อาจพูดได้ว่า จากโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่นี้ – ‘ผู้หญิง’ นั้น เพียงเกิดมาเป็นผู้หญิงก็ถูกกดขี่เสียแล้วด้วยความเป็นผู้หญิงของเธอนั่นเอง
ตัวอย่างของเรื่องนี้มีหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึง และมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือเรื่องของ ‘ประจำเดือน’ ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคกำลังผลักดันให้มีสวัสดิการ ‘ผ้าอนามัยฟรี’ สำหรับผู้หญิง และนักกฎหมายบางคนก็ถึงขั้นเสนอว่า ผู้หญิงควรมีวันหยุดงานเพราะอาการป่วยเนื่องจากประจำเดือนมากกว่าผู้ชายด้วย
หลายคนอาจบอกว่า ทำไมจู่ๆ จะต้องไปให้สวัสดิการพิเศษกับคนเพศหนึ่งเท่านั้น แบบนี้จะเรียกว่า ‘เท่าเทียม’ ได้อย่างไร
คำอธิบายเรื่องความเท่าเทียมนี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองหรอกนะครับ แต่ถ้าเราพิจารณาความเท่าเทียมให้ลึกซึ้ง เราจะพบว่าโลกใบนี้เหมือนพื้นลาดเอียงที่พื้นด้านหนึ่งมันเทไปหาคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้คนกลุ่มนั้นต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ (ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่รวมไปถึงอีกหลากหลายมิติด้วย แต่ในที่นี้เราจำกัดกรอบการคุยกันให้อยู่เฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น) วิธีทำให้เกิดความ ‘เท่า’ ขึ้นมา จึงต้องพยายามช่วยกัน ‘ยก’ พื้นของฝั่งนั้นให้สูงขึ้น
ตัวอย่างที่น่าจะอธิบายได้ง่ายที่สุดก็คือเรื่องของห้องน้ำ
ในปัจจุบัน ด้วยวัฒนธรรมและวัตรปฏิบัติต่างๆ เราแบ่งห้องน้ำออกเป็นสองเพศ คือห้องน้ำชายกับห้องน้ำหญิง (เท่านั้น – ซึ่งควรเป็นอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ก็เป็นอีกข้อถกเถียงหนึ่งเหมือนกัน)
ทีนี้ถ้าเราบอกว่า เราจะปฏิบัติกับคนสองเพศนี้ให้เท่าเทียมกัน ด้วยการสร้างห้องน้ำชายกับหญิงใน ‘จำนวน’ ที่เท่ากัน คือมีอย่างละสิบห้องเท่ากัน ผลจะเป็นอย่างไร
ในกรณีที่คนน้อยๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในกรณีที่มีผู้ใช้บริการห้องน้ำจำนวนมาก เราจะพบว่าห้องน้ำชายนั้น ผู้ชายนิยมใช้ ‘โถฉี่’ มากที่สุด (เพราะโดยทั่วไปคนจะ ‘ฉี่’ มากกว่า ‘อึ’) นั่นทำให้การหมุนเวียนใช้งานในห้องน้ำผู้ชายเป็นไปได้รวดเร็วกว่า และส่วนใหญ่ก็จะทิ้งห้องน้ำเพื่อการถ่ายหนักเอาไว้ว่างๆ ในขณะที่หน้าห้องน้ำหญิง เรามักจะเห็นผู้หญิงยืนเรียงแถวเข้าคิวรอเข้าห้องน้ำ เพราะห้องน้ำไม่พอ ทั้งที่ในห้องน้ำชายยังมีที่ว่างอีกพะเรอเกวียน แต่ด้วยสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเรียกมันว่า ‘วัฒนธรรม’ มนุษย์เพศหญิงจึงทำอย่างนั้นไม่ได้
คำถามก็คือ แล้วจะทำให้เกิด ‘ความเท่าเทียม’ ในทางปฏิบัติขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งคำว่าความเท่าเทียมในทางปฏิบัติ ก็คือการทำให้คนสองเพศมีโอกาสใช้ห้องน้ำในช่วงเวลาเท่าๆ กัน (ไม่ว่าจะต้องรอหรือไม่รอก็ตามแต่)
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ปริมาณหรือจำนวนของห้องน้ำหญิงจะต้องมากขึ้นกว่านี้นั่นเอง
คำถามที่ตามมาก็คือ การสร้างห้องน้ำหญิงมากกว่าห้องน้ำชายนั้น เราถือว่าเป็นการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม หรือมันคือการ ‘ซ่อมแซม’ โครงสร้างสังคมที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรม แล้วทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องลำบากมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งกันแน่
