สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงและสร้างความกังขาให้กับคนในสังคมไทยที่สุด ดูจะหนีไม่พ้นเรื่องการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน 1 วัน (ใน 1 สัปดาห์) ให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาได้ตามใจชอบ
นอกจากดราม่าเรื่องควรอนุญาตให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนหรือไม่แล้ว ก็นำมาสู่ดีเบตที่ใหญ่ขึ้นในสังคมไทยด้วยว่า “ชุดนักเรียนนั้นมันมีดีอย่างไร? ทำไมจึงควรมีมันไว้” ซึ่งข้อถกเถียงหลักๆ ของฝั่งที่เชียร์ให้มีไว้อยู่ ก็ดูจะอยู่ที่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ เรื่องชุดนักเรียนมันช่วยลดความรู้สึกเหลื่อมล้ำหรือไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ และช่วยสร้างระเบียบวินัยให้ดีขึ้น ดูแลความเรียบร้อยได้ทั่วถึงขึ้นครับ[1] ซึ่งเหล่าผู้ต้องการอนุรักษ์ชุดนักเรียนไว้ด้วยเหตุผลดังว่านี้ก็รวมถึงทางกระทรวงศึกษาธิการเองด้วยที่ต้องการให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนยกเลิกคำสั่งอนุญาตนี้ แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ทำได้
เห็นมั้ยครับ นี่แค่เริ่มเปิดมา ฝั่งอนุรักษ์ที่อ้างว่าชุดนักเรียนช่วยรักษา ‘กฎระเบียบและวินัย’ ได้นั้น ก็เป็นฝั่งแหกกฎระเบียบเองเสียแล้ว ไม่ต้องนับไปถึงคนใส่ชุดยูนิฟอร์มที่แหกทุกกฎ กระทั่งออกมาฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศทิ้ง และปกครองประเทศโดยไร้ความชอบธรรมมาเกือบจะ 5 ปีแล้วเลยครับ แค่ 2 ตัวอย่างนี้ก็ดูจะชัดแล้วว่าชุดเครื่องแบบใดๆ ดูจะไม่ได้ทำให้สำนึกที่มีต่อการรักษาวินัยและกฎระเบียบมันดีขึ้นนัก
เมื่อเกิดดราม่าและข้อถกเถียงขึ้นมาในสังคม หลายประเด็นก็มีการพูดถึงไปเยอะแล้ว โดยเฉพาะจากฝั่งที่สนับสนุนการยกเลิกชุดนักเรียนที่ตอบโต้คำอธิบายของฝั่งที่อยากจะอนุรักษ์ชุดนักเรียนไว้ เช่นว่า การบังคับใส่ชุดนักเรียนนั้น จริงๆ แล้วเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่สมควรให้กับผู้ปกครอง สร้างภาระให้กับคนที่มีฐานะไม่ดี หรืออธิบายว่ามันไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอะไรได้เลย ความใหม่-เก่าหรือสภาพของตัวชุดนักเรียนเองที่นักเรียนแต่ละคนใส่มันก็ฟ้องอยู่ หรือการอธิบายถึงว่า นักเรียนอยู่ร่วมห้องกันคบๆ กันไป จะใส่ชุดแบบไหนสุดท้ายในกลุ่มเพื่อนเค้าก็พอจะรู้สถานะทางบ้านกันระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไปจนถึงการอธิบายว่าการใส่ชุดไปรเวทนั้นก็ไม่ได้ทำให้คนมันมาเหยียดอะไรกันเลย เป็นต้น
ผมจะพยายามไม่พูดถึงจุดที่มีการอภิปรายกันอย่างถึงพริกถึงขิงทั่วไปหมดแล้ว แต่ผมอยากจะลองให้กลับมาตั้งคำถามเริ่มต้นถึงตัวฟังก์ชั่นหน้าที่ของตัวเครื่องแบบเลยมากกว่าครับ ว่าสุดท้ายแล้ว เครื่องแบบมันทำหน้าที่อะไร มันมีกลไกการทำงานอย่างไร และมันเป็นประโยชน์อย่างที่พยายามจะอ้างกันตามฝ่ายอนุรักษ์ว่าไว้จริงหรือ?
แต่ก่อนจะตอบคำถามประเด็นที่ผมเกริ่นเอาไว้ ผมอยากเริ่มต้นถามโดยเอา “ข้อถกเถียงของฝั่งอนุรักษ์ชุดเครื่องแบบนักเรียนย้อนกลับไปถามตัวพวกเค้าเอง” ก่อนนะครับ (วิธีการลักษณะนี้เรียกว่า Immanent Critique ครับ) ประเด็นที่ผมอยากจะถามย้อนก็คือ ข้อสนับสนุนของฝ่ายต้องการอนุรักษ์ชุดนักเรียนที่บอกว่า “ชุดนักเรียนช่วยลดความรู้สึกแตกต่าง เหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคในสังคม (หรือในหมู่นักเรียน) ได้?” …แม้ผมจะเห็นว่าไม่จริง ตามที่อภิปรายไปแล้วข้างต้น แต่สมมติไปก่อนนะครับว่าข้อถกเถียงที่ว่านี้จริง คือ ใส่ชุดนักเรียนแล้วได้ผลดังว่าจริง …แล้วไงครับ?
ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคต่างๆ ที่มีอยู่จริงๆ ในสังคมนั้น “จำเป็นที่จะต้องซ่อนแอบและปฏิเสธความรับรู้ที่มีต่อสิ่งนี้ด้วยหรือครับ?”
ที่ผมเขียนแบบนี้ไม่ได้คิดจะสื่อในทางใดๆ ว่าผมสนับสนุนให้มีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมเลยนะครับ ในทางตรงกันข้าม เพราะมันมีปัญหาแบบนี้อยู่จริงๆ ไม่ใช่หรือ จึงยิ่งควรมองปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มาทำดัดจริตซ่อนแอบเอาไว้ในคราบยูนิฟอร์มสีขวา กับกางเกงขาสั้นสีกากี น้ำเงิน หรือดำ!
วิธีคิดในการแก้ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ แบบนี้ของฟากอนุรักษ์นิยมต่างหากครับที่ผมคิดว่าควรต้องมาถอดรหัส และตั้งคำถาม เพราะการเชื่อว่าการเอายูนิฟอร์ม เอาแผ่นผ้าอาภรณ์แบบเดียวกันมาห่อร่างเด็กไว้จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้นั้น มันคือวิธีการคิดแก้ปัญหาที่ “แก้ปัญหาด้วยการซ่อนความเลวร้ายไว้ใต้พรมโดยไม่คิดจะแก้ไขจริงๆ ชัดๆ” แม้เรื่องการใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียนอาจจะไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ ‘ใหญ่หรือซีเรียส’ นักหากเทียบกับเรื่องคอขาดบาดตายทางการเมืองหรือในประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่วิธีการคิดแบบเดียวกันนี้ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ฉายให้เห็นถึงวิธีคิดลักษณะเดียวกันกับการจัดการปัญหาที่ดูจะเลวร้ายเข้มข้นกว่าด้วย
ลองนึกถึงเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, พฤษภาเลือด 2553, การรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงกรณีอื่นๆ อย่างกรณีเสือดำ กรณีลูกชายกระทิงแดง กรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง กรณีนาฬิกา กรณี ปปช. ต่างๆ ดูสิครับ เหล่าอนุรักษ์นิยมของประเทศนี้ดูจะใช้วิธีการเดียวกันเลยในการแก้ปัญหา คือ “อย่าติเตียน อย่าวิจารณ์ หยุดประณาม และลืมๆ มันไปเลยเถิด อะไรที่มันแล้วก็ให้มันแล้วกันไป เริ่มต้นกันใหม่” วิธีการแบบนี้เองที่เป็นเสมือนการซุกปัญหาที่ ‘มีอยู่จริงๆ’ เอาไปกองไว้ใต้พรม แล้วบอกกันว่า “เนี่ย เอาผ้ามาบังไว้ให้แล้ว ลืมๆ มันไปเสียเถอะนะ” ซึ่งดูจะไม่ต่างอะไรจากการเอาอาภรณ์สีขาวที่เรียกว่าชุดนักเรียนมาคุมตัว แล้วบอกว่า “เราทำเป็นไม่เห็นความเหลื่อมล้ำกันเถอะนะ” เลยครับ
นี่คือกรณีที่สมมติว่า ‘ข้ออ้างของฝั่งอนุรักษ์นิยมเป็นจริง’ นะครับ แต่เอาเข้าแล้วมันก็ไม่ได้จริงอะไรด้วย เพราะอย่างที่หลายๆ ท่านทราบกันดีว่า ประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนกันอยู่แล้ว แต่เค้ากับมีระดับความเหลื่อมล้ำต่ำกว่าเรามาก ในทางตรงกันข้ามก็เข้าใจในเรื่องสิทธิและการพยายามสร้างความเท่าเทียมมากกว่าเราเป็นไหนๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จากระดับ inequality index ของประเทศไทยเรานั้นที่อยู่ในอันดับแย่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่พอยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นดีเห็นงานกับการรัฐประหาร และระบอบเผด็จการ ที่ก็สะท้อนชัดอยู่แล้วถึงการไม่ได้เข้าใจหรือศรัทธาในความเท่าเทียมใดๆ
หรือหากจะบอกว่าบริบทของประเทศต่างกัน และผมเอาแต่อ้างประเทศอะไรก็ได้ที่เงื่อนไขต่างจากเรา ก็อยากจะบอกให้ทราบด้วยว่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนไม่ใช่โรงเรียนแรกที่ประกาศให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทได้ โรงเรียนอมาตยกุลอนุญาตให้ทำแบบนี้ได้มากว่า 20 ปีแล้ว และไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนทุกวันด้วย ก็ไม่ได้มีปัญหาการรู้สึกเหลื่อมล้ำอะไรเป็นพิเศษ รวมไปถึงไม่ได้ทำให้โรงเรียนเข้าสู่สภาวะไร้ระเบียบ ไม่อาจจะควบคุมได้ด้วย[2]
หากการไม่ใส่ชุดยูนิฟอร์มแล้วทำให้สังคมหรือชุมชนทางการเมืองนั้นๆ ไม่รักษาระเบียบวินัยใดๆ ไว้แล้ว ‘ทุกคนในชาติ’ ที่สวมไปรเวทอยู่ตลอดเวลาทุกวันนั้นคงนำมาซึ่งความโกลาหลระดับชาติล่มสลายแล้วกระมังครับ เพราะสังคมที่เรียกว่า ‘รัฐ-ชาติ’ นั้นมีขนาดที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าโรงเรียนใดๆ มากนัก แต่ว่าแม้กระทั่งในสังคมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่ามากๆ อย่างรัฐ-ชาตินั้น ก็ยังสามารถดำรงและคงระเบียบเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องไปบังคับให้ประชาชน ‘สวมชุดยูนิฟอร์มกันทุกคน’ แล้วจะมาประสาอะไรกับสังคมสเกลโรงเรียนครับ ว่าจะวินัยเสื่อมเพราะใส่ไปรเวท!
สังคมตะวันตกและประเทศที่พัฒนาแล้ว—ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียน—เค้าก็ดูจะวินัยดีกว่าเราทั้งนั้นแหละครับ ทั้งหยุดรถเมื่อถึงทางม้าลาย ขับรถตามกฎจราจร ไม่ขับรถสวนเลน รู้จักเปิดไฟเลี้ยวเวลาจะเลี้ยว ฯลฯ บางทีของแบบนี้คงจะอยู่ที่การปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยและความเข้าใจต่อหน้าที่ในฐานะพลเมืองของรัฐมากกว่าผ้าขาวที่โดนบังคับเอามาหุ้มตัวนะครับ
แล้วถ้า ‘ชุดยูนิฟอร์ม’ มันไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ หรือทำให้วินัยดีขึ้นแล้ว หน้าที่กลไกของมันคืออะไรเล่า?
ผมคิดว่าบทบาทอีกอย่างหนึ่งของชุดยูนิฟอร์มที่หลายครั้งมักจะถูกละเลยไปในข้อถกเถียงก็คือ บทบาทในการสร้างความเป็นอื่น หรือกำหนดความแปลกแยกขึ้นมาครับ เวลามีดีเบตเรื่องชุดเครื่องแบบในไทยขึ้นมา เรามักจะนึกถึงการรวมคนให้เป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวกัน จนอาจจะลืมไปว่ามันมีหน้าที่นี้อยู่ แล้วหากอธิบายไปจนสุดแล้วหน้าที่นี้อาจจะนับได้ว่าเป็นหน้าที่หลักของชุดยูนิฟอร์มเสียด้วยซ้ำ
หากเราถอยออกจากตัวชุดนักเรียนเป็นการเฉพาะก่อน แล้วดูยูนิฟอร์มโดยภาพรวมในหมวดใหญ่ ผมคิดว่าเราอาจจะได้เห็นถึงกลไกและหน้าที่ของยูนิฟอร์มที่ชัดเจนขึ้น โดยทั่วไปแล้วในแทบทุกสังคมทั่วโลก ไม่ว่าจะเจริญก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดก็ตาม กระทั่งประเทศที่ไม่ได้มีการให้สวมเครื่องแบบนักเรียนใดๆ แล้ว ก็ยังคงมีการบังคับให้คนบางกลุ่มใส่ชุดยูนิฟอร์มอยู่ครับ อย่างเช่น ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย หรือนักโทษ เป็นต้น กลไกหลักของยูนิฟอร์มคือการทำให้คนเหล่านี้กลมเกลียวกันมากขึ้นหรือ? หรือว่าอยู่ในระเบียบวินัยมากขึ้น? เปล่าเลยครับ
กลไกหลักของการให้คนเหล่านี้ต้องอยู่ในยูนิฟอร์มนั้นก็เพื่อ ‘สร้างความต่าง’ ให้กับตัวพวกเขาเมื่อเทียบกับสังคมโดยรวมทั้งหมด ว่าอีกแบบก็คือ ยูนิฟอร์มทำหน้าที่ในการสร้างความแปลกแยกระหว่างตัวตนผู้สวมกับสังคมมวลรวม เพื่อให้สามารถชี้เฉพาะได้โดยง่ายจากคนในสังคมมวลรวมทั่วไปนั่นเอง
แล้วทำไมจึงต้องชี้เฉพาะได้โดยง่าย? นั่นก็เพราะคนที่ต้องสวมชุดยูนิฟอร์มเหล่านี้อยู่ในสถานะพิเศษบางอย่าง ที่อาจมีอำนาจความรับผิดชอบทางกฎหมายแตกต่างไปจากคนทั่วไปมวลรวม หรือเป็นคนที่ถูกกฎหมายกำหนดสถานะพิเศษไว้ให้ อย่างเช่น ทหารหรือตำรวจที่จำเป็นต้องใส่ยูนิฟอร์มเพราะได้รับอำนาจพิเศษจากทางกฎหมายให้ถือครองปืน แล้วห้อยปืนเดินไปมาได้ รวมถึงมีอำนาจในการจับกุม หรือต่อสู้กับผู้ซึ่งเป็นศัตรูของรัฐ เมื่อพวกเขามีอำนาจที่พิเศษเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไป การระบุให้เห็นชัดเจนว่า “คนๆ นี้นะที่รัฐกำหนดอำนาจให้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อทำตามอำนาจหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมาย” ฉะนั้นหากเราเจออะไรที่อยู่ในอำนาจหน้าที่เค้าต้องจัดการจะได้แจ้งได้ หรือพบว่าเค้าใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ นอกเหนือขอบเขตที่กฎหมายอนุญาตให้เค้าทำได้ ก็จะได้ตรวจสอบจัดการได้
เช่นเดียวกันกับ หมอ พยาบาล และคนไข้ ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล หลายครั้งแพทย์มีอำนาจในการจัดการกับชีวิตของคน และเป็นอำนาจที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ด้วย ไม่ใช่ใครจะมามั่วได้ การกำหนดยูนิฟอร์มเฉพาะขึ้นจึงจำเป็น หรือตัวคนไข้ที่อยู่ในสถานะที่ร่างกายต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ ‘ไม่ปกติ’ นั้น ก็จะได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษได้ หรืออย่างนักโทษที่กฎหมายกำหนดสถานะของสิทธิและอำนาจใหม่ (ตามผลการตัดสิน) ทำให้สิทธิและอำนาจต่างจากคนทั่วไปในสังคมมวลรวม ก็จะมียูนิฟอร์มของพวกเขาที่เห็นแล้วสามารถรับรู้ได้ เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ กลไกหลักของยูนิฟอร์มไม่ว่าจะในสังคมใดก็ตาม มันทำหน้าที่ในการ “สร้างความต่าง บ่งชี้ความจำเพาะให้เห็นชัดจากประชากรหลักของสังคมนั้น และทำหน้าที่ในฐานะเครื่องกำกับและตรวจสอบอำนาจหน้าที่หรือบทบาทกฎหมายระบุอำนาจพิเศษเป็นการจำเพาะไว้ให้” แนวคิดที่ว่านี้อาจจะอ้างอิงกลับไปสู่งานของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศสในงานชื่อก้องของเขาอย่าง Discipline and Punishment ด้วยว่า เครื่องแบบหรือยูนิฟอร์มทำหน้าที่ในฐานะกลไกการควบคุมครอบงำในกระบวนการเผ้ามองจากทั่วทุกทิศ หรือสรรพทัศน์ (Panopticon) นั่นเอง
คำถามที่เราควรถามเหล่าผู้จ้องจะอนุรักษ์เครื่องแบบชุดนักเรียนกลับในจุดนี้จึงเป็นว่า คนที่เป็นนักเรียนนั้นเค้าไปมีอำนาจพิเศษอะไรที่กฎหมายมอบให้ตรงไหนหรือ? พวกเขาไปมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือชีวิตผู้อื่นเหนือคนทั่วไปตรงไหนหรือ? หรือว่าพวกเขาโดนกฎหมายกำหนดสิทธิ อำนาจ และสถานะในฐานะพลเมืองผิดแปลกไปจากสังคมทั่วไปอย่างไรหรือ? หากไม่แล้ว พวกเขาสมควรอะไรที่จะต้องมาถูก ‘คุมขัง/บังคับ’ ให้อยู่ในชุดเสื้อผ้าที่ถูกกำหนดลงมา และบ่งชี้ให้พวกเขากลายเป็นส่วนที่แปลกแยกจำเพาะของสังคมไป?
ถ้าคนเป็นนักเรียนไม่ได้มีอำนาจในการถือปืนแกว่งไปมาได้ หรือมีสิทธิ์ตัดสินวินิจฉัยยาและการรักษาชีวิตคุณ พวกเขาก็ไม่มีเหตุผลอะไรนะครับที่จะต้องมาโดนขังไว้ในอาภรณ์คุกนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก