‘Delulu’ คือศัพท์อินเทอร์เน็ตในปี 2023 ที่ผันมาจากคำว่า Delusion หรือการคิดไปเอง
บริบทการใช้คำว่า Delulu ที่เราสามารถเห็นผ่านตาได้ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ นั้นมีหลากหลาย บางครั้งอาจมาในรูปแบบคล้ายการภาวนาให้สิ่งที่เราเชื่ออยู่ และแม้มันจะเกินเอื้อมขนาดไหนว่าจะเป็นจริง บ้างอาจเป็นคำพูดที่สะกดใจคนหนึ่งคนให้เดินไปต่อ หรือบางครั้งก็เป็นการมองโลกโดยทิ้งความเป็นจริงเอาไว้เบื้องหลัง ให้ห้วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตเราอยู่ในความเป็นจริงของตัวเอง
มองคำดังกล่าวแล้วหันมองไปยังชั้นหนังสือขายดี คอนเทนต์ออนไลน์จำนวนมาก หรือคอมเมนต์รูปอีโมจิไฟเพื่อส่งกำลังใจภายใต้รูปถ่ายของใครสักคน หลายๆ คนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมโลกของเราจึงดูมีคอนเทนต์ฮีลใจอยู่ทั่วเลยนะ? ทำไมเราหลายๆ คนเลือกที่จะไม่ยืนใน ‘โลกความเป็นจริง’? อย่างน้อยแม้จะเจ็บปวด แต่ความเป็นจริงก็ยังดีเพราะมันสามารถจับต้องได้ใช่หรือเปล่า? และไม่ว่ายังไงการเดินไปข้างหน้า ก็ต้องเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากับความจริงที่เจ็บปวดของโลกใช่ไหม?
บางครั้งหากมองดีๆ ให้ลึกลงไปข้างในใจของเรา เราอาจเห็นเหตุผลที่แต่ละคนพยายามคิดไปเอง หรือหาอะไรก็ตามมาเยียวยาหัวใจของเราอยู่บ่อยๆ เพราะหลายครั้งเราแต่ละคนต่างมองเห็นปีศาจที่อยู่ ณ ปลายตาของตัวเอง เป็นปีศาจที่ชื่อว่า พฤติกรรมทำลายตัวเอง (Self-Destructive Behavior/Self-Defeating Behavior)
หน้าตาของปีศาจ
พฤติกรรมทำลายตัวเองมีหลายระดับและหลากหลายรูปแบบ ผู้คิดค้นคอนเซ็ปต์ดังกล่าวคือ นักจิตวิทยารอย บอไมสเตอร์ (Roy Baumeister) และสตีเวน เชอร์ (Steven Scher) นิยามคร่าวๆ ของพฤติกรรมดังกล่าวคือ การเลือกจะกระทำอะไรก็ตามที่นำไปสู่สัดส่วนของผลตอบแทนต่อราคาที่จ่าย ต่ำกว่าการเลือกกระทำอีกรูปแบบ เรียกง่ายๆ คือการเลือกขาดทุนในความรู้สึก แม้ว่าจะมีหนทางอื่นที่ใช้แรงเท่าๆ กัน แต่ได้กำไรก็ตาม
ลองนึกภาพพฤติกรรมที่คนเราทำในหนึ่งวัน เราบางคนอาจเลือกสูบบุหรี่ทั้งๆ ที่รู้ว่าการยืนอยู่เฉยๆ ไม่ทำให้ปอดของเราเสียหาย การทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ หรือการทำสิ่งที่รู้แน่ๆ ว่าอาจนำไปสู่ความตาย ฯลฯ แต่นอกจากการทำลายร่างกายตัวเองตรงๆ แบบนั้นแล้ว บางครั้งเราแต่ละคนต่างเลือกทำลายตัวเองในแบบที่เนียนกว่านั้น เช่น การเลือกจะผัดวันประกันพรุ่งทั้งที่รู้ดีว่าเวลาแทบไม่เหลือ การเลือกนิ่งเฉยกับปัญหาเล็กๆ ที่เราหยุดได้ในตอนนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าปล่อยไปจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต และแม้แต่การหลงรักคนที่จะไม่มีวันอยู่กับเรา หรือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุมีผลในตัวเองน้อยกว่าที่คิด?
ทั้งนี้บอไมสเตอร์และเชอร์ยังได้จำแนกประเภทของพฤติกรรมทำลายตัวเองออกเป็น 3 รูปแบบ นั่นคือ
- Primary Self-Destruction – เมื่อเราเห็นภัยข้างหน้า และปรารถนาให้ภัยเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง
- Tradeoffs – เมื่อเราเห็นภัยข้างหน้า แต่ชั่งใจแล้วว่าภัยนั้นๆ เล็กน้อยหากเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ
- Counterproductive Strategies – เมื่อเรามองไม่เห็นภัยข้างหน้า แต่การกระทำของเรานำมาซึ่งภัยนั้น
ทำลายตัวเองเพราะโลกทำร้ายเรา
มีหลายๆ สิ่งในตัวของมนุษย์ที่ทำไปเพื่อความอยู่รอด เช่น การโฟกัสความสนใจไปยังเรื่องในแง่ลบเพื่อหลบหลีกภัยอันตราย หรือการจับตัวเป็นกลุ่มก้อนกับมนุษย์ผู้อื่นเพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ แต่เมื่อพูดอย่างนั้นแล้วคำถามที่ตามมาคือ พฤติกรรมทำลายตัวเองที่พาให้เราเจ็บตัว หรือแยกตัวออกจากผู้อื่นนี่มีหน้าที่อะไรบ้างไหม? และไม่ว่ามันจะมีหน้าที่หรือไม่มี ทำไมเราถึงเลือกจะทำพฤติกรรมนี้?