ที่จริงถ้ามนุษย์สามารถไปไกลถึงขั้น ‘เปลี่ยน’ (ในความหมายของ Shift) วัฒนธรรมดั้งเดิมได้ แล้วสร้างห้องน้ำสำหรับเพศไหนๆ ก็ได้ขึ้นมาให้ใช้งานแบบผสมปนเปไปได้เลย – ปัญหานี้ก็จะถูกกำจัดไปได้อย่างหมดสิ้น แต่ในเมื่อโลกยังไม่ได้เป็นแบบนั้น การแก้ปัญหาด้วยการสร้างห้องน้ำหญิงในสัดส่วนที่มากกว่าห้องน้ำชายจึงอาจเป็นคำตอบ
เรื่องของประจำเดือนและผ้าอนามัยก็เช่นกัน
จริงอยู่ มีผู้หญิงอยู่จำนวนหนึ่งในโลกที่ไม่มีประจำเดือน (เช่นคนที่มีอาการขาดประจำเดือนที่เรียกว่า Amenorrhea) แต่โดยทั่วไป ผู้หญิงนั้นมีประจำเดือนที่หมายถึง ‘เลือด’ ที่ไหลออกมาจากอวัยวะสืบพันธุ์ และต่อให้เป็นคนที่มีอาการขาดประจำเดือนและไม่ต้องใช้ผ้าอนามัย ก็ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านั้นจะไม่มีอาการป่วยเนื่องจากช่วงเวลานั้นของเดือน เช่นปวดเกร็งในช่องท้อง ฯลฯ
ประจำเดือนและอาการป่วยเนื่องจากประจำเดือนนั้น สำหรับผู้ชายที่ไม่เคยพบเจอด้วยตัวเองอาจไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่อะไรมาก แม้แต่ผู้หญิงที่มีฐานะหรือมีเงินมากพอที่จะซื้อผ้าอนามัยหรือกินยารักษาตัวได้ ก็อาจรู้สึกเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน
แต่เนื่องจากโลกนี้เป็นพื้นลาดเอียงที่ไม่เท่ากันในหลายมิติ มิติของความยากจนมันจึงเข้ามา ‘ทับซ้อน’ กับมิติเรื่องเพศได้อย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
เรามีศัพท์เรียกความยากจนที่เกิดขึ้นจากประจำเดือน (ประจำเดือนอาจไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง) ว่า – Period Poverty
Period ก็คือประจำเดือน ส่วน Poverty ก็คือความยากจน ดังนั้น Period Poverty จึงคือ ‘อุปสรรค’ ต่างๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่มีต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับประจำเดือน (เช่นผ้าอนามัย) รวมไปถึงการศึกษา การเข้าถึงสภาวะการทำงาน และสุขอนามัยด้วย
เรื่องของ Period Poverty นั้นเป็นเรื่องใหม่มาก เพิ่งเริ่มมีการวิจัยในหัวข้อนี้อย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ทั้งที่ทั่วโลก ‘ตระหนัก’ กันอยู่แล้วว่าผู้หญิงที่มีฐานะยากจนต้องรับภาระในเรื่องนี้เพราะความเป็นผู้หญิง
แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศยากจนเท่านั้นที่มีปัญหา Period Poverty กระทั่งในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ก็เคยรายงานการสำรวจ ว่า ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยในเมืองใหญ่ถึงเกือบสองในสาม ไม่สามารถจะหาซื้ออุปกรณ์เพื่อสุขอนามัยสำหรับช่วงมีประจำเดือนได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแบบสอดก็ตามที
รายงานนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Obstetrics & Gynecology หรือที่รู้จักกันในชื่อ Green Journal โดยบอกว่า มีผู้หญิงมากกว่าหนึ่งในห้าของกลุ่มสำรวจ ที่บอกว่าพวกเธอมีปัญหานี้ทุกๆ เดือน ความยากจนทำให้พวกเธอหาซื้อผ้าอนามัยมาใช้ไม่ได้ จึงต้องหาวัสดุอื่นๆ มาทดแทน เช่น ผ้า ผ้าขี้ริ้ว กระดาษทิชชู่ กระดาษม้วนในห้องน้ำ หรือบางทีก็อาจต้องใช้ผ้าอ้อมเด็ก หรือไปดึงกระดาษเช็ดมือตามห้องน้ำสาธารณะมาใช้แทน
ในจำนวนนี้ มีถึงเกือบครึ่งที่กล่าวว่าในอดีต
พวกเธอเคยตกอยู่ในภาวะไม่สามารถซื้อได้ทั้งผ้าอนามัยและอาหาร
หลายคนอาจคิดว่า ผ้าอนามัยนั้นเป็นเหมือนของฟุ่มเฟือยหรูหรา แต่ที่จริงแล้วสำหรับผู้หญิง ผ้าอนามัยคือ ‘ของใช้จำเป็น’ อาจพูดได้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน คล้ายๆ ปัจจัยสี่ เพียงแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับคนเพียงเพศเดียว และเป็นเพศที่มีอำนาจน้อยกว่ามาตลอดระยะเวลานับพันปี การ ‘ไม่ให้ความสำคัญ’ กับเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป
ที่จริงแล้ว ประจำเดือนหรือ Menstruation เป็นคำที่สัมพันธ์กับ ‘พระจันทร์’ อย่างลึกซึ้ง เพราะคำว่า Menses (หรือที่เราเรียกว่า ‘เมนส์’) เป็นคำที่มาจากภาษาละตินว่า Mensis ซึ่งแปลว่า Month หรือเดือน
คำว่า ‘ประจำเดือน’ ที่ไทยใช้ ก็เป็นคำที่หลักแหลมและละเอียดอ่อนมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ประจำเดือนเกี่ยวข้องกับ ‘คาบ’ ระยะเวลาราว 30 วัน (จริงๆคือ 29.1 – 29.5 วัน) ด้วย เพราะฉะนั้น หลายขนบธรรมเนียมในยุคโบราณ จึงเห็นว่าเลือดของผู้หญิงนั้นสัมพันธ์กับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ประจำเดือนจึงมีอะไรบางอย่างที่สูงส่งและ ‘มีฤทธิ์’ อยู่ในตัว
ตัวอย่างเช่น ชาวเผ่าเชอโรกีเชื่อว่าเลือดประจำเดือนของผู้หญิงมีพลังอำนาจ ใช้ทำลายศัตรูได้ ชาวโรมันโบราณก็เชื่อกันว่า ประจำเดือนช่วยทำให้พายุฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บ หรือลมหมุน สลายคลายตัวไปได้ และถ้าผู้หญิงที่มีประจำเดือนเปลือยกายเดินเข้าไปในทุ่ง บรรดาศัตรูพืชทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนอนหรือตัวบุ้ง ก็จะหลุดร่วงลงมาจากฝักข้าวโพด ในแอฟริกายิ่งเชื่อกันว่าเลือดประจำเดือนมีพลังเวทย์ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อชำระล้างให้เกิดความบริสุทธิ์และเพื่อทำลาย เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่มีความเชื่อเรื่องประจำเดือนทำให้ของขลังเสื่อมลง
ด้วยความที่ประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น
ประจำเดือนจึงมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ ‘อันตราย’ และ ‘คุกคาม’ อำนาจของผู้ชาย
ในยุคกลาง ประจำเดือนยังถูกลดรูปเหยียดหยันลงกลายเป็น ‘ของต่ำ’ ที่มีความชั่วร้ายแฝงฝังอยู่ในนั้น ศาสนจักรออร์โธด็อกซ์ห้ามผู้หญิงที่อยู่ในระยะมีประจำเดือนเข้าไปทำพิธีในโบสถ์ แม้ความเชื่อนี้จะไม่เป็นที่นิยมอีกแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นเราเห็นว่าโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้นเปราะบางมากเพียงใด เพราะกระทั่งเลือดที่ไหลออกมาจากซอกขาของผู้หญิงก็ยังถูกมองว่าเป็นอันตราย ต้องห้าม และต้องควบคุมเอาไว้ในที่ทางเฉพาะ
เป็นไปได้อย่างยิ่ง – ที่วิธีคิดทำนองนี้จะเป็นรากของการสร้าง Peroid Poverty ขึ้นมา และมันก็กดทับผู้หญิง เพียงเพราะผู้หญิงเกิดมาเป็นผู้หญิง, เท่านั้นเอง
ความพยายามในการผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการพื้นฐานอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างหนัก ซึ่งเราก็อาจต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกันก่อนว่า ที่ต้องถกเถียงกัน ‘อย่างหนัก’ นั้น มันเป็นเพราะวิธีคิดแบบไหนที่ฝังลึกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของเรากันแน่
ผู้หญิงควรต้องแบกรับภาระบางอย่างเพียงเพราะเกิดมาเป็นผู้หญิงจริงหรือ
และความเท่าเทียมที่แท้จริงนั้น หน้าตาของมันควรจะเป็นอย่างไรกันแน่