ถ้าใครเคยทำงานกับชาวญี่ปุ่น ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น หรือมีความใกล้ชิดกับสังคมญี่ปุ่นในระดับคนทำงานบ้าง ก็คงจะเคยได้ยินหรือได้สัมผัสกับระเบียบการทำงานอันละเอียดยิบ จนหลายครั้งก็เล่นเอารู้สึกว่าเป็นเรื่องหยุมหยิมหรือจุกจิกเอาเรื่อง ขนาดที่มีตำราแนะนำมารยาทในการทำงาน ภาษาที่ใช้ในการทำงาน วางขายกันแบบไม่รู้จบ แถมเนื้อหาบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง แต่เมื่อเป็นมารยาทในการทำงาน ชาวญี่ปุ่นก็ยึดถือกันมาโดยตลอดแบบไม่ค่อยได้โต้แย้งหรือคิดอะไรมากนัก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ชุดความคิดเดิมๆ ก็ถูกท้าทายมากขึ้น และในวันนี้ มารยาทในการทำงานที่ว่า ‘ผู้หญิงต้องใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าคัชชูในที่ทำงาน’ ก็ถูกท้าทาย และกลายเป็นประเด็นน่าสนใจในสังคมญี่ปุ่นในตอนนี้
เรื่องนี้เริ่มต้นในเดือนมกราคม เมื่อนางแบบกราเวียร์และนักเขียนชื่อ Ishikawa Yumi อึดอัดกับสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานพิเศษของเธอซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีศพ โดยเธอต้องใส่รองเท้าส้นสูงตามมารยาท และยืนทั้งวนจนเจ็บเท้า แต่ในทางกลับกัน พนักงานชายกลับมาสามารถใส่รองเท้าพื้นนิ่มที่ช่วยแบ่งเบาภาระได้ ทำให้เธอระบายความอัดอั้นตันใจลงในทวิตเตอร์ และได้กลายเป็นทวีตยอดนิยม เพราะมีคนสนใจเป็นอย่างมาก ได้ยอดไลค์และยอดรีทวีตหลักหมื่น และด้วยแรงหนุนจากคนที่ทวีตตาม ทำให้เธอตัดสินใจตั้งแฮชแท็ก #KuToo
#KuToo เป็นแฮชแท็กที่จัดว่าแหลมคมมาก เพราะเป็นการเล่นคำอย่างชาญฉลาด คำแรกคือ Kutsu (靴) ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า รองเท้า (บางครั้งเสียง Tsu ก็เขียนว่า Tu เพราะอยู่ในบรรทัด Ta Chi Tsu Te To) กับอีกคำคือคำว่า Kutsuu (苦痛) ที่แปลว่า ทรมาน นอกจากนี้ยังตั้งใจเปลี่ยน Tsu เป็น Too เพื่อให้เข้ากับกระแส #MeToo ที่เป็นกระแสเรียกร้องสิทธิสตรีที่แพร่หลายไปทั่วโลก (เพียงแต่ในญี่ปุ่นกลับจุดไม่ติด)
ซึ่งพอกระแส #KuToo เริ่มแพร่หลายไปเรื่อยๆ คุณ Ishikawa ก็ได้ตัดสินใจเปิดรณรงค์ใน Change.org ร้องเรียนให้กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม พยายามกดดันให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ยกเลิกเงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งกายของพนักงานหญิง ซึ่งก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนลงชื่อเห็นด้วยเป็นจำนวน 27,000 กว่าคนแล้ว และล่าสุดยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเตรียมรองเท้าส้นสูงไว้ที่บูทกิจกรรมที่มีคนสัญจรเยอะๆ ให้ฝ่ายชายได้ลองสวมส้นสูง 5 – 7 เซนติเมตรด้วย
เมื่อมองไปยังสภาพแวดล้อมการทำงานของสังคมญี่ปุ่น เรื่องของรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าคัชชูที่บังคับให้ผู้หญิงใส่ก็เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดต่อเอามากๆ อย่างแรกเลยคือ ในปัจจุบัน เวลาเด็กมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไล่หางาน ทุกคนก็แต่งตัวเหมือนๆ กันหมด ชนิดที่ว่า มีเครื่องแต่งกายที่เรียกว่า ‘ชุดหางาน’ เลยทีเดียว นั่นคือ สูทสำหรับชายหญิงที่มีดีไซน์เรียบร้อย และเน้นที่สีดำ ซึ่งแนวทางการแต่งกายนี้ก็รวมไปถึงเครื่องประดับ ทรงผม และของใช้ เช่น แฟ้มและกระเป๋าอีกด้วย
ซึ่งพอดูในงานสัมมนาสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ แล้ว ก็เห็นคนแต่งตัวเหมือนกันอย่างพร้อมเพรียง จนน่าตลกว่าที่ผ่านมาทำตัวยูนีคกันเต็มที่ แต่พอสมัครงานสุดท้ายก็เหมือนกันหมด เหมือนอยู่ใน DNA ของสังคมคนทำงานทั่วไปของญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งจริงๆ แต่เดิมก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเมื่อดูภาพของพนักงานบริษัทหน้าใหม่ของญี่ปุ่นในยุคที่เพิ่งผ่านสงครามได้ไม่นาน แต่ละคนก็มีการแต่งตัวที่แตกต่างกันไป
แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ
สังคมก็มีผลต่อพฤติกรรมคนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนสุดท้ายแล้วทุกคนก็ถูกตบให้เข้าพิมพ์นิยมเหมือนกันหมด
และนั่นก็ส่งผลมาถึงการทำงานด้วยว่า เวลาทำงานควรจะแต่งตัวเช่นไร ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่ถ้าเป็นงานที่ต้องเจอกับลูกค้าโดยตรง ก็มักจะบังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อความเรียบร้อย แต่ก็น่าตลกดีที่ว่า บางสายงานที่แม้จะเจอลูกค้า แต่ถ้าอยู่หลังเคาเตอร์ ก็ใส่รองเท้าแตะแบบใช้ในบ้านได้ ก็แปลกดีนะครับ แต่ดูแล้วก็เป็นภาระหนักสำหรับผู้หญิงเหมือนกัน เพราะดูจะมีตัวเลือกน้อยกว่า (ลองให้ผู้ชายทุกคนใส่รองเท้าหนังที่พื้นรองเท้าทำจากหนัง ไม่ใช่ยาง ดูสิครับ)
การบังคับใส่คัทชูก็ยังพอไหว แต่ถ้าบังคับใส่ส้นสูงนี่เล่นเอาลำบากเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะใส่แล้วสบายขนาดนั้น ไม่อย่างนั้นผลิตภัณฑ์ช่วยแก้ปัญหาอาการเจ็บจากการใส่รองเท้าเหล่านี้จะมีขายกันเป็นล่ำเป็นสันหรือ มาคิดอีกทีก็ตลกหน่อยที่ว่า ญี่ปุ่นพอเริ่มปรับตัวสู้กับตะวันตกด้วยการซึมซับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมา แต่ไปๆ มาๆ เรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งการในการทำงานของญี่ปุ่นในปัจจุบันกลับดูจะเคร่งครัดกว่าชาวตะวันตกไปเสียแล้ว
และดูเหมือนความพยายามของคุณ Ishikawa ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่น ก็จะได้รับความสนใจจนกลายเป็นประเด็นในสังคมของญี่ปุ่น แต่ว่า Nemoto Takumi รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม ก็ตอบคำถามของฝ่ายตรงข้ามในสภาเกี่ยวกับประเด็นว่าการบังคับให้ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเรื่องล้าสมัยหรือไม่ว่า เขาไม่มีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้มีการยกเลิกระเบียบการแต่งกายที่บังคับผู้หญิง อีกทั้งตอนนี้ก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทมีระเบียบบังคับเครื่องแต่งกาย ซึ่งตัวเขาเองก็บอกว่า สังคมคิดว่ามันจำเป็นและเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะให้ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน
แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มองว่า
ของพวกนี้เป็นเรื่องของค่านิยมในสังคม
ซึ่งถ้าหากเวลาเปลี่ยนไป ค่านิยมก็อาจจะเปลี่ยน
ถึงตอนนั้นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นก็ได้
เขายังบอกว่า ถ้าคนที่เท้าเจ็บถูกบังคับให้ใส่ส้นสูงค่อยเข้าข่ายการใช้อำนาจในที่ทำงาน (power harassment) แต่ในขณะเดียวกัน Takagai Emiko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเดียวกัน กลับมองว่าผู้หญิงไม่ควรถูกบังคับให้ใส่รองเท้าส้นสูง เพราะดูเหมือนเป็นการบังคับว่าผู้หญิงควรให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าพนักงานชายในที่ทำงานเดียวกัน และ #KuToo ก็เป็นการรณรงค์ที่ช่วยให้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้
จากเท่าที่ส่องดูความเห็นของคนดัง รวมถึงชาวเน็ต ก็มีความเห็นต่างๆ นานา นอกจากเสียงเห็นด้วย หลายคนก็บอกว่า ของแบบนี้ไม่ควรจะให้รัฐจัดการหรอก แต่ละบริษัทควรออกนโยบายกันเองสิ ไปรณรงค์ระดับนั้นก็พอ นี่มันเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเหรอ บางคนก็บอกว่า งั้นผู้ชายก็ไม่อยากใส่สูท ไม่อยากผูกไทบ้างอ่ะ (อันนี้ก็แบบ แหม่ คนละเรื่องกันไหม เพราะไม่ได้ทำให้บาดเจ็บนี่นา)
ส่วนคอมเมนเตเตอร์ทางทีวีส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นคล้ายๆ กันคือ ออกจะตกยุคไป ทำให้ผู้หญิงลำบาก ดูทางตะวันตกเขายังยืดหยุ่นกว่านี้ บางคนก็ยกตัวอย่างน่าสนใจคือ เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยที่แม้จะเจ็บก็ภูมิใจกับการใส่ส้นสูง เพราะเป็นสัญลักษณ์ในการเข้าสังคมทำงานของผู้ใหญ่ได้ แต่เขาก็คิดว่า จริงๆ แล้วแบบนี้มันดีจริงหรือ กับการแสดงสถานะตัวเองโดยต้องยอมเจ็บปวดแบบนี้ และยังมีความเห็นว่า ประเทศที่เกิดแผ่นดินไหว หรือภัยอื่นๆ ได้ง่ายแบบญี่ปุ่น การใส่ส้นสูงนี่ไม่ค่อยเมกเซนส์เท่าไหร่ มีอะไรเกิดขึ้นก็วิ่งหนีได้ยาก เพิ่มความเสี่ยงเข้าไปอีก
ส่วนทางสถานทูตเบลเยี่ยมในญี่ปุ่นก็ได้ทวีตเชิงเอาใจช่วย และบอกว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตที่นี่ไม่มีการบังคับเครื่องแต่งกายนะ แต่กลายเป็นว่าโดนชาวเน็ตญี่ปุ่นสวนกลับว่าไม่ต้องยุ่ง หรือ แหม่ พูดเหมือนมองจากที่สูงลงมาโปรดสัตว์เลยนะ แต่ที่น่าสนใจคือ ความเห็นของสำนักงานทนายความ ว่าถ้าหากบริษัทบังคับให้ใส่รองเท้าแบบนี้ในที่ทำงาน ทั้งๆ ที่สถานที่ทำงานมีความเสี่ยง เช่น พื้นลื่น แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็มีโอกาสฟ้องเรียกค่าเสียหายได้สูง และยิ่งถ้าเกิดอาการเท้าผิดรูป หรือเกิดปัญหาทางสุขภาพแล้วพิสูจน์สาเหตุได้ ก็มีโอกาสฟ้องชนะได้สูงเช่นกัน
ในมุมมองของผมก็คือ ญี่ปุ่นในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองหลังสงครามนั้นพยายามพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยเต็มที่ เลยมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเกิดขึ้นในยุคนี้มากมาย (เอาง่ายๆ แค่แต่เดิมคนญี่ปุ่นก็ไม่ใช่คนตรงเวลาอะไรขนาดนี้นะครับ) เพราะต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจแบบเต็มตัว
แต่พอเป็นอย่างนี้แล้ว หลายต่อหลายรุ่นก็เหมือนเข้าทำงาน
โดยเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่งของสังคม
หลายคนก็เลยเป็นเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งก็สะท้อนออกมาในเครื่องแต่งกายที่เหมือนๆ กันหมด จนแค่ตั้งคำถามว่า ใส่รองเท้าที่ใส่สบายกว่านี้ได้ไหม ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปได้เฉยเลย ทั้งๆ ที่ฝั่งตะวันตกที่ญี่ปุ่นพยายามเอาแบบอย่างกลับกลายเป็นแต่งกายสบายกว่าแล้ว แน่นอนว่า ในบางสายงานอาจจะต้องการความ ‘เป็นทางการ’ มากว่าสายงานอื่น แต่บางทีก็ควรดู ‘ความจำเป็น’ ด้วย ไม่ใช่ว่าจะภูมิใจว่าทำงานได้ทั้งที่ต้องเจอความทรมาน อันนี้ดูเหมือนจะเป็นมาโซคิสต์ซะมากกว่า
แล้วที่บางคนมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของบริษัท ไม่ควรต้องถึงมือรัฐบาล แต่ในอีกมุมหนึ่ง กับระบบแบบนี้ ถ้าหัวใหญ่สุดไม่ขยับ ก็ไม่เกิดอะไรจริงๆ ครับ แน่นอนว่าอาจจะมีบริษัทใหม่ๆ หรือบริษัทข้ามชาติที่ไม่ได้สนอะไร แต่บริษัทที่เป็นญี่ปุ่นมากๆ นี่เปลี่ยนยากครับ ตัวอย่างง่ายๆ ก็ตอนที่รัฐบาลรณรงค์เรื่อง Cool Biz หรือการแต่งกายแบบง่ายๆ ไม่ต้องเป็นทางการมาก ในช่วงฤดูร้อนที่แสนจะทรมานด้วยความร้อนชื้น บริษัทญี่ปุ่นค่อยหันมามองว่า เออ สูทนี่มันไม่เหมาะกับบรรยากาศจริงๆ แล้วก็แห่แหนตามกันไปกับกระแส Cool Biz ทั้งๆ ที่เอาสามัญสำนึก ก็คงคิดออกว่าการใส่สูทเดินกลางแดดฤดูร้อนมันผิดธรรมชาติ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ออกมาสนับสนุน จะมีบริษัทไหนกล้าทำก่อนเหรอครับ แถมในเมื่อการทำงานมันไม่ได้จบในบริษัทตัวเอง บริษัทตัวเองอาจจะอยากสบาย แต่พอไปหาลูกค้ากลายเป็นว่าลูกค้ามองไม่สุภาพ ถ้าไม่มีการรณรงค์โดยรัฐบาล ก็คงไม่มีใครกล้าทำก่อนง่ายๆ หรอกครับ
ของบางอย่าง ถ้าไม่มีคนเริ่มตั้งคำถาม หรือส่งเสียงตะโกนก่อน ก็อาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามันผิดหรือฝืนธรรมชาติ ยิ่งกับสังคมที่สร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งเหล่านั้นราวกับว่าเป็นเรื่องปกติ แถมยังเชิดชูมันอีก บางครั้งก็คงต้องการการกระทุ้งแรงๆ นั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก