“ขายเทมเพลตพอร์ตโฟลิโอ Portfolio มีแบบให้เลือกกว่า 350 แบบ+”
“รับทำพอร์ตโฟลิโอ Portfolio แบบให้เลือกกว่า 400 แบบ+ ราคาเริ่มต้น 150 บาท”
“รับทำพอร์ต ราคาออกแบบรับเป็นไฟล์ JPG. หรือ PDF. เริ่มต้นที่ 200 บาท”
อีกสารพัดข้อความที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ เมื่อระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีรอบที่ต้องใช้ ‘พอร์ตโฟลิโอ’ เป็นใบเบิกทาง ทำให้วงการรับจ้างทำพอร์ตกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ
การจ้างทำพอร์ต – ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ แต่ก็ถูกตั้งคำถามในวงกว้างมากขึ้น ทั้งคำถามว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ไปจนถึงว่าเรากำลังอยู่ในระบบการศึกษาแบบไหน ถึงทำให้การจ้างทำพอร์ตกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยได้
The MATTER ขอชวนมาอ่านบทความว่าด้วยเรื่องของการทำจ้างพอร์ตเพื่อชิงเก้าอี้เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นในระบบการศึกษาของเรา
ธุรกิจรับจ้างทำพอร์ต
ธุรกิจรับจ้างทำพอร์ตส่วนใหญ่ จะอยู่ในโซเชียลตามแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพียงแค่เข้าแพลตฟอร์มที่อยากใช้งาน แล้วเสิร์ชคำว่า ‘ทำพอร์ต’ โพสต์รับจ้างและแอคเคาท์ร้านค้าต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาทันที อย่างในเฟซบุ๊กก็มีกรุ๊ปสำหรับคนที่สนใจอยากทำพอร์ต ซึ่งมีสมาชิกอยู่ในกลุ่มมากถึง 37,000 กว่าแอคเคาท์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนเรทราคา ก็ตามข้อความข้างต้น เริ่มต้นที่หลักร้อยนิดๆ แล้วก็ไล่ราคาขึ้นไปตามรูปแบบการจ้างทำพอร์ตที่แตกต่างกัน โดยเนื้อหาในพอร์ตก็ประกอบไปด้วย หน้าปก สารบัญ ข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา กิจกรรม ผลงาน เกียรติบัตร ซึ่ง Patee (นามสมมติ) ผู้ที่เคยรับจ้างทำพอร์ตเข้ามหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์กับเราว่า เรทราคาอาจแบ่งได้คร่าวๆ 3 ระดับ ดังนี้
- เป็นเทมเพลตสำเร็จรูป คือเป็นไฟล์ PNG ที่สามารถเปลี่ยนสีได้ มีรูปแบบ ดีไซน์ ฟอนต์มาให้ลูกค้าเลือก ซึ่งทางร้านจะออกแบบไว้แล้ว หากใครต้องการซื้อ ร้านก็จะส่งไฟล์ไปให้ ราคาอยู่ประมาณที่ 200 บาท และจะส่งงานเป็นภาพ PNG กับ PPT
- เป็นงานที่ต้องออกแบบใหม่ให้ตรงตามสีคณะ หรือสีมหาวิทยาลัยที่นักเรียนต้องการยื่น ซึ่งทางร้านจะมีดีไซน์อยู่แล้ว นักเรียนสามารถเลือกได้ว่าจะบรีฟเป็นสีไหน โทนไหน ซึ่งทางร้านจะเริ่มใช้หลายโปรแกรมในการทำ ทั้ง Procreate PS Ai ตามที่ร้านสะดวก ราคาจะเริ่มที่ประมาณ 300 บาทขึ้นไป
- เป็นงานที่ลูกค้าสามารถบรีฟให้กับร้านค้าได้อย่างฟรีสไตล์ แต่เรทราคาก็จะค่อนข้างกว้างเพราะอยู่กับความยากง่ายในการทำ
Patee เล่าว่า ช่วงเวลาที่การรับจ้างทำพอร์ตจะฮอตฮิตที่สุดในหมู่เด็กนักเรียน คือช่วงที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศวันยื่นพอร์ตในรอบ TCAS ซึ่งเธอแอบเสริมด้วยว่า บางร้านไม่ได้ฮอตแค่พอร์ตโฟลิโอของนักเรียนที่ใช้ยื่นมหาลัย แต่ช่วงสอบสัมภาษณ์ครูผู้ช่วยก็เป็นที่นิยมมากเหมือนกัน – ว่าง่ายๆ ก็คือ การจ้างทำพอร์ตนี้ ไม่ได้มีแค่ในแวดวงนักเรียนเท่านั้น
สิ่งที่บีบคั้นให้เด็กต้องจ้างทำพอร์ต
ต้องย้ำกันก่อนว่า การจ้างทำพอร์ตที่เรากำลังพูดถึงนี้ คือการจ้างโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลจริงของผู้จ้างวาน ไม่ได้เป็นการปลอมแปลงข้อมูลในพอร์ต – ซึ่งจุดนี้ ทำให้เรื่องราวถูกดีเบทกันไปหลากหลายแง่มุม
บ้างก็มองว่า ในเมื่อการจ้างพอร์ตนี้ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ที่เห็นกันชัดเจนว่าเป็นเรื่องผิด แต่เป็นการนำข้อมูลจริงไปจ้างให้คนอื่นช่วยตกแต่งเพื่อความเป็นระเบียบและสวยงาม (ซึ่งหลายคนไม่ถนัด) ทำไมถึงเป็นเรื่องผิดไปได้ ขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่า เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งในปัญหาเรื่องจริยธรรมทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกับความสำนึกและรับผิดรับชอบของเยาวชนในอนาคตต่อไป
ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องมาตั้งคำถามกลับไปว่า เพราะอะไร เด็กนักเรียนถึงต้องเลือกวิธีจ้างทำพอร์ต เพื่อให้ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย
“พูดจากมุมคนที่อยู่ต่างจังหวัดนะ” Patee กล่าว “คนที่จะสอนเด็กทำพอร์ตโฟลิโอคือครูแนะแนว แต่โรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดไม่ได้มีครูแนะแนวทุกโรงเรียน อัตราส่วนจะอยู่ที่ครูแนะแนว 1:500 นั่นหมายความเด็กที่ไม่มีครูแนะแนวที่จบเอกเฉพาะมาโดยตรง ต้องขวนขวายหาความรู้เองในเรื่องนี้”
Patee ย้ำว่า เด็กทุกคนไม่ได้มีอุปกรณ์ในการทำงานพอร์ตเป็นของตัวเอง ซึ่งบางทีการทำพอร์ตก็ต้องใช้เวลา แต่พอเด็กขัดสนในด้านอุปกรณ์ ไม่เข้าใจ ไม่มีเวลา ไม่มีคนคอยแนะแนวอย่างถูกวิธี ก็เลยเลือกที่จะไปจ้างทำให้จบๆ ไปเลยดีกว่า
“มันมีประเด็นที่เด็กในเมืองมีโอกาสในการทำผลงานมากกว่าเด็กต่างจังหวัดอยู่ใช่ไหม นั่นแหละ ผลงานของเด็กต่างจังหวัดที่น้อยอยู่แล้ว ถ้าเกิดยังออกแบบพอร์ตผิดอีก โอกาสที่จะได้เข้าเรียนก็จะน้อยลง เขาเลยคิดว่า ถ้าจ้างร้านทำก็น่าจะเพิ่มโอกาสได้มากกว่า เพราะร้านหรือคนที่รับทำน่าจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่าตัวเองที่ไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องนี้”
ขณะที่ ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจ้างทำพอร์ตนั้น ถือเป็นการเสียเงินจ้างคนอื่นทำงานให้ แต่หากเด็กอีกจำนวนหนึ่งไม่มีเงินจ้างทำพอร์ตจะเป็นอย่างไร กล่าวคือ หากมองอย่างตื้นที่สุดก็จะเห็นว่า การจ้างทำพอร์ตนี้มีเรื่องของการมีเงินหรือไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นเรื่องของสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
อ.ศศิภาชวนตั้งโจทย์ว่า หากมีนักเรียนสองคนที่มีความสามารถเท่ากัน มีผลงานเท่ากัน และมีความสามารถที่กินกันไม่ลงเลย โดยคนหนึ่งจ้างทำพอร์ต อีกคนไม่ได้จ้างทำพอร์ต แล้วถ้ามหาวิทยาลัยเลือกคนที่จ้างทำพอร์ตเข้ามาเรียน แต่อีกคนหนึ่งไม่ติด ก็จะนำมาสู่คำถามว่า มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นในการคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่
“ปัญหาการเรื่องจ้างทำพอร์ต มันไม่ได้อยู่ที่ว่าพอร์ตออกมาสวยหรือไม่ เรามองมันเป็นเรื่องของความสุจริต (integrity) หรือความรับผิดชอบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นคอมมอนเซนส์นะว่าเป็นงานของเรา ควรจะทำเอง ความคาดหมาย มันเป็นผลงานของเรา เราต้องทำเอง หรืออย่างน้อยที่สุดถ้าจะทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณไม่ได้ทำเองในส่วนไหน ก็ต้องมีเครดิตสิ”
แล้วการมีอยู่ของพอร์ตเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด? ในมุมของ อ.ศศิภาแล้ว การทำพอร์ตไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่เธอชวนนึกภาพตามว่า กระบวนการในการทำพอร์ต จะต้องผ่านกระบวนการคิดก่อนจะจัดทำและนำเสนอตัวตนของเราออกมา ผ่านการจัดวางและการดีไซน์
ดังนั้นแล้ว อ.ศศิภา จึงมองว่า การทำพอร์ตโฟลิโอมีความสำคัญในแง่หนึ่ง และหากมหาวิทยาลัยอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเด็กต้องทำพอร์ตเพื่อใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ก็ถือว่ามหาวิทยาลัยมีปัญหาในเรื่องนี้เหมือนกัน
“ถ้าเราคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องมีเหตุผลในการให้ทำพอร์ต มันก็เท่ากับว่า ความสำคัญของพอร์ตไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม แต่เพราะมันเอาไปประกอบกับการบอกเล่า กระบวนการคิด แล้วนำเสนอออกมา ฉะนั้น ถ้าบอกว่าเรื่องนี้มันไม่สำคัญเลย เขาจะให้ทำพอร์ตทำไม”
“มันสะท้อนว่า การศึกษาให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (product) มากกว่ากระบวนการ (process) เกินไปหรือเปล่า ปรากฏการณ์นี้ควรจะเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาไหม แล้วมหาวิทยาลัยวางวัตถุประสงค์หรือปรัชญาของการศึกษาไว้อย่างไรกันแน่”
อ.ศศิภาระบุอีกว่า เรื่องของปรัชญาการศึกษาควรเป็นอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจิตนาการถึงระบบการศึกษาแบบไหน ซึ่งสำหรับอาจารย์แล้ว เธอให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่ออกมา เพราะมองว่า ผลลัพธ์คือผลพลอยได้ที่เกิดจากกระบวนการอยู่แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น อ.ศศิภายังเสริมว่า การศึกษาคือการเรียนรู้ กล่าวคือ เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองศักยภาพตัวเอง มหาวิทยาลัยคือสถานที่ที่สร้างและพัฒนาตัวตนในทางวิชาการ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการคิด การสร้างอัตลักษณ์ การสร้างตัวตนในทางวิชาการของผู้เรียน มากกว่าจะสนใจแค่ผลสอบหรือใบปริญญา
“สภาพที่เป็นอยู่นี้มันคือการให้ความสำคัญกับผลผลิต โดยไม่สนกระบวนการว่าคุณต้องเป็นคนคิดเองทำเอง คือเรายึดแต่กับผลลัพธ์เลยว่า ‘ก็แค่เราต้องการให้พอร์ตมันดูดีจะผิดตรงไหน’ มันผิดตรงที่คุณไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดไง สำหรับเรา ถ้าพอร์ตไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดของคุณแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร?”
ยิ่งกว่านั้น หากระบบการศึกษายังคงให้ความสำคัญกับผลลัพธ์เป็นหลักแล้ว อ.ศศิภาก็มองว่า อนาคตเราก็จะผลิตคนเข้าสู่สังคมในสภาพ ‘หนูปั่นจักร’ ซึ่งทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่นักเรียนและนักศึกษาเท่านั้นที่ถูกปฏิบัติแบบนี้ แต่บุคลากรในมหาวิทยาลัยเองก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก รวมถึง ผู้คนในสังคมเองก็ต้องทำงานเพื่อผลิต ‘ผลผลิต’ บางอย่างออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน
“แต่สภาวะแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยควรจะเป็นเพียงไม่กี่ที่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ process มากกว่า product เป็นสถานที่ที่คนมาเรียนรู้ ไม่ใช่คนมาซื้อขายของ คุณอยากออกไปทำอะไรต่อก็เรื่องของคุณ แต่ว่าคุณเข้ามาเพื่อเรียนรู้ มันควรจะเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมไหมที่คุณเรียนเพราะคุณอยากรู้ไง แต่ว่าเซนส์ของการเรียนเพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้ของตัวเอง มันถูกกลบมิด ด้วยการเรียนเพื่อใบปริญญา เพื่อออกไปหางานทำ ซึ่งไม่ผิดนะ แต่อย่าไม่ให้น้ำหนักกับมันมากเกินไป”
เราจะทำอย่างไร ให้การจ้างทำพอร์ต ไม่กลายเป็นเรื่องปกติ?
ในสภาวะที่การจ้างทำพอร์ตกลายเป็นเรื่องปกติแบบนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ หากไม่อยากให้เกิดการจ้างทำพอร์ตขึ้น ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
หากเป็นในระดับโรงเรียน สิ่งที่เราควรตั้งคำถามกันคือ จะทำอย่างไรให้นักเรียนได้รับความรู้ ความช่วยเหลือ และเข้าถึงช่องทางในการทำพอร์ต เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย? ซึ่งเรื่องนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นย่อย
ประเด็นแรกคือ ครูแนะแนว ตามที่ Patee ให้ข้อสังเกตมาว่า ผู้ที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนชั้น ม.6 ที่กำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา คือครูแนะแนว แต่จำนวนครูแนะแนวต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนกลับไม่สัมพันธ์กัน
ตัวอย่างของปัญหาครูแนะแนวขาดแคลนนี้ เห็นได้ชัดจากกรณีของ วรีย์ สืบสมุท ครูแนะแนวประจำโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคมซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้กับ วสศ. ว่า โรงเรียนของเธอมีนักเรียนเกือบ 3,000 คน มีครูแนะแนว 3 คน ซึ่งครูทั้ง 3 คนนี้ก็ไม่อาจสอนเด็กได้อย่างครบถ้วนได้
“เฉพาะ ม.3 มี 14 ห้อง ห้องละ 40 คน แค่นี้เราก็ไม่สามารถสอนได้ครบทุกระดับ บางชั้นก็ให้ครูที่ปรึกษาสอนวิชาแนะแนวเอง บางท่านก็นำเนื้อหาที่เราทำให้ไปสอน แต่ครูบางท่านก็ไม่นำไปใช้ โชคร้ายหน่อยก็กลายเป็นคาบว่างไปเลย”
ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่โรงเรียนมีครูแนะแนวไม่เพียงพอ จึงต้องฝากวิชานี้ไว้กับครูที่ไม่ได้ถนัดการแนะแนว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เด็กจะได้รับอีกต่างหาก
ประเด็นต่อมา คือการตั้งคำถามกับมหาวิทยาลัยว่า ควรจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อไม่ให้การจ้างทำพอร์ตกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย
หรือแต่ละมหาวิทยาลัยควรมีเกณฑ์กำหนดหรือเปล่าว่าจะคัดเลือกกันจากตรงไหน? เมื่อได้ยินคำถามนี้ อ.ศศิภาก็ตอบกลับว่า ถึงจะมีกฎเกณฑ์ แต่คนที่อยากได้พอร์ตสวยๆ ก็จะหาช่องทางไปจ้างต่อได้อยู่ดี ซึ่งส่วนตัวเธอมองว่า หากจะแก้ปัญหานี้อย่างง่ายที่สุด มหาวิทยาลัยสามารถทำเทมเพลตหรือแบบฟอร์มให้นักเรียนเขียนกรอกกันมาได้เลยหรือเปล่า
ประเด็นสุดท้าย คือการเข้าถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือทรัพยากรต่างๆ ในการทำพอร์ต ซึ่งนักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึง จึงต้องพึ่งพิงการจ้างทำพอร์ต โดย อ.ศศิภาให้ความเห็นว่า ผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องนี้ได้ ก็คือมหาวิทยาลัยเช่นกันด้วยการกําหนดโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการทำพอร์ต เช่น ให้ใช้ได้แต่โปรแกรม word เท่านั้น หรือกําหนดโปรแกรมฟรี ให้เด็กได้ออกแบบตามโปรแกรมนั้น
“จริงๆ มันเป็นปัญหากับเรื่องความเหลื่อมล้ำของการศึกษามากเลยว่า เราจะพูดเหมือนทุกคนมีคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด ถ้ามหาวิทยาลัยคงไม่ได้จะวัดเรื่องความสวยงาม แจกเทมเพลตมาก็จบ ไม่ต้องไปนั่งคิดเลยว่า จะต้องไปจ้างหรือจะต้องทำเอง ไม่ต้องมานั่งเถียงกันเลย เขาให้เทมเพลตมาแล้ว มันง่ายที่สุดแล้ว”
ไม่เพียงเท่านั้น อ.ศศิภายังตั้งคำถามด้วยว่า หรือจริงๆ แล้วพอร์ตอาจไม่จำเป็นต้องใช้การตกแต่งด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล เพราะหากต้องการดูเฉพาะความสามารถของเหล่านักเรียนแล้ว ก็คงให้ใช้พอร์ตแบบเขียนด้วยมือได้
ขณะเดียวกัน คำถามเรื่องการทำพอร์ตนี้ยังต้องย้อนกลับไปที่ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแบบ TCAS ที่ให้มีการคัดเลือกหลายรอบ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้จะตั้งมาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบของการคัดเลือก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาจากระบบการคัดเลือกเช่นนี้ ก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งเด่นชัดขึ้นหรือเปล่า เพราะการสมัครแต่ละรอบก็ต้องใช้เงิน คนที่มีเงินมากกว่า ย่อมมีโอกาสในการเข้าถึงการคัดเลือกมากกว่าไปด้วย
“ระบบพอร์ตควรจะเป็นระบบที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา แต่แทนที่จะเป็นตัวเพิ่มความเท่าเทียม มันกลายเป็นเพิ่มความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า” อ.ศศิภากล่าว
สุดท้ายแล้ว เราอาจต้องกลับมามองถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษากันอีกครั้งว่า ระบบการศึกษาของไทยกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร อย่างที่ อ.ศศิภาตั้งคำถามว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะของการศึกษาที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือเปล่า
“ทุกคนแข่งกันเอาตัวรอด โดยไม่สนว่าใครจะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง ทุกคนเอาตัวเองให้รอด แล้วทิ้งอีกคนอีกมากมายไว้ข้างหลัง หรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือเรากำลังเหยียบใครบางคนเพื่อเข้าเส้นชัยโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า”
การมองความเป็นจริงหรือเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ อ.ศศิภากำลังชวนให้คิดต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะฝังกลบปัญหาและทำร้ายระบบการศึกษาอยู่หรือไม่ พร้อมย้ำว่า เธอไม่มุ่งหมายจะกล่าวโทษคนที่จ้างทำพอร์ตหรือรับทำพอร์ตในเชิงปัจเจกแต่อย่างใด เพราะหากระบบก่อให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ได้ แสดงว่าระบบนั้นยังออกแบบมาไม่ดีพอ
อ.ศศิภายังย้ำอีกว่า หากทุกคนสมาทานในความเท่าเทียมและสังคมที่มีความเป็นธรรม ก็ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ ซึ่งคงเป็นธรรมดาที่ผู้คนจะเจ็บช้ำมากหากถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม แต่ถ้าวันหนึ่ง เราเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมนั้น หรือกลายเป็นคนสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาเอง เรื่องของความยุติธรรมก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที เพราะการเรียกร้องความยุติธรรมในกรณีแบบนี้ เป็นการเรียกร้องให้คนอื่น และจะทำให้ตัวเราซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากความอยุติธรรม เสียผลประโยชน์นั้นไป
“ถ้าเราปล่อยเรื่องที่ไม่ถูกต้องเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นเรื่องถูกเข้าสักวัน จริงไหม แล้วหากมันกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่านี้ มันก็คงจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกในสักวันหนึ่ง”