เคยสงสัยกันไหมว่า ชั้นเรียน ม.ปลาย อยากเรียนแค่ชีวะ ทำไมต้องจำเคมี? อยากเรียนภาษาแต่ก็สนใจวิทยาศาสตร์? อยากเรียนนั่นไม่อยากเรียนนี้ แต่ก็ทำไม่ได้ โอ้ย! เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามนี้ในใจ เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษามีตัวเลือกให้เราไม่มากนัก ทำไมถึงมีแค่ ‘สายวิทย์’ กับ ‘สายศิลป์’ เท่านั้น ทำไมไม่ปล่อยให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกเรียนสิ่งที่เขาสนใจ ในวัยแห่งการค้นหาตัวเอง และก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
อยากรู้กันไหมว่า ที่มาของการแบ่งการเรียนการสอนเป็น สายวิทย์-สายศิลป์ คืออะไร ทำไมให้เลือกเส้นทางหลักๆ แค่ 2 ทาง เท่านั้น
แม้เรื่องนี้อาจถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามอยู่ในเวลานี้ แต่แท้จริง ในช่วงที่เริ่มต้นถือเป็นความก้าวหน้าและเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ณ ขณะนั้น
เวลาพูดถึง ‘ที่มา’ ของการแยกสายวิทย์-สายศิลป์ในระบบการศึกษาไทย หลายคนชี้นิ้วไปที่แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2476 ที่ประกาศใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ซึ่งกำหนดแผนการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา (สามัญ-วิสามัญ) มัธยมศึกษา (ต้น และปลาย ซึ่งแยกเป็นสามัญ-วิสามัญ) และอุดมศึกษา
เหตุที่ต้องแยกการเรียนการสอนระดับมัธยมฯ ออกเป็นสายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ (สมัยนั้นเรียกว่า สายอักษรศาสตร์) ก็เพื่อรองรับการ ‘ศึกษาต่อ’ ในระดับอุดมศึกษา
คล้ายกับการเติบโตของต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป
โดย ‘สายวิทยาศาสตร์’ สำหรับเรียนต่อทางแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วน ‘สายอักษรศาสตร์’ สำหรับเรียนต่อทางธรรมศาสตร์ (นิติศาสตร์) เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ และอื่นๆ
สมัยนั้น การเรียนระดับประถมฯ ม.ต้น และ ม.ปลาย กำหนดระยะเวลาไว้ที่ 4:4:4 ปี ยังไม่ใช่ 6:3:3 ปีอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ.2520
หากโฟกัสเฉพาะการเรียนในระดัมมัธยมฯ ปลาย กรณีสายวิทย์-สายศิลป์ จะเรียกว่าเรียนใน ‘สายสามัญ’ ซึ่งเป็นการเรียนความรู้ทั่วๆ ไป สำหรับไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ที่แตกต่างจาก ‘สายวิสามัญ’ ที่เรียนไปสำหรับประกอบอาชีพทันที ไม่ว่าจะด้านกสิกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยการ หรือด้านอื่นๆ
โดยเหตุที่มีการกำหนดหลักสูตรการศึกษา เป็นประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2456 ก็เพื่อปูพื้นความรู้คนสำหรับเข้าเรียนในชั้นที่สูงขึ้น และเพื่อมุ่งแก้ความนิยมของคนไทยที่อยากทำงานเป็นเพียงเสมียน
สำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศในชั้น ม.ปลาย ปัจจุบันเราอาจจะคิดถึงศิลป์-ภาษา แต่ในอดีต แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2476 กำหนดให้จัดการเรียนการสอนสำหรับ ‘ทุกคน’ ตั้งแต่ชั้น ม.ต้น – 1 ภาษา และ ม.ปลาย – อีก 1 ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาปัจจุบัน เช่น อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส ฯลฯ หรือภาษาโบราณ เช่น บาลี สันสกฤต ฯลฯ (แต่ก็มีข้อแนะนำด้วยว่า สำหรับผู้เรียนแค่ชั้น ม.ต้น ให้เลือกเรียนภาษาจีน)
ในเวลาต่อมา การแยกสายวิทย์-สายศิลป์ ในชั้น ม.ปลาย ก็ค่อยๆ พัฒนามาจนเป็น
สายวิทย์ สายศิลป์-ภาษา
สายวิทย์ สายศิลป์-ภาษา สายศิลป์-คำนวณ
สายวิทย์ สายศิลป์-ภาษา สายศิลป์-คำนวณ และสายทั่วไป (บางครั้งก็เรียกว่า ศิลป์-ทั่วไป)
อย่างไรก็ตาม ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการแยกสายวิทย์-สายศิลป์ในการเรียนการสอนระดับ ม.ปลายถูกตั้ง ‘คำถาม’ ทั้งเรื่องความไม่ยืดหยุ่นในการตอบสนองสิ่งที่เด็กๆ อยากเรียนรู้และค้นหาตัวเอง การสร้างค่านิยมผิดๆ ว่าเด็กเก่งจะต้องเรียนบางสาย ไปจนถึงเรียนบางสายจบมาหางานง่ายกว่า ไปจนถึงกลายเป็นข้อจำกัดในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หากเพิ่งพบว่าสายที่ตัวเองเรียนอยู่ไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ
จึงเริ่มมีข้อเสนอให้หลายโรงเรียนยกเลิกการเรียน ม.ปลายที่แยกสายวิทย์-สายศิลป์ โดยเฉพาะนับแต่มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พร้อมกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แทนการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมๆ ทำให้ข้อถกเถียง “ยังจำเป็นต้องมีสายวิทย์-สายศิลป์ต่อไปหรือ?” มีการพูดคุยกันหนักหน่วง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2548 ที่คณะกรรมการการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โยนไอเดียยกเลิกการแยกสายขึ้นมาจนกลายเป็น talk of the town
ที่แม้ความพยายามครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ก็แสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่ มีการพูดคุยกันมาแล้วมากกว่า 20 ปี!
แต่กว่าที่การเรียนสายวิทย์-สายศิลป์แบบเดิมๆ จะถูกยกเลิก ก็เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น และเกิดขึ้นเฉพาะกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนทั่วๆ ไป เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ และล่าสุด โรงเรียนโพธิสาร ที่เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนในระดับ ม.ปลายจากสายวิทย์-สายศิลป์ เป็น 7 แผนการเรียนแทน
การแยกสายการเรียนในระดับ ม.ปลาย เป็นวิทย์ศิลป์เคยเป็นเรื่องจำกัดในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เรายังจำเป็นต้องยึดติดกับการเรียนการสอน แบบเดิมๆ อยู่ต่อไปหรือไม่?
อีกปัญหาที่ซ้อนขึ้นมา ก็คือ สถานศึกษาบางแห่งอาจเห็นด้วยกับการยกเลิกการเรียนสายวิทย์-สายศิลป์ในระดับ ม.ปลายแล้ว แต่พวกเขาอาจไม่มีความพร้อมหรือทรัพยากรที่จะทำเช่นนั้นได้
เรื่องนี้จึงอาจมีอะไรมากกว่าแค่แต่ละโรงเรียนจะตัดสินใจอย่างไร แต่องคาพยพต่างๆ ในระบบการศึกษาไทยอาจจะต้องขยับไปพร้อมกัน เพราะมันสะท้อนความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนต่างๆ ความพร้อมของบุคลากรทางการศึกษา ไปจนถึงวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง