เรียนศิลป์-ภาษา ไม่เก่งเลขหรอก หรือเพราะเรียนวิทย์-คณิต เลยอ่อนภาษา มายาคติที่มักมากับการเลือกสายการเรียน
แล้วทำไมเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง? ไม่วิทย์-คณิต ก็ ศิลป์-ภาษา หรือสายที่ใครหลายคนบอกว่าอยู่ตรงกลาง อย่าง ศิลป์-คำนวณ แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ในกรอบอยู่ดี ..
การแยกสายการเรียน เป็นเรื่องที่อยู่กับเรามานาน และในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ ก็ยังคงแบ่งสายการเรียนเอาไว้เป็นกล่องใหญ่ พอถึงชั้น ม.3 เด็กก็ต้องเตรียมเลือกเข้ากล่องแต่ละใบไป เพื่อเรียนตามสายวิชานั้นๆ
เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะไม่แบ่งกล่องการเรียนแค่ 2-3 สาย แต่เพิ่มโอกาสให้เด็กแต่ละคนได้เลือกวิชาที่อยากเรียน และตัวเองสนใจจริงๆ โดยไม่ต้องมีกรอบมาครอบไว้?
The MATTER จึงอยากพาทุกคนกระโดดข้ามกรอบมาร่วมฟัง ‘วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล’ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาทรัพยาก
การแบ่งสายการเรียน เริ่มต้นมาจากไหน?
จุดเริ่มต้นของการแบ่งสาย เก่าแก่ที่สุดที่เจอ คือเมื่อปี พ.ศ.2476 ซึ่งมีการแบ่งเป็นสายเป็นลักษณะของต้นไม้ในการเรียนรู้ โดยสมัยก่อน ชั้นเรียนประถมมีแค่ 4 ปี แล้วแยกเป็นประถมสายวิสามัญ และสายสามัญ 2 ปี พอมัธยมต้นก็จะแยกออกเป็นสายต่างๆ เช่น อุดมธรรมศาสตร์ (กฎหมาย) อุดมเศรษฐศาสตร์ อุดมอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ นี่คือการแบ่งแบบโบราณ ซึ่งไม่ได้หยาบเหมือนในปัจจุบัน ที่มีแค่สายวิทย์-ศิลป์ เท่านั้น
แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้ต้องแบ่งสายการเรียน?
มาจากระบบการศึกษาของต่างประเทศด้วย ที่เด็กมัธยมปลายจะต้องเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยของเราก็รับจากเขามาอีกที ฉะนั้น เด็กที่จะเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีพื้นฐานความรู้พร้อมสำหรับจะเข้าศึกษาในคณะนั้นๆ เลยทำให้มีการแบ่งสายการเรียนขึ้น
แล้วการแบ่งแบบนี้ มันส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ส่งผลอย่างมาก เพราะคนที่เรียนวิทย์จ๋าๆ ก็จะไม่รู้เรื่องทางศิลป์เลย คนที่เรียนศิลป์มาสุดตัว ก็ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์เหมือนกัน ทำให้ขาดมิติบางอย่างไป เช่น เราจะทำพัฒนาสินค้าขึ้นมาอย่างหนึ่ง ก็ต้องมองว่าสินค้าเราจะทำยังไงกับผลิตภัณฑ์นี้ ต้องมองไปถึงว่า มีผลกระทบต่อสังคมไหม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ต้องสำรวจตลาดผู้บริโภคด้วยว่าจะรับสินค้าชนิดนี้ไหม คือต้องเป็นความรู้ที่รวมกันทั้งวิทย์และศิลป์เข้าด้วยกัน แต่การศึกษาของเราในปัจจุบัน แยกสองศาสตร์นี้ขาดออกจากกันเลย
บางที วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ได้เรียนภาษาที่ 3 เลย ทั้งที่มันจำเป็นเหมือนกัน เช่น เรียนวิศวะฯ แล้วควรเรียนภาษาเยอรมัน หรือญี่ปุ่นด้วย แต่ไม่ได้เรียน กลับต้องมาเรียนเคมี กับชีวะ ซึ่งไม่ได้จำเป็นต่อการศาสตร์ของวิศวะฯ ขนาดนั้น หรืออย่างเรียนสายศิลป์ แต่อยากรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือบางทีก็ต้องมีความรู้ฟิสิกส์เหมือนกัน แต่พอแยกสายแบบนี้ ก็ถูกแยกออกจากกันเลย
เราแยกกันเป็นบล็อก แล้วแต่ละบล็อกก็ไม่มีวีซ่าข้ามไปหากันเลย ถูกตีกรอบให้เรียนแต่ในสายวิชานั้นๆ มันเลยกระเทือนกันไปหมด เพราะพอจบออกมาก็จะมีปัญหาเวลาทำงาน เพราะมองว่า โลกทั้งโลกมีแต่เรื่องของตัวเอง มีแต่ศาสตร์ที่ตัวเองเรียนมา
ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะสังคมของเราเชื่อมโยงกันไปในทุกมิติด้วยหรือเปล่า?
ใช่ ต้องเชื่อมโยงกัน การแบ่งสายการเรียนเป็นเรื่องดีนะ แต่มันต้องไม่ใช่การแบ่งหยาบๆ บังคับเรียนครบทุกวิชา แล้วเลือกเรียนเองไม่ได้เลย ซึ่งหลักสูตรการเรียนของเราไม่เป็นแบบนั้น
โมเดลสายการเรียนที่ประทับใจ คือ โมเดลของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งแบ่งย่อยลงไปหลายแบบ เช่น สายสถาปัตย์ สายแพทย์ สายวิศวกรรม เพราะสมมติว่า ถ้าจะเรียนสถาปัตย์ ก็เรียนแต่วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องเรียนศิลปะ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมด้วย จะแยกขาดจากกันไม่ได้ ขอย้ำว่า ไม่ต้องการให้ยุบสายการเรียนนะ แต่ต้องการให้มันข้ามสายหากันได้
คำพูดที่ว่า ‘เด็กเก่ง คือเด็กเรียนวิทย์ ส่วนเด็กไม่เก่ง คือเด็กเรียนศิลป์’ มาจากไหน?
ถึงจะมีการแยกสายการเรียนกันแบบเด็ดขาด แต่วิชาที่ทุกคนจะได้เรียนเหมือนกัน คือ สัมคมศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพราะทุกสายบังคับให้เรียนเหมือนกันหมด แต่ถ้าเป็นเด็กสายวิทย์ เราจะได้เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แล้วก็ได้เรียนสังคมเสริม ไทยเสริม และอังกฤษเสริมด้วย ส่วนเด็กสายศิลป์ จะไม่ได้เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลย พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย สมัยเอนทรานซ์ สายวิทย์จะกระโดดไปสอบสายศิลป์ได้ แต่สายศิลป์จะกระโดดไปสอบสายวิทย์ไม่ได้
ฉะนั้น พ่อแม่เลยอยากให้ลูกเรียนสายวิทย์ เพราะคนที่เรียนสายนี้ สามารถเข้าเรียนได้หมดทุกสายเลย แถมชั่วโมงเรียนก็มากกว่า ต้องเรียนเยอะกว่าสายอื่นๆ เลยทำให้ดูเหมือนว่า เด็กเก่ง จะต้องไปเรียนสายวิทย์ เพราะเด็กเก่งจะมีความสามารถพอที่จะเข้าเรียนได้ทุกคณะ และเด็กเก่งจะต้องมีชั่วโมงเรียนที่หนักกว่า
เด็กวิทย์ได้เรียนครบทั้งวิชาของวิทย์และศิลป์ เขาเลยพร้อมที่จะสอบเข้าคณะไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็เลยอยากให้ลูกเรียนสายวิทย์ ถ้าเรียนเก่งพอ เรียนไหว เขาจะเอาเข้าสายวิทย์ไปก่อน พอเข้ามหาลัยอยากเป็นกระโดดไปเรียนสายศิลป์ก็ไม่ว่ากัน
ปัจจุบัน ก็มีเด็กสายศิลป์ข้ามมาสอบสายวิทย์เยอะแล้ว เพราะการเรียนมันเปิดกว้างมากขึ้น มีระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง บางคนอ่านหนังสือเอง ติวเอง กวดวิชาเอง ก็สอบเข้าสถาปัตย์ได้ เข้าหมอได้ เข้าวิศวะได้ ทั้งที่เรียนศิลป์ภาษาก็มี ซึ่งนี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เด็กสายศิลป์ไม่ได้โง่กว่า แต่เพราะเขาไม่ได้เรียนวิชาของสายวิทย์ เขาเลยไม่สามารถสอบได้ แปลว่าไม่ใช่เด็กไม่เก่ง แต่ไม่ได้เรียนต่างหาก
แต่การจะเข้าเรียนสายวิทย์ ก็ต้องมีเกรดเฉลี่ยสูงกว่าสายอื่นๆ ด้วย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกันไหม?
เกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขัน เด็กก็อยากอุ่นใจตามพ่อแม่ สมมติว่า มีอยู่ 100 คณะ ถ้าเราเรียนสายวิทย์ จะมีโอกาสเข้าเรียนได้ทั้ง 100 คณะเลย แต่ถ้าเรียนสายศิลป์จะเหลือโอกาสเรียนอยู่แค่ 50 คณะ ส่วนเด็กที่จะไปหาเรียนเอง กวดวิชาเอง เพื่อสอบแข่งขันเข้าสายวิทย์ ก็ไม่ได้มีเยอะ
อีกประเด็นคือ ที่ผ่านมา สังคมเราผ่านยุค 3.0 พอดี ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก อย่างพวกปูนซีเมนต์ กลั่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เลยต้องการคน บุคลากรทางสายวิทย์อีกเยอะมาก เราก็เลยให้ความสำคัญกับสายวิทย์สูงมาก สังคมไทยหล่อหลอมว่าประเทศเราต้องการคนสายวิทย์ เพราะเป็นช่วงที่คนเรียนสายวิทย์เป็นที่ต้องการพอดี ประกอบกับสายวิทย์สอบเข้าได้หลายคณะ เลยเหมือนกับว่าสายวิทย์ยึดประเทศไปหมด
ผมไม่ได้ต่อว่าคนเรียนสายวิทย์นะ แต่ต้องเข้าใจว่า เราไม่สามารถใช้คนสายวิทย์ได้กับทุกวิชาชีพ เพราะตอนนี้ เราเข้ายุค 4.0 แล้ว เป็นยุคของนวัตกรรม เด็กสายวิทย์ล้วนๆ จะไม่มีทางคิดนวัตกรรมได้ หากเขาไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
ตัวอย่างเช่น จะทำคอมพิวเตอร์ของ Apple มันก็ต้องผสมสองสายเข้าด้วยกัน ต้องใช้ความรู้ทางสายวิทย์ในการผลิตสิ่งของ แล้วก็ต้องใช้ความรู้ทางสายศิลป์ ในการทำไอคอนของแบรนด์ ดังนั้น มันต้องมีการใช้ความรู้ร่วมกันระหว่างวิทย์ และศิลป์ กว่าจะออกมาเป็นสินค้าอย่างหนึ่งได้
แต่ละศาสตร์มันเชื่อมกันอยู่ตลอดเวลา แต่การศึกษาไปบังคับให้มันตัดออกจากกัน
แล้วจะสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไรบ้าง?
ต้องปรับที่มหาวิทยาลัย ปรับที่มัธยมไปก็เท่านั้น เพราะปลายทางมันต้องไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ดี สมมติจะสอบเข้าคณะวิศวะฯ ปกติก็ต้องใช้วิชาของสายวิทย์ในการสอบเข้า แต่ถ้าเป็นการเรียนแบบในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งสายวิศวะฯ ก็เรียนทั้งวิทย์ และศิลป์ผสมกันไปด้วย ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยสามารถให้เด็กเอาบางวิชาของสายศิลป์ไปสอบเข้าวิศวะฯ ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ยังไงระบบการแบ่งสายการเรียนของ ม.ปลาย ก็ยังต้องแบ่งแยก ขาดจากกันเหมือนเดิม
นอกจากเรื่องของการสอบเข้าแล้ว มีวิธีไหนอีกไหม ที่จะสามารถเปลี่ยนระบบสายการเรียนได้?
เป็นที่ระบบเลย ถ้าอย่างนั้น เพราะเราต้องรับเรื่องต่อๆ กัน ตั้งแต่ระดับเบื้องบนไล่ลงมา ระบบของเรารับเรื่องกันเป็นแนวดิ่ง บางคนอาจจะมีไอเดีย หรืออยากนำเสนออะไรบางอย่าง แต่ถ้าข้างบนปฏิเสธ หรือไม่อนุญาต สุดท้าย เราก็ต้องวนกลับมาเป็นแบบเดิมๆ อยู่ดี
ถ้าอย่างนั้น จะสามารถแก้ได้ยังไงบ้าง?
ในประเทศเรา เรียนกันเพื่อเป็น specialist คือ เรียนอะไรมา เข้ามหาวิทยาลัยตามสายตัวเอง พอเข้าบริษัททำงาน ก็ทำงานใกล้ๆ กับที่จบมา แต่ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เขาเป็นสังคม generalist เขาอาจจะจบ ม.ปลายมาสายนึง แล้วเข้ามหาวิทยาลัยอีกสายนึงไปเลย พอเข้าบริษัทอาจจะถูกเปลี่ยนสายก็ได้ ญี่ปุ่นมีระบบจ้างงานตลอดชีพ เพราะฉะนั้น เขาจะจ้างพนักงานคนนึง แล้วจับย้ายแผนกไปเรื่อยๆ
สมมติ คุณจบสายสื่อสารมวลชนมา แต่เข้าบริษัทไป อาจจะไปอยู่แผนกไอทีก็ได้ หรือถ้าเรียนวิศวะฯ มา คุณอาจจะถูกจับส่งไปเป็น PR ก็ได้ ซึ่งถือเป็นอีกวิธีที่จะสลายกำแพงของการแบ่งสายการเรียนได้
วิธีนี้อาจจะช่วยทลายกำแพงได้ก็จริง แต่อีกแง่นึง ก็ดูจะมีข้อเสียอยู่หรือเปล่า?
มีข้อเสียครับ ผมยังมองว่า ถ้าทำแบบญี่ปุ่นไปเลยก็ไม่เวิร์คเหมือนกัน เราถึงควรมีการแบ่งสายการเรียนเป็นวิทย์-ศิลป์ เหมือนเดิม แต่ไม่ต้องมีกำแพงกั้นเหมือนในปัจจุบัน และควรให้เด็กเดินข้ามไปเรียนอีกสายวิชาได้ตามอย่างที่เขาต้องการ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราสามารถทลายกำแพงวิทย์-ศิลป์ ได้จริงๆ ไหม
ทำได้จริงครับ เพราะโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเองก็ทำมาหลายปีแล้ว เขาไม่ได้แยกเป็นวิทย์แล้วมีแต่วิทย์ แต่แยกไปว่า ในแต่ละวิทย์ มีสายเฉพาะเจาะจงเป็นอะไรได้อีกบ้าง สายศิลป์เองก็เหมือนกัน แต่ก็กลับไปสู่จุดที่บอกว่า โรงเรียนปรับแล้ว แต่ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่ปรับ
มีบางคนแย้งว่า ถ้าเด็กเรียนสายวิศวะฯ แล้ว วันนึง เกิดเปลี่ยนใจอยากไปเรียนแพทย์จะทำยังไง ซึ่งตรงนี้ก็จริง เพราะไม่ใช่ว่าเด็ก ม.ปลาย จะรู้ใจตัวเองกันทุกคน เราไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเองล่วงหน้าได้ 3 ปี หรอก แต่ยังไงก็ดี นี่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก
จริงๆ แล้ว มีอีกหลายโรงเรียนที่อยากปรับเปลี่ยนระบบสายการเรียน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอะไร?
บางโรงเรียน อาจจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งก็จะมีปัญหา เพราะถ้าให้เขาแบ่งสายการเรียนออกเป็น 14 สาย เขาก็ทำไม่ได้หรอก แค่ 3 สายยังแย่เลย เพราะจำนวนครูไม่เพียงพอ ครูบางคนต้องสอนถึง 3 วิชาเลยด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องของความพร้อมของโรงเรียน เรื่องของงบประมาณ และบุคลากร ซึ่งก็จะโยงไปถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย
ทำไมถึงออกมาพูดถึงประเด็นการแยกสายการเรียน?
จริงๆ ผมทำงานข้ามสายตลอด ตัวผมเรียนสายศิลป์ล้วน แล้วกระโดดไปทำงานสื่อสารมวลชน เป็นนักข่าวอยู่ที่สำนักข่าวของญี่ปุ่น ซึ่งพอเรามาทำงานสายนี้ ก็เห็นว่ามันมีบางมิติที่แตกต่างจากเด็กสายภาษาอย่างที่ตัวเองเป็น แล้วสักพักก็กระโดดไปทำงานในแวดวงธุรกิจ ร่วมมือกับนักการเงิน และวิศวกรเยอะ เลยเห็นว่า มันมีจุดที่บางอื่นอาจจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ เราควรจะเรียนรู้เรื่องของแต่ละฝ่าย เพื่อทำความเข้าใจกัน
เหมือนเป็นการมองเห็นจากประสบการณ์ตรงด้วย?
ใช่ จากประสบการณ์ และการร่วมงานหลายๆ อย่าง แล้วผมเองก็เป็นอาจารย์สอนอยู่หลายมหาวิทยาลัย เลยเห็นว่า โลกแห่งวิชาการและโลกของธุรกิจในไทย มันถูกแบ่งแยกออกจากกันมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่มีจุดที่เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งผมใช้ชีวิตแบบนั้นมาตลอด พอเป็นแบบนั้น ก็เหมือนตัวเองกระโดดไปตรงจุดที่เชื่อมกันมาตลอด มีวีซ่าเข้าออกข้ามสาย ก็เลยมองเห็นตรงจุดนี้ไปด้วย
จากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เคยพูดคุยเรื่องการแบ่งสายวิทย์-ศิลป์กับเด็กๆ ไหม?
เด็กๆ จะมีความทุกข์อยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ เด็กที่เลือกเรียนสายศิลป์ เพราะหนีสายวิทย์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะซัฟเฟอร์เพราะถูกสังคมตีตราว่าหัวไม่ดี โง่ แม้แต่พ่อแม่ก็มองเด็กแบบนั้นไปด้วย พอเขาถูกตีตราแบบนั้น ผ่านไป 3 ปี 5 ปี ก็กลายเป็นว่า เขาเหมือนถูกสะกดจิต คิดว่าตัวเองหัวไม่ดี เพราะเรียนสายศิลป์ แล้วจะรีบตัดสินตัวเองเวลาเจอเรื่องอะไรที่เป็นสายวิทย์-คณิต
บางคนจะพูดว่า ‘หนูโง่เลข หนูอ่านไม่รู้เรื่องหรอก’ เพราะถูกสะกดจิตมาแบบนั้น
ส่วนอีกแบบ คือ เด็กที่มองว่าสายที่ตัวเองเลือกดีกว่า บางคนเป็นเด็กสายวิทย์ แล้วมองว่าตัวเองเก่งกว่า คนที่เรียนอีกสายมาเป็นพวกหัวไม่ดี เคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘เด็กสายวิทย์จะคิดอะไรเป็นระบบ’ ซึ่งไม่ใช่เสมอไป และความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ไหน ความรู้ก็ต้องเชื่อมโยงกันหมด ไม่มีใครเก่งกว่า หรือโง่กว่ากันหรอก
กลับมาที่วิธีการแก้ปัญหา ในระดับมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง เราสามารถทำยังไงได้บ้าง?
ในความคิดผม เราน่าจะสร้างความร่วมมือระหว่างภาควิชาได้ โดยให้แต่ละคณะ แต่ละภาค มาร่วมมือกัน เพราะบางสาขาวิชาจะมีอะไรที่คล้ายๆ กันอยู่ เช่น คณะบริหารธุรกิจ มีสายบัญชี บริหาร การตลาด การเงิน แยกกันเป็น 4 ด้าน ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถร่วมมือกันได้ หรืออาจจะข้ามคณะไป ให้บัญชีร่วมมือกับหมอ ให้วิศวะฯ ร่วมเรียนกับอักษร ก็ได้เช่นกัน
แบบนั้นจะกลายเป็นว่า เรารู้กว้างๆ แต่ไม่ลึกหรือเปล่า?
ก็เลยเป็นเหตุผลให้ผมยังสนับสนุนระบบการแบ่งแยกสายวิทย์-ศิลป์อยู่ คือ สนับสนุนให้เรามีความแตกฉานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดอกรับอย่างอื่นด้วย
ถ้าเราเอาความเป็น specialist ของไทย ซึ่งเทียบเป็นกราฟพุ่งในแนวตรง กับเอาความ generalist ของญี่ปุ่น ซึ่งเทียบเป็นกราฟแนวนอน มารวมกัน เราก็จะได้มุมทแยง คือ มีความลึก แต่ไม่ได้มุดลงไปในความรู้เฉพาะเรื่องนั้นๆ อย่างเดียว เรายังลืมตามองดูสิ่งรอบข้าง เปิดรับเรื่องอื่นๆ มีความรู้ และความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน
มีโมเดลการแบ่งสายการเรียนของที่ไหน ที่น่าสนใจอีกไหม?
ของที่สิงคโปร์ เขาเริ่มส่งเสริมให้มีการเรียนข้ามสายวิชาการบ้างแล้ว คือ ยังมีสายวิทย์-ศิลป์ ให้เลือกอยู่ แต่ก็เปิดโอกาสให้เด็กเรียนข้ามสายกันได้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นโมเดลในใจของผมเลย
อีกที่หนึ่งคือ International Christian University เป็นมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนจบมา ความเท่ของที่นี่คือ ทั้งมหาวิทยาลัย มีแค่คณะเดียว คือ คณะศิลปศาสตร์ แต่มีวิชาเอกให้เลือก 31 วิชา เข้าไปแล้วก็สามารถเลือกได้ว่า จะเรียนเอกอะไร แล้วจะเลือกวิชาโทเป็นอะไร หรือจะเรียนสองเอก แล้วเลือกโทเสรีก็ได้ ซึ่งถือเป็นโมเดลที่เยี่ยมมากเลยนะ แต่เราจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องมีงบประมาณ และบุคลากรมหาศาล ก็จะวนกลับมาที่เรื่องเดิมว่า ข้อจำกัดของเรา คืองบประมาณ และบุคลากร
คิดว่าควรมีวิชาไหน หรืออยากเสนอให้มีวิชาอะไร ที่ไม่ว่าสายไหนก็ควรได้เรียนเหมือนกัน?
อาจจะเสนอวิชา ‘กรองข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต’ เพราะหลายคนมักเข้าใจว่า ข้อมูลทุกอย่างจากอินเทอร์เน็ต คือความรู้ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านั้นยังเป็นแค่ข้อมูลดิบ ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรอง หรือตกผลึก ซึ่งถ้าผ่านการคัดกรอง ตรวจเช็ก ข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งนั้นจึงจะกลายเป็นความรู้
ติดตามบทความจากซีรีส์การศึกษาเรื่องอื่นๆ ได้ที่
เลือกเรียนตามความสนใจ และให้เด็กเป็นศูนย์กลาง สำรวจแนวทางการศึกษาในประเทศต่างๆ
ย้อนดูเบื้องหลัง เรียน ม.ปลาย ทำไมต้องแยกสายวิทย์-ศิลป์? และถึงวันนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม
ระบบ Tracks สำหรับม.ปลายคืออะไร เป็นไปได้ไหมที่การศึกษาอาจมีได้มากกว่าสายวิทย์-ศิลป์?