บางทีก็สงสัยว่าผีจะมาหลอกหลอนอะไรกันเรื่อยเปื่อย โผล่มาก็แฮ่ๆ แลบลิ้นปลิ้นตา นั่งห้อยขาตามขื่อ นอกจากไม่มีเหตุผลแล้วยังเชยอีก ตายไปแล้วทำไมต้องมาทำให้คนอื่นตกใจกลัว ต้องโผล่ออกมาในรูปแบบชวนขนลุก สร้างความเดือดร้อน พูดกันดีๆ ได้ไหม จะเอาอะไรก็บอกมา สร้างสรรค์หน่อย
ผี ไม่จำเป็นต้องก้มหน้าก้มตาหลอกหลอน ในงานเขียนต่างๆ มักจะมีผีปรากฏอยู่และรับบทบาทสำคัญในเรื่อง ผีก็มีเรื่องราว มีหัวใจ(แม้จะไม่เต้นแล้ว) มีตัวตนเป็นของตัวเอง ผีในหนังสือหลายเรื่องอาจจะไม่ได้น่ากลัวแค่อย่างเดียวอย่างที่เราจินตนาการ จากอสูรกายของด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์ที่ออกจะน่าสงสารและพูดจาได้อย่างแตกฉาน หรือผีในงานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ที่วิญญาณจากโลกหลังความตายกลับมาในฐานะอดีต ไปจนถึงเรื่องเล่าที่ถูกเล่าโดยวิญญาณของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรม
ผี อาจจะไม่ใช่แค่สิ่งที่น่ากลัวแต่น่าหลงใหล การหลอกหลอนและการกลับมาของผู้ที่จากไป อาจเป็นสิ่งที่กำลังบอกอะไรมากกว่าแค่ความกลัวของเรา
Monster – Frankenstein, Mary Shelley
งานเขียนเรื่องดังที่ทำให้อสูรกายตัวปุปะกลายเป็นไอคอนผีระดับนานาชาติ แฟรงเกนสไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องผู้สร้าง ‘อสูรกาย’ ขึ้นมาตัวหนึ่งจากซากศพ หลักๆ แล้วในเรื่องพูดถึงความกังวลของมนุษย์ในสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อวิทยาศาสตร์อาจจะนำเราไปสู่ขอบเขตที่มนุษย์ก้าวไป – การสร้างมนุษย์ – ภาพของเจ้าอสูรกายในเรื่องที่เราจินตนาการกันมักจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนสัตว์ โอเค ในเรื่องเจ้าอสูรกายมันก็ดูน่ากลัวจนคนสร้างรับไม่ได้ แต่อสูรกายที่ว่าก็แสนจะน่าสงสาร สามารถพูดจาด้วยภาษาที่สวยงาม กับดร. แฟรงเกนต์สไตน์ได้ มีการเปรียบเทียบกับตัวเองว่า เนี่ย สร้างขึ้นมาแล้ว ตัวมันเป็นผลงานที่คุณสร้างขึ้นนะ (educated มาก) น่าสงสารเนอะ ถูกสร้างแล้วเจ้าของดันไม่รักเพราะดูไม่น่ารัก
The Ghost – A Christmas Carol, Charles Dickens
ในค่ำคืนวันคริสต์มาส แทนที่จะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง คุณสกรู๊จผู้เห็นแก่ตัวกลับถูกหลอกหลอนด้วยผีแห่งวันคริสต์มาส สิ่งที่ผีตนนี้ทำไม่ใช่การโผล่ออกมาจากตู้ จากช่องแอร์ แต่เป็นการฉายให้เห็นการกระทำและอดีตที่เลวร้าย ให้เห็นว่าเรามันเป็นคนแย่แค่ไหน จะมีเรื่องอะไรน่ากลัวไปกว่าการกลับมาของการกระทำที่ไม่ดีของตัวเรา
Beloved – Beloved, Toni Morrison
งานเขียนที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านของอเมริกา งานเขียนที่พูดถึงชะตากรรมและสิ่งที่คนผิวดำต้องเผชิญ เรื่องราวใน Beloved ประกอบขึ้นด้วยเสียงและเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ผีที่กลับมาเป็นเสมือนตัวแทนของทาสและความเจ็บปวดที่เป็นส่วนหนึ่งของความเกรียงไกรในปัจจุบัน เรื่องราวส่วนที่ไม่เคยถูกมองเห็น เต็มไปด้วยตายและความเจ็บปวดที่กลับมาหลอกหลอนผู้คน
