คะแนน TOEIC ที่ระดับ 400 อาจไม่ยากเกินไปสำหรับนักเรียนหลายคน แต่เป็นเส้นขอบฟ้าที่ครูไทยจำนวนไม่น้อยเอื้อมไปไม่ถึงในการสอบโครงการ ‘ครูคืนถิ่น’ จึงมีข้อเสนอว่าขอได้ไหม อยากสอบผ่านจริงๆ ช่วยลดคะแนนลงให้เหลือ 250 ก็แล้วกัน เขาว่ากันว่าต่อรองกันแค่นี้ไม่เสียหายหรอกมั้ง เพราะตั้งเกณฑ์ให้สูงไปทำไม สุดท้ายทำได้คะแนนเยอะก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้อยู่ดี
เรื่องนี้น่าคิดเหมือนกันเนอะ แถมยังดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง ก็เราอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ สูตรคำนวณตรีโกณมิติ บวกลบคูณหารถามหาทศนิยมก็ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษกับนักเรียนซักหน่อย หรืออย่างครูสอนวิชาลูกเสือจะสั่งซ้ายหันขวาหัน สอนเด็กผูกเงื่อนพิรอดก็พูดภาษาไทยกับเด็กก็พอแล้ว ยิ่งพูดอังกฤษไปเด็กอาจสับสนมึนงงกันไปใหญ่สิ
กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันว่า ภาษาอังกฤษมันจำเป็นกับครูไทยแค่ไหนเชียว
โลกของการศึกษามีมากกว่าภาษาไทย
“The limits of my language are the limits of my world.”
นักปรัชญาอย่าง Ludwig Wittgenstein บอกว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น เราแอบตีความตามอำเภอใจต่อไปอีกนิดหน่อยว่า ยิ่งเรารู้ภาษามากขึ้นก็จะมองเห็นโลกที่กว้างขึ้นด้วยเหมือนกัน
ภาษาอังกฤษไม่เพียงแค่ทำลายกำแพงที่กั้นขอบฟ้าความรู้ของเรา แต่ยังทำให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีสิ่งที่เรา ‘ยังไม่รู้’ อีกมากมาย มันคงจะสนุกดีเหมือนกันเนอะ ถ้าครูไทยสามารถทำลายกำแพงนั้นแล้วเอื้อมมือไปหยิบความรู้ใหม่ๆ มาสอนกับนักเรียนได้
มีงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา และองค์ความรู้ในโลกภาษาอังกฤษจำนวนมากที่รอให้ครูไทยเข้าไปเยี่ยมเยียนทำความรู้จัก เหมือนกับที่เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดร.พะโยม ชิณวงษ์ บอกกับ คมชัดลึก ว่า “ขณะนี้นวัตกรรมการจัดการศึกษามีความก้าวหน้าไปมาก มีการส่งเสริมการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษา ที่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและยังมีในมิติอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้น ความรู้ ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษเป็นอีกเรื่องที่ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องมี”
เราอยู่ในโลกที่องค์ความรู้ภาษาไทยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการศึกษาอีกต่อไปแล้ว ในโลกของภาษาอังกฤษมีการคิดค้น ค้นคว้า วิจัย ผลิตนวัตกรรมเกี่ยวกับการศึกษามากมาย การรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้ครูไทยมีไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาทั้ง ‘เนื้อหา’ และ ‘รูปแบบ’ การเรียนการสอนในห้องเรียนได้
ทุกวันนี้มีตัวอย่างวัฒนธรรมการสอนแบบใหม่ๆ ที่เอื้อให้ผู้เรียนเอนจอยไปกับความรู้ในห้องอยู่เต็มไปหมดในโลกที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่คงน่าเสียดายไม่น้อย ถ้าครูไทยเราจะไม่ลองเข้าไปศึกษาองค์ความรู้เหล่านั้น ด้วยการมองเพียงแค่ว่า “เรียนภาษาอังกฤษไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์”
ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อครู นอกจากเพื่อตัวครูเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนอีกด้วย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ระบบการศึกษาในภาพรวมก็ต้องเอื้อเฟื้อให้ครูมีเวลาหายใจหายคอ มีชีวิตที่ผ่อนคลายกว่านี้ เพื่อจะได้ใช้เวลาว่างไปกับการพัฒนาสกิลภาษาอังกฤษของตัวเองได้
แก้ระบบการศึกษา สร้างวัฒนธรรมการเรียนภาษาที่ดี
มีครูไทยจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนการสอน แต่ปัญหาที่กำลังเจอกันอยู่คือวิถีชีวิตความเป็นครูในวันนี้ไม่เอื้อเอาเสียเลย
ทุกวันนี้ครูไทยมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากมาย จนแทบไม่มีเวลาปลีกตัวมาเข้าอบรมหรือพัฒนาสกิลด้านภาษาอังกฤษ (รวมถึงทักษะที่ช่วยต่อยอดในด้านอื่นๆ) หลายคนก็ชี้เป้าไปว่า ตั้งแต่กระทรวงศึกษามีนโยบายให้ครูต้องทำงานนอกห้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โดยเฉพาะการต้องเป็นนักวิจัย ทำแบบประเมิน หรือกระทั่งออกแบบโครงงานต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็ทำให้ครูในบ้านเราแทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลย เลิกสอนจากโรงเรียนก็ต้องกลับบ้านไปปั่นงานพวกนี้ให้เสร็จ แค่นี้ก็ปวดหัวจะตายอยู่แล้ว
ไม่ใช่แค่งานเยอะเท่านั้นนะ ครูยังไม่มีแรงจูงใจดีๆ ในการพาตัวเองออกไปพัฒนาทักษะอื่นๆ ด้วย พูดกันแบบตรงๆ มันก็คือเรื่องค่าตอบแทนนี่แหละ เมื่อทำงานหนักมากขึ้นจนแทบเอาตัวไม่รอด แต่เงินเดือนก็ยังคงที่ มิหนำซ้ำ ยังแทบไม่เห็นความก้าวหน้าในชีวิตอีกเนื่องด้วยระบบราชการที่โครงสร้างมันเติบโตได้ช้า แถมได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าเอกชน ครูบางคนถึงกับปลงในชีวิต เอาแค่ผ่านพ้นภาระหน้าที่ประจำวันไปให้ได้ก่อนก็โล่งใจแล้ว
ถ้าเราจะถอยออกมามองในภาพใหญ่ๆ ก็น่าจะเห็นกันว่า โครงสร้างและวัฒนธรรมการศึกษาในไทยเองก็ยังไม่ค่อยสนับสนุนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันซักเท่าไหร่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าครูเองครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนักเรียนมาก่อน และครูเองก็เคยถูกวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ไม่เป็นมิตรกับภาษาอังกฤษบ่มเพาะมาด้วยเหมือนกัน เมื่อถูกบ่มมาด้วยระบบที่มีปัญหา ก็เสี่ยงมากๆ ที่ปัญหามันจะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นวงจรที่ปัญหามันวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาในระบบการศึกษาบ้านเรา
ยกตัวอย่าง วัฒนธรรมการสอนภาษาอังกฤษที่ครู ‘ไม่พูดภาษาอังกฤษ’ กับนักเรียน เพราะครูเองก็กลัวว่าตัวเองจะผิดหรือไม่มั่นใจในสำเนียงของตัวเองว่าจะแปลกไปจากมาตรฐานรึเปล่า ไม่ใช่แค่นั้น ครูจำนวนไม่น้อยก็ยังเน้นแต่การสอนไวยากรณ์ที่ต้องถูกต้องเป๊ะๆ ตามหลักตำราโบราณ แต่ไม่ได้ไปโฟกัสที่บรรยากาศที่เป็นมิตรและผ่อนคลายอันจะช่วยให้ทุกคนเอนจอยกับภาษาอังกฤษ
เรื่องทั้งหมดอาจจะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนสภาพห้องเรียนแบบไทยๆ ที่ทำให้ทุกคนตกอยู่ใต้ความกลัวภาษาอังกฤษ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าลุกขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่ถกเถียงกันด้วยเหตุผลกันจริงๆ
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ บอกกับ The Nation ไว้อย่างน่าสนใจว่า การสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากการสนับสนุนให้ทั้งครูผู้สอน และนักเรียนกล้าที่จะใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างสบายใจ นี่อาจจะเป็นฐานสำคัญของการเรียนรู้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรียนไปเพื่อให้สอบผ่าน แต่ต้องเป็นการเรียนที่นำไปใช้ได้จริงในโลกข้างนอก
ในทางกลับกัน เมื่อระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อให้กับนักเรียนและครูได้สนุกไปกับภาษาอังกฤษ การเรียนจึงถูกลดรูปลงให้เหลือแค่รู้ไปเพื่อทำข้อสอบ แทนที่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ชีวิตในระยะยาว
อ้างอิงจาก