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคือ Rationalizing self-defeating behaviors: theory and evidence โดยลาส์ เลฟเกรน (Lars Lefgren) นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ผู้วิจัยเล็งเห็นว่า พฤติกรรมทำลายตัวเองของมนุษย์นั้นแทรกซึมอยู่ในหลากหลายแง่มุมของคนคนหนึ่ง แม้แต่ในมุมการเงินด้วย เช่น การใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานภาพทางการเงิน พวกเขาจึงพยายามคิดค้นแบบแผนการอธิบายพฤติกรรมดังกล่าวผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นวิธีการที่สามารถปรับใช้ในแง่มุมอื่นๆ ได้ด้วย
ในการหาแบบแผนดังกล่าว ผู้วิจัยเลือกวิธีการหาค่าคุณประโยชน์ระหว่างสิ่งเร้าหลายๆ สิ่งในหนึ่งการกระทำ ผ่านการเทียบค่าความโดดเด่นของสิ่งเร้าทั้งหมด พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ในหนึ่งการกระทำนั้นมีสิ่งเร้าหลายๆ อย่าง และแต่ละอย่างก็มีคุณประโยชน์สูงหรือต่ำไม่เท่ากัน ผู้วิจัยจึงเสนอว่า ในประสบการณ์เหล่านั้น คนคนหนึ่งจะรู้สึกถึงเพียง 1 คุณประโยชน์จากสิ่งเร้าที่มีค่าความโดดเด่นสูงที่สุด โดยผู้วิจัยได้ร่างรูปแบบของแบบแผนดังกล่าวด้วยการคำนึงถึง 3 ประสบการณ์อันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทำลายตัวเอง นั่นคือการทำร้ายร่างกายตัวเอง ภาวะซึมเศร้า และห้วงเวลาที่ปัญหารุมเร้า ซึ่งสมมติฐานของพวกเขามีดังนี้
- การทำร้ายร่างกายตัวเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้กระทำชอบความรู้สึกของมัน แต่เพราะผู้กระทำต้องการสิ่งเร้าที่เด่นชัดกว่าอารมณ์ความรู้สึกภายใน ณ ห้วงขณะนั้น
- เหตุผลที่เราไม่อาจทำกิจกรรมที่นำไปสู่ความสุขได้ในภาวะซึมเศร้า เป็นเพราะว่าภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งเร้าแง่ลบที่โดดเด่นมากเสียจนไม่มีสิ่งเร้าอื่นเทียบเคียงได้
- เมื่อคนเราเจอเข้ากับปัญหาจำนวนมากพร้อมๆ กัน พวกเขาจะหยุดหาทางแก้ไขในทุกๆ ปัญหา เนื่องจากความโดดเด่นของข้อดีในการแก้ปัญหา ไม่อาจสู้กับความโดดเด่นของสิ่งเร้าในแง่ลบได้
ดังนั้นบทสรุปของการทดลองจึงพบว่าทั้ง 3 สมมติฐานเป็นจริง นอกจากนั้นผู้วิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เราอาจเลือกทำพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การทำลายตัวเองได้ หากการกระทำนั้นมีค่าความโดดเด่นมากพอจะกลบความโดดเด่นของสิ่งเร้าในแง่ลบ เมื่อมองผ่านมุมมองนี้แล้วเราอาจสรุปได้ว่า บ่อยครั้งโดยแรกเริ่ม เราอาจมีพฤติกรรมทำลายตัวเอง ก็เพราะเราต่างต้องการอะไรบางอย่างมากลบความโหดร้ายของโลกรอบตัว
แล้วเราคนไหนบ้างที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของโลกใบนี้?
การที่เราคิดไปเอง หรือการหาเรื่องปลอบประโลมตัวเองไปเรื่อย บ่อยครั้งเราทำมันไปโดยต่างรู้ว่าตัวเราทำอะไรอยู่ และวันหนึ่งเราก็ต้องหยุดคิดไปเองแล้วกลับมาโลกความเป็นจริง หลายครั้งการแก้ปัญหาของเราเริ่มทำได้โดยการเผชิญหน้ามันเท่านั้น และเราก็ต่างรู้เรื่องพวกนั้นอยู่แล้ว แต่การเสาะหาสิ่งสบายใจในโลก กลับไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าพวกเราเสียสติ หรือเลิกมีส่วนร่วมกับโลกความเป็นจริง ทว่ามันคือที่พักใจ เพื่อให้วันหนึ่งเราสามารถเดินไปข้างหน้าได้
จากเรื่องราวทั้งหมดที่เราเล่ามา สิ่งหนึ่งที่เราอาจเห็นได้คือ โลกของเราและตัวเราเองสามารถหยิบยื่นความเจ็บปวดให้เราได้ โดยที่เราไม่ต้องพยายามมากนัก น้ำหนักของมันหนักอึ้ง ความโดดเด่นของมันบดบังได้ทุกสิ่ง เช่นนั้นหากเราจะเลือกหลอกตัวเองสัก 10 วินาที หรือใช้วันทั้งวันไปกับการปลอบประโลมตัวเราเองเป็นวันบ้างก็คงไม่เป็นไร
เพราะโลกของความเป็นจริงรอเราอยู่เสมอ แค่สัญญาว่าเราจะกลับไปเผชิญหน้ากับมันเมื่อพร้อมก็พอ
อ้างอิงจาก