ใครเป็นคนกำหนดว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง และผู้ชายต้องใส่กางเกง?
ประเด็นถกเถียงที่มีมาเนิ่นนานในสังคมของเรา ถึงการกำหนดกรอบเครื่องแต่งกายว่า ‘กระโปรงเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงฉันใด กางเกงก็เป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชายฉันนั้น’ ซึ่งแนวคิดนี้ ฝังรากอยู่ในสังคมมายาวนาน (แม้ว่าตอนนี้ผู้หญิงจะใส่กางเกงกันเป็นเรื่องปกติแล้ว) โดยหนึ่งในสถาบันที่แบ่งแยกเพศด้วยเครื่องแต่งกายก็คือ สถานศึกษานั่นเอง
ในรั้วโรงเรียนนั้น นอกจากจะต้องตั้งคำถามว่า ควรยกเลิกการใส่ชุดนักเรียนหรือไม่แล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง ความเป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral) ซึ่งหลายประเทศตั้งคำถามว่า เครื่องแบบนักเรียน ควรเป็นกลางทางเพศ หรือก็คือ ไม่แบ่งความเป็นชาย-หญิง ด้วยหรือไม่?
ซึ่งในการประท้วง #หนูรู้หนูมันเลว เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ก็มีนักเรียนหญิงที่สวมชุดนักเรียนชายขึ้นปราศรัยบนเวที รวมถึง ประเด็นเรื่องชุดนักเรียนี่แบ่งแยกชายหญิง ก็พูดยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งด้วย
The MATTER ขอพาไปสำรวจประเทศ/เขตการปกครองทั่วโลก ว่าแต่ละที่มีนโยบาย gender-neutral uniform หรือเครื่องแบบนักเรียนที่มีความเป็นกลางทางเพศอย่างไรบ้าง?
สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรเป็นอีกพื้นที่ที่ยังคงให้นักเรียนสวมชุดนักเรียนไปโรงเรียนอยู่ โดยหลายโรงเรียน เริ่มพิจารณาที่จะไม่ใช้ชุดนักเรียนที่แยกเพศของเด็กๆ แล้ว ซึ่งโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอังกฤษ อนุญาตให้นักเรียนชายสามารถสวมกระโปรงไปโรงเรียนได้ด้วย ขณะเดียวกัน นักเรียนหญิงก็สามารถสวมกางเกง แจ็คเก็ต และผูกไทด์ ตามชุดนักเรียนชายได้ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านั้น เมื่อปี ค.ศ.2011 มีเด็กนักเรียนชายจากโรงเรียน Impington Village College ที่ออกมาบอกว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบของโรงเรียนที่ไม่ให้นักเรียนใส่ขาสั้นในช่วงหน้าร้อน จึงใส่กระโปรงประท้วงไปซะเลย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเวลส์ก็ออกประกาศว่า ไม่ควรให้ชุดนักเรียนมาเป็นเครื่องกำหนดว่า นักเรียนหญิงต้องแต่งตัวอย่างไร และนักเรียนชายต้องแต่งตัวอย่างไร และเด็กควรเลือกตัดสินใจได้เอง โดยหลายคนมองว่านโยบายนี้เป็นสิ่งที่ ‘สมเหตุสมผล’
Kirsty Williams เลขาธิการด้านการศึกษาของเวลส์ กล่าวว่า เด็กแต่ละคนควรได้ตัดสินใจเองว่าพวกเขาจะใส่ชุดอะไรไปโรงเรียน และโรงเรียนเองก็ไม่ควรจะไปกำหนดความแตกต่างของชุดเหล่านั้นด้วย
ขณะที่ Jenny-Anne Bishop ผู้หญิงทรานส์จาก Unique Transgender Network กล่าวว่า เธอยินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมาก และถ้าหากมีกฎหรือคำแนะนำเช่นนี้ออกมา ในสมัยที่เธอยังเรียนอยู่ ก็คงจะเกิดความแตกต่างและช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ มากมายต่อตัวเธอไปด้วย
นอกจากนี้ ร้านขายชุดนักเรียน Stevensons ในสหราชอาณาจักร ยังตัดสินใจไม่ขายชุดนักเรียนสำหรับเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง แต่จะโปรโมทชุดนักเรียนที่มีความเป็นกลางทางเพศ (gender neutral) ไม่แบ่งชาย-หญิง ด้วยเช่นกัน
ไต้หวัน
หนึ่งในประเทศ/ เขตการปกครอง ที่นับได้ว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างมากก็คือ ไต้หวัน ซึ่งในประเด็นเรื่องชุดนักเรียนนั้น รัฐบาลไต้หวันก็ได้ประกาศยกเลิกนโยบายที่ให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียนแบบเจาะจงเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้ยากในแถบเอเชีย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่นักเรียนชายและคุณครูใน Banqiao Senior High School เริ่มสวมใส่กระโปรงกันในช่วงเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ.2019 เพื่อสลายมายาคติเกี่ยวกับเพศสภาพต่างๆ
“นี่เป็นการส่งเสริมเสรีภาพให้นักเรียนในการเลือกชุดเครื่องแบบ โดยเคารพสิทธิของตนเองไปด้วย” แถลงการณ์จาก Banqiao Senior High School ระบุ
ขณะที่ Du Sih-cheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน สนับสนุนกับการตัดสินใจนี้ พร้อมกล่าวว่า นี่ถือเป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างยิ่ง ที่จะช่วยโอบรับความแตกต่างหลากหลายในสังคมได้
ออสเตรเลีย
แม้ว่าหลายโรงเรียนในออสเตรเลีย จะไม่ค่อยบังคับให้นักเรียนสวมใส่ชุดนักเรียนแล้ว แต่โรงเรียนที่ยังคงกฎเกณฑ์นี้อยู่ ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้นักเรียนสามารถใส่ชุดนักเรียนตามเพศที่ตัวเองต้องการได้ หลังกลุ่มนักเรียนออกมาเรียกร้อง จากที่ก่อนหน้านี้ พวกเขาต้องขออนุญาตผู้ปกครอง และมีใบรับรองจากจิตแพทย์ก่อน จึงจะสามารถใส่ชุดนักเรียนตามเพศที่ตัวเองต้องการได้
หลายโรงเรียนในออสเตรเลีย ได้ประกาศให้นักเรียนสามารถแต่งชุดนักเรียนได้ตามแบบที่ตัวเองต้องการ โรงเรียน Newtown High School of the Performing Arts ในซิดนีย์ ที่ปรับเปลี่ยนกฎตั้งแต่ ปี ค.ศ.2016 หรือโรงเรียนสัญชาติอังกฤษ ที่เริ่มเปลี่ยนกฎก่อนตั้งแต่ ปี ค.ศ.2015 โดยเป้าหมายก็คือ เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนที่เป็นทรานส์ เควียร์ และนอน-ไบนารี่ มั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น
นอกจากเรื่องชุดเครื่องแบบแล้ว หลายโรงเรียนในออสเตรเลียยังให้เด็กๆ แต่งชุดเครื่องแบบนักเรียนตามที่ตัวเองต้องการได้แล้ว ยังอนุญาตให้นักเรียนเลือกเข้าห้องน้ำตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้อีกด้วย
เม็กซิโก
เม็กซิโก เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นชุดนักเรียนด้วย โดย Claudia Sheinbaum นายกเทศมนตรีเมืองหลวงของเม็กซิโก ประกาศว่า จะยกเลิกชุดนักเรียนที่เจาะจงเพศของเด็ก โดยนักเรียนทั้งชายและหญิงสามารถเลือกได้ว่าจะสวมกระโปรงหรือกางเกง
“มันเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็เป็นการสร้างเงื่อนไขของความเท่าเทียม และความยุติธรรม” Sheinbaum กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎนี้ทำให้เกิดข้อโต้เถียงในสังคมอย่างหนัก เพราะขัดกับหลักของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเม็กซิโกจำนวนมาก แต่ Sheinbaum ก็ยังเดินหน้าทำตามคำสัญญาเมื่อครั้งเลือกตั้ง ที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า จะช่วยเสริมสิทธิให้กับผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
พื้นที่อื่นๆ ในประเทศเม็กซิโก ยังคงเคร่งครัดกับกฎระเบียบดังเดิมอยู่ เนื่องจากค่านิยมของสังคม ที่ผูกมัดกับการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศกำเนิด
ไอร์แลนด์
โรงเรียน St Brigid’s National ในไอร์แลนด์ ประกาศนโยบายให้ชุดนักเรียน เป็น Neutral Gender Uniform เพื่อให้เด็กๆ สบายใจและรู้สึกเป็นที่ยอมรับ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการและเหล่าผู้ปกครองแล้ว
“เรามีเด็กๆ ที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง และเด็กที่ยังอายุน้อยๆ ก็เริ่มตั้งคำถามพวกนี้กันแล้ว เราต้องการให้เด็กๆ ทุกคนมีประสบการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในรั้วโรงเรียน” Máire Costello ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้กล่าว
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวด้วยว่า ถ้าเด็กผู้หญิงอยากจะใส่กางเกง และเด็กผู้ชายอยากจะใส่กระโปรง ก็ให้พวกเขาทำตามที่ต้องการเถอะ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่เด็กๆ รู้สึกสบายใจและมีความสุขกับเครื่องแต่งกายที่พวกเขาสวมใส่
ขณะที่ เมื่อปี ค.ศ.2016 กระทรวงศึกษาธิการของไอร์แลนด์ เผยแพร่แนวทางเกี่ยวกับการสนับสนุนนักเรียนที่เป็น LGBT+ ทั้งยังระบุแนวทางว่า ควรให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้สวมเครื่องแบบที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองด้วย
ญี่ปุ่น
โรงเรียนหลายแห่งในญี่ปุ่นอนุมัติเครื่องแบบนักเรียนที่ใส่ได้ทั้งชายและหญิง พร้อมให้นักเรียนเลือกแต่งกายตามเพศที่ต้องการเองได้ เพื่อให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกสบายใจ และให้นักเรียนหญิง สามารถใส่กางเกงขายาวได้ เพื่อความคล่องตัว และให้ความอบอุ่นกว่าการใส่กระโปรงในช่วงหน้าหนาว
อย่างโรงเรียนมัธยม Kashiwanoha ในจังหวัดชิบะ ซึ่งเป็นโรงเรียนหนึ่งที่ได้เริ่มแนวคิดนี้ ก็เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกตัดสินใจเองว่าจะใส่กระโปรง การเกงสแล็ค เน็คไท โบว์ หรือเสื้อสูท โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพของตัวเอง
“เราได้เลือกยูนิฟอร์มที่สีอ่อนลง และมีแพทเทิร์น เพื่อให้เป็นเครื่องแบบที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกคน” Koshin Taki รองอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้กล่าว พร้อมเสริมว่า เครื่องแบบเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยนักเรียนสบายใจได้ หากพวกเขาต้องเจอปัญหาในโรงเรียน จากชุดเครื่องแบบที่เจาะจงเพศ
นอกจากนี้ โรงเรียนหลายๆ แห่งในญี่ปุ่นก็เริ่มพิจารณาเรื่องเครื่องแบบนักเรียนแล้วเช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น ก็ได้ออกคำแนะนำให้โรงเรียนต่างๆ สนับสนุนนักเรียนที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และให้พิจารณาเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม รวมไปถึง เรื่องของการใช้ห้องน้ำด้วย
อ้างอิงจาก