น่าจะมีหลายคนตั้งคำถามว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไป จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมบ้าง ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตทั่วไป อย่างการกิน ดื่ม เที่ยว ช้อปปิ้ง การดูแลสุขภาพ และก็เรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างมนุษย์
ทุกๆ ครั้งที่เกิดโรคระบาดขึ้นก็มักจะมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา อย่างการระบาดของไข้หวัดสเปนในปี ค.ศ.1918-1919 ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเป็นเวลาหลายทศวรรษ เนื่องจากความไม่ไว้ใจกันจากการปิดข่าวและเพิกเฉย จนทำให้เกิดการสูญเสียมหาศาล หรือการระบาดของโรคซาร์สในปี ค.ศ.2002-2003 ส่งผลให้ประเทศจีนเกิดธุรกิจ E-Commerce เนื่องจากผู้คนกักตัวและนิยมบริโภคสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
กระทั่งปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดอีกครั้ง ทำให้มีการกำหนดมาตรการขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ หรือ ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ ซึ่งเราจึงจำเป็นจะต้องกักตัวเองอยู่บ้าน หอบงานกลับมาทำ งดออกไปข้างนอก หรืองดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ สักพัก
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า เมื่อสังคมถูกบังคับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตในช่วงระยะหนึ่ง พอเวลาผ่านไป รูปแบบความสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างคนในสังคมจะเป็นยังไงต่อ และยิ่งการระบาดครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นเป็น pandemic ทำให้การปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก โดยเฉพาะ ‘คนเมือง’ ที่มีพลวัตจากการพบปะ รวมตัว และติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา
โดยทั่วไปลักษณะของเมืองคือ พื้นที่ที่มีความหนาแน่น เป็นที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน โดยมีพื้นฐานของการแบ่งปันพื้นที่แฝงอยู่ จะเห็นได้จากการมีพื้นที่สาธารณะ co-working space การแชร์ห้องกันระหว่างรูมเมท หรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้คนเมืองได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เช่น คอนเสิร์ต งานสัมมนา หรือตลาดนัดขายของ ดังนั้น เมื่อเกิดมาตรการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสขึ้น ก็เท่ากับว่าเราจะต้องลดความหนาแน่นดังกล่าวลงไป จึงมีการสั่งปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา และพื้นที่ส่วนกลางอีกมากมายเพื่อลดการรวมตัวของผู้คน พอกิจกรรมทางสังคมเหล่านี้หายไป แม้จะช่วงระยะเวลาไม่มากนัก แต่ก็อาจทำให้พวกเราต้องมาทำความเข้าใจกับชีวิตคนเมืองกันใหม่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ แม้เราจะไม่ได้ออกไปพบปะ หรือทำกิจกรรมที่มีความใกล้ชิดกับผู้คนเหมือนเมื่อก่อน แต่จะเห็นได้ว่าผู้คนไม่ได้ตัดขาดการติดต่อกันซะทีเดียว เพราะการเข้าสังคมก็ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่รูปแบบไปจากเดิมเท่านั้นเอง
ปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตและออนไลน์มีเดียสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมันก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเรามาหลายสิบปีแล้ว ยิ่งในครั้งนี้อาจเพิ่มระดับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากทุกอย่างมากองอยู่ที่หน้าจอสี่เหลี่ยมหมด เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายเชื้อจากการพบปะตัวต่อตัว เช่น ซื้อของออนไลน์ พูดคุยผ่านวิดีโอแชท ดูหนังกับเพื่อนๆ ผ่าน Netflix Party หรือแม้แต่เรียนและประชุมงานผ่านโปรแกรม Zoom
เมื่อทุกคนย้ายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น บวกกับเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดียวกันนั่นก็คือการกักตัว มันจึงเกิดชุมชนและความร่วมมือขนาดใหญ่ ซึ่งโรคระบาดครั้งนี้ไม่ได้แค่ย้ายผู้คนเข้ามาในโลกออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้วัฒนธรรมบางอย่างในโลกออนไลน์ที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนไปด้วย
การกักตัวทำให้ผู้คนค้นพบศักยภาพใหม่ๆ หรือ self-sufficiency ในตัวเอง เช่น อยู่บ้านว่างๆ ก็หัดทำอาหาร ตกแต่งห้อง จัดดอกไม้ เต้น ร้องเพลง ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่จะทำสิ่งเหล่านั้นโดยลำพัง แต่ยังสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเพื่อช่วยเหลือให้คนอื่นๆ อยู่รอดในสถานการณ์เดียวกันได้มากขึ้น แม้จะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวก็ตาม ทำให้การพูดคุยกับคนแปลกหน้าอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมออนไลน์มากขึ้น
เมื่อผู้คนอยู่ในจุดเดียวกัน
พวกเขาจะถูกบังคับให้แบ่งปันอะไรบางอย่าง
เพื่อปลอบประโลมกันและกัน
จากที่เราคิดว่าการแยกหรือกักตัวจะทำให้มนุษย์เกิด self-isolation แต่กลับกลายเป็นว่าเรามีการรวมตัวกันมากกว่าเดิม ดังนั้น การเชื่อมโยงผู้คนจึงเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นจะต้องก้าวเท้าออกนอกบ้านเสมอไป แม้กระทั่งการ ‘หาคู่’ ที่ตอนนี้สถิติการใช้แอพพลิเคชั่นหาคู่ของคนโสดพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
Tinder แอพพลิเคชั่นหาคู่เดตชื่อดังเผยว่า ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมาใหม่มากกว่า 10-15% ต่อวันเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักอย่างอิตาลีและสเปน ซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 25% ในทางเดียวกันการสำรวจของอีกแอพฯ อย่าง Bumble ที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นคนโสดยุค millennial และ generation z ก็พบว่าการส่งเมสเซจหากันช่วงกักตัวระหว่างวันที่ 12-22 มีนาคมในเมืองซีแอตเทิลมียอดเพิ่มขึ้นถึง 21% ในเมืองนิวยอร์กเพิ่มขึ้น 23% และเมืองซานฟรานซิสโกเพิ่มขึ้น 26%
ด้วยการสนับสนุนของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ที่เปิดให้ใช้บริการบางฟังก์ชั่นแบบฟรีๆ ซึ่งปกติเป็นฟังก์ชั่นที่สงวนให้แก่ผู้ที่เสียเงิน จึงกระตุ้นให้ผู้คนหันมาเดตออนไลน์กันกันมากขึ้น ซึ่งข้อดีของการหาคู่เดตออนไลน์เราก็มักจะเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยเพิ่มโอกาสในการพบปะผู้คนใหม่ๆ ในวงกว้าง เพิ่มโอกาสในการรู้จักกันมากขึ้นก่อนเจอตัวจริง ลดปัจจัย หรือต้นทุนในการเดินทาง และยังลดความเสี่ยงในการเจอคู่เดตที่ไปกันไม่รอดอีกด้วย
“ผู้คนมักจะโดดเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วันแรกที่เดตกัน ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้จึงเปิดโอกาสให้พวกเราค่อยเป็นค่อยไป เรียนรู้กันและกันให้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะข้ามระดับความสัมพันธ์ไปอีกขั้นหนึ่ง” วาเลนติน่า ทูโดส ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์แนะนำ
การระบาดของโรคครั้งนี้อาจทำให้เราตั้งคำถามต่อการพบปะกันตัวต่อตัว ความใกล้ชิด รวมไปถึงความหมายที่แท้จริงของการ ‘เชื่อมโยงสื่อสาร’ ระหว่างคนเรามากขึ้น และอาจลามไปถึงวัฒนธรรมบางอย่างที่มีการสัมผัสร่างกาย อย่างการจับมือ กอด หรือชนแก้มเพื่อทักทายกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตเช่นนี้ย่อมส่งผลให้สังคมเกิดวัฒนธรรม ค่านิยม อาชีพ และธุรกิจใหม่ๆ ตามมาอย่างแน่นอน
แต่ก็ใช่ว่าโลกออนไลน์จะสามารถแทนที่ความต้องการของมนุษย์ได้อย่าง 100% ในทางจิตวิทยา การสัมผัสและความใกล้ชิดช่วยให้มนุษย์เราถ่ายอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเสริมสร้างและช่วยรักษาความสัมพันธ์ของมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงถูกออกแบบให้ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะการสัมผัสจะนำไปสู่ความไว้วางใจจนเกิดเป็นสัมพันธ์แบบสนิทชิดเชื้อ หรือในเชิงโรแมนติก ซึ่งถ้าหากขาดการสัมผัสในระยะยาว ก็ย่อมส่งผลให้เกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ในที่สุด
การเข้าสังคมยังคงดำเนินต่อไป เพียงแค่ประยุกต์ความห่างไกลเข้ามา การแยกตัวของมนุษย์ในครั้งนี้ จะทำให้วัฒนธรรมอะไรจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น ลดลง หรือหายสาบสูญบ้าง ก็เป็นเรื่องที่น่าคาดเดากันต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก