นี่ ‘การเลือกตั้ง’ ไง จำไม่ได้หรอ? เทรนด์นี้กำลังมาแรงทั่วมุมโลกเลยนะ ประชาชนเค้าออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกผู้นำประเทศกันสนุกสนานเลย
นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งก็ยังฮอตฮิตติดเทรนด์เป็นกระแสการเมืองของโลกอยู่ ไม่ว่าจะฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อังกฤษ และเยอรมนี ต่างก็เรียงคิวจัดการเลือกตั้งกันอย่างครึกโครม
อ้าว.. ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจกันนะชาวไทย เอาเป็นว่าเดี๋ยว The MATTER จะจัดทริปใหญ่ไปดูงาน พาไปเยี่ยมเยือนเวทีเลือกตั้งทั่วโลกกัน เผื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศเราอยากจะอินเทรนด์กับเค้าบ้าง
ฝรั่งเศส
เห้ย ประเทศนี้เค้าไม่ได้เลือกกันเล่นๆ นะจ๊ะ เพราะในวันที่ 7 พฤษภาคมหรืออาทิตย์ที่จะถึงนี้ ฝรั่งเศสเค้าจะเลือกตั้งกันรอบที่ 2 แล้ว ที่เค้ามีกัน 2 รอบก็เพื่อให้คนที่มาเป็นประธานาธิบดีได้เป็นเสียงข้างมากของประชาชนจริงๆ หลังจากการฝ่าฟันแข่งขันกับผู้สมัครถึง 11 คนในรอบแรก ตอนนี้เหลือเพียง 2 ผู้เข้าชิงไฟนอลวอร์กในรอบสุดท้าย ระหว่างนายเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำพรรค En Marche พรรคสายกลาง ที่ชนะรอบแรกมาด้วยคะแนน 23.75% และนางมารีน เลอ แปน ผู้สมัครฝ่ายขวาจัดจากพรรค National Front ที่ได้เปอร์เซ็นต์ตามมาติดๆด้วย 21.53%
ผู้เข้าชิง 2 คนนี้สุดท้ายนี้เป็นที่น่าจับตามองในการแข่งขันครั้งนี้มาก เพราะทั้งสองต่างก็มีความคิดคนละสาย นโยบายคนละขั้ว เรียกได้ว่าเปรียบมาครงเป็นเมนเทอร์มาช่า เลอ แปนก็คงเป็นเมนเทอร์ลูกเกด
นายมาครง หรือที่เราขอเปรียบว่าเป็นเมนเทอร์มาช่านั้น เป็นหนุ่มวัย 39 ปี ที่อาจจะทุบสถิติเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศส มาพร้อมกับแนวคิดเสรีนิยม เขาจะเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบการว่างงาน หนุนตลาดเสรี สนับสนุนและปฏิรูป EU, UN และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงแนวคิดใจกว้างในการรับผู้อพยพด้วย
ส่วนนางมารีน เลอ แปน ผู้สมัครสาวดุดันจากพรรคขวาจัด ผู้ได้รับฉายาว่า “Madame Frexit” ที่ชูนโยบายชาตินิยม “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน” มีแผนนำฝรั่งเศสออกจาก EU เลิกใช้เงินยูโรโดยหันมาใช้เงินฟรังก์ ปกป้องเศรษฐกิจ ต่อต้านผู้ลี้ภัย แถมยังมีแผนแบนการสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น ฮิญาบของชาวมุสลิมด้วย
เป็นที่น่าจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ผลจะออกมาตอกย้ำกระแสนิยมเอียงขวาตาม Brexit ของอังกฤษและทรัมป์หรือไม่ (แต่บางประเทศก็ขวาก่อนใครมานานแล้ว) หรือกระแสโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมจะยังมีอิทธิพลต้านพลังขวาในการเมืองโลกได้ เราคงต้องคอยดูกันในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้
เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ไม่ได้มีแต่ซีรี่ยส์ให้จับตาดูอย่างเดียวนะ แม้แต่การเลือกตั้งเค้าก็น่าจับตาเช่นกัน หลังมหากาพย์การประท้วงปลดอดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเยของประชาชนนับแสนจบลง เกาหลีใต้ก็ได้ฤกษ์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ คือในวันที่ 9 พฤษภาคมหรืออังคารที่จะถึงนี้
ท่ามกลางความดุเดือดร้อนแรงระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือในคาบสมุทรเกาหลี การหาเสียงในเกาหลีใต้เองก็ดุเดือดไม่น้อยหน้า ถึงขนาดมีวิธีหาเสียงโดยการเต้น Cover เพลง K-pop ช่วยคุณพ่อหาเสียงกันเลยทีเดียว
สำหรับผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งในตอนนี้ คือนายมุนแจอิน ผู้สมัครจากพรรคมินจู ผู้เคยพ่ายแพ้ให้กับพัคกึนฮเยในครั้งก่อน พกความมั่นใจเต็ม 100 พร้อมชิงตำแหน่งแก้มือในศึกนี้อีกครั้ง โดยนายมุนต้องการรื้อฟื้นนโยบาย “Sunshine Policy” ที่เน้นการเกี่ยวก้อยคืนดี พูดคุย ร่วมลงทุน และสร้างความไว้ใจฉันท์มิตรระหว่างเกาหลีเหนือให้กลับคืนมา ทั้งยังจะชะลอการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ (THADD) ที่อดีตปธน.พัคเจรจาการติดตั้งร่วมกับสหรัฐฯไว้ ซึ่งจากโพลล่าสุดในตอนนี้ คะแนนของเค้าเองก็นำโด่งมาถึง 38% ซึ่งทิ้งห่างกับที่สองอยู่ถึง 17% เลยด้วย
เห้ย แก แล้วไงอะ การเลือกตั้งเกาหลีใต้มันน่าจับตากว่าโอปป้ายังไงหรอ ! ก็ท่ามกลางสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนเป็นไฟจากการยิงขีปนาวุธทดลองเหมือนประทัดงานวัดของเกาหลีเหนือนะสิ ทำให้เป็นที่น่าจับตาว่า ถ้านายมุนชนะการเลือกตั้ง เราอาจจะเห็นการเจรจาพูดคุย รีเซ็ตความสัมพันธ์ระหว่างเหนือและใต้ ที่นำมาสู่สันติภาพมากขึ้น หรือจะยิ่งเป็นชนวนให้คิมจองอึนหัวร้อนและเร่งการเกิดสงครามกัน ดังนั้น เราก็คงต้องจับตาผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารหน้าต่อไป
สหราชอาณาจักร
จริงๆ แล้วสหราชอาณาจักรก็ไม่ได้มีคิวจะจัดการเลือกตั้งกับเค้าในปีนี้หรอก แต่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเค้าก็อยากตามกระแสเลือกตั้งบ้าง ประกาศลัดคิวจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่ถูกกำหนดไว้ใน 3 ปีหน้า มาในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้
อ้าว เห้ย! แล้วทำไมสหราชอาณาจักรจะต้องมาตามกระแสเลือกตั้งตามประเทศอื่นเค้าด้วยหละ ? นั่นก็เพราะความสั่นคลอนและเสียงที่แตกร้าวในรัฐสภาสหราชอาณาจักรน่ะสิ ที่ทำให้การเจรจา Brexit ที่จะขอแยกวงกับสหภาพยุโรปไปไม่ถึงไหนซักที อีกทั้งนางเทเรซา เมย์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯต่อจากนายเดวิด คาเมรอนที่ลาออกไป ทนเสียงก่นด่าและต่อว่าที่ว่า เธอไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เธอไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง เธอมันไม่ใช่ The Face UK ไม่ไหว (แหม แกร่งสู้ท่านผู้นำเราไม่ได้เลยนะคะ) จนต้องรีบจัดการเลือกตั้งซะ ด้วยความมั่นใจในตัวเองว่า เธอจะต้องชนะ เธอจะต้องไม่แพ้ และกลับมาเจรจา Brexit โบกมือลาจาก EU ให้จงได้ !
จากผลโพลล่าสุดของ The Telegraph เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าคะแนนนิยมพรรคอนุรักษ์นิยมของเทเรซ่ากำลังนำโด่งกว่า 45.2% แซงพรรคแรงงานที่มีคะแนนอยู่เพียงแค่ 28.8% ไปอย่างหลุดลอย ซึ่งถ้าพรรคอนุรักษ์นิยมสามารถรักษาความนิยมไว้ได้ คงไม่เป็นการยากที่จะคว้าตำแหน่งนายกฯตามที่นางเทเรซามั่นใจ และจับมือพาประเทศเชิดก้าวออกจาก EU ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการเลือกตั้งในสหรัฐฯก็ทำให้เราได้เห็นความพลิกโผของโพลมาแล้ว ดังนั้นเราก็คงต้องจับตาการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรว่าจะนำประเทศตามกระแสขวาสุดแบบไม่ยั้งได้หรือไม่
เยอรมนี
มาถึงเยอรมนี หนึ่งในประเทศสำคัญที่ก็ตามเทรนด์มีคิวจัดการเลือกครั้งใหญ่ ในวันที่ 24 กันยายน ปีนี้ โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้ นางอังเกลา แมร์เคิลนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ประกาศขอลงชิงแชมป์แข่งขัน ไม่ยอมให้ใครมาพรากตำแหน่งนี้อีกเป็นสมัยที่ 4
แต่ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ศึกที่ง่ายของที่แมร์เคิลจะหวังครองตำแหน่งนี้อีกสมัย เพราะจากนโยบายใจกว้างเปิดประเทศรับผู้อพยพของเธอถูกต่อต้านอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา บวกกับกระแสชาตินิยมขวาจัดที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้คะแนนนิยมของเธอตกต่ำลงจากที่เคยมีมา ทั้งจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2016 พรรครัฐบาลเองก็ได้พ่ายแพ้ให้กับพรรคสังคมประชาธิปไตยและยังเสียคะแนนไปให้พรรคเอเอฟดี พรรคการเมืองขวาจัดที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพด้วย
ผลโพลล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา เผยว่าถึงแม้ว่าพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยของแมร์เคิลยังครองอันดับ 1 อยู่ที่ 34% แต่พรรคสังคมประชาธิปไตยก็มีเปอร์เซ็นต์ตามมาติดๆอยู่ที่ 28.5% ซึ่งทิ้งห่างกันเพียง 5.5% เท่านั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า อีก 4 เดือนต่อจากนี้ นางแมร์เคิลจะยังสามารถรักษาความนิยมไว้ได้ หรือพรรคอื่นๆจะตีตื้นทำคะแนนขึ้นมาสูสีได้
ไทย
สิ้นสุดทริปดูงาน กลับมาถึงบ้าน อ้าว.. นับจากการเลือกตั้งในปี 2554 ที่เราได้ออกไปใช้เสียงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกฯ อย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด ก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่เราไม่ได้เลือกตั้งเลยนี่นา !
หลังการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ในปี 2557 และการให้คำสัญญาว่าขอเวลาอีกไม่นาน จากโร้ดแมปฟื้นประชาธิปไตยของรัฐบาลที่เป็นที่รักยิ่งของพวกเรา ได้มีแผนการยกร่างรัฐธรรมนูญและพูดถึงการจัดการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 จนมาถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่เห็นวี่แววของการเลือกตั้ง เห้ย แต่ไม่เป็นไร เรารอเก่งนะ
ด้วยการปกครองของนายกที่เป็นที่รักของเรา แม้ว่าปีนี้ประเทศเราจะไม่ได้ตามเทรนด์เลือกตั้งกับเค้า แต่เราก็เชื่อมั่นในคำสัญญา ว่าแผ่นดินจะดีในไม่ช้า แล้วรัฐบาลของเราจะคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
bbc.com/france-presidential-election-2017
telegraph.co.uk/south-korea-election
telegraph.co.uk/uk-general-election-2017