Demon – One Hundred Demons, Lynda Barry
ในตอนเด็ก เราต่างมีเรื่องราวปีศาจอยู่ในชีวิตที่เรามักจะละทิ้งไปเมื่อเรากลายเป็นวัยรุ่น ปีศาจจึงเป็นเหมือนส่วนเสี้ยวบางอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของเรา One Hundred Demons เป็นการ์ตูนช่องที่ Lynda Barry เล่าชีวิตของตัวเองในรูปแบบที่มีสีสันโดยใช้ปีศาจ 101 ตัวเป็นตัวแทนของสิ่งของ ผู้คนและประเด็นต่างๆ ที่ทำให้เราเติบโตขึ้น ผู้เขียนบอกว่าสุดท้ายแล้ว ในมิตรภาพเราต่างเป็นผีปีศาจของกันและกันเสมอ อดีตของเราอาจทั้งสวยงามและในขณะเดียวกันก็หลอกหลอนเราเสมอ
Rebecca de Winter – Rebecca, Daphne du Maurier
รีเบคกา นวนิยายสยองขวัญขายดีที่ Alfred Hitchcock นำมาทำเป็นหนัง การเป็นนวนิยายสยองและชื่อเรื่องเป็นรีเบคกาที่ถูกฆ่าตาย แปลว่าเรื่องนี้ต้องมีผีรีเบคกาออกมาหลอกหลอนแน่นอน …แต่ ไม่เลย รีเบคกาเป็นตัวละครผีที่ไม่ต้องมาลงมือเหนื่อยหลอกหลอนด้วยตัวเอง แต่กลับมีสมุนมือทองที่คอยจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้เธอ – ตายแล้วก็แล้วกันเนอะ เรื่องบนโลกก็ให้เป็นเรื่องของคนเป็นไป
Ghosts – One Hundred Years of Solitude, Gabriel García Márquez
งานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ผสานเรื่องเหนือจริงเข้ากับเรื่องราวที่ดูสามัญและทำเหมือนกับว่าเรื่องมหัศจรรย์เหล่านั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตเรา ในทางกลับกันความมหัศจรรย์เหนือจริงในเรื่องมักจะเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อตั้งคำถามกับความจริงต่างๆ ในเรื่อง 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยวจึงมีผีเป็นส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์ ผีที่ปรากฏตัวในเมืองมาคอนโดเป็นตัวแทนอดีต เป็นการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาหลอกหลอนการเข้ามาของวิธีคิดและโลกสมัยใหม่จากคนขาว
Susie Salmon – The Lovely Bones, Alice Sebold
จากนวนิยายในปี 2002 กลายมาเป็นหนังแนวสืบสวนระทึกขวัญที่เล่าเรื่องอย่างเก๋ไก๋ The Lovely Bones เป็นงานเขียนที่ถูกเล่าเรื่องการฆาตกรรมด้วยเสียงของ ‘ผี’ เมื่อเหยื่อที่ล่วงลับไปแล้วเล่าการถูกฆ่า ในฐานะผี – ที่ถูกฆ่า – เรามักมีภาพของผีที่แสนจะเคียดแค้น ไม่เข้าใจโลก ออกมาหลอกหลอนและทวงหาความยุติธรรม แต่ด้วยความฉลาดของ Alice Sebold เสียงเล่าและวีธีการเล่าความตายของเด็กหญิงวัย 14 กลับไม่ใช่ผีบ้าๆ บอๆ อย่างที่เราคิด สุดท้ายผีก็เหมือนกับเราๆ นี่แหละแค่ตายไปแล้ว เผลอๆ ความตายและการมองเห็นความเป็นไปของคนที่เรารักเมื่อเราจากไป เรื่องจึงกลายเป็นว่าผีอาจจะเข้าใจคน เข้าใจชีวิตมากขึ้นกว่าคนเป็น – ผีในเรื่องนี้เลยไม่ค่อยเหมือนผีเวลาปรากฏตัวสิงคนในรายการผีแบบไทยๆ เท่าไหร่ ที่สิงปุ๊บก็เกรี้ยวกราดเคียดแค้นอย่างไร้เหตุผล ผีเรื่องนี้เป็นผีที่มีเหตุผล ได้เรื่องได้ราว น่ารักในระดับหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก