกว่า เขาอยู่ในชุมชนเกษตร และต้องทำเรื่องการเกษตรที่ยั่งยืนให้กับชุมชน ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า โรงเรียนนี้จะไม่เรียนวิทยาศาสตร์นะ มีวิทย์หลายตัวมาก ที่มาสนับสนุนเรื่องการเกษตร แต่เขาก็จะไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เพียวๆ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่เข้ากับบริบทนั้น”
“โรงเรียนแต่ละแห่ง อาจจะไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรเดียวกันก็ได้” นี่คือสิ่งที่ครูปอเสนอ “ถ้าเรามองว่าการเรียนรู้มันไม่ใช่แค่เรื่องประกอบอาชีพ การเรียนรู้มันต้องรอบด้าน และส่งเสริมสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ โรงเรียนก็อาจจะมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการอาจจะแตกต่างก็ได้ อาจจะมีโรงเรียนที่ขยับมาว่าเปิดให้ตรงความสนใจเด็กมากขึ้น แบ่งเป็นสายต่างๆ
หรือถ้าอยากทำให้เด็กเรียนรู้หลากหลายมากขึ้น ใน 1 ห้องเรียน เราอาจจะไม่ได้มีแค่เด็กวิทย์ แต่มีเด็กศิลป์ภาษา ศิลป์คำนวณอยู่ด้วยกัน วิชาพื้นฐานเรียนด้วยกัน ส่วนวิชาเฉพาะก็แยกตามสาย ซึ่งช่วงเวลาที่เขาได้อยู่ด้วยกัน พวกเขาที่ถนัดต่างกัน มีความชอบต่างกัน เวลาทำงานด้วยกัน เขาอาจจะได้แลกเปลี่ยนกันก็ได้ มันก็อาจจะเป็นวิธีการนึง ถ้าหากจะมองหลุดจากการแบ่งสาย ซึ่งสายนี้ มาจากวิชาหรือเนื้อหา มองไปดูว่า เด็กคนนึงจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง เติบโตยังไงได้บ้าง แต่ละโรงเรียนก็อาจจะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกันก็ได้ ในการที่จะออกแบบหลักสูตรของตัวเอง” ครูปอเล่า
สาธิต ธรรมศาสตร์ กับหลักสูตรที่ให้เด็กได้เลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ
เราคุยเรื่องสายวิทย์-ศิลป์ กับคุณครูทั้ง 3 คนมาแล้ว ทั้งในมุมปัญหาที่เด็กต้องพบเจอ และช่องโหว่ของระบบ ซึ่งที่สาธิตธรรมศาสตร์นั้น เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนที่จะไม่มีการแยกสายการเรียนเลย แต่เป็นระบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กแต่ละคนเลย และเด็กแต่ละคนเองก็สามารถลงเรียน จัดตารางเรียนได้ ตามวิชาที่ตัวเองสนใจด้วย
“มันมีแนวคิดนึงที่เรียกว่า Personalize Learning คือเด็กสามารถเรียนสิ่งที่ตนเองชอบ ในเวลาที่ชอบด้วย แปลว่าตารางเรียนเขาต้องจัดเอง เราจะไม่จัดตารางให้ หรือแบ่งห้องเป็นห้อง 1 ห้อง 2 ที่แต่ละห้องต้องเรียนด้วยกันตลอดแวลา แต่เขาจะจัดตารางเรียนของตัวเองให้เลย โดยที่ก่อนเปิดเทอม เราจะแจกคู่มือการศึกษาให้เขาว่า เทอม 1 มีวิชาอะไรเปิด เทอม 2 มีวิชาอะไร และเปิดในเทอมนี้มีกี่เซค เปิดวันไหน คาบไหน เขาจะดูได้ว่าเป็นวิชานี้ เขาจะมาลงได้เวลาไหน หรือแม้แต่เขาชอบคุณครูที่สอนเซคนี้ คือมันเป็นสิทธิ์ที่เขาจะได้เลือก ว่ามันเหมาะกับตัวเขาเอง
เรื่อง Personalize learning ค่อนข้างเป็นเทรนด์ของการศึกษาในระดับโลกในปัจจุบัน เพราะเรารู้แล้วว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นโรงเรียนควรตอบสนองเด็กที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีนี้หลักสูตรไม่ได้กำหนดแล้ว ว่าครูแต่ละคนต้องทำอะไรบ้าง แต่ว่าครู โรงเรียน และหลักสูตรจะต้องตอบสนองว่า เด็กคนนี้ต้องการอะไร ต้องการวัดผลแบบไหน
สิ่งที่เรายึดหยุ่นคือเวลาที่ใช้เรียน วิธีการสอน เครื่องมือ หรือแม้แต่วิธีการประเมิน ทำยังไงก็ได้ แต่ขอให้เขาได้เรียน ดังนั้นตารางสอนจะไม่เหมือนเดิม หน้าที่ครูจะไม่เหมือนเดิม หน้าที่ครูในอดีต คุณครูมีหน้าที่ถ่ายทอด แต่ตอนนี้ ความรู้บางเรื่องเด็กมีความรู้มากกว่าครูอีก เค้ามีสื่อ คอมพิวเตอร์ องค์ความรู้ในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นครูจะไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดแล้ว แต่เป็นโค้ช
พอเป็นแบบนี้ นักเรียนจะเป็นฝ่ายลุกเข้ามาหาเราว่าเขาอยากเรียนเรื่องนี้ เขาอยากได้วัตถุดิบประมาณนี้ อันนี้ครูเป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ในระบบแบบนี้”
ครูเด้นท์ยังเล่าให้ฟังว่า ระบบที่ธรรมศาสตร์ใช้นั้น จะเรียกว่า ‘Competency-Based Education’ ที่เด็กสามารถเลือกวิชาเรียนได้เอง เลือกได้เองว่าอยากวัดผลอย่างไร เช่นเป็นการสอบ การแสดงความสามารถ เป็นชิ้นงาน หรือแม้แต่เป็นการอัดวิดีโอ ลงยูทูปให้คุณครูประเมินก็ยังได้ ไม่เพียงเท่านั้น ในบางวิชาเอง เด็กยังสามารถเทียบความสามารถ มาขอเป็นสคริปต์ได้ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่กำหนดว่า ต้องมีความรู้ระดับ IELTS ที่ 4 หากเด็กสอบผ่านได้คะแนนเกินกว่า 4 แล้ว ก็สามารถขอเกรด พาสวิชานี้ได้เลยด้วย
โดยหลักสูตรในระดับ มัธยมปลายที่สาธิตธรรมศาสตร์ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือวิชาพื้นฐาน และวิชาเฉพาะทางให้ได้เลือกตามใจชอบ
“ส่วนแรกเป็นวิชาพื้นฐานที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องเรียน เพราะจำเป็นกับพื้นฐานการใช้ชีวิต จะเป็น basic มากๆ เป็นวิชาที่ถูกปรุงขึ้นมาใหม่ แต่ความรู้เทียบเท่ากับวิชาพื้นฐานของโรงเรียนทั่วไป ไม่ได้เรียนเพื่อไปสอบ แต่เรียนเพื่อให้มีความหมายกับชีวิต
“อีกกลุ่มหนึ่งเราจะเรียกว่า วิชาเฉพาะทาง เราแบ่งวิชาเฉพาะทางออกเป็น 6 กลุ่ม ตามศาสตร์เลย
กลุ่มแรก Health and Bio-science ว่าด้วยเรื่องชีววิทยา ว่าด้วยวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลาย รวมถึงเคมี จิตวิทยา สาธารณสุข
กลุ่มที่ 2 เรียกว่า Engineering and Technology กลุ่มนี้จะว่าด้วยฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ อวกาศ โค้ดดิ้ง
กลุ่มที่ 3 Social Science and Humanities มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ศาสนา อยู่ตรงนี้หมดเลย
กลุ่มที่ 4 จะเป็นภาษา Communication and Language เราเน้นเรื่องการสื่อสารป็นหลัก และจะเน้นภาษาไทย อังกฤษ และวรรณกรรม ส่วนภาษาที่ 3 ก็มีอีกหลายตัว
กลุ่มที่ 5 จะเป็น Business and Entrepreneurship เรื่องการเป็นผู้ประกอบการ การวิเคราะห์การตลาด การลงทุน
กลุ่มที่ 6 Arts, Media and Creativity พวกการวาดรูป ดนตรี ละคร ทัศนศิลป์ทั้งหลาย
ซึ่ง 6 ก้อนนี้จะไม่ใช่สายการเรียน ไม่ใช่แพคเกจที่จะต้องมากินทั้งก้อน แต่เด็กจะสามารถสร้างส่วนผสมได้ว่า เด็กจะเอาก้อนไหนบ้าง และกี่วิชา ตามอนาคตที่ตัวเองอยากได้”
แต่ก่อนที่เด็กจะเลือกวิชาเหล่านี้ ทางโรงเรียนจะมีขั้นตอนที่เรียกว่า Learning Pathway ให้เด็กแต่ละคนได้ทำด้วย
“ขั้นตอนก่อนที่เขาจะเลือกวิชาพวกนี้ เราเรียกว่า ‘Learning Pathway’ เด็กจะมีเป็นของตัวเอง และเปรียบเทียบเหมือนแผนการเรียน นั่นหมายความว่า เด็ก 1 คน มีแผนของตัวเอง และเด็กแต่ละคนจะมีแผนไม่เหมือนกันเลย
อย่างเช่นเด็ก 2 คน อยากเรียนรัฐศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าเด็ก 2 คนนี้ ต้องเรียนเหมือนกันเป๊ะ อาจจะต้องเรียนสังคม ประวัติศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ กฎหมาย มีวิชาเบสิคที่เขาเลือกเรียนเหมือนกัน แต่บางคนอยากเรียนการทูต ก็อาจจะเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม หรืออาจจะต้องไปเชื่อมโยงกับกฎหมายธุรกิจ ก็อาจจะไปเรียนด้านธุรกิจบ้าง เรียนคณิตศาสตร์บางตัว ที่ว่าด้วยเรื่องตรรกะ ซึ่งเขาสามารถเลือกผสมผสานอันนี้ได้”
ครูเบนเองก็เสริมว่า ขั้นตอนนี้ ครู หรือ Advisor จะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยเด็กเลือกเส้นทาง และยังมีความกังวลว่า ระบบนี้ยังมีช่องโหว่ที่เด็กจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างมาก ในการสร้างแผนการเรียนของตัวเอง
“Advisor จะเจอกับนักเรียนทุกอาทิตย์ จะอัพเดท Learning Pathway ของเขา ความเป็นไป ความชอบ ความถนัด รวมถึงผลงาน ถ้าเกิด performance เขาดร็อปลง เราก็จะทำหน้าที่ปรึกษาเขา เรียกได้ว่าค่อนข้างใกล้ชิด เพราะตอนนี้ถ้าขึ้นมอปลาย ที่รับผิดชอบคือ ครู 1 คน ต่อเด็ก 6 คน หรือจะมากสุดไม่เกิน 10 คน”
“ระบบนี้ เราจะต้องสร้างวินัยยังไงให้เขาดูแลตัวเองได้ ส่วนนึงภาระมันไม่ได้อยู่ที่ครูแล้ว ภาระ 80% ในการจัดการเรียนรู้มันเป็นของเขา สิ่งหนึ่งที่เรายังเป็นกังวลใจ คือเราจะทำยังไงให้เขามีวินัยในการดูแลตัวเอง เป็นผู้เรียนที่มีความแอคทีฟ เพราะว่าถ้าเขาไม่แอคทีฟเขาจะแย่เลย กับการเรียนรู้แบบนี้ มันจะยาก มันเหมือนตอนเราเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าเราลงทะเบียนไม่ทัน ตื่นไปเรียนไม่ทัน เราก็เฟล ก็รีไทร์ง่ายๆ”
เด็กจะแตกต่าง เพราะได้ลงลึกเรียนสิ่งที่ชอบ และถ้าวางแผนชีวิตผิดพลาด ก็ยังมีโอกาสเริ่มใหม่
เห็นได้ชัดว่า หลักสูตรนี้แตกต่างจากสายการเรียนที่แบ่งมา และมีเซ็ทของวิชาให้นักเรียนต้องเรียน เพราะหลักสูตรนี้ นักเรียนจะมีส่วนในการจัด และเป็นเจ้าของแผนเรียนของตัวเองเลย ซึ่งครูทั้ง 3 คนก็มองว่า หลักสูตรนี้จะทำให้เห็นความชัดเจนในสิ่งที่เด็กสนใจ
“เราคิดว่าความแตกต่างของเด็กที่นี่คือ เขาน่าจะมีความชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะมันก็มีกระบวนการหลายอย่างที่ทำให้ได้ค้นพบ ค้นหาความชอบในช่วงที่ได้เรียน ม.ปลาย 3 ปี ทั้งกิจกรรม Job Shadow ที่ไปดูอาชีพที่เขาสนใจว่าเมื่ออาชีพนี้ไปทำงานจริงๆ จะเจออะไรบ้าง ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่รวมถึงอารมณ์ ความกดดัน ความรู้สึกที่ต้องเจอในอาชีพนี้
เมื่อเด็กรู้จักสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือชอบพอสมควรแล้ว ช่วยกันวางแผน แผนบางอย่างที่ช่วยกันปรุงจากการเรียนจบ 3 ปี ผมว่าจะทำให้เด็กที่นี่มีความโดดเด่นคือ รู้จักทางของตัวเองชัดเจน และมีความรอบด้านในความรู้ของตนเอง เห็นความเชื่อมโยงว่า ถ้าหากอยากเป็นหมอ อาชีพหมอจะเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆ อย่างไร ไม่ใช่ว่าเรียนหมอก็จะติวแต่ชีวะ ฟิสิกส์ เคมี หรือวิชาของสายวิทย์ แต่เรามีกิจกรรมที่จะทำให้เด็กเห็นว่า คณะที่อยากไปเรียน หรืออาชีพที่อยากจะทำ มันมีมากกว่าเรื่องของความรู้ หรือมีความรู้ในวิชาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับเขาก็มีเหมือนกัน
ผมว่าเด็กนอกจากจะลงลึกแล้ว ก็จะมีความรู้รอบพอสมควร ไม่ใช่รู้แค่เรื่องที่สนใจ หรือวิชาที่ใช้สอบเข้าเท่านั้น แต่มันเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆ วิชาอื่นได้เหมือนกัน เช่น เราไม่ได้บังคับว่า ต้องมาเรียนประวัติศาสตร์ แต่ว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ที่ เหมาะสำหรับคนที่มาเรียนหมอ ประวัติศาสตร์การแพทย์ ประวัติศาสตร์สุขภาพ เรารู้สึกว่าเราจะมีเด็กที่จะรอบด้านพอสมควร กับหลักสูตรที่วางไว้” ครูปอเล่า
ขณะที่ครูเบนก็มองว่า ในการสร้างหลักสูตรของตัวเอง เด็กได้มีโอกาสลองผิด ลองถูก และหากเส้นทางนั้น ไม่ใช่เส้นทางที่เขาชอบจริงๆ เด็กเอง มีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ด้วย
“เมื่อก่อน ถ้าเราเลือกไปแล้ว และขอเปลี่ยนสาย หรือว่าขอย้ายสายการเรียน มันทำเรื่องลำบากมาก และมันมีระยะเวลาที่สามารถย้ายได้อยู่ ถ้าหากเลยระยะนั้นแล้ว ก็ต้องเรียนเลยตามเลยให้มันจบไป แต่ระบบนี้ เราทำให้เขาเจอตัวเองก่อน ให้เขาได้เลือก และถ้าเขาหลงทางมันยังพอจะมีคนพาเขาเดินไปด้วยกันได้ ตอนนั้นถ้าเราเลือกแล้ว มันคือทางที่เขาปูไว้ให้ เพราะว่าเขาเชื่อว่าร่องที่เขาปูไว้ มันคือไดเรคชั่นที่ถูกต้อง